หลังจากที่เวลาหมดลงไปแล้ว ๑ ใน ๘ ความคิดดีๆก็เริ่มทำงาน...จุดเริ่มต้นของการออกเดินทาง คือ ประเด็นคำถามที่ว่า จะนำเอาความรู้ ความคิดและประสบการณ์ทุกชนิดที่เก็บเกี่ยวได้จากการมา"ฝึกตนฝนปัญญา"ที่สคส. กลับไปพัฒนาครูและนักเรียนให้เข้าสู่กระบวนทัศน์ของการจัดการความรู้ได้อย่างไร
งานโรงเรียนมีงานที่อาจแบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะคือ งานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน และงานสนับสนุนการเรียนการสอน ทั้งที่เป็นงานวิชาการ แลtงานบริหารจัดการ แต่ในที่นี้จะมุ่งประเด็นความคิดไปที่หน้างานที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับครูและนักเรียนเป็นลำดับแรก เพราะคือส่วนที่เป็นหัวใจของโรงเรียน
หน้างานของครู ประกอบไปด้วย งานก่อนสอน งานการสอน และงานหลังสอน
ก. งานก่อนสอน ได้แก่ งานออกแบบแผนการเรียนรู้ การเตรียมกิจกรรมการเรียนรู้ การเตรียมสื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้ และทรัพยากรการเรียนรู้อื่นๆ รวมถึงการเตรียมตัวบรรยากาศในการเรียนรู้ด้วย
ข. งานการสอน ได้แก่ งานการจัดการชั้นเรียน งานการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ
ค. งานหลังสอน ได้แก่ งานการประเมินผลการเรียนรู้ และงานการซ่อม-เสริมในลักษณะต่างๆ
งานดังกล่าวมีลักษณะเป็นวงจร ที่มีผลต่อเนื่องกับการทำงานในรอบต่อไป ขนาดของวงจรมีตั้งแต่ ชั่วโมงนี้-ชั่วโมงหน้า / วันนี้-พรุ่งนี้ / สัปดาห์นี้-สัปดาห์หน้า / เดือนนี้-เดือนหน้า / ภาคเรียนนี้-ภาคเรียนหน้า / ปีการศึกษานี้-ปีการศึกษาหน้า ที่มีขอบเขตของเนื้องานเกี่ยวพันกับเรื่องมโนทัศน์เล็กๆ ทักษะปฏิบัติเล็ก ไปจนกระทั่งถึงการพัฒนาไปเป็นแนวคิดและทักษะปฏิบัติที่มีความสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจและความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายๆเรื่องที่จะมีผลสืบเนื่องไปถึงอนาคตข้างหน้า
การวิจัยและพัฒนาจึงเข้ามามีส่วนในวงจรของหน้างานครู ที่มีลักษณะเป็นการ PDCA ไปในเนื้องานอยู่แล้ว เรื่องต่อไปที่ต้องคำนึงถึงคือ จะนำเอาเครื่องมือและกระบวนการของการจัดการความรู้เข้าไปใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียนได้อย่างไร
การร่วมมือกันลงมือปฏิบัติ แล้วเอาความรู้จากการปฏิบัติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับความรู้นั้นเป็นธรรมชาติการทำงานของครูที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการข้ามกลุ่มสาระอยู่แล้ว ความสุขในงานก็เกิดขึ้นประปรายจากการเห็นความก้าวหน้าของนักเรียนเป็นระยะ แต่ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ว่านี้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบเช่น ภายในชั้นเรียน ภายในระดับชั้น หรือภายในช่วงชั้นเท่านั้น เนื่องจากจุดเน้นของงาน R&D ที่เป็น PDCA ที่ทำกันนั้นอยู่ที่ความสำเร็จของงานมากกว่ากระบวน การเรียนรู้ร่วมกัน ที่ยอมให้ผลสัมฤทธิ์ของงานด้อยลงได้บ้าง แต่มุ่งเน้นให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้ไปในกระบวนการของการทำงาน
ทุกวันนี้เสียงของคำถาม "ใครได้เรียนอะไรจากงาน" ในการทำงานของครูยังค่อยอยู่มาก และครูเองก็ยังไม่ค่อยอิ่มเอมกับคำตอบนี้เท่าไหร่นัก เพราะมักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปมุ่งอยู่ที่คำถาม "ฉันจะสอนอย่างไร และเด็กจะได้เรียนอะไร" มากกว่า
กระบวนการของการจัดการความรู้ที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการแบ่งปันความรู้ จึงน่าจะช่วยให้ทุกคนมีวิธีเก็บเกี่ยวความสุขจากงานการเรียนรู้ได้มากขึ้น มองเห็นศักยภาพของตนและคนอื่นได้มากขึ้น และเกิดความสัมพันธ์เชิงบวกที่มีฐานมาจากการเคารพในคุณค่าของกันและกันได้มากขึ้นด้วย
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ใน ฝึกตนฝนปัญญา
ผมชอบสรุปของคุณครูวิมลศรี ที่ว่า
"การแบ่งปันความรู้ ช่วยให้ทุกคนมีวิธีเก็บเกี่ยวความสุขจากงานการเรียนรู้ได้มากขึ้น มองเห็นศักยภาพของตนและคนอื่นได้มากขึ้น และเกิดความสัมพันธ์เชิงบวกที่มีฐานมาจากการเคารพในคุณค่าของกันและกันได้มากขึ้นด้วย"
ขอขอบพระคุณ และขออนุญาตนำไปใช้ต่อนะครับ