คิดเรื่องงาน (62) : กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ และกล้าอุทิศตนเป็นครูสอนคนสอนงาน (ปิดเรื่อง)


กล้าที่จะมานั่งถอดบทเรียนร่วมกันแบบไม่กลัวหรืออายว่าคนอื่นจะเห็นบาดแผลที่เกิดจากการงานนั้นๆ...คนประเภทนี้ก็หมายถึง คนประเภท “จิตอาสา” ด้วยเหมือนกัน

 

บันทึกที่แล้ว ผมกะจะเล่าให้สั้นๆ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสักนิด เพราะบันทึกของผม ก็มักยืดยาวมาแต่ไหนแต่ไร และมันยังจะเป็นเช่นนั้นไปอีกนานและนานเลยทีเดียว (บันทึกนี้ก็เหมือนกัน) 

บันทึกที่แล้ว  ผมใช้ชื่อเรื่องว่า กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ และกล้าอุทิศตนเป็นครูสอนคนสอนงาน (เปิดเรื่อง)  โดยมีกรอบสาระหลักคือ ชื่นชมและยกย่องมากเป็นพิเศษกับคนประเภทชอบทำงาน และชอบที่จะอุทิศตนเป็นบทเรียนให้กับเพื่อนและองค์กรอย่างไม่อิดออด  มิหนำซ้ำ, ยังชอบอาสาที่จะทำงาน หรือเฝ้าแสวงหาโอกาสเพื่อพัฒนาตนเอง และเพียรพยายามตะกายหาพื้นที่ในการแก้ไขข้อบกพร่องอย่างไม่รู้จบ.. 

ครับคนจำพวกนี้ ผมพูดแบบตรงไปตรงมาว่า “น่ารัก-น่าเคารพ” 

ล่าสุดโครงการขับขี่ปลอดภัย...เปิดไฟใส่หมวก  ผมดูจะปล่อยวางการดูแลแบบถึงลูกถึงคนอยู่มาก  เพราะเห็นว่าก่อนหน้านั้นกิจกรรมในลักษณะเดียวกันก็มีให้เรียนรู้แล้ว รวมถึงการพยายามให้ทีมงานได้ลงแรงคิดและลงแรงใจร่วมกันอย่างเต็มที่  โดยไม่ต้องพะวงว่า ผมจะไปปั้นหน้าบึ้ง  “เช็คงาน” อยู่ใกล้ๆ เหมือนที่เคยเป็นมา 

ในห้วงการเตรียมงานนั้น  ผมบอกแต่เพียงสั้นๆ ในทำนองว่า “เมื่อต้องทำงานสักชิ้น ผมอยากให้ทุกคนหลับตาลงช้าๆ เมื่อสงบนิ่งก็ค่อยๆ จินตนาการเบิ่งมองไปสู่บริบทของงานที่กำลังจะมีขึ้น
ซึ่งมันจะทำให้เราเห็นภาพทุกมุมของงานได้อย่างแทบไม่น่าเชื่อ เพราะหากยืนมองด้วยการเบิกดวงตาเพียงสองดวงเพียงอย่างเดียว-เชื่อเถอะ ผมยืนยันว่า “ไม่มีทางมองเห็น !” ดังใจหวังอย่างแน่นอน

ดังนั้น ครั้งนี้ผมจึงถอยมาเป็นผู้ร่วมเป็นเกียรติในงาน และเฝ้าสังเกตการณ์อยู่อย่างเงียบๆ พร้อมๆ กับการแสดงความจริงใจให้เขารู้ว่า “ผมเชื่อมั่นในความเป็นพวกเขา”  และนั่นคือ “โอกาส” ของการพิสูจน์ตน และพิสูจน์ทีมที่ท้าทายอยู่อย่างน่ารัก


ทันทีที่ขบวนรณรงค์เคลื่อนตัวออกจากมหาวิทยาลัย ผ่านคณะต่างๆ มุ่งสู่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับการวกวนกลับมายังจุดเริ่มต้นในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง-ซึ่งผมพยายามสังเกตและเก็บข้อมูลทั้งเรื่อง “กระบวนการทำงาน” และ”พฤติกรรม”  ของผู้เข้าร่วมโครงการอย่างนิ่งเนียน  ด้วยหวังว่าจะนำมา “ถอดบทเรียน”  (After Action Review-AAR) ให้เป็นปัจจุบันที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ 

เมื่อขบวนจอดนิ่งสนิท ต่างคนต่างพักเหนื่อย และทยอยเข้าร่วมกิจกรรมในส่วนที่เหลือ ซึ่งนั่นก็คือการประกวดตัดสติ๊กเกอร์ตกแต่งหมวกนิรภัยนั่นเอง    

 

เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ  ผมได้เชิญทีมงานมานั่งสนทนากันใต้ร่มไม้ใกล้ๆ กับสถานที่จัดงาน เพื่อนำเข้าสู่การ “เช็คงาน” หรือ “ถอดบทเรียน”  ในบางเรื่อง เพื่อให้สามารถนำไปแก้ไขในส่วนที่เหลือได้ทัน และเพื่อให้เกิดความสดของการเรียนรู้ ผมเลยต้องพูดคุยกันด้วยวิธีของเราเอง 

ผมบอกกับทีมงานว่า 

  • การเช็คงานเป็นระยะๆ เป็นกระบวนการที่สำคัญที่ผมไม่อยากให้ทุกคนมองข้าม
  • ไม่ใช่ทำงานไปเรื่อยๆ เจอปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่รู้สึกท้าทายที่จะท้ารบ 
  • จากนั้นก็ปล่อยไปเรื่อยๆ รอเวลาให้งานจบลงค่อยมาว่ากันทีหลัง  ซึ่งบางทีพอจบแล้วก็จบเลย ไม่มีการหยิบประเด็นมาถกคิดและสังเคราะห์เลยก็บ่อย

ถัดจากนั้น  เราก็เริ่มคุยกันแบบสบายๆ ถึงปมประเด็นที่เกิดขึ้นกับงาน โดยส่วนใหญ่ก็พยายามสะกิดให้เจ้าของงานสะท้อนออกมาว่า ทำอะไรอย่างไรบ้างแล้ว...ได้ผลอย่างไร..และค้นพบอะไรไปบ้างแล้วจากเวทีนี้

  • สาระสำคัญที่พวกเขาสะท้อนแบบเปิดเปลือยออกมาก็คือ  ไม่มีการมอบหมายงานกันอย่างชัดเจน  ทำงานเพียงไม่กี่คน  ผู้รับผิดชอบกุมงานอยู่จนล้นมือ มีคนมาช่วยงานก็เยอะ แต่มอบหมายไม่ชัดเจนและไม่ทั่วถึง หลายต่อหลายคนเลยไม่รู้จะขยับไปเติมเต็มจุดใดบ้าง พลอยให้เป็นส่วนเกิน หรือแม้แต่เป็นแขกไปโดยปริยาย ทั้งที่มาเพื่อเป็น “ทีมงาน”

ครับ-ประเด็นนี้ ชัดเจน ผมเองก็เห็นพ้องด้วย เพราะเจ้าของงาน ไม่ควรทำทุกเรื่อง แต่ต้องทำหน้าที่กำกับและประสานงานให้รอบด้าน รวมถึงการทำหน้าที่ประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยับเข้าหาผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นกระบวนการของการนำพาไปสู่การแก้ปัญหาที่อาจกำลังจะเกิดขึ้น

 

ถัดจากนั้น เราก็ช่วยกันสังเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นแบบเปิดใจ เช่น รถนำขบวนไม่มีเครื่องเสียงประชาสัมพันธ์  (ทั้งๆ ที่ย้ำก่อนนั้นว่าสำคัญมาก)  ก่อนเคลื่อนขบวนไม่มีการพูดให้ความรู้ในเรื่องทักษะการขับขี่ หรือความรู้อันเป็นกติกามารยาทของการใช้ถนน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณไฟเลี้ยว การพูดคุยในระหว่างขับขี่ เป็นต้น...

นอกจากนั้นยังโยงถึงปัญหาเรื่องพิธีกรที่ไม่ได้รับข้อมูลที่รอบด้านจากฝ่ายผู้จัด ทำให้กระบวนการสื่อสารไม่มีชีวิตเท่าที่ควร  รวมถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการดูแลหน่วยงานอันเป็นภาคีที่มาช่วยเหลือ หรือแม้แต่การจัดเก็บข้อมูลสถิติของการเข้ารับบริการทั้งซ่อมบำรุงและเปลี่ยนถ่ายชิ้นส่วนต่างๆ ของจักรยานและจักรยานยนต์ 

ครับ, นั่นเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้จัดมองข้าม และเป็นกระบวนการเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมสร้างเวทีขึ้น เพื่อให้ทีมงานเห็นความสำคัญของการการเรียนรู้ที่จะทำงานกันเป็น “ทีม” และเห็นความสำคัญของการ “เช็คงาน” เป็นระยะๆ รวมถึงการสรุปเพื่อถอดบทเรียนในห้วงท้าย หรือแม้แต่ถอดบทเรียนเป็นระยะๆ ในแต่ละห้วงตอน (ก็สามารถทำได้)
 

โดยส่วนตัวนั้น  ผมถือว่าน่าชื่นชมตรงที่ว่า เจ้าของงานและทีมงานกล้าคิด กล้าทำและกล้ารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และกล้าที่จะเปิดเปลือยบาดแผลจากการงานในครั้งนี้ให้คนอื่นได้เรียนรู้เพื่อการพัฒนาตน-พัฒนางาน-พัฒนาองค์กรไปพร้อมๆ กัน 

จากที่ไม่เคยสัญจรไปสู่ชุมชน ก็กล้าที่จะขยับออกไปสู่ชุมชน... 
กล้าที่จะคิดนอกกรอบทำจักรยานผูกโบว์ ...
กล้าที่จะมานั่งถอดบทเรียนร่วมกันแบบไม่กลัวหรืออายว่าคนอื่นจะเห็นบาดแผลที่เกิดจากการงานนั้นๆ...
และกล้าที่จะเปิดรับการถูกวิพากษ์ หรือแม้แต่พิพากษาจากการประเมินว่า สำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ...
มิหนำซ้ำ ยังประกาศตนว่า จะรีบสรุปผลร่วมกับทีมงาน เพื่อส่งต่อไปยังคนอื่นๆ เพื่อให้งานต่อไป มี
“ทุน” แห่งการต่อยอด จะได้ไม่ผิดพลาดในโจทย์เดิมๆ อีกต่อไป

ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ ต้องบอกว่า แทบไม่ปรากฏมาให้พบเห็นเลยในก่อนหน้านี้... 

ด้วยเหตุนี้แหละครับ  ผมถึงบอกว่า คนประเภทไม่ทำอะไร และปล่อยให้ภาระตนเองกลายเป็นภาระคนอื่น ผมว่าคนประเภทนี้ “น่าตี-น่าหยิก” 

แต่คนประเภทอาสาทำ และกล้าที่จะรับผิดชอบต่อผลพวงชะตากรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงกล้าที่จะอุทิศบาดแผลที่ตนเองได้รับเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นได้ดู ได้เห็นอย่างไม่อาย ...ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนและองค์กรของตัวเองนั้น  ผมว่าคนประเภทนี้ “น่ารัก-น่าเคารพ” และน่า “สอนงาน” เป็นที่สุด 

และที่สำคัญ  คนประเภทนี้ก็หมายถึง คนประเภท “จิตอาสา” ด้วยเหมือนกัน  ซึ่งผมว่า ถ้ามีอยู่แล้วก็ควรต้องดูแล –ส่งเสริม สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง 

จึงได้แต่หวังว่า คนประเภทนี้  จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่ซ้ำๆ หรือย่ำอยู่กับกระบวนการและปัญหาเดิมๆ จนมองไม่เห็นพัฒนาการ (อย่างนี้ก็ไม่ไหว เหมือนกัน -ฮา)... 

ท่านล่ะครับ มีสักกี่เรื่องสักกี่ตอน ที่เปิดเปลือย, แอ่นอกเปิดเผยเป็นบทเรียนให้กับคนรอบกายและองค์กรได้เรียนรู้อย่างน้ำใสใจจริง 

สำหรับผมนั้น..ที่ๆ กำลังทำอยู่นี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการถอดบทเรียนจากบาดแผลของตัวเองแทบทั้งสิ้น เพราะผมอยากให้คนรุ่นหลังได้มีระบบของการ “สอนงาน-สร้างทีม” กันจริงๆ ผมไม่อยากให้พวกเขา เคว้งอยู่ในถนนแห่งการพัฒนาตนและพัฒนาองค์กรดังที่ผมประสบและพบเจอมาอย่างแสนสาหัส.... 

และที่สำคัญ คนประเภทกล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ และกล้าอุทิศตนเป็นครูสอนคนสอนงานนั้น หากมีในองค์กรแล้ว ต้องช่วยกันดูแลและสอนงานให้มากๆ นะครับ ส่วนจะสอนด้วยสไตล์ไหน วิธีการใด  ตรงนั้น, ลองพิจารณาดูกันเองก็แล้วกัน

(ยังไงๆ ..บันทึกนี้ก็ยืดยาว และฟุ่มเฟือยอยู่ดี-ผมแจ้งตั้งแต่ต้นแล้วนะครับ)

 

หมายเหตุ..

ตอนนี้ภายในมหาวิทยาลัย
มีการตรวจจับตัดคะแนนวินัยจราจรอย่างละ 5 คะแนน (หมวก,ย้อนศร,ซ้อนสาม,ฯลฯ)

หมายเลขบันทึก: 376251เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

คนที่ทำงานร่วมกันเป็นทีมกับผู้อื่นได้...อย่างจิตอาสาและรู้งาน

แน่นอนย่อมใช้คำว่า...น่ารัก..น่าเคารพและน่าสอนได้อย่างเต็มใจรวมทั้งขอเติมให้อีกคำหนึ่งว่า....น่าคบด้วยค่ะ 

คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยๆกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาทั้งตัวบุคคล  ทีมงานและองค์กรต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม  เพื่อจะได้มองเห็นอย่างชัดเจนถึงผลที่เกิดขึ้น

ถึงบันทึกจะยาวแต่..ในเมื่อมีเนื้อหาสาระก็ไม่แปลก

ขอบคุณกับบันทึกนี้นะคะ...

สวัสดีครับท่านอาจารย์ แผ่นดิน

กำลังคิดอยู่พอดีว่า ทำไมเราไม่ปลูกฝังสิ่งที่งดงามแบบนี้(กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบและกล้าอุทิศตนเพื่อสังคม)ให้กับนักเรียนตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน ตั้งแต่อนุบาลกันเลย พอได้อ่านบันทึกนี้  เลยโดน  ชื่นชมวิธีคิด  ขอให้ประสบความสำเร็จ  มีความสุขสนุกกับการทำงานและโชคดีครับ

  • คนประเภทกล้าคิด กล้าทำ และกล้ารับผิดชอบ หายากขึ้นในทุกองค์กร
  • สมัยนี้ สังคมมีแต่คนทำงานเพื่อเอาหน้า  งานที่เห็นผลช้าไม่ค่อยมีใครทำ
  • ส่วนใหญ่เห็นความสำคัญแต่ชื่อเสียง  เงินทอง  และคนยกย่อง
  • ผลเพื่อส่วนรวมคงต้องปลูกฝังให้กับเยาวชนมากขึ้น
  • ก็ต้องช่วยกันทุกคน ทุกอาชีพ  และการทำเป็นแบบอย่างดีที่สุด
  • ชื่นชมในความคิดของน้องอาจารย์ที่พยายาม สร้างงาน  สร้างทีม
  • พี่เป็นกำลังใจให้เสมอ...อย่าท้อนะคะ..

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

 

 “ผมเชื่อมั่นในความเป็นพวกเขา”  และนั่นคือ “โอกาส” ของการพิสูจน์ตน และพิสูจน์ทีมที่ท้าทายอยู่อย่างน่ารัก

 

ขอชื่นชมมากค่ะ คนเราทุกคนย่อมต้องการโอกาส และเมื่อมีโอกาสแล้วจะต้องสร้างสรรค์งานให้คุ้มค่ากับโอกาสที่ได้รับ 

การที่เราถอยมาเป็นผู้ชมผู้มองบ้าง ทำให้เราเห็นภาพทุกมุมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การติดตามประเมินผลการทำงาน ทำให้ทราบข้อบกพร่อง และหาวิธีปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุดตรงประเด็น  ที่สำคัญที่สุดเมื่อเปิดวงสนทนา ทุกคนต้อง "เปิดใจ" 

ไม่แปลกค่ะที่บันทึกจะยาว  แต่เปี่ยมด้วยคุณค่าและสาระ ชอบค่ะ เก็บเกี่ยวสาระไปปรับใช้เพื่อพัฒนางานได้ดีทีเดียว 

ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ

** ส่งความคิดถึงไว้ให้คุณอาจารย์แผ่นดินและลูกชายที่น่ารักค่ะ **

     ** ขอให้ประสบแต่ความสุขสมปรารถนาในทุกๆ สิ่งนะคะ **

           ** รักษาสุขภาพ พักผ่อนเยอะๆ นะคะ**

                   ** ด้วยความระลึกถึงค่ะ**


              

 

ตามมาเชียร์คนทำงานชอบแบบนี้จังเลยครับ ตอนนี้ภายในมหาวิทยาลัย

มีการตรวจจับตัดคะแนนวินัยจราจรอย่างละ 5 คะแนน (หมวก,ย้อนศร,ซ้อนสาม,ฯลฯ)

อรุณสวัสดิ์ค่ะ

กิ๊ดเติงหาจั๊ดนักเจ้า

ไม่ได้เข้ามาบันทึกนานมาก  ขอสูมาด้วยเน้อ

เพราะกำลังวุ่นวายกับเรื่องไร้พุง

อ่านบันทึกนี้แล้ว

พี่เขี้ยวขอเอาไปใช้ AAR ในงานตัวเองบ้างนะ

เขี้ยวได้แจ่มแจ้งเลยค่ะ

สวัสดียามเช้าค่ะ

      การมอบงานไม่ทั่วถึงดูเป็นส่วนเกิน  เพราะไม่เชื่อใจ เขาจะทำได้เหมือนตัวเอง มีมากในปัจจุบัน แล้วเหนื่อยเองแล้วก็บ่นว่าเหนื่อยทำงานมาก แล้วเขาเคยคิดไหมว่าเพราะอะไร  ทำให้นึกถึงงานประเพณีต่างๆงานบุญ ฯ ที่รวมแรงร่วมใจแบ่งกันทำงานอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องบอกกล่าวโดยธรรมชาติที่เต็มใจช่วย เป็นตัวอย่างให้ 

         คนรุ่นหลังมองอย่างประทับใจ หากผู้มองพิจารณแล้วคิด นำมาเป็นบทเรียน  ได้เสมอ  ในการปฏิบัติงานที่เป็นทางการ เมื่องานจบต่างแยกย้ายเลยก็จบ  แต่ถ้าผู้จัดนำ สรุปงานโดยนำผู้ร่วมงานมาบอกกล่าวด้วยหรือรวมทั้งหมดของผู้ร่วมงานอีกครั้งเหมือนเช่นก่อนเริ่มงาน โดยกำหนดเวลาให้เพื่อตรงนี้ด้วย ก็จะดีที่ช่วยกันสรุปได้ทราบว่าทุกคนรู้สึกอย่างไรในการจัดครั้งนี้  และแนะนำการแก้ปัญหาไว้ก่อนมีการจัดใหม่ในครั้งต่อไป ปัญหาครั้งใหม่ก็อาจไม่มีเลย หากมีก็น้อยลง  แต่งานไหนงานนั้นส่วนใหญ่รีบกลับเหลือแต่ทีมงานที่จัดมาคุยกันเองและเวลาจะจัดใหม่ก็สรุปปัญหาเองโดยไม่ถามผู้ที่เคยร่วมงานว่าดีหรือไม่ควรเพิ่มสิ่งใด  แล้วผู้ร่วมงานกลับไปเขาก็ไปบ่นว่ากล่าวกันโดยที่ทีมงานก็อาจไม่ทราบปัญหาเลย คือ ทุกคนกลับโดยไม่มีการ ...ลา..น่าจะมีเวลาให้โอกาส เขาฝากคำพูดไว้ก่อนกลับว่ารู้สึกอย่างไรกับงานที่มาร่วมการทำกิจกรรมเพราะบางคนเจอปัญหาแต่ไม่บอก แต่ไปคุยกันเอง ควรให้โอกาส กับผู้ร่วมงาน...กล้าพูด กับผู้จัด   ไม่ใช่เฉพาะทีมงาน 

        " กล้าคิด กล้าทำ   กล้ารับผิดชอบ   กล้าอุทิศตน เป็นครูสอนงานนั้น"หากมีการเริ่มสอน  ตั้งแต่เด็กๆ ก็จะดีมาก แต่ครูและอาจารย์ผู้สอน ก็ต้องสอนให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง  แล้วจะมีครูสักกี่คนที่ทำได้ทั้งตัวเองและสอนนักเรียนได้ ครูเป็นบุคคล ที่มีโอกาส ที่สุด ในการสอนนิสัยคน  ขอบคุณนะคะ

                

             

การมอบหมายงานเป็นสิ่งสำคัญค่ะ

เพราะบางคนก็ไม่รู้จะทำอะไรไม่ใช่เพราะไม่อยากช่วย

และ การมอบหมายงานโดยทั่วไปจะนิยมมอบหมายให้ตามความสามารถหรือความถนัด

เพื่อจะให้ผลงานออกมาดี แต่ บางครั้ง By Jan อยากให้ลูกน้องพัฒนาตน By Jan ก็จะมอบหมายงานที่เขาไม่ถนัดบ้าง และคอยให้กำลังใจหรือหาพี่เลี้ยงให้ ซึ่งในที่สุดเขาจะค้นพบว่า เขาทำได้ บางครั้งทำได้ดีกว่าหัวหน้าหรือพี่เลี้ยงซะอีก 

อ่านแล้วสะกิดความคิดได้ดีค่ะ จากประโยคนี้"รถนำขบวนไม่มีเครื่องเสียงประชาสัมพันธ์ (ทั้งๆ ที่ย้ำก่อนนั้นว่าสำคัญมาก)ควรทำสมำเสมอนะคะ...แต่ไม่ใช่จู่โจม...คำว่าจู่โจมหมายถึงอยู่ๆก็จับผิด...โดยเฉพาะการจับผิดโดยมิทันตั้งตัวทางด้าน"ความรู้อันเป็นกติกามารยาทของการใช้ถนน"หรือกฎจราจร"ถ้าหากว่ารณรงค์ไม่สมำเสมออาจจะเป็นช่องว่างในการกระทำผิดกฎจราจรบ่อยครั้งได้ค่ะ...ขอบคุณค่ะ

ให้ทีมงานได้ลงหน้างานและตัดสินใจด้วยตนเอง ผู้บริหารก็ถอนตัวออกมาให้กำลังใจ

สุดยอดการบริหาร จัดอยู่ในประเภทขายความคิด

เรียนท่านอาจารย์แผ่นดิน

  ขอบคุณสำหรับบันทึกที่เป็นประโยชน์นี้นะคะ ดิฉันเองก็มีปัญหาเรื่องการสอนงานเหมือนกันค่ะ พยายามหลายครั้งแล้วยังไม่เป็นที่น่าพอใจเลยค่ะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

      มาให้กำลังใจคนที่กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ(ขออนุญาตเติม)กล้ารับผิดชอบและกล้าอุทิศตนเป็นครูสอนคนสอนงาน .....ลุยต่อค่ะ

หาคนที่จะคิดค้นโครงการใหม่ ๆ ทำสิ่งใหม่ ๆ นั้นยาก ดีนะอย่างน้อยเราก็ภูมิใจในผลงานของตน ทำจากส่วนเล็กๆอาจจะกะทบส่วนที่ใหญ ๆ ก้ได้ใครจะรู้

ขอชื่นชม เรื่องหมวกกันน็อค มาก

เพราะ ผมรู้สึกว่า ปัญญาชน ใน มาหวิทยาลัย โง่มาก

ไม่ยอมใส่ หมวกกันน็อค

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ กับบทความดีๆ เป็นประโยชน์ เป็นครูจะพยายามสอนให้นักเรียนเป็นคนกล้าคิด กล้าทำ มีความรับผิดชอบ จะได้เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพต่อไป

  • ขอชื่นชมด้วยใจจริงครับ

บุคลิกลักษณะ และนิสัยของคนที่จะเป็นคนยอมรับ เปิดใจ เป็นผู้ให้นั้น ผมคิดว่าสามารถที่จะพัฒนาได้ โดยเฉพาะในวัยที่ยังอยู่ในรั้วโรงเรียน เพราะฉะนั้นโรงเรียนจึงมีความสำคัญมาก ที่จะสอนให้เด็กเป็นผู้ให้ "ยิ่งให้มาก ยิ่งได้มาก" ต้องสอนให้เด็กมีความคิดที่เป็นเหตุและเป็นผล ดังที่ศาสนาพุทธเน้นย้ำในเรื่องความสำคัญของเหตุและผล

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ

“เช็คงาน” หรือ “ถอดบทเรียน” ในบางเรื่อง เพื่อให้สามารถนำไปแก้ไขในส่วนที่เหลือได้ทัน และเพื่อให้เกิดความสดของการเรียนรู้ แนวทางแห่งการพัฒนาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท