AAR 1 ปีของงานพัฒนาระบบ GotoKnow.org


คลังความรู้ที่รวมเอา tacit knowledge กับ ความสนุก ความท้าทาย ความสับสน และความช่วยเหลือเอื้ออาทร ปนเปกันไป รวมเป็นเรื่องเล่าแห่งความสำเร็จบทใหญ่บทหนึ่งที่คนไทยเราเขียนขึ้นมาด้วยกันนั่นเองค่ะ

AAR 1 ปีของงานพัฒนาระบบ GotoKnow.org

“อยากใช้ GotoKnow.org ใช้ไม่เป็นทำอย่างไรดีคะ”
“บล็อกคือเว็บบอร์ดหรือเปล่านะ”
“GotoKnow.org มีไว้ให้เฉพาะนักวิชาการเท่านั้นเหรอ”
“เปิด GotoKnow.org ด้วยเครื่อง Macintosh ได้ไหมครับ”
“อาจารย์ครับ ผมลองบล็อกผ่าน PDA แล้วขึ้นตัวอักษรขอมแทนภาษาไทยครับ”
“ฟีดมีประโยชน์อย่างไรคะ”
“ทำไมหาข้อมูลอะไรๆ ใน Google.com ก็จะมาเจอที่ GotoKnow.org เกือบทุกครั้ง”
“GotoKnow สีจืดจังเลย มีแต่สีฟ้าขาว”
ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างคำถามและข้อสงสัยนานาประการของเทคโนโลยีใหม่เพื่อการจัดการความรู้ด้วยระบบบล็อก GotoKnow.org (GotoKnow) ที่ดิฉันได้รับและพยายามถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจให้ผู้ใช้ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาของการดูแล GotoKnow

ดิฉันกับ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ ทำงานประสานกันเป็นทีมในการดูแลและพัฒนา GotoKnow และระบบที่ใช้สร้าง GotoKnow ที่เดิมเราใช้ชื่อว่า MemeExpress แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อ KnowledgeVolution โดยที่ดิฉันมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในหลากหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ ส่วน ดร.ธวัชชัย จะเน้นหนักไปทางด้านเทคโนโลยี เราเรียนจบมาทางด้านการพัฒนาระบบที่เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง จึงเน้นที่จะต้องเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุดเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาระบบที่ใช้งานได้ง่าย จดจำหน้าตาขั้นตอนการใช้ได้ง่าย แลดูน่าสนุกในการใช้ และมีความสวยงามน่าใช้ อันที่จริง ดิฉันและ ดร.ธวัชชัย รู้จักบล็อกมาแล้วหลายปี และได้ติดตามอ่านเขียนและพัฒนาระบบบล็อกมาก่อนหน้านี้ เมื่อเราได้มารู้จักกับงานด้านการจัดการความรู้ เราก็คิดว่า บล็อกน่าจะมาเป็นเครื่องมือช่วยในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ได้เป็นอย่างดี

ดิฉันเริ่มต้นงานพัฒนาโดยการเก็บความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งความยากของงานในขั้นตอนนี้อยู่ที่ กลุ่มผู้ใช้เองก็ยังไม่รู้จักว่าการจัดการความรู้คืออะไร ดังนั้น เขาก็ยังไม่เข้าใจว่าตนเองนั้นต้องการอะไร ซึ่งทำให้การพยายามวิเคราะห์ความต้องการดูจะสับสนปนเป หลากคนหลายความคิด หลากกลุ่มผู้ใช้หลายระดับของความรู้และประสบการณ์ แน่นอนว่า ไม่มีผู้ใช้กลุ่มใดที่รู้จักบล็อกมาก่อน และมีเพียงไม่กี่คนที่รู้จักและเข้าใจว่าการจัดการความรู้ตามแนวทางของ สคส. นั้นคืออะไร หลายคนหลงคิดไปว่าการจัดการความรู้คือการใช้ระบบสารสนเทศมาจัดเก็บเอกสารเพื่อการค้นหา บางคนก็คิดไปว่า การจัดการความรู้คือการใช้เว็บบอร์ดมาพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนกัน เป็นต้น

ความต้องการของผู้ใช้ที่เราทำการเก็บมาได้นั้นมีมากมายค่ะ ดิฉันพยายามฟังอย่างเปิดใจกว้าง ไม่ขัดขวางความคิด ฟังให้รู้ให้เข้าใจว่าความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้คืออะไร แต่การจะพัฒนาระบบให้ทุกๆ คนพอใจ นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก ดังนั้น สิ่งที่เราทำก็คือการพยายามหาจุดร่วมของกลุ่มคนเหล่านี้ จัดอันดับความสำคัญของความต้องการการใช้ระบบเพื่อการจัดการความรู้ และเร่งพัฒนาออกมาให้ทันใช้ตามความจำเป็นที่เร่งด่วนในขณะนั้น

เราใช้เวลาในการพัฒนา GotoKnow เวอร์ชันแรกในช่วงปิดเทอมใหญ่ ช่วงมีนาคม – พฤษภาคม 2547 ค่ะ โชคดีที่เป็นช่วงที่ว่างเว้นจากงานสอน เราก็เลยตั้งหน้าตั้งตาตะลุยกับการพัฒนาระบบได้อย่างเต็มที่ (และมีความสุข) ค่ะ โดยที่กลวิธีของการพัฒนาระบบที่เรานำใช้นั้น เรียกว่า Extreme Programming และ Agile System Development

การพัฒนาระบบของเรานั้นจะเป็นไปในลักษณะของการทำงานเป็นทีมคะ ดิฉันเน้นงานด้านวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ งานออกแบบระบบ งานทดสอบระบบ งานพัฒนาคู่มือ งานอบรมการใช้ งานดูแลชุมชนออนไลน์ และ งานให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ใช้ เป็นหลักคะ ส่วน ดร.ธวัชชัย จะเน้นไปในด้านการเขียนโปรแกรม งานด้านการติดตั้งและดูแลเครื่องแม่ข่าย และงานด้านเทคโนโลยีอื่นๆ เป็นหลักคะ

ที่บอกว่าใช้กลวิธี Extreme Programming นั้น เราทำอย่างนี้ค่ะ หลังจากที่วิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้แล้ว เราก็จะมีการร่างภาพ (Prototype) คร่าวๆ ของหน้าตาระบบ เมื่อดูจะลงตัวแล้ว เราก็จะมาคิดเรื่องการออกแบบฐานข้อมูล และเริ่มทำการเขียนโปรแกรมในอันดับต่อไป ช่วงของการเขียนโปรแกรมนั้น เราก็จะช่วยกันดูว่า หน้าตาและคุณสมบัติของระบบที่ได้เป็นไปอย่างที่ออกแบบไว้หรือไม่ หรือมีอะไรควรจะปรับปรุงเพื่อให้ผู้ใช้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้นหรือไม่ หรือ หากโปรแกรมมีปัญหา เราจะช่วยกันแก้ปัญหานั้น ซึ่งจะทำให้หาปัญหาเจอและหาทางแก้ได้เร็วยิ่งขึ้นคะ โดยสรุปแล้ว Extreme Programming คือ การทำงานแบบสองหัวดีกว่าหัวเดียวนั่นเองคะ

สามเดือนผ่านไป เราพัฒนา MemeExpress ระบบบล็อกที่ใช้สร้าง GotoKnow.org version 1 เสร็จพร้อมใช้งาน แต่ไม่ใช่เสร็จสมบูรณ์นะค่ะ เราไม่รอให้พัฒนาระบบจนเสร็จสิ้นทุกคุณสมบัติของระบบที่ได้วางแผนไว้ เพราะไม่เช่นนั้นก็คงใช้เวลาอีกประมาณหนึ่งปี กว่าที่ผู้ใช้จะได้ใช้งานระบบจริง และเมื่อถึงตอนนั้นความต้องการของผู้ใช้ก็เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งระบบก็จะไม่เป็นระบบแบบ User-Centered System อีกต่อไป วิธีการนี้เป็นการทำไปใช้ไป เรียกว่า Agile System Development คะ เมื่อผู้ใช้ใช้งานระบบจริงไปเรื่อยๆ เราก็ทำการปรับปรุงระบบ วิเคราะห์ ออกแบบ คุณสมบัติใหม่ๆ ของระบบ ทำการเขียนโปรแกรม และทดสอบระบบ เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดค่ะ หลักการพัฒนาแบบนี้เป็นแบบ Star คือ เริ่มพัฒนาระบบที่ขั้นตอนใดก็ได้ และในแต่ละขั้นตอนก็จะมีการทดสอบระบบอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นแบบ Waterfall ที่ต้องทำมาเป็นลำดับขั้นตอนค่ะ

GotoKnow version 1 ใช้งานมาหนึ่งปี เราเน้นที่การสร้างบล็อก เขียนบันทึก การสร้างชุมชน และ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คุณสมบัติการใช้งานทั้งหมดสามารถดูได้จากแผงควบคุม หน้าตาของระบบจะคล้ายคลึงกันทั้งระบบ เน้นความคงที่ในการออกแบบ การจัดวางโครงร่างของข้อมูลที่จัดกลุ่มอย่างเป็นสัดเป็นส่วน เนื้อหาของบันทึกจะอยู่กลางหน้า ส่วนเนื้อหาที่เป็นองค์ประกอบจะจัดไว้อยู่ขวามือด้านข้าง ไม่มีการใช้กราฟฟิกใดๆ ที่จะมาดึงความสำคัญออกไปจากรูปใบหน้าของเจ้าของบล็อก เน้นสีฟ้าสบายตาเพื่อการอ่านได้อย่างสบายและต่อเนื่อง เหมาะกับวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ที่เน้นการเขียนและการอ่านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสำคัญ
 

[รูปแสดงหน้าแรกของ GotoKnow version 1]

เมื่อแรกเริ่มของการนำระบบไปใช้จริง ดิฉันรับบทหนักในการสร้างและดูแลรักษาชุมชน GotoKnow การจัดฝึกอบรมการใช้ รวมทั้งพยายามพัฒนาคู่มือการใช้ระบบบล็อก GotoKnow ในหลากหลายรูปแบบ ในช่วงแรกก็เขียนเป็นบันทึกไว้ในบล็อก Tutorial.GotoKnow.org และมีการใส่รูปประกอบ มีการทำเป็นภาพเคลื่อนไหวแบบ Flash Animation บ้าง มีการทำเป็น PowerPoint บ้าง สุดท้ายก็มาเน้นเป็นการเขียนลงบล็อก ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการใช้ GotoKnow เทคนิคเรื่องบล็อก และให้ความรู้เรื่องฟีด (Feed) และการนำฟีดไปใช้ บางช่วงงานดูจะหนักมาก เพราะมีงานสอน มีงานฝึกอบรม และ งานพัฒนา PlanetMatter อีกด้วย ก็เลยจ้างนักศึกษามาช่วยงานพัฒนาคู่มือ แต่ด้วยความใหม่ของเทคโนโลยีบล็อกและฟีด นักศึกษาจึงได้ช่วยแค่งานเขียนเทคนิคการใช้ GotoKnow อยู่บ้างพอประมาณ

เมื่อ GotoKnow เริ่มเปิดออกสู่สายตาคนทั่วอินเตอร์เน็ต สมาชิกของ สคส. ได้ใช้กลยุทธ์หลากหลายรูปแบบในการพยายามประชาสัมพันธ์ GotoKnow ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ด้านการจัดการความรู้ ไม่ว่าจะเป็นในงาน KM Workshop ต่างๆ การลงข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และออกรายการโทรทัศน์ และมีการให้รางวัลสุดคะนึง หรือรางวัล Best blog of the month อีกด้วย

 

[รูปแสดงตัวอย่างสมาชิกที่ได้รางวัลสุดคะนึง]

กลยุทธ์ด้านประชาสัมพันธ์ที่ใช้ประสบผลความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถเรียกคนที่ต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์เข้ามาเป็นผู้เขียนบล็อกได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และด้วยจำนวนบันทึกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และด้วยเทคโนโลยีด้านฟีดใน GotoKnow ทำให้ Google.com เข้ามาเก็บข้อมูลจากหน้าบล็อกใน GotoKnow เป็นประจำ ผู้คนมากมายตอบกันเป็นเสียงเดียวว่า เขารู้จัก GotoKnow ด้วยการค้นหาข้อมูลจาก Google นี่เองค่ะ

และเมื่อผู้ใช้ได้เริ่มลองใช้ GotoKnow ด้วยตนเอง ความไม่เข้าใจในด้านบล็อกมาก่อน ประกอบกับการมีประสบการณ์จากเว็บบอร์ดมาก่อนแล้ว ทำให้ผู้ใช้สับสนกับบล็อกได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นแค่การทำคู่มือแนะนำการใช้อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอแน่นอนคะ การดูแลชุมชนที่เริ่มก่อตัวอย่างขึ้นอย่างรวดเร็วบนสังคมออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งค่ะ

ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีในการดูแลชุมชน GotoKnow นั้น ดิฉันจะพยายามทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ปล่อยให้เขาต้องเจอปัญหาแล้วก็สับสนอยู่คนเดียว ดิฉันจะต้องคอยติดตามอ่านบันทึกใหม่ๆ อ่านความคิดเห็นที่ฝากเข้ามาในบล็อกต่างๆ ถ้าเป็นสมาชิกใหม่เข้ามา ดิฉันก็จะเข้าไปทักทาย และถ้าสมาชิกท่านใดมีปัญหา ดิฉันก็เข้าไปตอบแทนเจ้าของบล็อก และในแต่ละวันดิฉันจะต้องพยายามตอบอีเมลที่ส่งมายัง [email protected] และ ตอบข้อคิดเห็นที่ฝากไว้ในบล็อก Tutorial.GotoKnow.org อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ค่ะ เพราะกลัวผู้ใช้จะสับสนจึงเกิดความไม่พึงพอใจและถอยลี้หนีไปเสียก่อน แต่ก็โชคดีที่ชุมชน GotoKnow เป็นชุมชนที่เอื้ออาทร สมาชิกที่เมื่อพอจะเริ่มรู้จักกัน และบางกลุ่มได้รู้จักกันมาแล้วในชุมชนของจริงและมาเจอกันบน GotoKnow อยู่เป็นประจำ ได้ช่วยเหลือ ช่วยแสดงข้อคิดเห็น และให้การต้อนรับสมาชิกหน้าใหม่เป็นอย่างดี ทำให้ช่วงหลังๆ ดิฉันได้ผ่อนภาระเรื่องการดูแลชุมชน GotoKnow ไปเยอะทีเดียวคะ

 

[รูปแสดงตัวอย่างสมาชิกของ GotoKnow]

ประสบการณ์จากการดูแลชุมชนตรงนี้ ดิฉันพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ยากมากที่จะให้ผู้ใช้ที่เขามีความต้องการที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการจัดการความรู้มาใช้ระบบใหม่โดยที่ตัวเขาเองมีทักษะในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็น ใส่ลิงค์อย่างไร อัพโหลดไฟล์อย่างไร สร้างลิงค์ให้คนอื่นมาเปิดไฟล์อย่างไร เอาข้อความบน Microsoft Word มาแปะแล้วทำไมไม่ได้อย่างที่อย่างได้ ใส่รูปอย่างไร สร้างบล็อกแล้วทำไมบันทึกไม่แสดง ปัญหาจิปาถะมากมายค่ะ จนบางครั้งดิฉันนั่งหัวเราะว่า เราออกแบบส่วนนั้นส่วนนี้ไปได้อย่างไรนะนี่

ก็เป็นธรรมดาของการพัฒนาระบบแบบทำไปใช้ไปค่ะ และเราก็ไม่มีเวลาพอที่จะทดสอบกับผู้ใช้จริงในช่วงระหว่างการพัฒนา (Usability testing) ใช้แต่ Heuristic guidelines และ Cognitive walkthrough รวมทั้ง Competitive analysis ดังนั้น Mental Model ของผู้ใช้ ก็ย่อมมีโอกาสที่ไม่ตรงกับ Mental Model ของผู้พัฒนา ทำให้ผู้ใช้จึงเกิดปัญหาในการใช้ขึ้น และเสียงตอบกลับที่เราได้รับจากการที่ผู้ใช้ได้ใช้งานจริงนี่ละค่ะบวกกับการนั่งเฝ้าสังเกตดูพฤติกรรมการใช้ระบบ ทำให้เราแก้ไขระบบในเวอร์ชันแรกได้อย่างต่อเนื่อง แต่เราก็ปรับปรุงระบบได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเวลาและจำนวนผู้พัฒนาที่มีอยู่อย่างจำกัดคะ ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราพัฒนาระบบใหม่ขึ้นอีกสองอย่างคือ PlanetMatter และ FeedSpring ด้วยคะ ระบบทั้งสองตัวดังสู่ตลาดโลกมากกว่าในประเทศไทยแม้ว่าจนถึงวันนี้เรายังไม่ได้มีการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ก็ตาม

ความต้องการของผู้ใช้ที่เราพยายามวิเคราะห์ออกมาตลอดหนึ่งปี ในที่สุดก็ได้ถูกนำมาสร้างสรรเป็นระบบเพื่อการจัดการความรู้ระบบแรกของไทยที่เราให้ชื่อว่า KnowledgeVolution และเราก็ได้นำมาใช้สร้าง GotoKnow version 2 ในปัจจุบันนั่นเองค่ะ และด้วยคุณสมบัติของระบบที่ไม่เป็นเพียงแค่บล็อกแต่มีความซับซ้อนเพื่อการเป็นระบบการจัดการความรู้อย่างแท้จริง ด้วยคุณสมบัติที่มากไปกว่าการกระทำเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่เป็นการพยายามเชื่อมโยงเครือข่ายทางสังคม สร้างแผนที่ความรู้ และ เริ่มต้นการทำเหมืองความรู้ ดิฉันรับรองได้เลยค่ะว่า ด้วยระบบใหม่นี้ ผู้พัฒนาที่พยายามวิเคราะห์ผู้ใช้และออกแบบระบบที่มีคุณสมบัติใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และผู้ใช้ที่มีความคุ้นเคยกับระบบเดิม คงได้วุ่นวายและสนุกสนานกับการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าหากการจัดการความรู้คือเป้าประสงค์ที่เรามารวมกันอยู่ที่ชุมชน GotoKnow แห่งนี้ ดิฉันก็คิดว่า ปรากฏการณ์ที่ดิฉันคาดคะเนไว้นี้น่าจะก่อให้เกิด คลังความรู้ที่รวมเอา tacit knowledge กับ ความสนุก ความท้าทาย ความสับสน และความช่วยเหลือเอื้ออาทร ปนเปกันไป รวมเป็นเรื่องเล่าแห่งความสำเร็จบทใหญ่บทหนึ่งที่คนไทยเราเขียนขึ้นมาด้วยกันนั่นเองค่ะ

 

[รูปแสดงหน้าแรกของ GotoKnow version 2]

 

 

หมายเลขบันทึก: 37333เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์จันทวรรณ...

  • อ่านประวัติ Go2Know ถึงตอน MemeExpress แล้วนึกถึง "ตัวมิ้ม"... ผึ้งน้อยทางเหนือที่กัดเจ็บนิดหน่อย
  • โชคดีที่ผึ้ง G2K ใจดี ส่วนใหญ่จะให้อะไรดีๆ เช่น

(1). ผสมเกสร > ทำให้เมล็ดพันธุ์ Tacid Knowledge ที่ฝังลึกในสมาชิกงอกงาม เติบโต เอื้อเฟื้อออกมาเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
(2). ให้น้ำผึ้ง > ทั้งทำโปรแกรม สอน ให้การฝึกอบรม ทำคู่มือ (Tutorial) และอะไรๆ อีกมากมาย

  • ขอขอบพระคุณผึ้งน้อย G2K

ขออภัยครับ...                                            

  • ขอแก้ข้อความจาก "โชคดีที่ผึ้ง G2K ใจดี ส่วนใหญ่จะให้อะไรดีๆ"
  • ขอแก้เป็น... "โชคดีที่ผึ้ง G2K ใจดี ให้อะไรดีๆ กับสมาชิกเสมอมา"

ความจริงผึ้งมิ้มแห่ง G2K ดุนิดหน่อย... ชี้แนะตักเตือน(ด้วยความปรารถนาดี)ก็มี เช่น

  • ท่านกล่าวว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษาไม่ควรลอกการบ้านกันอะไรทำนองนี้...
  • นับว่า ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีศักดิ์ศรี และจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแท้จริง)
ขอบคุณอาจารย์หมอวัลลภ อ่านแล้วหัวเราะคะ :)

อ่านแล้วได้เกร็ดความรู้มากขึ้นเรื่อยๆครับ จนเกิดความอยากเป็นนักพัฒนาระบบบ้าง แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนั้นแล้วยังได้ข้อคิดดีดีจาก อ.หมอวัลลภอีกด้วย

ขอบคุณมาก ๆ เลยครับ ดร.จันทวรรณ ที่สร้างระบบและชุมชนดี ๆ ไว้ให้ทุก ๆ คนได้ใช้ครับ
  • ขอบพระคุณ อ. จันทวรรณและ อ.ธวัชชัยที่ได้ก่อสร้างและปูทางให้กับพวกเราได้มีโอกาสเล่าเรื่องราวดี ๆ ผ่านบล็อก
  • ขออนุญาตฝากการบ้านนะคะ

          1. ขอให้มีร่างก่อนจะตีพิมพ์แบบ G2K version 1 จะได้มั๊ยคะ

          2. เนื่องจากกรอบที่ให้เราพิมพ์เนื้อหามีเนื้อที่แคบ ก่อนการตีพิมพ์อยากจะเห็นรูปแบบก่อนการตีพิมพ์จะเป็นไปได้มั๊ยคะ ?

 

- เวลาตีพิพม์กดที่ปุ่ม "แว่นขยาย" ค่ะ ไว้ช่วยดูผลก่อนตีพิมพ์คะ

- เรื่องบันทึกร่าง ต้องรอก่อนคะ จะทำให้ แต่ตอนนี้ทำไม่ทันคะ ให้ประยุกต์ใช้ด้วย การเลือกเป็น "บันทึกที่ไม่แสดงให้ผู้อื่น" ไปพลางๆ ก่อนนะค่ะ

รออ่าน AAR ของผู้พัฒนาระบบ...มาหลายวันแล้วคะ (ยิ้มๆๆ)...อย่าลืมดูสุขภาพด้วยนะคะ...ทั้งสองท่านเลยคะ....และ

อยากให้นำ...Blog ที่ได้รางวัลสุดคะนึง...มาไว้หน้าแรกเหมือนเวอร์ชั่นเก่าคะ...เพราะแต่ละท่านล้วนเป็น Role Model ทั้งในการปฏิบัติและบันทึกได้ดี...อีกทั้งสามารถเป็นแรงจูงใจ...ให้ก่อเกิดขึ้นได้คะ...

  • ขอบคุณสำหรับ DAR (During Action Reveiw) ของ ดร. จันทวรรณ  (ผมคิดว่ายังไม่เป็น AAR นะครับ Dr.Ka-Poom เพราะ KnowledgeVolution พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ....อิอิ...แซวในฐานะเคย F2F ที่มอดินแดง นะครับ)
  • ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วขอ มองต่างมุมอีกอันนะ ครับ เรื่อง  หน้าแรก ไม่ควรจะให้มี รูป หรือ กราฟฟิกมาก จนเกินไป เพราะจะทำให้ คนที่เพิ่งเข้ามาครั้งแรก load ช้าเกินความจำเป็นครับ  ยิ่งคนรุ่น IT เขาไม่ค่อยยอมรอนาน  สำหรับ Role Model ต่าง ๆ มีประโยชน์มากครับ ผมก็เห็นด้วยที่ควรที่จะดึงให้คนใหม่เห็น  แต่อาจจะทำเป็น Links ให้เด่นไว้แทนมากกว่านะครับ
  • เคยมีปัญหาช่องบันทึกเล็ก และ อยากดูก่อน ตีพิมพ์ เหมือนคุณศุภลักษณ์ เหมือนกัน เพิ่งทราบว่ามี เจ้าแว่นขยาย ไว้ให้ดู วันนี้เอง ขอบคุณ  มีของใหม่มาให้เรียนรู้กัน เรื่อย ๆ สมชื่อ KnowledgeVolution จริง ๆ.....ขอคารวะ ครับ
  • ขอบพระคุณอย่างสุดซึ้งเลยค่ะ Superwoman ของดิฉัน
  • ขออีกอย่างค่ะ...ขอให้รักษาสุขภาพและสวยวันสวยคืนนะคะ..

ดร. ธวัชชัย เขียนบันทึกเรื่อง การดูแลชุมชนออนไลน์ที่เชื่อมโยงเข้ากับทฤษฎี Tipping Point และ Fixing broken windows ไว้ได้อย่างดีที่นี่คะ
http://gotoknow.org/blog/averageline/37352 อยากให้ได้อ่านกันค่ะ

 

  • ขอบพระคุณ อ.จันทวรรณ  อ.ธวัชชัย และทีมงานทุกท่านมาก ๆ ค่ะ ที่ได้เปิดโลกและมุมมองของทุกคนให้กว้างมากขึ้นด้วยความรู้ และ ลปรร ทุกหัวข้อใน Blog ค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับการพัฒนาระบบของ G2kที่ไม่เคยหยุดยั้งและไม่สิ้นสุด(
  • ขอบคุณเพื่อนใหม่ ชุมชนแห่งความรู้และมิตรภาพบน Blog ค่ะ

ขอบคุณค่ะ ^___^

 

ขอบคุณครับท่านอาจารย์และทีมงานทุกท่านที่ตั้งใจต่อสู้กับอุปสรรคเพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้ของคนไทยให้กว้างขวางและเชื่อมถึงกันด้วยความรวดเร็วเพียงปลายนิ้ว

ขอเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นให้ตรงกับจุดประสงค์ของคณะทำงานครับ (ด้วยความสามารถที่มีอยู่)

 

  • ขอบคุณ ดร. จันทวรรณ ดร. ธวัชชัย ที่ช่วยกันพัฒนาระบบจนมี gotoknow version 2
  • ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกๆคน
  • ครั้งแรกเข้ามายังถาม ดร. จันทวรรณว่า จะเขียนเรื่องอะไรดี มีเพื่อนที่เรียนปริญญาเอกไหม จำได้ว่าอยู่ใน นักวิชาการไทย ทำไมไม่กล้าเขียน blog จากวันนั้นถึงวันนี้ได้แลกเปลี่ยนเรียนในสิ่งที่ในตำราไม่ได้สอน ได้กัลยาณมิตรที่หาไม่ได้แล้วในที่ไหนๆ
  • ขอขอบคุณ คุณหมอวัลลพ ที่เข้าแสดงความคิดเห็นเป็นคนแรกในบันทึกของผมด้วยครับ
  • เอ ...คุณหมอจำได้ไหมน่า

แม้โลกกว้างทางไกลก็ได้รู้

GotoKnowเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่

ให้ความรู้ให้ความรักให้อภัย

ย่อโลกกว้างทางไกลไว้ในมือ

      ขอบพระคุณผู้ดูแลทั้งสองท่าน

      คืออาจารย์จันทวรรณผู้เลื่องชื่อ

      ท่านอาจารย์ธวัชชัยโลกเลื่องลือ

      "โลกความรู้" มิอาจซื้อมาแบ่งปัน

              

   สสน      วันนี้ดิฉันก็กลับมาอีกแล้วนะคะ  ดิฉันคิดถึงหน้าเพื่อนๆมากเพราะส่วนมากเราจะเรียนีรู้กันทางBlogเวบไซด์ของเพื่อนๆน่าสนใจมากค่ะ เป็นสิ่งมหัศจรรย์มากได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนเยอะแยะมากมาย

         ใกล้จะถึงวันเข้าพรรษาแล้ว  ขอเชิญชวนเพื่อนๆทุกคนไปทำบุญที่วัดกันนะค่ะ  เราจะได้มีบุญเยอะๆเเละได้เกรดดีๆสำหรับคนที่ยังดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์อยู่ถ้ายังเลิกไม่ได้ก็ขอให้ลดๆลงบ้างนะค่ะเพื่อสุขภาพของตนเองและคนที่คุณรัก

นางสาวธาริณี  บุญทวี   รหัส  015  เอกภาษาอังกฤษ

  อ่านแล้วทำให้รู้ว่า ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งอ่านยิ่งรู้มาก หากมีเวลาไม่ใช่สิต้องหาเวลามาเพิ่มเติมความรู้อยู่เสมอๆ ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้นะคะ
ดีใจที่ทั้งอ.จันทวรรณและอ.ธวัชชัย เก็บมาเล่าใน AAR อีกครั้ง เพราะเมื่อตัวเองได้ฟังในงานครบรอบ 1 ปี GotoKnow นั้น สัมผัสได้ถึงความตั้งใจจริงที่ทรงพลังของทั้งคู่ อยากให้สมาชิกท่านอื่นๆของ GotoKnow ได้รับรู้ด้วย จึงพยายามจะถอดเทปเพื่อจะเอามาเผยแพร่ต่อ แต่ว่าทำยังไม่สำเร็จสักที ได้มาอ่านที่อ.จันทวรรณเขียนเล่าแล้ว นอกจากชื่นชมเนื้อความแล้ว ต้องขอชมว่า อาจารย์ทั้ง 2 ท่านมีความสามารถในการถ่ายทอดได้ดีเยื่ยมทั้งในด้านการพูดและการเขียนค่ะ สำหรับเทป video clip ที่อัดไว้ เมื่อตัดต่อแล้วจะส่งไปให้อ.จันทวรรณนำไปเผยแพร่ต่อคู่กับบันทึกของอ.ธวัชชัยนะคะ

สอนวิธีลิงค์มั่งได้หรือเปล่าครับ

ขอบคุณนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท