ความคิดเห็นที่หลากหลาย กลายเป็นดาบสองคม ??


น่าเสียดาย ที่บล็อก กลายเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น
       มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง  เป็น 'นักอ่าน blog ตัวยง'   คือจะตามอ่าน blog ทุกวัน     อ่าน..แล้วก็มาเล่าให้เพื่อนคนอื่นๆ   ฟัง     แต่ไม่เคยแสดงความคิดเห็น     ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอ่านแล้วไม่คิดอะไร...แต่เป็นการคิดที่ผู้อ่านท่านอื่น   'ไม่เห็น'     เพราะไม่ได้เขียนลงบล็อก   เพียงแต่แสดง (พูด)   ให้คนใกล้ชิดฟัง     สงสัยมานานเลยไปถามว่าอ่านมากๆ  แล้วไม่อยากเขียนบล็อก   หรืออย่างน้อยก็แสดงความคิดเห็นบ้างหรือ ?   คำตอบคือ "ไม่"   พร้อมกับให้เหตุผลที่ดูเหมือนธรรมดา   แต่ไม่ธรรมดา....ว่า
        ." การสื่อออกมาเป็นภาษาหนังสือนั้น 'เสี่ยง'  ต่อการถูกเข้าใจผิด   บางครั้งการเขียนแบบธรรมดา (ตามอารมณ์ขณะนั้น)    แต่คนอ่านบางคนที่คิดมากอาจจะคิดไปอีกแบบ      เพราะบางทีเราไม่สามารถสื่อภาษาได้ตรงใจ       ส่วนในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นนั้นยิ่งแล้วใหญ่    การแสดงความเห็นที่ขัดแย้ง    'เสี่ยง'   ต่อการถูกเข้าใจผิด   เสี่ยงต่อการถูกเขม่น   โดยเฉพาะคนที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน"   (สรุปแล้วคือ   อ่านอย่างเดียวดีกว่า  ปลอดภัยดี)
        ฟังดูแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของสังคมไทย   ที่ไม่ชอบโต้แย้ง  (ทั้งๆที่ในใจไม่เห็นด้วย)      แต่คิด ๆ ดูแล้ว   น่าเสียดาย   ที่บล็อก   กลายเป็นการสื่อสารทางเดียว   ไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น
         อันที่จริง   การถูกเข้าใจผิด   ความขัดแย้งกันในเรื่องต่างๆ   เกิดขึ้นเป็นธรรมดาอยู่แล้วจากการสนทนาปราศัยในชีวิตประจำวัน    ถูกเข้าใจผิดก็แก้ไขบอกกล่าวกันเสียให้ถูก      การเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือน่าจะดีกว่าตรงที่สามารถอ่านทวนได้หลายรอบ   อ่านจนกว่าจะเข้าใจ   ส่วนเรื่องของความคิดเห็น    อันนี้ต้องยอมรับกันก่อนว่า 'ไม่มีใครคิดเหมือนใครหรอก'    เราเพียงแต่บอกว่าเราคิดแบบนี้   ส่วนคนอื่นจะคิดแบบไหนอย่างไร     รับฟังไว้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย (และบางครั้งมีประโยชน์มากๆ ด้วย)
       การเขียนบล็อกและการแสดงความคิดเห็น   น่าจะเป็น 'ตัวช่วย' ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในหน่วยงาน    มากกว่าเป็นตัว 'ฉุด'    ความสัมพันธ์     สำหรับตัวผู้เขียนเอง....บางครั้งคุยกันไม่รู้เรื่อง (หรือไม่อยากคุย)   ก็ได้บล็อกนี่แหละเป็นตัวช่วย
หมายเลขบันทึก: 36457เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2006 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เชื่อเถอะค่ะว่า ถ้ายังไม่เลิกอ่านไปเสียก่อนละก็ ต้องมีสักวันที่อดไม่ได้ ต้องเขียนแสดงความเห็นค่ะ มีหลายๆคนที่ต้องใช้เวลา"บ่ม"นานค่ะ บวกกับธรรมชาติที่คุณ nidnoi ว่าแล้ว ก็ยิ่งทำให้นาน....มากขึ้น แต่เชื่อเถอะค่ะว่า ถ้าไม่ทิ้งกันไปเสียก่อนละก็ ได้พบแน่นอนค่ะ GotoKnow เพิ่งจะขวบเดียวเอง แถมยังถูกเลี้ยงแบบลุยๆอีกต่างหาก ล้มลุกคลุกคลานมาก็หลายตลบ มีแฟนๆติดตามมากขนาดนี้ก็เยี่ยมแล้วนะคะ

คนที่น่าจะไม่เขียนแน่ๆ คือคนที่ไม่เคยอ่านเลยเท่านั้นแหละค่ะ 

เดิมก็ไม่ค่อยชอบเขียนเหมือนกันค่ะ เพราะไม่รู้จะเขียนอะไรหรือเขียนอย่างไรให้คนอ่านเข้าใจตรงกัน  แต่พอเริ่มเขียนแล้วชักสนุก ทำให้ได้รู้ว่าวิธีการถ่ายทอดของเราสามารถทำให้คนอื่นเข้าใจได้ตรงกันหรือไม่ ยากเหมือนกันนะคะ แต่พอเริ่มแล้วก็ติด คุณ nidnoi ลองบอกเพื่อนให้เริ่มเขียนที่อื่นก่อนสิคะ จะได้ไม่เสี่ยงโดนเขม่นในหน่วยงาน รับรองอีกหน่อยจะติดเป็นตังเม

เห็นด้วยกับคุณโอ๋ ครับ และที่ คุณnidnoi ว่ามาก็เห็นจริงตามนั้น ความรู้ ความคิด ไม่คลี่ออกมาก็ไม่มีใครเห็น เก็บฝังลึกไว้ข้างในก็ได้ประโยชน์แคบๆอยู่กับคนเดียว เปิดเผยและยอมรับความจริง ความเหมือน ความต่าง ว่า "เช่นนั้นเอง" และเก็บเกี่ยวประโยชน์จากกันและกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งถูกต้อง ดีงามเพิ่มขึ้น ได้กันทุกฝ่าย ไม่มีใครเสีย จริงมั้ยครับ

คุณ nidnoi บอกเขานะคะว่า เข้ามา comment ได้โดยไม่ต้องใส่ชื่อเสียงเรียงนามคะ

แต่ถ้าเพื่อประโยชน์ของการเชื่อมโยงเครือข่ายทางสังคม ว่าใครรู้จักกับใคร ใครเป็นคนคอเดียวกัน ใครมีความสนใจเดียวกัน แล้ว อย่างนี้ต้องให้เข้ามาสมัครสมาชิก แล้วหลังจากนั้น ก็ login เข้าใช้ระบบ ก่อนทุกครั้งที่จะใช้เพื่อการ comment คะ

และหากติดใจอยากเจอเพื่อนที่เราคุยกันแบบ F2F และขยายวง หรือ เพื่อเก็บความรู้ประสบการณ์ของเราเป็นประวัติศาสตร์เพื่อชีวิต ก็ให้เข้ามาเขียนบล็อกเลยคะ :)

ผมว่าการแสดงความรู้สึกออกทางตัวหนังสือ นับว่าเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งที่ทุกคนจะต้องมี  แต่ใครจะมีมากน้อยเท่าใดนั้น  มันต่างกันนะครับ  ขึ้นอยู่กับหลายอย่างประกอบกัน  เช่น ความรู้  ประสบการณ์  อารมณ์  เทคนิคเฉพาะตัว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ถ้าใครฝึกฝนบ่อยๆ จนเกิดเป็นนิสัยก็จะทำให้คนๆนั้นกลายเป็นนักเขียนที่ดีได้ แต่ถ้าใครไม่ใช้มันเลย ก็คงจะเหมือนกระบี่ที่อยู่ในฝักนั่นแหละครับ  พอชักออกมาแต่ละทีก็คงมีแต่สนิม   เรื่องการเขียนแสดงความคิดเห็นต่างๆ นี้ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังให้มีตั้งแต่วัยเด็กนะครับ  ทุกวันนี้แม้จะปฏิรูปการศึกษาแค่ไหน  แต่ความเป็นจริงแล้วการสอนของครูส่วนใหญ่คงเป็นเหมือนเดิมแหละครับ  เพราะปัญหามันมีมากเหลือเกิน  ทั้งงบประมาณไม่พอ   ขาดแคลนครู  ขาดแคลนสื่อวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย   โรงเรียนที่อยู่ตามชนบทย่อมเสียเปรียบในเมือง  ครูทุกคนมีแต่อยากย้ายเข้าตัวเมืองกันหมด  แล้วตามชนบทก็ต้องมีปัญหา  สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆ สะสม  และบ่มเป็นวัฒนธรรมของครูไปแล้ว  (ที่รู้เพราะผมก็เป็นครูคนหนึ่ง) มันเลยส่งผลไปสู่ตัวผู้เรียนทำให้เป็นคนที่ไม่อยากแสดงความคิดเห็น เพราะบางทีการแสดงความคิดเห็นแล้วมันให้โทษมากกว่าประโยชน์   แต่ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งคนเหล่านั้นจะต้องเขียนแสดงความคิดเห็นสักวันจนได้เมื่อสิ่งที่ทำนั้นจะให้ประโยชน์แก่ตัวเขาเอง...เชื่อเถอะครับ

ขอโทษนะคะที่อาจทำให้เข้าใจผิด รู้สึกข้อความกระชับไปหน่อย ที่บอกว่าเขียนที่อื่นหมายถึงเขียน comment กับคนที่ไม่ได้อยู่ที่ทำงานเดียวกันค่ะ  เพราะจะได้ไม่เกิดความขัดแย้งกัน หรืออย่างที่ ดร.จันทวรรณ แนะนำว่าไม่ต้องใส่ชื่อเสียงเรียงนามค่ะ

การ เขียนแสดงข้อคิดเห็น นอกจากการเชื่อมโยงเครือข่ายทางสังคมแล้ว หากบันทึกชิ้นนั้น มีคนสนใจมาก ก็อาจจะมีการเขียนขยายความ หรือตอนต่อๆไปให้อ่านไปเรื่อยๆ

อย่างบันทึกที่นายบอนเขียนออกมาในkeep in mind by bon ความจริงแล้ว แต่ละบันทึก สามารถเขียนได้มากกว่าที่อ่านอีก จะเขียนแง่มุมไหนก็ได้  จะเขียนในมุมของนักบริหาร มุมมองการวางยุทธศาสตร์ มุมเบาๆสบายๆ มุมมุมแบบสารคดี ได้ทั้งนั้น แต่เราไม่รู้ว่า อันไหนที่มีคนอยากอ่านในมุมอื่นๆบ้าง เราก็เลยไม่เขียนในมุมอื่น ก็เท่านั้นเอง

หากเป็นเรื่องโบราณ  ไม่ยอมสื่อ  เห็นท่าว่า ความรู้นั้นจะตายไปกับตัว ก็ต้องทำใจกัน เมื่อเราได้ช่วยกันสื่อแล้วเขายังเฉย ไม่ยอมเข้ามาแลกเปลี่ยน

  • ได้เอาเรื่องที่คุณnidnoiให้ลงแล้วปรากฏว่ามีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นดีมากครับ
  • ขอโทษนะครับที่เข้ามาช้ากำลังปั่นงานอยู่ครับ
  • ถ้าคนแสดงความคิดเห็นมีความเป็นกัลยาณมิตรและอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ค่อยทีค่อยอาศัยกัน การสื่อสารจะเป็นประโยชน์มากครับ
  • การเขียนแสดงความคิดเห็นทำให้ได้แนวความคิดที่มากกว่าในตำราเรียน ไม่มีสถาบันไหนสอน ศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เอง
  • ในอดีตชอบจดบันทึก ชอบเขียนกลอน ชอบเขียนบทความทางวิชาการ พออยู่ในgotoknow มีคนช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยครับ ซึ่งในบทความทางวิชาการไม่มี ขอบคุณคุณ nidnoiมากครับ
     ผมคนหนึ่งครับที่สนับสนุนให้มีการ ลปรร.กันโดยการให่ คห.ท้ายบันทึก และมองว่าใน GotoKnow สมาชิกทำได้ดีกันในระดับหนึ่งครับ หากแต่มีหลากหลายรูปแบบ เจ้าของบันทึกก็ต้องเปิดใจ คนให้ คห.ก็ต้องเปิดกว้าง
     สำหรับผมจะให้ คห.เมื่อ Get ได้ในสิ่งที่เจ้าของเขาสื่อสารออกมาครับ มีบาง Blog ครับที่หากผมได้ให้ คห.ในเรื่องการอ้างอิงถึงกันแล้วยังละเมิดคือไม่เคารพเจ้าของผลงานอยู่อีก ผมจะไม่แวะเวียนไปอีกเลย แต่ก็เคยมีเพียง Blog เดียวครับ ผมถือว่าเรื่องการอ้างอิงเป็นเรื่องซีเรียสสำหรับผมครับ
     ส่วนประเด็นที่เขาจะไม่กล้าให้ คห.เพราะ "ปลอดภัยกว่า" ก็เป็นสิทธิ์ที่จะคิดนะครับ แต่ผมมองว่าคับแคบเกินไป ซึ่งผมก็มีสิทธิ์ที่จะมองนะครับ (ยิ้มครับ ไม่ซีเรียสอะไร)
ก็ถ้าเขาไม่อยากเขียน แต่ถ้ามี คห. ดี  ๆก็ให้คนใกล้ชิดอย่างคุณ nidnoi ช่วยถ่ายทอดก็ได้ค่ะ สำหรับตัวเอง การเขียนหรือออกความคิดเห็น ไม่มีใครถูกไม่มีใครผิด สิ่งที่คิดว่าดีที่สุดในวันนี้ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในวันหน้าก็ได้ค่ะ
  • แวะมาทักทาย
  • มารายงานว่า
  • บันทึกจะระเบิดแล้วครับ พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ชอบเรื่องความรักกันมากเลย
หนับหนุนให้เกิดความคิดที่หลากหลาย ไม่ว่ามุมมองนั้นจะมาจากใครทั้ง ดร. หรือแม้แต่คนขายพวงมาลัยตรงสี่แยก 
  • เห็นด้วยครับ
  • น้องออตที่น่ารัก หาพี่โอ๋กับอาจารย์ Handy ไม่พบ
  • ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วม ลปรร.  ค่ะ
  • การแสดงความคิดเห็น   นอกจากจะเติมเต็มความรู้ต่างๆ แล้ว   ยังเป็นการ   "เติมกำลังใจ"  ให้กับเจ้าของบันทึกว่า   "มีคนอ่านและรับรู้สิ่งที่เราคิดเราเขียน"
  • คนในบันทึกที่เขียนถึง   อ่านบันทึกนี้แล้วค่ะ   ดูเหมือนว่าเจ้าตัวพอใจที่จะเป็น  นักอ่าน  อย่างเดิม
  • ขอเป็นทั้งนักอ่านและนักเขียนครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • ตามมาเป็นนักอ่านเพิ่มอีกคน
  • แต่ยังอยากเป็นทั้ง 2  อย่างครับ

    เห็นด้วยค่ะ บางทีก็ดูท่าทีของเจ้าของกระทู้ หรือเจ้าของ blog ก่อนตอบเหมือนกัน สำนวนภาษาการเขียน ตลอดจนการเข้าไปตอบ comment ของผู้ที่เข้ามา comment สามารถสะท้อนความคิด และอุปนิสัยของเจ้าของ blog ได้ค่ะ

 ว่าควรเสี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นขัดแย้งหรือไม่

เห็นด้วยกับอาจารย์k-jira ครับ ผมบุกเข้าไปอ่านหลายๆ blog แล้วแต่ไม่แสดงความคิดเห็นทั้งหมดนะครับ บาง blog

เกิดข้อผิดพลาดครับ ต่อนะครับ

ที่เราแสดงความเห็นไว้จะไม่สื่อสารกับเราเลย

  •  ผมคิดว่าท่านเจ้าของ blog นั้น คงต้องการนำเสนออย่างเดียว
  •  หรืออาจมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ก็เป็นได้
  • แต่เราก็ได้ความรู้จากท่านเหล่านั้นมากนะครับ
  •  ส่วนหลายท่านที่ตอบกลับก็ทำให้เกิดความคุ้นเคย เกิดมิตรภาพ ได้ความรู้ด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ต่อกันครับ
  •  เป็นการจุดประกายที่จะทำให้ติดตามอ่าน กล้าแสดงความคิดเห็น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ GotoKnow ครับ

                       

ยืมรูปมาจากอาจารย์ขจิตนาย ขจิต ฝอยทองด้วยความขอบพระคุณครับ

ประสบการณ์ส่วนตัวบอกให้รู้ว่า การ ลปรร. เป็นการเรียนรู้ตัวเองที่ดีมากๆค่ะ ได้ย้อนนึกถึงวิธีการในการสื่อสารของตัวเองและฝึกพัฒนาตัวเองด้วยค่ะ และได้เขียนสะท้อนความคิดของตัวเองไว้ ที่บันทึกนี้ค่ะ อยากให้กำลังใจแก่เพื่อนคุณ nidnoi ค่ะ

ในสายตาของดิฉัน ถึงตอนนี้หากเขาเองยังไม่อยากที่จะเขียนหรือออกความเห็น เขาจะอ่านไปก่อน ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร การที่เขาถ่ายทอดเรื่องในบล็อกของคนอื่นกับเพื่อนๆ ก็น่าจะบอกได้ว่า เขามีจิตใจที่อยากให้ ที่ก็น่าประทับใจเหมือนกันค่ะ ถ้าเขาอยากมาเขียน...คนที่นี่คงดีใจกันหลายๆ แน่ๆค่ะ

คุณ k-jira
เห็นด้วยค่ะว่า   การที่เราจะแสดงความคิดเห็นหรือไม่   ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ท่าทีของเจ้าของบันทึก    ถ้าเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่   คงไม่กล้า   แต่ถ้าอาจารย์ท่านตอบมาแบบเอ็นดู   อันนี้นอกจากจะเป็นการต่อยอดแล้ว    ยังเป็นการสร้างกำลังใจให้เราด้วยนะว่า   ท่านผู้ใหญ่ฟังเรา

เรียนคุณบวร  
บางทีเจ้าของ blog  เอง  ก็ไม่รู้จะตอบอะไร   มีเหมือนกันนะคะ   ต้องคิดก่อนนานๆ   (ดิฉันเอง)  ถึงจะตอบได้   พอถึงเวลานั้น   คนให้ คห. ก็หายไปแล้ว
อาจารย์จันทรรัตน์ ค่ะ
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ   ตามไปอ่านแล้วค่ะ
เรื่องของคนที่ไม่อยากที่จะเขียนหรือออกความเห็น   ก็เป็นจริงอย่างที่อาจารย์บอกนั่นแหละค่ะ    เค้าชอบอ่านและเล่าๆๆๆๆ   (เป็นคนชอบพูดคุย)   อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่างด้านการเขียนการพิมพ์   ก็เป็นได้   แค่รู้ว่าเค้าอ่านข้อเขียนของเราก็ชื่นใจแล้ว....เนาะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท