วันนี้ที่ปางมะผ้า เรามีการประชุมเชิงปฏิบัติการ Need Assessment ของวิทยาลัยชุมชน (Community College)แม่ฮ่องสอน หน่วยจัดอำเภอปางมะผ้า เพื่อที่จะหาความต้องการที่จะเปิดหลักสูตรระดับอนุปริญญาใหม่ๆที่สอดคล้อง และเอื้อต่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามปรัชญาของ วิทยาลัยชุมชน ที่ว่า “พัฒนาคน พัฒนาท้องถิ่น”
วิทยาลัยชุมชน ขึ้นอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการตามนโยบาลของรัฐบาลในการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชน เพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนเป็นสำคัญ (รายละเอียดเกี่ยวกับวิทยาลัยชุมชนดูได้จาก http://cc.mua.go.th/
ด้วยปรัชญาการจัดการศึกษาที่น่าสนใจ ผมได้เข้าร่วมเป็นอาจารย์ ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับนักศึกษาที่หน่วยจัดปางมะผ้า ตรงนี้จึงเป็นเวทีแห่งโอกาสให้ผมและนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสริมเติมวิชาการบางอย่างที่จำเป็น
ว่าด้วยเรื่อง การประชุมเชิงปฏิบัติการ “Need assessment” ในครั้งนี้ ทาง วชช. ได้ระดมความคิด โดยการเชิญหน่วยงาน ชุมชน และอาจารย์ผู้สอน ตลอดจนนักศึกษา ที่อำเภอ ปางมะผ้า มาจัดกระบวนการ เพื่อที่จะทราบว่า ชุมชนปางมะผ้า ต้องการเรียนรู้ในสาขาใด และสาขานั้นเป็นสาขาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของที่นี่ ตลอดจนเอื้อต่อการพัฒนาคนที่ปางมะผ้าอย่างแท้จริง ...สร้างคนเพื่อรับใช้ชุมชน ไม่ได้สร้างคนเพื่อไปรับใช้ทุนนิยม ไปแข่งขัน ต่อสู้กันนอกชุมชน เหมือนระบบการศึกษาที่เป็นมา น่าสนใจ
เกี่ยวกับผลของการประชุม ผลสรุปในแต่ละกลุ่มพอที่จะประมวล ความต้องการของคนท้องถิ่นที่คล้ายคลึงกัน ได้ดังนี้ "ระดับอนุปริญญา สาขาการจัดการท่องเที่ยว สาขาการเกษตรยั่งยืน" ในแต่ละกลุ่มให้เหตุผล ว่า การจัดการท่องเที่ยว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนควรที่จะเรียนรู้การบริหารจัดการ การท่องเที่ยวได้ด้วยชุมชน รองรับการท่องเที่ยวกระแสหลักที่ค่อนข้างรุนแรง กอรปกับพื้นที่มีภูมิทัศน์ ภูมิอากาศที่เหมาะสมและ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ทรัพยากรที่สมบูรณ์ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมการจัดการทรัพยากรดังกล่าว ... สาขาการเกษตรที่ยั่งยืน ด้วยชุมชนในพื้นที่ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลัก และสามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรได้เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ด้วยการแข่งขันเพื่อหวังผลเรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวหลัก ทำให้ชุมชนใช้สารเคมีมากขึ้น ใช้ทุนในการผลิตสูงขึ้น ระบบการเกษตรกระแสหลักหลักเข้ามาแทนที่เกษตรแบบดั้งเดิมหมด ...ปัญหาที่คลาสสิคปัญหานี้ ทำให้ต้องมีการจัดการศึกษาที่มารองรับ พร้อมกับหลักสูตรระยะสั้น เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ การแปรรูปผลผลิต เป็นต้น เพื่อก้าวไปสู่เกษตรยั่งยืน
“เมื่อได้ทราบความต้องการของชุมชนแบบนี้แล้ว ทาง วชช. จะได้นำไปประมวลผล สังเคราะห์ มีกระบวนการหาข้อมูลด้านอื่นๆประกอบและจะนำเข้าสู่การประชุมระดับจังหวัด จากนั้นจะบรรจุ แผนการจัดการศึกษาเข้าสู่แผนการศึกษาในระยะต่อไป”