เรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง .....การถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก)


คุณตาครับผมรับมรดกไฟแช็คลิปโป้จากคุณตา........แต่ผมไม่ขอรับมรดกโรคถุงลมโป่งพองต่อจากคุณตานะครับ

เมื่อวันหยุดเสาร์- อาทิตย์ต้นเดือนระหว่างวันที่  5 – 6  มิถุนายน 2553   ผมไปวิทยากรกระบวนการให้กับแผนงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในการถอดบทเรียนในการ สัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “สถานประกอบการไทย...ทำอย่างไรให้ปลอดบุหรี่(ถอดบทเรียน) ณ ศูนย์รวมตะวัน  อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.ครับ

แนวทางการถอดบทเรียนในครั้งนี้ผมใช้กระบวนการถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก) โดยผลการถอดบทเรียนในตอนท้ายจะได้ออกมาเป็น “เรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง”ครับ

เรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางการถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก)นั้น ผมเห็นว่าเป็นเครื่องมือจัดการความรู้ และเป็นเครื่องมือในการถอดบทเรียน ที่มีพลังเครื่องมือหนึ่ง ด้วย AI(สุนทรียสาธก)เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการทำให้ก้าวพ้นจากวังวนของการเห็นแต่ข้อจำกัดในการดำเนินงานขององค์กร   ตามแนวทางAI(สุนทรียสาธก)นั้น  เรามักจะเริ่มต้นกระบวนการถอดบทเรียนจากการเข้าไปค้นหาเรื่องราวดี ๆในองค์กร ไปสืบค้นดูว่าศักยภาพขององค์กรอยู่ตรงไหน  แล้วสรุปเป็นเรื่องเล่า

โดยการศึกษาถอดบทเรียนผ่านการสรุปเป็นเรื่องเล่าประสบการณ์การทำงานที่ดีที่สุด ของสมาชิกในองค์กรนี้  อำนาจของเรื่องเล่าจะช่วยในการค้นหาและเปิดเผยเรื่องราวที่ดี ๆ ในองค์กรที่ทำให้เราเห็นถึงจุดแข็งต่าง ๆ ในองค์กร เห็นลักษณะของบุคลากรที่เราจะพัฒนาต่อยอดขึ้นมาได้ และเห็นถึงคุณค่าแรงบันดาลใจรวมทั้งอุดมคติที่มีอยู่ในการทำงาน

กระบวนการถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก)นี้จึงเป็นการเข้าไปเรียนรู้เพื่อค้นหาศักยภาพองค์กรว่ามีสิ่งที่ดีอะไรอยู่และจะสามารถพัฒนาเพิ่มเติมศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างไรศักยภาพองค์กรที่พูดถึงนี้จะสามารถค้นหาได้ในเรื่องเล่า เพราะเรื่องเล่าจะมีจินตนาการรวมอยู่ด้วย ผู้เล่าเรื่องจะผนวกเอาสิ่งที่อยากจะเห็นสิ่งที่ดีต่าง ๆ ในองค์กรมาใส่ไว้ในเรื่องเล่า และเราจะเข้าใจชีวิตองค์กรผ่านเรื่องเล่าของสมาชิกแต่ละคนว่าเขานิยามองค์กรที่เขาทำงานอยู่อย่างไร

เรื่องเล่าเร้าพลังในกระบวนการถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก)

เรื่องเล่า (เขียนหรือเล่าจากปาก) ในกระบวนการถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก)เริ่มต้นจากให้คนเล่าคิดว่าจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมามีประสบการณ์ การทำงานใดที่ดีที่สุด ประทับใจที่สุดในชีวิตการทำงาน และเขาอยากจะบอกเล่าเรื่องราวให้สมาชิกคนอื่นในองค์กรและเครือข่ายได้เรียนรู้ อาจจะเป็นเรื่องของเพื่อนร่วมงาน เรื่องของตัวเองหรือเรื่องราวชีวิตขององค์กร หรือเครือข่ายในแง่มุมใดก็ได้

เมื่อนำเรื่องราวมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนให้สมาชิกคนอื่นในกลุ่มฟัง  เรื่องเล่าจะไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวอีกต่อไป  แต่จะกลายเป็นเรื่องราวของชีวิตองค์กรที่ไหลเวียนอยู่ในชีวิตการทำงานประจำวันที่คงทำงานในองค์กรและเครือข่ายไม่เคยสนใจหรือให้ความสำคัญเรื่องราวชีวิตองค์กรเหล่านี้จะสะท้อนเรื่องราวดีๆและศักยภาพองค์กร  เครือข่าย  แง่มุมดีๆในองค์กรและชีวิตการทำงานที่เขาชื่นชมและเห็นคุณค่า  ตรงจุดนี้เองที่เป็นศักยภาพขององค์กรที่ควรจะได้รับการพัฒนา  และเป็นทิศทางการพัฒนาขององค์กรและเครือข่ายในอนาคต

แนวทางในการการจัดทำเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง

แนวทางในการการจัดทำเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง มีแนวทางในการดำเนินการดังนี้

  • มีเค้าโครงเหตุการณ์จริง เค้าโครงจากพื้นที่จริง และมีตัวตนผู้คนที่เกี่ยวข้องจริง(เรื่องเล่า)
  • การทำให้เหมือนละครชีวิต(มีตัวละครที่เราไปเกี่ยวข้อง)
  • สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก สะเทือนใจ  ต้องสู้ผ่าฟันอุปสรรค  ให้แรงบันดาลใจ  ให้กำลังใจ(เร้าพลัง)
  • ให้แง่คิด  คุณค่า  ความหมาย(การเรียนรู้   ตระหนักรู้)
  • ให้บทเรียนวิธีการปฏิบัติสร้างความสำเร็จ _ ทำได้อย่างไร  (นำการเปลี่ยนแปลง)
  • มีคนเล่าเรื่อง ที่มีความผูกพัน มีความเกี่ยวเนื่อง โน้มน้าวการเปลี่ยนแปลง

..........................................................................................................................................

ตัวอย่างเรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง

จะขอรับภารกิจนี้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง  แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม

เล่าโดย คุณต้น

วันแรกที่ผมเดินทางเข้าไปทำงานที่บริษัทเมื่อหลายปีก่อน  ผมได้เห็นทีมผู้บริหารที่ดูแลเรื่องระบบการจัดการคุณภาพการทำงานของพนักงานยืนคุยกันอยู่  ท่านเหล่านั้นคุยกันไปสูบบุหรี่ไปด้วย  แล้วก็เขี่ยก้นบุหรี่ทิ้งที่บริเวณกองเศษกระดาษที่เหลือผ่านการตัดกระดาษของพนักงาน ในขณะที่พนักงานอีกคนกำลังโกยเก็บกระดาษเหล่านั้นเพื่อที่จะนำไปทำกระดาษรีไซเคิล โรงงานของเราเป็นโรงงานผลิตกระดาษครับ ที่ฝาผนังด้านข้างภายในโรงงานมีติดป้ายตัวใหญ่ติดประกาศว่า “โรงงานสีขาว” และมีป้าย “ห้ามสูบบุหรี่” มองเห็นได้อย่างชัดเจน

ในตอนนั้นเมื่อผมเห็นแล้ว ผมก็ได้แต่เห็น ผมจะไปทำอะไรก็คงจะทำไม่ได้ เนื่องจากผมเป็นบุคคลเล็กๆในองค์กร แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดในใจตลอดเวลาว่า สักวันนึ่งเราจะต้องรู้วิธีที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโรงงานนี้ให้เป็นโรงงานสีขาวตามป้ายที่ติดประกาศให้ได้ แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มได้อย่างไร ผมเคยปรึกษาพนักงานรุ่นพี่  เขาก็บอกว่าโรงงานเราก็เป็นกันอย่างนี้เป็นมานานแล้ว ซึ่งเมื่อเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร เราได้รับรู้ประสบการณ์ได้เรียนรู้จากวัฒนธรรมในการทำงาน เราไม่สามารถจะไปเปลี่ยนคนอื่นๆได้ง่ายๆอย่างที่ใจคิดอยากให้เป็น

หน้าที่ความรับผิดชอบหนึ่งที่บริษัทมอบหมายให้ผมรับผิดชอบ ก็คือการจัดเทรนนิ่งอบรมผู้สูบบุหรี่ให้กับพนักงานผู้สูบบุหรี่  เป้าหมายของบริษัทก็เพียงแค่ให้พักงานมีการสูบบุหรี่ให้เป็นที่เป็นทางเท่านั้นเอง  ในตอนนั้นทางบริษัทต้องการให้มีระบบป้องกันจากอัคคีภัยกับความปลอดภัยของชีวิตการทำงาน ผมเองก็รู้ทั้งรู้ว่าการอบรมเป็นพิธีการเท่านั้นในเมื่อผู้บริหารยังเดินสูบไปทั่วโรงงานได้ แล้วจะไปเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานได้อย่างไร รวมทั้งตัวผมซึ่งเป็นผู้บรรยายอบรมพนักงานให้ได้ตระหนักรู้ถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ เมื่ออบรมเสร็จผมก็ยังมาสูบบุหรี่เลย  จนมีวันหนึ่งผมจัดอบรมพนักงานใหม่ที่เข้ามาทำงานใหม่ว่านโยบายของบริษัทไม่รับคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน และเหมือนเช่นเคยทุกครั้งเมื่ออบรมเสร็จผมก็ไปสูบบุหรี่ในที่นัดหมายของผม ในบริเวณสถานที่ที่ผมสูบเป็นประจำ

วันนั้นมีพนักงานใหม่เดินผ่านมาเจอผมกำลังสูบบุหรี่พอดี ผมสังเกตเห็นแววตาของพนักงานใหม่ที่มองมาที่ผม ผมจึงมีความรู้สึกละอายใจเหลือเกิน จึงได้ตั้งใจว่าผมจะต้องลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ให้ได้ แต่ผมก็ยังสูบบุหรี่อยู่ต่อไปเพียงแต่ใช้วิธีสูบตอนเช้าก่อนมาทำงานกับสูบหลังเลิกงานก่อนที่จะเข้าบ้าน ส่วนหลังกินข้าวกลางวันผมเลือกที่จะแอบไปสูบนอกโรงงาน

ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้น ผมทราบข่าวว่าคุณตาผมซึ่งท่านป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ท่านป่วยหนัก ผมจึงลางานกลับบ้านไปเยี่ยมท่าน แต่ผมกลับมาเยี่ยมท่านไม่ทันครับ คุณตาผมท่านเสียไปก่อน เป็นที่ทราบกันว่าคุณตาท่านสูบบุหรี่อย่างหนักติดต่อกันมาหลายปี ตอนที่ท่านยังไม่ป่วยช่วงเวลาที่ผมกลับบ้านการได้พุดคุยกับคุณตาพร้อมกับสูบบุหรี่ด้วยกันช่างเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขเหลือเกิน ผมสูบบุหรี่มาตั้งแต่ ม.3  จนถึงเรียนมหาวิทยาลัย อีก 4 ปีก็ยิ่งสูบหนักยิ่งขึ้น และได้มาทำงานในโรงงานกระดาษในตำแหน่งเทรนนิ่งผมก็ยังสูบบุหรี่

ตอนคุณตาเสีย คุณตาท่านได้มอบไฟแช็คยี่ห้อลิปโป้ เป็นมรดกของท่านให้ผมได้สืบทอด นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมตั้งใจอย่างเด็ดขาดว่าจะต้องเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ ซึ่งเมื่อผมไม่ได้ใช้ ตั้งใจเด็ดขาดว่าจะไม่ใช้มัน

คุณตาครับผมรับมรดกไฟแช็คลิปโป้จากคุณตา........แต่ผมไม่ขอรับมรดกโรคถุงลมโป่งพองต่อจากคุณตานะครับ ผมพูดต่อหน้าศพคุณตา กลับมาที่ทำงานผมจึงเอาไฟแช็คไปฝากไว้กับ รปภ.ของโรงงาน แล้วบอกรปภ.ว่า ถ้าผมไปเอาลิปโป้มาสูบบุหรี่คุณต้องว่าผม ผมจึงเอากิจกรรมนี้มาลดละเลิกบุหรี่กับตัวผม ผมใช้เวลาตัดใจอยู่จนครบเกือบ 3 เดือนผมก็ไม่หวลกลับมาสูบบุหรี่อีกเลย

ต่อมาโรงงานมีนโยบายการจัดโซนนิ่งการสูบบุหรี่ จากนั้นเราก็ขยายสู่กิจกรรม ลด ละ เลิกบุหรี่และมุ่งมั่นที่จะเป็นสถานประกอบการปลอดบุหรี่โดยที่ผมเอาใจจากตัวผมเองเข้าไปรู้จัก เรียนรู้กับมันอย่างเต็มที่ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้

เมื่อได้รับการประชาสัมพันธ์ชักชวนให้เข้าร่วมโครงการสถานประกอบการปลอดบุหรี่ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ผมจึงไม่ลังเลเลยที่จะเสนอผู้บริหารให้สถานประกอบการเราเข้าร่วมโครงการและผมจึงได้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “การพัฒนาสถานประกอบปลอดบุหรี่อย่างเป็นระบบ” ที่สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจัดขึ้นที่ศูนย์รวมตะวันในเวลาต่อมา

กลับมาจากค่ายฝึกอบรมผมก็นำความรู้ที่ได้มาขยายผลในโรงงาน โดยในการดำเนินงานเราได้มีการจัดกิจกรรมสำคัญเพื่อมุ่งเน้นให้เป็นสถานประกอบการที่มีการควบคุมการสูบบุหรี่ และมุ่งให้เป็นสถานประกอบการที่มีการวางแผนงาน มีการดำเนินงานเพื่อสร้างภาวะปลอดบุหรี่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตามความพร้อมและตามบริบททางวัฒนธรรมของเรา ตามแนวทางที่เราได้คิดค้นของเราเองผสมกับแนวทางของโครงการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ตามที่คณะทำงานของเรา ได้เรียนรู้จากการเข้าอบรมหลักสูตร “การพัฒนาสถานประกอบปลอดบุหรี่อย่างเป็นระบบ” ที่สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจัดขึ้นเมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งผมเองก็รู้สึกท้อแท้เหมือนกันว่าทำไมกิจกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะกับเรื่องการละ ลด เลิกบุหรี่จึงเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกิน เห็นผลช้า ในจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจะมีความก้าวหน้าก็ไม่ถึงครึ่งหนึ่งเสียด้วยซ้ำ

 แล้วก็มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ผมไปกดเอทีเอ็มหน้าโรงงาน ผมได้เจอพี่ดวง พี่แกขับมอเตอร์ไซด์มา แล้วเดินมาบอกว่าผมว่า

“ต้นพี่ขอบคุณนะ  พี่ดวงเลิกบุหรี่ได้แล้วน๊ะ พี่ดวงต้องขอบคุณต้นเป็นอย่างมาก”

ผมนึกถึงพี่ดวงก่อนหน้านี้ ตอนพี่ดวงท้อง ผมก็จะพยายามคอยบอกว่าพี่ดวงเลิกสูบบุหรี่เถอะ จนพี่ดวงคลอดลูก และลูกแกอายุครบ 2 ขวบ ก็พบว่าลูกจะมีเกณฑ์น้ำหนักน้อยและลดลง  ผมพูดไปกี่ครั้งๆพี่แกก็ไม่ยอมเชื่อ และนี่พี่แกเลิกได้จริงๆก็เลยมาขอบคุณ

“พี่โชคดีที่หัวหน้าอย่างต้นคอยเป็นกำลังใจและส่งเสริมพนักงาน หากิจกรรมดีๆมีประโยชน์  ต้นหามาให้คนโรงงานได้แก้ปัญหาของตัวเอง โดยเฉพาะกิจกรรมโครงการสถานประกอบการปลอดบุหรี่ เป็นประโยชน์กับพนักงานเรามากที่สุดเลย”

เสียงจากพี่ดวง กระตุ้นเตือนมโนธรรมสำนึกผม ว่าผมมีภารกิจข้างหน้าที่ท้าทายรอผมอยู่ ผมขอรับภารกิจนี้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่งครับ แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม

ขอบคุณแผนงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยพื้นที่ให้เกิดเรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง .....จากการถอดบทเรียนแบบAI(สุนทรียสาธก)

หมายเลขบันทึก: 369330เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2010 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

มาอ่านเรื่องดีๆ ค่ะท่านเทพฯ รับทราบประสบการณ์คนเลิกสูบบุหรี่ ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับใจจริงๆ นะคะ บางคนได้แรงใจ นิดเดียว ใช้เวลาแป๊บ ก็เลิกได้ บางคนก็ต้องรอให้ถึงวิกฤติ หรือหนุ่มๆ น้อยๆ ก็ยังทานกระแสเพื่อนไม่ไหว ... อยากให้เมืองไทยปลอดควันบุหรี่ค่ะ

เพราะกระทบมากมาย ยิ่งกับคนใกล้ชิด ผู้สุ่มเสี่ยงต่างๆ นี่จะกระทบปัญหาเป็นลูกโซ่ แบบเด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว กันเลยนะคะ ... กระแสบางอย่างยังแผ่วๆ ลงไปตามกาล อยากให้บุหรี่กลายเป็น หนึ่งเพียงความทรงจำเหมือนขนมหลายชนิดสมัยก่อนนะคะ

ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ ได้ คงดีที่สุดเลยนะคะ แม้รัฐจะขาดรายได้ไปบ้าง คงไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากเทียบกับงบที่ต้องลงไปในส่วนของการรณรงค์เยียวยา รักษาในระยะยาว .. การรณรงค์ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่บ้าน ทำงาน โรงงาน จะช่วยเพิ่มความหวังดีๆ ให้กลายเป็นจริง ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับคุณปู P

เรื่องนี้จะกระทบปัญญากันเป็นลูกโซ่ แบบเด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว กันเลยนะ

  • หากเราเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญาครับ
  • ผมสนใจวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ของ "นักสร้างการเปลี่ยนแปลง"ที่มีประสิทธิผล
  • ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่บ้าน ทำงาน โรงงาน จะช่วยเพิ่มความหวังดีๆเกิดผลลัพธ์ที่ดีๆได้ครับ
  • ขอบคุณครับคุณปู....ตอนนี้ผมยังพักอยู่ที่ขอนแก่นครับ

. . เป็นเรื่องเล่าที่ "เร้าพลัง" จริงๆ ครับ . . ขอบคุณ คุณสุเทพ มากครับ

ขอบคุณครับอ.ดร.ประพนธ์P

  • ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา 
  • ขอคาราวะน้อมนบ อ.ดร.ประพนธ์ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาKM  มาเมื่อหลายปีก่อนครับ

 

พูดถึงเรื่องนี้ ก็เลยนึกถึงคู่มือ การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่เพิ่งแล้วเสร็จค่ะ ก็ยังอาจไม่สมบูรณ์นัก ไว้จะนำมาแลกเปลี่ยนโอกาสต่อไปค่ะ  ... มีตัวอย่างเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งบางกลุ่มคนก็อยู่ในขั้นตอนที่แตกต่างไป

พักผ่อนอย่างมีความสุข เดินทางปลอดภัย และให้อาการป่วย หายไวๆนะคะ ขอบคุณค่ะ

พฤติกรรมแทบทุกอย่างของมนุษย์ล้วนแต่เปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ขอให้รู้วิธีการว่าจะต้องทำอย่างไร

จากหนังสือ “ Influencer ; The Power To Change Anything” โดยคุณโจเซฟ  เกรนนีและคณะ

ในหนังสือเล่มดังกล่าว คุณโจเซฟ ได้เล่าถึง  ยอดนักเปลี่ยนแปลงโลกผู้ทรงอิทธิพลเงียบ..โดยเฉพาะบทเรียนอันสำคัญยิ่งจากนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร  ว่าในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นนายแพทย์วิวัฒน์ได้ให้ความสำคัญที่การค้นหาพฤติกรรมหลัก (Vital behaviors) ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายได้อย่างไร

ต่างจากโครงการอื่นๆ(รวมทั้งโครงการรณรงค์ต่างๆเช่นเหล้า บุหรี่ ที่สนับสนุนโดยสสส.ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการการค้นหาพฤติกรรมหลัก (Vital behaviors) ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม_ในทัศนะผม)

ในเมื่อโครงการรณรงค์ไม่ได้สร้างความกระจ่างถึงวิธีการปฏิบัติ ว่าผู้คนควรจะต้องทำอะไรบ้าง (ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง) ในเมื่อไม่บอกอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไร จึงทำให้คนทำงานผู้ปฏิบัติเลยไม่รู้ว่าคนทั่วไปเขาได้ทำสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า ผลเลยออกมาว่าเมื่อไม่เน้นว่าต้องทำอะไร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร คนเราเลยไม่ได้เลือกปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าพวกสุดยอดนักเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ว่าเขาเผชิญความถ้าทายอะไรก็ตาม พวกเขาจะเน้นไปที่เรื่องพฤติกรรมหรือเรื่องการกระทำเสมอ

นั่นคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคุณโจเซฟ  เกรนนีและคณะจากหนังสือ “ Influencer ; The Power To Change Anything”ครับคุณปู

รออ่านคู่มือ การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคุณปู เผื่อจะประยุกต์ใช้แก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเองบ้าง

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

 

ได้รับความรู้จากการถอดบทเรียนมากมาย กับ "เรื่องเล่าเร้าพลัง"

แนวทางการจัดทำเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง ที่คุณสุเทพบอกมาข้างต้นนี้  ครูใจดีต้องขออนุญาตนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการจัดทำเรื่องเล่าเราพลัง กับลูกศิษย์หน่อยนะคะ   ตอนนี้ครูใจดีกำลังให้ลูกศิษย์ บันทึกเรื่องเล่าของตนเอง... ทุกวัน แล้วจะนำมาเรียบเรียนเป็นเป็น E-Book ค่ะ

ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ..

คุณสุเทพไปเยี่ยมลูกที่เชียงใหม่บ้างหรือเปล่าคะ...

 

สวัสดีครับคุณครูใจดีP

ครับคุณครู "เรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง"มีคุณครูเคยมาปรึกษาผมว่านำไปปรับใช้เป็นแนวทางการจัดทำเรื่องเล่าเราพลัง กับลูกศิษย์ ให้ลูกศิษย์ บันทึกเรื่องเล่าของตนเอง... หากจะประยุกต์ใช้เรื่องนี้ในโรงเรียน เขามีวิธีการทำกันอย่างไร ผมได้เคยให้คำปรึกษาดังนี้ครับคุณครู

  • ให้นักเรียนฝึกทำการบ้านด้วยหลักการวิเคราะห์หลังการปฏิบัติAAR(After Action Review) บ่อยๆครั้ง ด้วยการบ้าน 5 ข้อของลูงโฮ(ผมเคยไปดูงานด้านการศึกษาที่เวียดนาม 2-3 ปีที่แล้ว ไปมา 2 ครั้งแล้วอยากไปอีกครับ  บ้านเราในเบื้องต้นอาจจะเพียง 3 ข้อก็พอคือ วันนี้นักเรียนได้ทำอะไรที่ดีๆบ้าง , วันนี้นักเรียนได้เห็นใครทำอะไรที่ดีๆบ้าง ,วันนี้นักเรียนได้เห็นอะไรที่ดีๆเกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นเราบ้าง การบ้านของลูงโฮเพิ่มอีก 2 ข้อคือวันนี้นักเรียนได้เห็นอะไรที่ดีๆเกิดขึ้นในประเทศชาติของเราบ้างและวันนี้นักเรียนได้รับทราบว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นในโลกของเราบ้าง_ซึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องดีก็ได้5555)
  • จัดกลุ่มDialogue ; การสานเสวนา หรือสุนทรียสนทนา นำเรื่องราวต่างๆมาเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อเนื่องครับ
  • การค้นหาเรื่องราวที่จะนำมาถอดบทเรียนด้วยหลัก AI ; การค้นหาความดีด้วยความชื่นชมหรือสุนทรียสาธก ( Appreciative Inquiry)  ซึ่งเปรียบเทียบเป็นทฤษฎีเห็ดโคน  ถ้ามีเชื้อหนึ่งแล้วก็จะกระจายรอบ ๆ เพียงแต่หาจุดเริ่มต้นให้พบและเชื่อว่ามีทุกที่ทั่วประเทศ หากเราได้ชื่นชมกับการค้นพบเห็ดโคน  ว่ามีเห็ดโคนเกิดที่หนึ่งแล้ว เมื่อเอื้ออำนวยให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เขาก็จะเจริญเติบโต เช่นเดียวกันกันสถานประกอบการถ้ามีคนเริ่มต้นเพียงหนึ่งในสถานประกอบการเชื่อแน่ว่าสถานประกอบการที่อยู่ข้าง ๆ จะเกิดขึ้นตามเพียงแต่เราทำให้ชัดเป็นรูปธรรม  กระบวนการทางสังคม  มีความเชื่อว่า สักวันจะต้องเกิด   มีเงื่อนไขที่ยึดหยุ่นได้ตลอดเวลา
  • การถอดความรู้แบบแผนภูมิต้นไม้ (The  Tree  Model) ของ Peter  Senge ผมได้บันทึกประสบการณ์เรื่องนี้ที่ http://gotoknow.org/blog/suthepkm/369414
  • การจัดทำเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนนี้อาจมีการถ่ายทำวิดีทัศน์ประกอบแล้วนำมาเสนอเป็นการเรียนรู้แบบสะท้อนกลับครับ

ครับคุณครูใจดี ทราบว่าตอนนี้ลูกช้างงอแงและมอมแมม ด้วยไม่ค่อยได้อาบน้ำกัน เห็นว่าน้ำไม่พอใช้เปิดปิดน้ำเป็นเวลา  ผมยังไม่ได้ไปเยี่ยมลูกช้างมอมแมมเลยครับ

ขอบคุณครับ

คุณสุเทพ ทำได้ดีมากๆครับ ตรงนี้น่ารวมเล่ม แล้วเผยแพร่ได้เลยครับ จะเป็นคุณูปการต่อสังคมมากๆครับ

ขอบพระคุณครับอ.โญP

  • ผมได้แนวทางและแรงบันดาลใจจากอาจารย์โญแล้วนำไปประยุกต์ใช้ครับ
  • ผมชอบแนวทางของอาจารย์ตรงที่ทำAIอย่างไรให้Workสุดๆครับ
  • มาขอนแก่นครั้งต่อไป หากเวลาและสุขภาพอำนวยจะไปแวะเยี่ยมคาราวะขอความรู้AIจากอาจารย์อีกครับ
  • ขอบคุณครับ

ขอเอาไปแบ่งปันคนอื่นนะครับ

ดีทั้งเนื้อหาและกระบวนการเลยครับ

สวัสดีค่ะ

มาติดตามศึกษาวิธีการนำ " เรื่องเล่าเร้าพลัง นำการเปลี่ยนแปลง" ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนค่ะ

ขอบคุณที่นำเรื่องดีๆมาแบ่งปัน

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณคนดอยP

  • ขอบคุณครับที่มาแวะเยี่ยม
  • เจ้าบ้าน ไม่สบาย ระบบการติดต่อสื่อสารไม่สะดวกเลยไม่ค่อยกลับมาบ้านG2Kแห่งนี้
  • คงได้พบปะสุนทรียสนทนากันนะครับ ในจังหวะและโอกาส ที่อำนวย
  • สวัสดีค่ะ
  • เรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง เรื่องเล่าสร้างโลกจริง ๆ ค่ะ เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นกับตัวเอง ทั้งนี้ต้องขอบคุณผ่านโครงการ SHA ขอบคุณเรื่องเล่าดี ดี สิ่ง ๆ นี้ที่ทำให้พฤติกรรมไม่ดีทั้งหลายได้หลอมละลายไปแล้ว นาทีนี้เข้าใจในความดี”ชั่วโมงนี้รู้ซึ้งในคุณค่า วันนี้จะนำมาพัฒนาสู่การปฏิบัติให้สม่ำเสมอ และยั่งยืนตลอดไป
  • ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ ที่ได้นำมาถ่ายทอดให้รับรู้กันค่ะ

ขอบคุณครับคุณครู DALAP

นำ " เรื่องเล่าเร้าพลัง นำการเปลี่ยนแปลง" ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน

  • ด้วยความยินดีครับ
  • เรื่องการนำไปใช้กับเด็กนักเรียนผมเคย ลปรร.กับคุณครูใจดีไปว่าP

หากจะประยุกต์ใช้เรื่องนี้ในโรงเรียน ควรมีวิธีการทำกันอย่างไร ผมได้เคยให้คำปรึกษาดังนี้ครับคุณครู

  • ให้นักเรียนฝึกทำการบ้านด้วยหลักการวิเคราะห์หลังการปฏิบัติAAR(After Action Review) บ่อยๆครั้ง ด้วยการบ้าน 5 ข้อของลูงโฮ(ผมเคยไปดูงานด้านการศึกษาที่เวียดนาม 2-3 ปีที่แล้ว ไปมา 2 ครั้งแล้วอยากไปอีกครับ  บ้านเราในเบื้องต้นอาจจะเพียง 3 ข้อก็พอคือ วันนี้นักเรียนได้ทำอะไรที่ดีๆบ้าง , วันนี้นักเรียนได้เห็นใครทำอะไรที่ดีๆบ้าง ,วันนี้นักเรียนได้เห็นอะไรที่ดีๆเกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นเราบ้าง การบ้านของลูงโฮเพิ่มอีก 2 ข้อคือวันนี้นักเรียนได้เห็นอะไรที่ดีๆเกิดขึ้นในประเทศชาติของเราบ้างและวันนี้นักเรียนได้รับทราบว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นในโลกของเราบ้าง_ซึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องดีก็ได้)  เรื่องนี้ต้องทำเป็นต่อเนื่องครับจึงจะได้ผล
  • จัดกลุ่มDialogue ; การสานเสวนา หรือสุนทรียสนทนา นำเรื่องราวต่างๆมาเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อเนื่องครับ
  • การจัดทำเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนนี้อาจมีการถ่ายทำวิดีทัศน์ประกอบแล้วนำมาเสนอเป็นการเรียนรู้แบบสะท้อนกลับครับ

การที่เด็กได้มาดูเรื่องเล่าเร้าพลังจากวิดีทัศน์อีกครั้ง  เป็นเร่งการเรียนรู้อีกรอบครับ  เด็กจะสนุก ได้บรรยากาศการเรียนรู้ ครับ

ได้ผลอย่างไรเล่าให้ฟังด้วยนะครับ

 

ถึง... คุณสุเทพ ไชยขันธุ์ 

* เป็นเรื่องที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีอย่างยิ่งครับ  โดยเฉพาะการเรียนรู้ของนักเรียน และนักศึกษา ... หากมีกระบวนการฝึกอย่างนี้มากขึ้น สังคมเราจะเป็นสังคมที่มีเหตุมีผลครับ ...

* แวะมาทักทายครับ ไม่ได้ทำงานร่วมกันนานมากแล้ว แต่ติดตามข้อมูลข่าวสารองค์กรอยู่ครับ คุณสุเทพ

 

 

 

สวัสดีครับคุณบุษราP

  • เจ้าของบ้านห่างจากการแวะมาเยี่ยมบ้านนานแล้วครับ  ด้วยไม่สบายได้พักผ่อนเต็มที่ครับ
  • ขอบคุณครับที่มาร่วม ลปรร. "เรื่องเล่า เร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง"

เรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง เรื่องเล่าสร้างโลกจริง ๆ ค่ะ เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นกับตัวเอง.......

.....นาทีนี้เข้าใจในความดี”ชั่วโมงนี้รู้ซึ้งในคุณค่า วันนี้จะนำมาพัฒนาสู่การปฏิบัติให้สม่ำเสมอ และยั่งยืนตลอดไป

ผมเคยได้ร่วม ลปรร.ไปก่อนหน้านี้ว่าแนวทางในการการจัดทำเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังนำการเปลี่ยนแปลง มีแนวทางในการดำเนินการดังนี้

  • มีเค้าโครงเหตุการณ์จริง เค้าโครงจากพื้นที่จริง และมีตัวตนผู้คนที่เกี่ยวข้องจริง(เรื่องเล่า)
  • การทำให้เหมือนละครชีวิต(มีตัวละครที่เราไปเกี่ยวข้อง)
  • สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก สะเทือนใจ  ต้องสู้ผ่าฟันอุปสรรค  ให้แรงบันดาลใจ  ให้กำลังใจ(เร้าพลัง)
  • ให้แง่คิด  คุณค่า  ความหมาย(การเรียนรู้   ตระหนักรู้)
  • ให้บทเรียนวิธีการปฏิบัติสร้างความสำเร็จ _ ทำได้อย่างไร  (นำการเปลี่ยนแปลง)
  • มีคนเล่าเรื่อง ที่มีความผูกพัน มีความเกี่ยวเนื่อง โน้มน้าวการเปลี่ยนแปลง

ขอบคุณครับ  ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ ที่เรื่องเล่าเร้าพลังช่วยให้คุณบุษราเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

สวัสดีครับคุณศุภัชณัฎฐ์P

  • ยินดีต้อนรับคุณศุภัชณัฎฐ์สู่บ้านใหม่G2Kครับ
  • ขอบคุณครับ ห่างหายไม่ได้พบกันนานหลายปียังจำกันได้
  • ผมไม่ค่อยได้ไปประจวบมานานแล้วครับ  ยังระลึกถึงและคิดถึงอยู่ครับ
  • รวมทั้งไม่ค่อยได้พบอ.โสภณและทีมงานประสังคมประจวบ นานแล้ว
  • ยินดีด้วยครับ ชื่อใหม่ ตำแหน่งใหม่และหัวใจดวงเดิมนะครับ
  • ย้ายครั้งต่อไปมาอยู่เป็น ผอ.ภาคที่ราชบุรีนะครับจะได้มาอยู่ใกล้กัน
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท