การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียนควรใช้วิธีซึมซับมากกว่าการโปรยหว่าน


         เรามักจะบ่นกันว่านักเรียนเดี๋ยวนี้มีปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรมกันมาก  โรงเรียนเองก็บอกว่ามีโครงการ/กิจกรรมปลูกฝังและสร้างเสริมด้านนี้อย่างต่อเนื่อง  บางโรงเรียนเข้าโครงการวิถีพุทธด้วยซ้ำ  และไปดูผลการประเมินภายนอกของ สมศ.หรือประเมินภายในของโรงเรียน ในมาตรฐานด้านผู้เรียน (มาตรฐานที่1) ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้  เกือบทุกโรงเรียนจะอยู่ในระดับดี และดีมากแทบทั้งนั้น  ซึ่งโดยพฤตินัยก็น่าจะดีตามผลการประเมินไปด้วย

               แล้วสาเหตุของปัญหามาจากไหน?  หากเราย้อนดูทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม(Social learning) ของ Bandura ก็จะพบว่าแนวทางปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่ยั่งยืนต้องใช้กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ให้เกิดการซึมซับไปทีละเล็กละน้อยอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งตัวแบบ(Modelling) และกระบวนการกลุ่มจะมีบทบาทสูงในการกล่อมเกลาให้เกิดการซึมซับ

               แต่เมื่อเราหันมาดูสภาพแวดล้อมในสังคมบ้านเรา  ตัวแบบก็แทบจะหายากเต็มที  เท่านั้นยังไม่พอ จากข้อมูลที่ไม่เป็นทางการในแต่ละโรงเรียนยังพบว่า  เกือบทุกโรงเรียนมีนักเรียนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อกับแม่ หรือมีครอบครัวที่แตกแยกเกินครึ่ง (ใครลองทำวิจัยสำรวจประกาศบอกสังคมหน่อยก็จะดี) ปัญหาทั้งหลายถาโถมมาที่โรงเรียนทั้งหมด  ภาระของครูก็มากมายจิปาถะ  เดี๋ยวนี้ถึงมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแล้ว ก็ยัง X-rays ไม่ทั่วถึง

                กิจกรรมของโรงเรียนที่ปลูกฝังเรื่องนี้มีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ยังเป็นลักษณะโปรยหว่าน ทำเป็นท่อนๆหย่อมๆ  ไม่มีลักษณะซึมซับ  แม้แต่โรงเรียนในโครงการวิถีพุทธด้วยกัน ซึ่งต่างก็ยึดหลักไตรลักษณ์(ศีล สมาธิ ปัญญา) เหมือนกัน  แต่วิธีปฎิบัติก็จริงจังต่างกัน  ยังมีโรงเรียนไม่น้อยที่ยังทำแบบโปรยหว่าน  เช่น อบรมหน้าเสาธง  นั่งสมาธิ 1-2นาที  เชิญวิทยากรมาบรรยาย จัดนิทรรศการ ฯลฯ  เมื่อทำเสร็จแล้วก็แล้วเลย

                แต่ก็มีบางโรงเรียนที่พยายามทำให้นักเรียนเกิดการซึมซับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่ายกย่องอย่างยิ่ง  เช่น นิมนต์พระมาให้ครูและนักเรียนใส่บาตรตอนเช้าทุกวัน ซึ่งเด็กบางคนอาจไม่ได้ใส่บาตรได้ทุกวันแต่ก็ได้เห็นได้ซึมซับ(มีจิตที่อนุโมทนา) เมื่อกลับไปบ้านก็มีแนวโน้มจะชักชวนพ่อแม่ไปใส่บาตรบ้าง   รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กสวดมนต์ก่อนนอนทุกวัน  พานักเรียนไปสวดมนต์ไหว้พระที่วัดและนั่งสมาธิอย่างต่อเนื่อง  นิมนต์พระมาสอนธรรมมะ  ฯลฯ แล้วมีการติดตามการปฏิบัติตน  มีการวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นร่วมกัน  แล้วใช้การเสริมแรงหลายๆรูปแบบ  ซึ่งถ้าทำอย่างต่อเนื่องเชื่อว่าน่าจะซึมซับให้นักเรียนมีจิตใจที่อ่อนโยน  ละเอียดอ่อนมากขึ้น  และจะส่งผลต่อการมีสมาธิในการเรียนหนังสือด้วย 

             จึงอยากเชิญชวนให้มาช่วยกันปลูกฝังเยาวชนด้วยวิธีซึมซับมากกว่าการใช้วิธีโปรยหว่าน..
หมายเลขบันทึก: 37294เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2006 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
บทความอาจารย์ น่าสนใจมากครับ...เข้ามาแวะอ่านและเก็บความรู้ ขอย่อยสักพักแล้วจะมา บันทึกความคิดเห็นครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท