ถนนสายท่องเที่ยว ชุมพร-ปากน้ำ


ทั้งหมดนี้ คือ “ทุนทางสังคม” ที่นับวันก็จะเสื่อมถอยลงไปถ้าขาดการดูแลเอาใจใส่ ความงดงามจากทุนทางสังคมเหล่านี้นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ได้ครับ โดยเฉพาะทางด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมเคยเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับ "ถนนสายท่องเที่ยว" ในที่ประชุม กรอ. (คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน) โดยมีสื่อมวลชนให้การสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว ถึงแม้ว่าวันนี้ในทางปฏิบัติ "ถนนสายท่องเที่ยว" จะยังไม่เกิดเป็นผลสำเร็จแต่ก็มีแนวโน้มที่ดีหลายประการ โดยเฉพาะวิสัยทัศน์, ยุทธศาสตร์ และภาวะผู้นำของจังหวัดชุมพรมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ผมจึงถือเป็น กาละ-เทศะ ที่เหมาะสมนำเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนออีกครั้งหนึ่ง ดังนี้ครับ

เมื่อเดินทางผ่านถนนสายชุมพร-ปากน้ำ โดยเฉพาะในช่วง ต.ท่ายาง เราจะเห็นบ้านไม้แบบเก่า ๆ ของชาวบ้านร้านตลาดปลูกสลับกับอาคารพาณิชย์ 2 ข้างทาง เห็นวิถีชีวิตของตลาดยามเช้าซึ่งมีแม่ค้ามานั่งขายผลิตผลจากครัวเรือนก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ทราบว่าแม่ค้าหลายคนใช้เรือพายเป็นพาหนะมาจากบ้านที่อยู่ริมน้ำ เห็นร้านกาแฟโบราณที่มีสมาชิกอาวุโสมานั่งคุยกันในบรรยากาศที่สนุกสนานและอบอุ่น ในบางครั้งการสัญจรไปมาบนท้องถนนก็เกิดติดขัดบ้าง เพราะมีขบวนแห่งานประเพณีบวชนาค ทอดกฐิน และงานศพ แต่นั่นก็ไม่ได้สร้างความหงุดหงิดใจมากมายเพียงใด ทั้งนี้เพราะภาพที่เห็นการรำฟ้อนด้วยความรื่นเริงสนุกสุดเหวี่ยงของชาวบ้าน และการจัดการโดยอาสาสมัครชาวบ้านเอื้ออำนวยให้รถทุกชนิดแล่นผ่านไปได้เป็นจังหวะทั้ง 2 ช่องทาง ทำได้เป็นอย่างดี

บางครั้งเราก็ต้องขับรถสวนทาง หรือไม่ก็ตามหลังรถบรรทุกเรือประมงซึ่งเคลื่อนย้ายไปทำมาหากินในอีกฝั่งทะเลระหว่างชุมพรและระนอง ในวันพระเราก็จะได้เห็นญาติโยมเดินหิ้วปิ่นโตไปทำบุญที่วัดท่ายางเหนือ / กลาง / ใต้ ทั้ง 3 วัด พอมองผ่านเข้าไปข้างในสิ่งที่เห็นคือความเก่าแก่ของโบสถ์ วิหาร ฯลฯ ภายในวัด ซึ่งเป็นเครื่องแสดงหลักฐานทางประวิติศาสตร์ของชุมชนแห่งนี้ ผมทราบมาว่า โรงเรียนวัดพิชัยยาราม ( ท่ายางเหนือ ) จัดได้ว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างของการจัดการศึกษาในระดับประถมและมัธยมต้นของ จ.ชุมพร และถ้ามีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดถึงระดับครัวเรือนของชุมชนทั้งใน ต.บางหมาก และต.ท่ายาง ผมค่อนข้างมั่นใจว่า เราจะได้เจอผู้สูงอายุที่มีภูมิปัญญาทางด้านวัฒนธรรมอีกมากมาย

ทั้งหมดนี้ คือ ทุนทางสังคม ที่นับวันก็จะเสื่อมถอยลงไปถ้าขาดการดูแลเอาใจใส่ ความงดงามจากทุนทางสังคมเหล่านี้นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ได้ครับ โดยเฉพาะทางด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ขอแต่พวกเราชาวชุมพร โดยเฉพาะท่านผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด, อำเภอ และท่านผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาลเมืองชุมพร, อบต.บางหมาก, เทศบาลตำบลท่ายาง และที่สำคัญที่สุดก็คือชาวบ้านในชุมชน 2 ข้างทางถนนสายชุมพร-ปากน้ำ  ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ผลักดันอย่างสร้างสรรค์ไปในทิศทางเดียวกันก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาไม่นานนัก

ผมมีโอกาสไป จ.ตรัง ปีละ 2 - 3 ครั้ง ทำให้ได้เห็นพัฒนาการของการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายกิจกรรม โดยเฉพาะการออกแบบถนนที่เชื่อมระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอนาโยง ระยะทางประมาณสิบกว่ากิโลเมตร เป็นถนนที่มีความสวยงามน่าประทับใจมากและคิดว่าน่าจะเป็นรูปแบบที่ใช้ได้กับ ถนนสายท่องเที่ยวชุมพร-ปากน้ำ คือ ถนนได้รับการออกแบบให้มีเกาะกลางถนนเพื่อความปลอดภัยของการจราจร มี ไบค์เลน เพื่อการขับขี่จักรยานทั้ง 2 ฟากถนน มีการปลูกต้นตาลโตนดที่เกาะกลางถนน และต้นไม้ชนิดอื่นริมถนนใหญ่ เมื่อต้นไม้เติบโต ออกดอก ออกใบได้ระดับหนึ่ง คงจะเพิ่มความสวยงามให้ถนนได้เป็นอย่างมาก จนกลายเป็น สัญลักษณ์ ของถนนสายท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากถนนสายอื่นทั่ว ๆ ไป

การออกแบบเพื่อสร้าง สัญลักษณ์ ที่มีความแตกต่างเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเราคงจะไม่สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึก และบรรยากาศของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น ความพิเศษ ผิดไปจากธรรมดาได้อย่างชัดเจน ถ้าเราคิดและออกแบบถนนสายนี้ โดยใช้รูปแบบเดิม ๆ ที่เหมือนกันไปหมด

สังเกตไหมครับว่าใน จ.ชุมพร ปัจจุบันนี้ มีกลุ่มนักขี่จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว-ออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น แต่เราแทบจะไม่เคยเห็นกลุ่มนักขี่จักรยานเหล่านี้บนถนนสายชุมพร-ปากน้ำ ต่อเนื่องไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร  ทั้ง ๆ ที่ภูมิทัศน์ และสภาพของเส้นทางริมทะเลจากหาดภราดร หาดทรายรี ขึ้นไปบนเขาเจ้าเมือง ไปอ่าวทุ่งมะขาม หรือจะแวะเข้าไปที่ศูนย์ป่าชายเลน ฯลฯ เป็นเส้นทางที่น่าสนใจทั้งสิ้น

ผมสันนิษฐานเอาเองนะครับว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการขับขี่จักรยานจากตัวเมืองไปยังสถานที่ดังกล่าว ช่วงหนึ่งของเส้นทางต้องข้ามแม่น้ำท่าตะเภา ซึ่งจุดที่ข้ามคือสะพานท่ายาง บนถนนสายชุมพร-ปากน้ำ ดูเหมือนว่าจะอันตรายต่อการขับขี่จักรยานมากเกินไป เพราะสภาพการจราจรปัจจุบันนี้ รถยนต์วิ่งกันด้วยความเร็วสูง ประกอบกับรูปแบบของถนนในลักษณะเดิมก่อให้เกิดอันตรายได้มาก

ในเมืองที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่ง ให้ความสำคัญกับการเส้นทางจักรยานมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมทราบว่า ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถไฟ หรือรถยนต์ส่วนตัว ทางจังหวัดจัดสถานที่จอดรถเตรียมไว้ให้ที่สถานีรถไฟ และมีบริการให้เช่าจักรยาน วันละ 30 บาท (วันนี้น่าจะปรับราคาไปแล้ว..ใครมีข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ช่วยชี้แจงด้วยครับ...) ขับขี่ท่องเที่ยวได้ทั่วอุทยานประวัติศาสตร์

ลองคิดดูเล่น ๆ นะครับว่า ถ้าเราจัดรูปแบบถนนเพื่อการท่องเที่ยวโดยมีไบค์เลนเกิดขึ้นได้จริง หาจุดจอดรถบริเวณช่วงต้นของถนนแถววัดโพธิ์ ในเขตเทศบาลเมืองชุมพร มีจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวให้เช่าวันละ 30 - 50 บาท ขับขี่ไปตามถนนเส้นนี้ แวะชมสถานที่น่าสนใจที่ชุมชนร่วมกับองค์กรส่วนท้องถิ่นได้พัฒนาสร้างสรรค์ขึ้น และมีจุดพักรถจักรยานในระยะแรกของโครงการที่ท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่ง อบจ.ชุมพร กำลังดำเนินการก่อสร้าง ณ บริเวณริมน้ำท่าตะเภา ในเขต ต.ท่ายาง เพื่อส่งต่อนักท่องเที่ยวไปขึ้นเรือนำเที่ยวชายฝั่งหมู่เกาะชุมพร จัดเป็นเส้นทางสั้น ๆ คล้ายกับเรือนำเที่ยวเกาะปันหยี เกาะตะปู ของ จ.พังงา หรือจะเดินทางไปยังเกาะเต่า ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบันก็สามารถทำได้โดยง่าย คิดว่าพอจะเป็นไปได้ไหมครับ ฝากช่วยกันคิดช่วยกันผลักดัน ตั้งคำถามและออกความเห็นด้วยครับ.

คำสำคัญ (Tags): #ชุมพร
หมายเลขบันทึก: 37339เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 02:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท