ดังได้บันทึกแล้วเมื่อวาน (click) ว่าผมไป "สอน" เรื่องนี้แก่ นศ.ปริญญาเอกของ ม.ทักษิณ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.49
ที่จริงไมได้ไป "สอน" แต่ไป "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" และ "อำนวยความสะดวก" ในการเรียนของกลุ่ม นศ. (ซึ่งมี 5 คนกับ 1 รูป) ผมไม่เชื่อว่า นศ.ปริญญาเอกควรยึดถือการสอนเป็นสรณะ แต่ควรยึดถึอการเรียนเป็นสรณะ
ผมไม่รู้จริงในศาสตร์ด้านมนุษยศาสตร์ เป็น "นักเรียนชรา" ที่สนใจเรียนรู้เท่านั้น แต่คงจะเข้าตา "อาจารย์ใหญ่" คือ ศ. สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ท่านจึงชวนผมร่วมทีมอาจารย์ด้วย ด้วยความรักและเคารพท่าน ผมจึงปฏิเสธไม่ลง และอีกใจหนึ่งก็หวังไปเรียนรู้จากท่านด้วย
ผมไม่ได้ตั้งใจไปเป็นอาจารย์ แต่ตั้งใจไปเป็นศิษย์
ผมมองยุทธศาสตร์การจัดการงานวัฒนธรรมดังนี้
(1) จัดการให้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบัน เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันให้เข้าถึงคนอย่างทั่วถึง ทุกกลุ่มอายุ ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกถิ่นอาศัย
(2) จัดการให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเรียนรู้ของประเทศ ทั้งที่เป็นระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ และระบบการเรียนรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิต ระบบนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบการจัดการความรู้
(3) จัดการให้เป็นระบบสร้างความรู้ผ่านการปฏิบัติ ผ่านวิถีชีวิต ผ่านการวิจัย ให้ทั้งนักวิชาการและทุกคนในสังคมมีส่วนในการสร้างความรู้เชิงวัฒนธรรม
(4) จัดการให้เข้าไปในโรงงาน สถานประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล ลานบ้านลานเมือง ถนนคนเดิน รถไฟ รถประจำทาง รถใต้ดิน รถลอยฟ้า คือให้เข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คน
(5) จัดการให้ปูทางสู่อนาคต สู่การสร้างสังคมที่มีสมดุล มีสมดุลอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย สร้างสังคมที่ผู้คนมีจิตใจอ่อนโยน เห็นคุณค่าของตนเองและของเพื่อนร่วมสังคม ร่วมโลก
นี่คือ "ภาพฝัน" (Dream)
นักศึกษาต้องช่วยกันฝันต่อแล้วช่วยกันคิดว่ามียุทธศาสตร์และวิธีการทำฝันให้เป็นจริงได้อย่างไร
วิจารณ์ พานิช
4 ก.ค.49
บนเครื่องบินไป "สอน" วิชานี้
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand