คิดเรื่องงาน (60) : ว่าด้วยเรื่อง "ความเปลี่ยนแปลง" และวาทะ "3 โต"


เมื่อโอกาสเดินทางมาถึง เราทุกคนก็ควรใส่ใจกับโอกาสนั้นๆ และกล้าพอที่จะกระโจนไปสู่การเรียนรู้ เพื่อเติบโตในโอกาสนั้นๆ

 

ปัจจุบัน-หากต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ หรือแม้แต่สถานะ ทั้งสูงขึ้น
หรือต่ำลง  ผมมักบอกกับตัวเองเสมอว่า “อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง”  หรือไม่ก็บอกย้ำกับ
ตัวเองอย่างหนักแน่นว่า “ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น คือความท้าทายของชีวิต”
 

แน่นอนครับ- แรกเริ่มของการถูกปรับเปลี่ยนตามโครงสร้างการบริหารนั้น  เดิมทีผมก็หัวดื้อพอสมควร  ออกอาการเกเรบ่นนิดบ่นหน่อย ไปจนถึงบ่นมาก...
 

แต่ครั้นพอได้ลงสู่การงานนั้นๆ แล้ว  เมื่อเราเริ่มปรับตัวและปรับความคิดได้  การงานในตำแหน่งใหม่  ก็ดูเหมือนจะเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างไม่ยากเย็น  สิ่งเหล่านั้นคงต้องปรบมือให้กับตัวเองที่หาญกล้าสู่การเรียนรู้ตามกลไกการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ  รวมถึงการกล้าหาญที่จะท้าทายต่อการเปลี่ยนนั้นๆ อย่างไม่ทดท้อ
 

และที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ  การปรบมือให้กับทีมงานที่กล้าหาญพอที่จะเปิดรับ “ผม” และเปิดรับต่อการ “เปลี่ยนแปลง”  ที่ผมนำพามาด้วย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
 

เช่นเดียวกับปัจจุบัน  ภายใต้โครงสร้างที่กำกับดูแลอยู่นั้น  ล่าสุด  ส่วนงานที่ผมเคยกำกับดูแลได้แตกหน่อเติบโตไปในวิถีที่วางกรอบไว้  แม้อันที่จริงจะเร็วไปกว่าที่ผมวางแผนไว้มากนัก  แต่ผมก็ถือว่า  เมื่อโอกาสเดินทางมาถึง  เราทุกคนก็ควรใส่ใจกับโอกาสนั้นๆ  และกล้าพอที่จะกระโจนไปสู่การเรียนรู้ เพื่อเติบโตในโอกาสนั้นๆ  ด้วยเช่นกัน 
 

เพราะผมเชื่อว่า  ในทิศทางใหม่นั้น  มีโครงสร้างรองรับชัดเจน  และในวิถีองค์กร  เราเองก็ต้องสร้าง "ผู้นำ" ในแต่ละรุ่นมารับช่วงอย่างไม่ขาดสาย  ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาสร้างแต่ “ผู้ตาม”  จนล้นองค์กร
 

ครับ-ผมพูดตามประสบการณ์ตรงของผม  เพราะในองค์กรที่สังกัดนั้น  ผมเคยสัญจรไปทำหน้าที่ หรือแม้แต่กำกับดูแลมาจนเกือบครบหมดแล้วก็ว่าได้  และนั่นยังไม่รวมถึงว่า  เคยได้สัญจรไปช่วยงานต่างองค์กรมาแล้วก็มาก  ซึ่งนี่กระมังที่เขาเรียกกันว่า “เปลี่ยนความคิด...ชีวิตก็เปลี่ยน”  เพราะเมื่อไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ...  อะไรๆ ก็ดูท้ายทาย และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด  มิหนำซ้ำมันยังพิสูจน์ความสามารถของเราไปในตัว  รวมถึงการเพาะบ่มอาวุธสมองของเราให้หลากหลายและแหลมคมมากขึ้นด้วยเช่นกัน


เช่นเดียวกับล่าสุดนั้น  ภายหลังมีส่วนงานที่ผมดูแลแตกหน่อก่อร่างไปเป็นกลุ่มงานใหม่  คงเหลือทรัพยากรบุคคลให้กำกับดูแลน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด  หากแต่ว่าภารกิจทั้งปวงนั้น  กลับไม่น้อยไปกว่าเดิม  ตรงกันข้ามกลับดูหนักหน่วงขึ้นเท่าตัว

ครับ-เราเหลือจำนวนคนน้อยลง  เราเหมือนแบกอะไรกันหนักขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด  ซึ่งผมก็ได้ย้ำกับลูกทีมต่อเนื่องเสมอมาว่า “นั่นก็คือความท้าทายของพวกเรา...นั่นคือความท้าทายในวิถีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ภายใต้กำลังคนอันน้อยนิด” 

 

ล่าสุดนั้น  ในโครงสร้างที่ผมกำกับดูแลอยู่นี้  มีการมอบหมายให้ทุกคนเป็น “หัวหน้างาน”  อย่างถ้วนหน้า  และให้แต่ละคนจับคู่เป็น “คู่หู”  ทำงานร่วมกันตามแนวคิด “สอนงาน...สร้างทีม” 
 

กระบวนการภายใต้โครงสร้างใหม่ที่ว่านี้ ก็ยอมรับแหละว่า หนักหนาพอสมควร  โดยเฉพาะบทพิสูจน์ของแต่ละคนในความเป็น “หัวหน้า”  และบทพิสูจน์ของแต่ละคนในความเป็น “ทีม”  หรือบทพิสูจน์ของแต่ละคน  อันหมายถึง “พัฒนาการ” สู่การเติบโตในการงานนั่นเอง
 

กรณีดังกล่าวนี้  ผมเปิดอกคุยกับลูกทีมท่านหนึ่ง  ด้วยเห็นว่า  ระยะหลังนั้นการทำงานของเขาดูจะสะดุดบ่อยขึ้น บางขณะก็ออกอาการแผ่วลงอย่างน่าใจหาย  จนใครๆ ในทีมงานก็กระโจนเข้าไปพยุงช่วยกันเป็นระยะๆ ...
 

เรื่องดังกล่าวนั้น  ผมสะท้อนทัศนะจากการ “จับอาการ”  ลูกทีมว่า  ตัวเขาเองกำลังอยู่ในห้วงปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงในบทบาทและหน้าที่ใหม่ๆ  รวมถึงการปรับตนเข้าสู่ความเป็น “ทีม”  ที่เขาอาจยังไม่ “คุ้นเคย”  เพราะก่อนนั้น  ต้องยอมรับว่าโครงสร้างและระบบที่เป็นอยู่  ได้สอนให้เขาทำงานในลักษณะกึ่งเบ็ดเสร็จ “คนเดียว” มาระยะหนึ่ง...เพราะเป็นการงานที่ใช้ทักษะเฉพาะทาง  และในวิถีที่ว่านั้น ก็แทบไม่ได้สร้าง “คู่หู”  มารองรับไว้ตั้งแต่ต้น
 

ความอ่อนล้าที่เกิดจากเขานั้น  ผมไม่ได้โทษเขา  แต่ก็พิพากษาตัวเองอยู่มาก  เพราะผมเองก็มีส่วนรับผิดชอบต่อ “วิถี”  เหล่านั้นพอสมควร  ดังนั้นผมจึงไม่อายที่จะพูดคุยและถามถึงแรงใจที่เหลืออยู่ในตัวตนของเขา...เพราะเกรงว่า หากปล่อยล่วงไปมากกว่านี้ บางทีเราอาจสูญเสียทั้ง “คนและงาน” ไปพร้อมๆ กัน
 

แต่ที่สำคัญที่สุด...

ก่อนหน้านั้น  ผมบอกกับเขาว่า  คนเราเมื่อถึงเวลาต้องโตมันก็ต้องโต (อย่างน้อยก็ได้รับโอกาสที่จะโต)  ซึ่งหมายถึงในวิถีการงานนั้น  มันปฏิเสธไม่ได้เสียทั้งหมดว่า ควรมีโอกาสได้เลือกอะไรตามอำเภอใจไปเสียทั้งหมด  ดูอย่างผมสิ-ลาออกก็บ่อย  ไม่เห็นใครให้ออก  มีงานใหม่ๆ  หรืองานใหญ่ๆ  ผมก็มักถูกโยนมาให้แบกอย่างไม่รู้จบ  จนทุกวันนี้แทบเรียกได้ว่าทำงานแบบลอยมาลอยไป  นั่งโต๊ะได้ไม่นาน  เพราะต้องสัญจรไปโน่นไปนี่อยู่ไม่เว้นว่าง  ต่างจากพวกเขา  มีงานเฉพาะทางให้ทำเพียงไม่กี่อย่าง  หากประสงค์จะเปลี่ยนใจ ทั้งอยากทำและไม่อยากทำ  ผมก็เชื่อว่า พวกเขาจะได้รับการอนุเคราะห์เช่นนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย-....(ซึ่งมันต่างกับผมลิบลับจริงๆ)

 

แน่นอนครับ  ผมกำลังเติมในสิ่งที่เขาเคยพูดว่า “ความสุขที่แท้จริง คือการได้ทำในสิ่งที่ตนรัก”  แต่ครั้งนี้ผมเติม หรือขยายความไปว่า “มันจะดีมาก หากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น  มันกลายเป็นความรัก หรือเป็นอานิสงส์ความสุขของคนอื่นไปด้วย”  นั่นแหละนิยามความสุขในแบบฉบับของผม  และผมก็ปรารถนาให้เขามองในมุมที่กว้างขึ้นเท่านั้นเอง...

 

และเหนือสิ่งอื่นใด  ผมบอกกับเขาว่า  ห้วงเวลาเช่นนี้  คือห้วงเวลาแห่งการเติบโตของเขา- 

เพราะถ้าดูจากความอาวุโสที่มีอยู่  เมื่อผมก้าวลง  เขาก็ควรค่าต่อการรับช่วงขับเคลื่อนองค์กรและเป็นที่พึ่งพิงของ “ทีม” 

ดังนั้น  ผมฝากให้เขากลับไปคิดว่า “คนเราเมื่อถึงเวลาต้องโตมันก็ต้องโต”  ส่วนจะโตได้มากแค่ไหน  มันก็อยู่ที่ว่าใครแต่ละคนจะเปิดใจสู่การ “ใส่ใจ-ใฝ่รู้” สักกี่มากน้อย หรือแม้แต่การฝากให้เขาได้เก็บเอาวาทกรรมว่าด้วย “3 โต”  ไปขบคิดดังว่า

 

(๑)  โต..จากอายุงาน อันหมายถึง  เติบโตไปตามความอาวุโสแห่งการงาน

(๒)  โต..จากความรู้ อันหมายถึง เติบโตด้วยศักยภาพและความจัดเจนแห่งการงาน

(๓)  โต..จากศรัทธา อันหมายถึง เติบโตและนั่งอยู่ในหัวใจของทีมเป็นที่พึ่งพิงของลูกน้อง

 

นั่นคือ อีกเรื่องราวหนึ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างในองค์กร  และการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวตนของคนในองค์กรว่า...พร้อมหรือยังต่อการเรียนรู้ในวิถีแห่งความเปลี่ยนแปลงในบทบาทและหน้าที่  พร้อมๆ กับการฉายให้เห็นว่าตัวตนของแต่ละคน  พร้อมหรือยังกับการที่จะเติบโตในวิถีแห่ง “3 โต” 

 

 

หมายเลขบันทึก: 374416เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (45)

ท่านอ.แผ่นดิน 

ใช่เลยค่ะ   บันทึของท่านทำให้ได้เรียนรู้มากมายค่ะ

“คนเราเมื่อถึงเวลาต้องโตมันก็ต้องโต”  ส่วนจะโตได้มากแค่ไหน  มันก็อยู่ที่ว่าใครแต่ละคนจะเปิดใจสู่การ “ใส่ใจ-ใฝ่รู้”

“เปลี่ยนความคิด...ชีวิตก็เปลี่ยน”

 

สวัสดีครับ อ.ท้องฟ้า

เรื่องเล่าในบันทึกนี้ เป็นอีกเรื่องเล่าที่มาจากกระบวนการ หรือวิถีแห่งการ "จับอาการลูกทีม" ของผม  เราคุยกันเช่นนั้นจริง  โดยเฉพาะเรื่อง "3 โต"  เพราะถือว่าเป็นอีกภาพสะท้อนหนึ่งที่แต่ละคนต้องถามและสำรวจตัวเองให้ชัดเจนว่าอยู่ ณ จุดใด

การงาน ผมยอมรับว่า เราย่อมมีสิทธิ์ได้เลือกทำในสิ่งที่ตนรัก  แต่สิ่งสำคัญก็คือ มันสิ้นสุดที่ตัวเราจริงหรือ...คนเราเป็นสัตว์สังคม  เราล้วนมีภารกิจแห่งการแบกรับสังคมไปโดยปริยายอยู่แล้ว  ขึ้นอยู่กับว่าหนักเบา ก็เป็นไปตามบทบาทและสถานะในองค์กรนั้นๆ เป็นสำคัญ

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

บอกได้สั้นๆ แต่เพียงว่า "รักในหลวง..และรักแผ่นดินสยามเป็นที่สุด"

...ขอบพระคุณครับ..

ตามมาเป็นกำลังใจและเรียนรู้ครับอาจารย์

ยังคงระลึกถึงเสมอในมิตรภาพครับ

สวัสดีครับ อ.เสียงเล็กๆ فؤاد

วันเวลาเคลื่อนไปตามกาลเวลา..
ความศรัทธาในมิตรภาพ ก็เติบโตไปเช่นกัน

เป็นกำลังใจให้ เช่นกัน นะครับ

ขอบคุณนะค่ะ...ที่จบด้วย 3 โตแบบโดนใจ....ความสุขที่แท้จริงคือการได้ทำงานที่เรารัก....

มาเรียนรู้จากงานเขียนที่โดนใจ

สรุปตอนจบได้ดี "3 โต"

  (๑) โต..จากอายุงาน อันหมายถึง  เติบโตไปตามความอาวุโสแห่งการงาน

  (๒)  โต..จากความรู้ อันหมายถึง เติบโตด้วยศักยภาพและความจัดเจนแห่งการงาน

   (๓)  โต..จากศรัทธา อันหมายถึง เติบโตและนั่งอยู่ในหัวใจของทีมเป็นที่พึ่งพิง

                             ของลูกน้อง

  ต้องนำไปวิเคราะห์ต่อ  ในองค์กรปัจจุบัน  เรา โตได้กี่โต  .....มีตัวชี้วัดด้วยไหม?

จะได้พิสูจน์ชัดๆไปเลย  อิๆๆๆ   ขอบคุณค่ะ

  • ผมชอบคำพูดนี้ครับคุณแผ่นดิน
  • เมื่อโอกาสเดินทางมาถึง  เราทุกคนก็ควรใส่ใจกับโอกาสนั้นๆ  และกล้าพอที่จะกระโจนไปสู่การเรียนรู้ เพื่อเติบโตในโอกาสนั้นๆ  ด้วยเช่นกัน 
  • ผมไม่เคยให้โอกาสเดินทางมาหา  แต่ผมจะเป็นฝ่ายเดินไปหาโอกาสครับ
  • การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดปัญหาตามมา  แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เราค้นพบทั้งตัวเอง และผู้อื่น
  • ขอบคุณครับสำหรับบัญทึกดี ๆ

สวัสดีครับ

  • ไม่เจ๊อะกันนานสบายดีหรือเปล่า
  • ทำในโลกแห่งจินตนาการเป็นเรื่องไม่ยาก
  • แต่ทำในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่าย
  • ถ้าใครสามารถมีได้ทั้ง 3 โตดังกล่าว ถือว่าสุดยอดแล้วครับ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกที่ให้ข้อคิดดีๆเช่นนี้
  • ระลึกถึงเสมอ...

สวัสดีครับ noktalay

ว่าด้วยเรื่อง 3 โต..นั้น...
เป็นโจทย์จากที่น้องเขาเปรยว่า "ผมจำเป็นต้องโต" มั๊ย  ผมเลยถือโอกาสเล่าให้ชัดว่า ทุกคนได้รับโอกาสเช่นนั้นเท่ากันหมด ส่วนใครจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหน  ก็ขึ้นอยู่กับตัวตนของแต่ละคน  สำหรับผม  ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเสมอภาคให้ได้มากที่สุด  เมื่อมอบโอกาสให้เท่าเทียมกัน  หากถึงวันที่ต้องเลือกใครสักคนมาอยู่แทนในที่ที่เราเป็นอยู่  อย่างน้อยเราก็สบายใจว่า  วันเวลาที่ผ่านมา  เราได้มอบโอกาสให้เขา และเตรียมเขามาในระยะหนึ่งแล้ว  ส่วนเขาจะได้อะไร หรือมีทุนจากวาทะ "3 โต" กี่มากน้อย  ผมก็ยังยืนยันว่า  ภายใต้ระบบการสอนงานและสร้างทีมที่ดี  ทุกอย่างก็อยู่ที่ตัวตนของแต่ละคนอยู่วันยังค่ำ ว่าเปิดรับ...เปิดใจ  หรือแม้แต่มีขีดความสามารถในการพัฒนาตนเองมาก หรือน้อยเป็นสำคัญ-

 

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ..อ.ดาวเรือง

แน่นอนครับว่าด้วยเรื่อง "3 โต" ที่ผมหยิบมาเป็นวาทกรรมนั้น  ถุกกำหนดจากมุมมองความคิด หรือวิธีคิดและวิธีสอนงานของผมเอง ตัวชี้วัดอาจไม่ชัดนัก  แต่จริงๆ มันสะท้อนอะไรพอสมควร  เป็นต้นว่า

-โตจากอายุงาน...มันชัดเจนอย่างน้อยก็ตอบโจทย์เรื่องความเป็นสังคมแห่งการงานของเมืองไทยไม่น้อย  เพราะเราเชื่อในวัฒนธรรม "ก่อนหลัง"  พอสมควร  แต่มันก็คนละความหมายกับ "อาวุโส" ในสังคม  เพราะคำหลังวัดจากอายุของคน  ส่วนคำแรกผมวัดจากอายุงาน เป็นที่ตั้ง...

-โตจากความรู้...ตรงนี้ชี้ชัดเรื่องความความรู้ ความสามารถ ความสันทัด ความชัดเจนในสิ่งที่ตนปฏิบัติ-รู้จริง-รู้ชัด-ปฏิบัติได้  ในมุมมองของผม ก็ไม่ติดยึดว่าทำงานมานาน  เพราะคนที่อยู่นาน ก็ใช่ว่าจะ "ชำนาญการ" เสมอไป บางที,มาใหม่ ไม่ใช่แค่ไฟแรง แต่อาจรู้จริง รู้ชัดและปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ทำงานมานานกว่าก็เป็นได้

-โตจากศรัทธา ...ตรงนี้ผมว่าชัดเจนที่สุด  มันอาจหมายถึงบารมี  หรือมันอาจจะหมายถึงการได้รับความเคารพนับถือ เป็นที่รักที่เชื่อมั่นของคนรอบข้าง  เป็นแม่ทัพที่นั่งในใจของลูกน้องก็ไม่ผิด  เพราะผมเชื่อว่า  สังคมวันนี้ ยังต้องมีผู้นำ  ไม่ใช่ว่าเชื่อผู้นำแล้วองค์กรพ้นภัย  แต่ผมเชื่อว่า ผู้นำที่ดี คือคนดี..ที่ชนะใจลูกน้อง ย่อมนำพาผู้คนไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะทุกคนพร้อมใจ "ลงเรือลำเดียวกัน" หรือเพราะทุกคนเป็น "คนบ้านเดียวกัน" ...

...

ครับ ไม่รู้ชัดมั๊ย..ดูยังเป็นจินตนาการอยู่เลยใช่ไหมครับ
แต่ก็ยืนยันว่า  ผมพูดกับลูกทีมในนิยามของผมเช่นนั้น จริงๆ...

...ขอบคุณครับ

สวัสดีคะ อาจารย์แผ่นดิน

ขอบคุณสำหรับข้อคิด และเรื่องราวดีดี  ว่าด้วย ความเปลี่ยนแปลง และ วาทะ 3 โต เรือ่งดอกาสดีดี ผ่านมาบ่อยๆๆ แต่โอกาสเหล่านั้น มีแต่ใช้เวลา พี่สุยิ่งไม่ค่อยจะมีเวลาติดเลี้ยงเหลน ลูกหลานสาว เลี้ยงตั้งแต่ออก จนได้ 8 เดือน แม่เด็กไปทำงาน  แต่ก่อนพี่สุ แก่แล้ว ยังไปศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตต่อ ไม่ละทิ้งโอกาส เพราะเวลาพอมี พอแบ่งปัน พึ่งจบมหาวิทยาลัยชีวิตราชภัฎพระนคร  เรียนสาขา สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระดับปริญญาตรี ใครๆก็ว่าพี่สุจะเรียนมาเล่นการเมืองท้องถิ่น แท้จริงแล้ว อยากรู้ว่าสาขานี้ เป็นเช่นไร

-และสาขานี้เขาก็สอนการเป็นผู้นำ เรียนมาแล้ว พี่สุ ก็เป็นได้แค่เพียง    ผู้นำแน จากการอ่านเรื่องราว การเป็นผู้นำ ของอาจารย์แล้ว ก็ได้ข้อคิดเสริมว่า อย่าสอนให้เขาเป็นแต่ผู้ตาม ให้พยายามเป็นผู้นำด้วย

-มันเป็นงานที่ท้าทาย ที่อาจารย์เลือกใช้ตัวตั้ง  เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนพี่สุก็ถูกสอนการให้เป็นผู้นำ ที่อาจารย์กล่าวมาทั้งมหเหมือน มาสร้างจิตสำนึกให้กับพี่สุ การที่จะเป็นผู้นำ แล้วก็สร้างผู้นำ มันอาจจะลำบากถ้าคนไม่ยอมรับ แต่เผอิญว่า อาจารย์ได้รับการยอมรับ และบอกลุกทีมว่ามันเป็นความท้าทาย

-คนเรา เมื่อสมควรโต ก็ต้องโต ช่างได้ใจพี่สุเหลือเกินคะ เพราะมีบางคนไม่ยอมโต และยอมเป็นลูกแหง่ ลูกแหล่ง ใช่ไหมภาษาบ้านเรา แต่เราต้องการสร้าง เพราะเห็นศักยภาพของเขา

-ที่พี่สุอ่านมาทั้งหมดไม่ทราบว่าพี่สุเข้าใจถูกหรือเปล่า  การสร้างผู้นำ ในหัวใจหลัก การพิจารณาตนเอง ใช้หลัก 3 โต  แล้วก็ยังมี ใฝ่เรียน ใฝ่รู้  เพื่อการพัฒนาการเป็นผู้นำ หลังจากที่เป็นผู้ตามมานานพอสมควรแล้ว

-ขอบคุณมากนะคะ ความสุขที่แท้จริง คือการทำงานที่เรารัก แต่คนอื่นเลือกให้ ก็ยอมรับ ถ้าทำได้

สวัสดีครับ นายก้ามกุ้ง

ผมเองก็ใช้ชีวิตด้วยแนวคิดเดียวกันคือ "เดินหน้าเข้าหาโอกาส..."  ผมอาจจะเป็นคนปะเภทอดทนน้อยไปหน่อย แต่ก็ชอบสะสาง และเผชิญหน้ากับวิกฤต  ดูมันท้าทายและเป็นรสชาติของการใช้ชีวิต

และที่สำคัญก็เหมือนที่คุณบอกนั่นแหละครับ

การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดปัญหาตามมา  แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เราค้นพบทั้งตัวเอง และผู้อื่น

...

เรากลัวการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น  นั่นคือความจริงของสัตว์สังคม  แต่ความกลัวนั่นแหละ คือหินถ่วงให้ชีวิตไม่สามารถเดินฝ่าไปยังวันข้างหน้าได้...ท้ายที่สุดก็จ่อมจมอยู่กับที่อย่างน่าเสียดาย

ซึ่งมันก็จริงนะครับ ความเปลี่ยนแปลงในสายงาน คือภาพสะท้อนหนึ่งของการพิสูจน์ศักยภาพของเราเอง ว่าทำได้กี่มากน้อย...รู้และเรียนรู้ได้ดีแค่ไหน...ฯลฯ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

   ด้วยมุ่งหวังอยากโตทั้ง 3 โต

(๑)  โต..อายุงาน อันหมายถึง  เติบโตไปตามความอาวุโสแห่งการงาน

(๒)  โต..ความรู้ อันหมายถึง เติบโตด้วยศักยภาพและความจัดเจนแห่งการงาน

(๓)  โต..ศรัทธา อันหมายถึง เติบโตและนั่งอยู่ในหัวใจของทีมเป็นที่พึ่งพิงของเพื่อนร่วมงาน
      นี่เป็นกิเลสเบื้องต้นของตัวเองค่ะ  สบายดีนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

 

 คนส่วนใหญ่มักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะมีความรู้สึกว่าจะไม่ปลอดภัย หรือคุ้นเคยกัยสิ่งเดิมๆ จนชิน ไม่อยากรับผิดชอบหรือต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ ปัญหาใหม่ หรือกลัวความผิดพลาด  หากรู้ไม่ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นคือความท้ายทาย และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด  มิหนำซ้ำมันยังพิสูจน์ความสามารถของเรา  รวมถึงการเพาะบ่มอาวุธสมองของเราให้หลากหลายและแหลมคมมากขึ้น  ดังที่อาจารย์ได้กล่าวไว้

ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงในองค์กร หากเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น... อาจเกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นก็เป็นได้  แต่ทั้งนี้ ก็ต้องดูความพร้อมและบริบทขององค์กรหลายๆ ด้านประกอบกันด้วย  คงคล้ายวิถี 3 โต

“ความสุขที่แท้จริง คือการได้ทำในสิ่งที่ตนรัก”   : มันจะดีมาก หากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น  มันกลายเป็นความรัก หรือเป็นอานิสงส์ความสุขของคนอื่นไปด้วย”  นิยามความสุขในแบบฉบับของอาจารย์แผ่นดิน.. ขอบอกว่ามันคล้ายๆ กันกับนิยามของครูใจดีค่ะ  เพราะมันเป็นเรื่องจริงมากๆ ถ้าทำด้วยใจที่ไม่รักไม่ชอบ จะมีความสุขได้อย่างไร?

* ขอบคุณมากค่ะ

 

 

สวัสดีครับ KRUJOY (ครูจ่อย)

  • ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนและเติมความเข้มข้นให้บันทึกนี้นะครับ
  • เป็นจริงดังครูจ่อยครับ ..
  • เพราะเรื่องที่ผมพูดนั้นเป็นภาพฝัน/ภาพฟ้องที่อยากให้ "3 โต" มีจริง แตะต้อง สัมผัสได้  ทั้งในบุคคล หรือในระบบองค์กร
  • เพราะความเป็นจริง...มีมากมายครับที่ในองค์กรเลือกผู้นำจากอายุงาน..บางที ผู้นำอายุอานามน้อยกว่าลูกน้องก็มีถมไป..ตรงนี้ท้าทายครับ..
  • ส่วนประเด็นที่สอง "โตจากความรู้"  แน่นอนครับ ผมสื่อในทำนองว่า "อยู่นานก็ต้องชำนาญการ"  สันทัด จัดเจน ไม่ใช่อยู่มานาน  แต่ไม่มีพัฒนาการในความรู้  ทำเรื่องเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา ราวกับเป็นคนมาทำงานใหม่ก็ไม่ปาน
  • ....
  • ครับ ฟังดูเหมือนผมสร้างวาทกรรมมาเป็นอนุสรณ์ยุคสมัยขององค์กรอะไรประมาณนั้น  แต่ก็ยังอยากเรียนว่า  ผมพยายามคิด และสร้างกระบวนการให้เกิดขึ้น
  • แนวคิดเหล่านี้จึงเกิดจากการมองผ่านความจริงที่สัมผัสในแต่ละวันเป็นที่ตั้ง 
  • ทางออกที่ผมสะท้อน เป็นเพียงกระบวนการ หรือเครื่องมือ หรือทางเลือก...ของการปรับเปลี่ยน แก้ไข
  • ...บางที ผมก็เป็นเหมือนคนขายฝันคนหนึ่งเท่านั้นเอง
  • การซื้อความฝันของผม ก็คงต้องประยุกต์ไปตามบริบทองค์กร  เพราะเช่นนั้น ก็ยากยิ่งเหมือนกันที่จะขับเคลื่อนไปได้
  • ...
  • แต่สำหรับผม การสอนงาน..สร้างทีม-มันท้าทายผมและทีมงานเอามากๆ
  • ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ พี่สุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ไม่มีวันปิดทำการ

อ่านข้อคิดพี่สุคราใด ผมรู้สึกว่าเป็นกระบวนการถอดความ-และเติมเต็มข้อเขียนของผม หรือแม้แต่ใครๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ยิ่งในบันทึกของผมที่มุ่งรำพึงรำพันเล่าเรื่องแบบรวมๆ เช่นนี้ พอได้พี่มาแลกเปลี่ยนก็ทำให้บันทึกมีคุณค่าขึ้นมหาศาลเลยทีเดียว

  • ผมเติบโตมาจากองค์กรที่ไม่ได้สร้างผู้นำไว้เป็นรุ่นๆ อย่างที่ควรจะเป็น  เหมือนใบไม้ร่วงแล้วงอกใหม่ไม่ทัน ...ผมถึงได้คิดเสมอมาว่า  เราต้องสร้างผู้นำไวรับช่วงในภารกิจขององค์กร เพราะไม่อยากให้องคืกร หรือทีมต้องหยุดชะงักเพียงเพราะการขาดผู้นำ..นั่นเอง
  • แน่นอนครับ ผู้นำที่ดี  ผมว่าต้องโตมาจากการเป็นลูกน้องนั่นแหละ  กระบวนการสำคัญอันเป็นองค์ประกอบก็คือ ใส่ใจ...ใฝ่รู้..ตลอดเวลาเหมือนที่พี่สุ ไม่เคยหยุดนิ่งกับการตะกายเรียนรู้นั่นแหละครับ
  • เช่นกันครับ, ผมเชื่อว่า  สถานการณ์จะสร้างวีรบุรุษ  ดังนั้น  การผลักดันให้เปลี่ยนโครงสร้างงานนั้น  มันช่วยให้มีผู้นำเกิดตามสถานการณ์ไม่น้อยกว่า 8 คนเลยทีเดียว  มันอาจไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุด แต่มันก็เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับห้วงเวลาเช่นนี้  เพราะมันจะได้สัมพันธ์กับยุทธศาสตร์ที่เราต้องการขับเคลื่อน  ถ้าไม่ทำเช่นนั้น อะไรๆ ก็จะโหลดสูงอยู่แต่เฉพาะเรา  จนพลอยให้สะดุดไปในที่สุด  ด้วยวอธีคิดเช่นนี้แหละครับ ผมถึงชอบี่พี่สุพูดว่า "ลูกแหง่" เพราะมันชัดเจนเหลือเกิน "ถึงเวลาโต..ไม่ยอมโต"  ซะงั้น
  • หลายเรื่องในชีวิต  เราเล่นตามบทของการถูกเลือกมากกว่าได้เลือกด้วยตัวเอง  คงไม่ใช่แค่แนวคิด ได้อย่างเสียอย่างเพียงอย่างเดียว  แต่ผมเชื่อว่า  การถูกเลือก ก็หมายถึงเราเป็นคนมีความสามารถ  เป็นคนแห่งความหวัง-
  • สำคัญอยู่ที่ว่า เรามีความสุขกับการถูกมอบหมายกี่มากน้อย..(คำตอบนั้น คนแต่ละคนต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ความสุขที่ว่านั้นคืออะไร...อย่างไร...เมื่อไหร่ ด้วยวิธีการใดๆ เป็นองค์ประกอบ...เป็นต้น
  • ...
  • ขอบคุณอีกครั้ง นะครับ

 

ความเปลี่ยนแปลงเป็นความท้าทายที่ดี

และคนเราก็ต้องพร้อมเสมอ สำหรับความเปลี่ยนแปลง

ท่านแผ่นดิน "โต" ได้สมบูรณ์แบบแล้วนี่คะ

..สวัสดีครับ

..ขอยืมลิขสิทธิ์..ทางความคิดอาจารย์ไปใช้นะครับ..

..มีแต่คนตามเท่านั้น..ที่เห็นหลังผู้นำ

..ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.phayorm แซ่เฮ

ว่าด้วย 3 โต...เป็นเหมือนการปักธงเป้าหมายไปในตัวเหมือนกัน  เพราะผมเชื่อว่า สิ่งเหล่านั้น คือทิศทางการเติบโตของแต่ละคนที่จะต้องย้อนกลับไปตามตัวเองว่าเป็นอยู่อย่างไร..มีแค่ไหน...แกร่งและพร้อมแค่ไหน-ภายใต้บริบทการให้โอกาสที่เป็นโอกาสจริงๆ..

ขอบคุณครับ

  • ใช่ครับอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง
  • ปีนี้น้ำทำนาไม่พอหรือครับ
  • เด็กน้อยสองคนเป็นอย่างไรบ้างครับ
  • คงเป็นหนุ่มขึ้นมากแล้ว
  • วันก่อนดูหนุ่มน้อยเลี้ยงไก่

เข้ามาติดตามงานของท่านอาจารย์ครับ ผมได้รับแรงบันดาลใจจากท่านอาจารย์จากงานที่ผมติตามอ่าน

สวัสดีค่ะ

  • ได้ใจอีกแล้ว
  • กับแนวคิด "๓ โต"
  • ที่เป็นความฝัน
  • ของคนทำงานมือใหม่
  • แต่ก็น่าแปลกนะคะ
  • คนที่มีโอกาสโต
  • กลับไม่ยอมโต
  • มีพบเห็นทั่วไปค่ะ
  • มาทักทาย..
  • หลังจากหายไปนาน
  • ขอบพระคุณที่แวะไปทักทายแป๋ม
  • ยังระลึกถึงอยู่เสมอนะคะ.

 

 ขอรับบริจาคหนังสือ / อุปกรณ์กีฬา โรงเรียนบ้านแม่มอญวิทยา (เด็กชาวเขา)

              เนื่องด้วย โรงเรียนบ้านแม่มอญวิทยา หมู่ 2 ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย  ได้ขยายการเรียนการสอนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนตั้งแต่อนุบาลเป็นต้น

 

                            ทางเข้าหมู่บ้านแม่มอญ

    ปัจจุบันโรงเรียนบ้านแม่มอญมีนักเรียนรวมทั้งหมด 221 คน โรงเรียนมีห้องสมุดที่ให้บริการแก่นักเรียน  และบุคคลทั่วไป แต่ทางโรงเรียนยังขาดแคลนหนังสือสำหรับค้นคว้า  และใช้ในการเรียนการสอน    อีกทั้งทางโรงเรียนยังขาดแคลนอุปกรณ์กีฬา

   

 อ่านเรื่องได้ที่http://gotoknow.org/blog/mcuchiangrai01/373405

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

ยินดีกับการเติบโต เกินวัยอย่างสมบูรณ์ของหนุ่มลูกทุ่งแห่งสารคามค่ะ

สังคมยังต้องการผู้นำ ที่เป็นคนดี และมีความมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายส่วนรวม ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะพี่นัส ขอร่วมแชร์ค่ะ

เติบโตเป็นสิ่งที่ดี.....เพราะนั่นคือความก้าวหน้าในชีวิต

เติบโตอย่างไรให้สง่า...เพราะคนรอบข้างเพื่อนพี่น้องด้วยหรือไม่

เติบโตได้เล็กได้...เพราะนั่นคือยอมรับการเปลี่ยนแปลง

แต่หากยอมรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้...เพราะนั่นคือต้องแปลงเปลี่ยน(ความคิด)

ไม่ว่าจะโตขนาดไหน....ถ้าหากเข้าไม่ถึงใจกันและกัน...คงหมดความสำคัญที่จะโต

ขอบคุณมากค่ะ...ที่ให้ข้อคิดดีๆ

 

^_________^

^____________^

^_______________^

^___________________^

^_____________________^

^_______________________^

^__________________________^

^____________________________^

^_______________________________^

^_________________________________^

^___________________________________^

ขอบคุณน่ะค่ะ

  • ผมเชื่อมั่นอาจารย์ว่าท่านมีแนวคิดเรื่องภูมิปัญญาชัดเจนมาก
  • มาไม่เสียเที่ยวได้ความรู้กลับไปด้วยครับ

สวัสดีค่ะ...

ความจริงการเปลี่ยนแปลงมีตลอดเวลาค่ะ...เว้นแต่ปัจจุบันมันเป็นยุค IT เลยทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากค่ะ...ถ้าเราเปิดใจกล้ารับความเปลี่ยนแปลง...ไม่เห็นจะเป็นไรเลยค่ะ...จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันด้วยนะค่ะ...ทีนี้ต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเข้ามา...รับมือได้หมดค่ะ...ขอยืนยันค่ะ...เพราะเกี่ยวกับเรื่องงาน ตนเองโดนเปลี่ยนแปลงมาเยอะค่ะ...

สวัสดีครับ ครูใจดี

เมื่อวานผมคุยกับน้องในองค์กรท่านหนึ่ง  ผมเล่าให้เขาฟังว่า  ช่วงเวลาหนึ่ง  ผมทำงานได้ไม่ถึงสามปี  ผู้ใหญ่เลือกให้ทำหน้าที่หัวหน้างาน และเข้าไปสู่การรักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน  ซึ่งขณะนั้นไม่มีคนผ่านการคัดเลือก 

ครั้งนั้น  ระดับขั้นเงินเดือนของผมยังห่างจากกรอบตำแหน่งนั้นมาก  แต่ก็ยอมรับว่าไม่ค่อยสบายใจกับการรับงานเช่นนั้น เนื่องจากเราถือว่าเรายังเด็ก-ในองค์กร ยังมีคนอาวุโสมากกว่าเราหลายคน  แต่ที่สุดแล้ว ก็ยังต้องรับบทบาทและหน้าที่นั้น  เพราะผมมองว่า "เราถูกเลือก"  เรา "ทำงานตามคำสั่งที่มอบหมาย"  ซึ่งมันอาจหมายถึงการได้รับโอกาสจากผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านคงมองแล้วว่า สถานการณ์นั้น  คงเป็นเรากระมังที่เหมาะสมที่สุด...

ผมรับผิดชอบการงานในตำแหน่งนั้นได้สักปี  ก็ลาออก เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนคนทำงาน และที่สำคัญก็คือ เพื่อให้คนอื่นที่อาวุโสได้ขยับขึ้นไปสู่การประเมินเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น  นั่นคือสิ่งที่ผมคิด และสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมเมื่อหลายปีก่อน...

คงสะท้อนภาพได้บ้างกระมังว่า  นั่นคือ "การได้เลือกในสิ่งที่เรารัก...และเราก็ถูกเลือกจากบริบทขององค์กร"  แต่ทั้งปวงนั้น ไม่ว่าจะเลือกเอง หรือถูกเลือก มันก็ยังเป็นการงานแห่งความสุขอยู่วันยังค่ำ  เพราะอย่างน้อยเราก็รู้สึกเสมอว่า องค์กรคือบ้าน...และบ้านหลังนี้มีอะไรๆ ให้ต่อเติม ซ่อมแซมมากมายเหลือเกิน

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ ครู ป.1

สารภาพตามตรงในอีกมุมหนึ่งของเรื่องนี้นะครับ...

ผมเองก็เคยถูกเลือกให้ "โต" 
ครั้งกระโน้น  ผมบาดเจ็บจากการโตในโอกาสที่องค์กรมอบให้  เพราะเรายังไม่พร้อม แต่ดีหน่อยคือผมเป็นคนประเภทกล้าที่จะเรียนรู้และกล้าพอที่จะเจ็บปวดกับการเรียนรู้นั้นๆ เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้และบาดแผลที่ว่านั้น มันจะสอนให้ผม "โต" อย่างมีคุณค่าในภายหลัง

ดังนั้น แนวคิดที่ผมนำมาบอกเล่านั้น  ทั้งหมดมาจากบาดแผลแห่งการเรียนรู้ของตัวเองล้วนๆ จึงพยายามสะท้อน หรือฉายให้น้องๆ หรือลูกทีมได้ร่วมพบพาน และมี "ทุน" ในการที่จะโต  เพราะอย่างน้อยเขาก็ได้เห็นบทเรียนจากตัวผมเองบ้างแล้ว  ซึ่งมันต่างกันลิบลับกับผมเมื่อในอดีต เพราะแทบไม่มีใครสอน และประกบแบบใกล้ชิดเพื่อการสอนและสร้างทีมเช่นนี้เลยก็ว่าได้  คล้ายกับต้องเรียนรู้และดิ้นรน ตะกายหาสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง...

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ คุณsoraya

ก่อนถึงวันนี้ ผมเดินตามผู้นำมาไม่รู้กี่ก้าว..เป็นหมื่นๆ ล้านๆ  หลักกิโลเมตร  บางทีผู้นำก็หายเงียบพลอยตกใจ ราวกับถูกทิ้งไว้กลางทาง  บางทีผู้นำก็ดุ่มเดินราวจนตามไม่ทัน  ทำเอาเราล้มหัวทิ่มไปไม่รู้กี่ครั้ง..

ทั้งปวงนั้น มันคือรสชาติการเติบโตและการเรียนรู้โดยแท้เลยทีเดียว

วันนี้ ก็ยังต้องเดินตามผู้นำอยู่เหมือนเดิม...หากแต่บางบทบาทที่ต้องเป็นผู้นำ  ผมก็ไม่ละเลยที่จะสร้างโอกาสให้ใครๆ ได้เป็นผู้นำอยู่ตลอดเวลา...

ขอบคุณครับ

 

ตัวเอง ก็ไม่รู้โต แค่ไหนเหมือนกัน

(๑) โต..อายุงาน อันหมายถึง เติบโตไปตามความอาวุโสแห่งการงาน ก็ถือว่าโตนะ เพราะอยู่ในอันดับต้นๆ ขององค์กร

(๒) โต..ความรู้ อันหมายถึง เติบโตด้วยศักยภาพและความจัดเจนแห่งการงาน ถ้าอันนี้ ก็โต แต่คงในหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ 

(๓) โต..ศรัทธา อันหมายถึง เติบโตและนั่งอยู่ในหัวใจของทีมเป็นที่พึ่งพิงของเพื่อนร่วมงาน ไม่รู้ซิ แต่็พอเป็นที่พึ่งพิงของเพื่อนร่วมงาน และนักเรียนได้ แต่จะมาหรือน้อยเราเองตัดสินไม่ได้ต้องให้คนอื่นตัดสินเอง

สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน

อ่านบันทึกของอาจารย์แล้วชวนให้กลับไปมอง 3 โต ของตัวเอง

namsha ไม่ได้โตจากอายุงาน ด้วยตำแหน่งของตนเองในขณะนั้นคือคนตัวเล็กที่สุดก็ว่าได้ จึงถูกเลือก(ด้วยไม่มีใครอยากได้) ให้เป็นคู่หูที่ฟังแล้วดูดี แต่จริงๆมันก็คือทำทุกอย่างคู่กับหัวหน้ากลุ่มงานหรือเป็นลูกน้องนั่นเอง มีกันอยู่แค่สองคน จึงเป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้เรียนรู้งานอย่างมากโดยที่ไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารงาน แล้วก็ถูกเหวี่ยงให้เป็นหัวหน้างานหนึ่งในกลุ่มงานนั้นอย่างไม่ตั้งใจ (เป็นงานใหม่ที่ ผอ.และหัวหน้าเห็นน่าจะเป็นเรา) จึงเป็นบทพิสูจน์ที่เราจะต้องโตให้ได้ มันเป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเราที่เราจะต้องโตความรู้ เมื่อต้องหาหัวหน้างานในระดับองค์จึงถูกเลือกให้ดำรงค์ตำแหน่ง เมื่อมีโอกาสจึงยอมรับตำแหน่งนั้น เหมือนที่อาจารย์ว่า "คนเราเมื่อถึงเวลาต้องโตมันก็ต้องโต

เมื่อมองย้อนกลับไปต้องขอบคุณทุกอย่างที่ทำให้เราโตได้ถึงวันนี้ ด้วยเพราะว่ามี คู่หู ที่ดี ทำให้เราโตอย่างมีทิศทาง ดังนั้น "การสอนงาน...สร้างทีม" จึงเป็นรากฐานที่สำคัญให้กับคนรุ่นต่อไปที่จะมาแทนเรา เพราะองค์กรไม่ได้มีแต่งานในหน้าที่ ที่เรียนรู้ได้จากตำรา หากแต่ยังมีโครงสร้างและระบบที่เป็นอยู่ด้วย

องค์กรบิดเบี้ยว ก็เพราะหัวหน้า มีตัวอย่างให้เห็นนักต่อนัก...

“ความสุขที่แท้จริง คือการได้ทำในสิ่งที่ตนรัก” มันจะดีมาก หากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น มันกลายเป็นความรัก หรือเป็นอานิสงส์ความสุขของคนอื่นไปด้วย”...ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

เมื่อคืน  ฝนตกไม่หนักนัก แต่ก็ต่อเนื่องเป็นเวลานานพอสมควร
ครั้นพอได้ยินฝนตก ทนไม่ได้ จึงรีบโทคกลับไปหาพ่อที่บ้าน  เพื่อถามว่าฝนตกมั๊ย..
คำตอบที่ได้ ท่านบอกว่า  เหมือนฝนจะตั้งเค้า...

ครับ, แค่นั้นก็ดีใจแล้วครับ...
มันเหมือนชีวิต ไม่ปราศจากความหวัง...

...

 

สวัสดีครับ อ.ประยุทธ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ จนเป็นแรงบันดาลใจแก่ผมเช่นกันนะครับ

ผมพูดกับคนรอบข้างเสมอว่า ผมเป็นคนประเภทนักขายฝัน...
เดินทางไปเรื่อย บอกเล่าความฝันไปเรื่อย
หวังลึกๆว่าความฝันของผมนั้น จะมีใครแลกซื้อด้วยใจไปบ้างสักคน...
หลายเรื่องความฝันเป็นเรื่องถอดบทเรียนจากร่องรอยบาดแผลของผมเอง  บางเรื่องเป็นเรื่องจากรอยยิ้มของตัวเอง  หรือแม้แต่บางเรื่อง, ยังถือว่าอยู่ระหว่างการพิสูจน์ก็มีด้วยเหมือนกัน  เพียงแต่ชวนให้ใครๆ ร่วมพิสูจน์ไปพร้อมกันเท่านั้นเอง..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ครูใจดี

การทำงานในทุกวันนี้  มีระบบเข้ามาตรวจสอบและเกี่ยวข้องมากมายมหาศาล จนบางทีอึดอัดและรู้สึกว่าอะไรๆ ก็เต็มไปด้วยตัวชี้วัดเสียทั้งหมด  แต่จริงๆ แล้วก็ยังถือว่าสำคัญอยู่มาก  อย่างน้อยก็ทำให้เราเตือนตัวเองว่า  ทำอะไร...เพื่ออะไร...และจะทำยังไงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดังที่ตั้งใจไว้

เกี่ยวกับองค์กรนั้น  ผมมีความเชื่อว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้นั้น ต้องเป็นองค์กรที่มี "ชีวิต" มี "สไตล์" ของตัวเอง  และมีบรรยากาศการส่งเสริมกันและกันแบบพี่แบบน้อง  มีการเตรียมคนให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง  ทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้โต  และชี้ให้เห็นความจำเป็นของการโตภายใต้เวลาและสถานการณ์  เป็นต้น

โดยส่วนตัวนั้น  ผมเชื่ออยู่อย่างว่า  ในความเป็นการงาน  มันอาจไม่ใช่สิ่งที่เราได้เลือกเสียทั้งหมด  แต่สำคัญอยู่ที่ว่า  เราเลือกที่จะหาพื้นที่เล็กๆ ในการงานนั้นๆ ได้หรือไม่  ถ้าหา หรือค้นพบได้ นั่นแหละคือพื้นที่แห่งความสุข...และนั่นก็หมายถึง การได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักด้วยเช่นกัน

ครับ-ต้องหาพื้นที่เล็กๆ ในนั้นให้เจอ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ครูแป๋ม

  • ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
  • ทั้งงานเรียน
  • งานสอน ไปถึงไหนแล้วครับ
  • ความเป็นครู...
  • คือผู้แบกความหวังของการสร้างคนเพื่อไปสร้างชาติ
  • นั่นคือภารกิจ และพันธกิจอันยิ่งใหญ่
  • ก็ยังยืนยันถึงกำลังใจ...
  • และความห่วงใย
  • หรือความปรารถนาดี...
  • มีให้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง นะครับ



สวัสดีครับ คุณฤทธิชัย

ขอบคุณที่แวะบอกข่าวนะครับ
เป็นกำลังใจให้..
และจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ นะครับ

 

สวัสดีครับ คุณปู poo

ความฝัน ทำให้ชีวิตได้โบกบิน
และความสุข ก็เกิดจากความฝันของเรา กลายเป็นความฝันเดียวกับความฝันของใครอีกหลายคน

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ นุ้ยcsmsu

การเปลี่ยน คือภาพสะท้อนของการเติบโต/พัฒนาการของชีวิตนะครับ  แต่บางทีก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่า ในวิถีที่เปลี่ยนแปลงนั้น บ่อยครั้งก็เปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่พัฒนาเหมือนกัน  แต่สำคัญอยู่ที่ว่า เราเรียนรู้อะไรบ้างจากภาวะเช่นนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ "ถอดบทเรียน" ได้หรือไม่...

ผมล้วนวิตกกับการเปลี่ยนแปลงเสมอ...

นั่นคือความจริงอันเป็นปรากฎการณ์ที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในตัวเอง

สวัสดีครับ ไผ่ไม่มีกอ

วัยรุ่นน่าดู...ผมนึกไม่ออกเลยว่า เป็น "สัญลักษณ์" อะไร
แต่มีความสุข กับการได้อ่านบันทึกนี้ (ใช่ไหม-)

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่เบดูอิน

ผมเจตนาบันทึกเรื่องราวอันเป็นเหตุการณ์จริงที่มีในองค์กร
มันเป็นกระบวนการหนึ่งของการ "สอนงาน-สร้างทีม" ที่ผมพยายามผลักดันร่วมกับทีมงานให้เป็นวาระของ "วัฒนธรรมองค์กร"

หากแต่ความสุขที่ได้รับคือ การได้สอนงานผ่านบล็อก 

รวมถึงความสุขที่เห็นบล็อก/บันทึกของตัวเอง เป็นเสมือนจดหมายเหตุองค์กรไปในตัว

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.บุษยมาศ

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่าในยุค IT เช่นนี้ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกมิติที่เร็วมาก
ถ้าเราถอดบทเรียนดีๆ กับการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  ผมเชื่อว่าเราทุกคนจะเติบโต กล้า และแกร่ง...รับมือกับความผันพวนได้ ถึงไม่ได้ถึงที่สุด แต่ก็มีภูมิต้านทาน หรือชะลอระยะเวลาได้...

ครับ ความเปลี่ยนแปลง คือปรากฏการณ์จริงของโลกและชีวิต ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท