ฎีการ้องทุกข์


        ผมมีความรู้น้อยเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เพราะฉะนั้นเมื่อมีผู้บอกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยพระโรค scrub typhus ซึ่งน่าจะแปลตามตัวว่าไข้ป่า แต่ไม่ใช้ไข้มาลาเรีย(scrub คือ ป่าละเมาะ ส่วน tyhus นั้นแปลว่าโรคติดต่อต่อชนิดหนึ่งซึ่งผู้ป่วยมีีไข้สูง อ่อนเพลียมาก และมีจุดม่วงปรากฎบนร่างกาย)  ผมก็รู้เพียงแค่นั้น แต่ที่ทำให้วิตกอย่างยิ่งในเวลาต่อมา ก็เพราะมีแพทย์เป็นจำนวนมากเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ไปถวายการรักษาที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ หมอบางคนบอกผมว่า พระไข้ของพระเจ้าอยู่หัวสูงถึง ๔๐ องศาเซลเซียส และไม่ลดเลยเป็นเวลาติดต่อกันทั้งสัปดาห์
        และเมื่อค่ำวันหนึ่งผมเห็นคุณหมอ(ผู้หญิง) คนหนึ่งเดินร้องไห้ลงมาจากพระตำหนัก ผมก็รู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้กำลังทรงพระประชวรเฉยๆ แต่ทรงพระประชวรหนัก
        บรรยากาศในพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ตอนนั้นเงียบและซึมเศร้า ทุกคนหน้าตาหม่นหมองคล้ำ
        ครั้นแล้วเราก็ได้ข่าวดี พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการดีขึ้น พระไข้ลด แต่ยังคงอ่อนเพลีย คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาจึงขอพระราชทานให้ทรงงดพระราชกรณียกิจเป็นเวลา ๓๐ วัน บรรยากาศในพระตำหนักกลับเป็นปกติ เสียงหัวเราะดังขึ้นหลังจากเงียบหายไปหลายวัน
        เช้าวันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ผมนั่งอ่านหนังสือและฟังวิทยุอยู่ในห้องพักของผมที่กรมราชองครักษ์ในบริเวรพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันนั้นผมรู้ว่ามีเหตุผิดปกติอย่างหนึ่ง เพราะมีสถานีวิทยุของกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๕ ที่ค่ายดารารศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานนีแม่ข่ายของตำรวจตระเวนชายแดนในภาคเหนือ เรียกเครื่องเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจเครื่องหนึ่งที่อยู่เป็นระยะๆ โดยไม่ได้รับตอบ
        ประมาณ ๑๐ นาฬิกา ผมได้จึงยินเสียงแหบห้าวสั่นคลือของใครคนหนึ่งเรียกสถานีวิทยุของค่ายดารารัศมี และแจ้งว่าเฮลิคอปเตอร์เครื่องที่ค่ายดารารัศมีเรียกเข้ามาตั้งแต่เช้านั้น ขณะนี้ได้ลงไปจอดอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งดูเหมือนจะเป็นเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
        ผมยังฟังไม่ทันจะจบประโยชน์ก็จำได้ว่า ที่ผมกำลังได้ยินอยู่นั้นเป็นพระสุรเสียงของพระเจ้าอยู่หัว
        ผมรู้สึกตื่นเต้นจนกั้นน้ำตาไม่ได้ เพราะเมื่อผมไม่ได้ยินพระสุรเสียงมาหลายวันแล้วนับตั้งแต่ทรงพระประชวร แต่แล้วความตื้นตันก็กลายเป็นความรู้สึกขัดใจอย่างแรง ขัดใจเพราะเห็นพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงผักผ่อนพระวรกายตามคำแนะนำของแพทย์ แต่กลับทรงลุกขึ้นมาทรงงานด้วยการทรงฟังและถึงรับสั่งทางวิทยุ
        ผมนึกอะไรไม่ออก นึกได้แต่ว่าจะต้องกราบบังคมทูลประท้วง ครั้งแล้วผมนั่งลงเขียนจดหมายถึงใต้ฝ่าละลองธุรีพระบาททันที จดหมายฉบับนั้นจะเรียกว่าฎีการ้องทุกข์ก็ได้ เพราะว่าฎีกาแปลว่าคำร้องทุกข์ที่ยื่นถวายพระเจ้าแผ่นดิน
        ในจดหมายหรือฎีกาฉบับนั้น ผมกราบบังคมทูลรำพันไปว่า คงไม่ทราบฝ่าละลองธุรีพระบาทว่าทรงพระประชวรครั้งนั้น คนไทยทั้งประเทศเป็นทุกข์เพียงใด ทุกคนสวดมนต์อ้อนวอนขอให้หายพระประชวร แม้แต่ตัวผมเองก็ตั้งใจเอาไว้ว่า หากหายพระประชวรผมจะขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาอุปสมบทเพื่อถวายพระราชกุศล
        ผมคงจะระบายอารมณ์ไปในจดมายหรือฎีกาฉบับนั้นอีกเป็นอันมาก ในตอนท้ายผมกราบบังคมทูลอ้อวอน ขอให้ทรงงดพระราชกรณีกิจตามที่แพทย์ขอพระราชทานไว้และหากมีความจำเป็นจะต้องรับสั่งกับผู้ใดก็ไม่จำเป็นต้องฝืนพระวรกายลุกขึ้นมารับสั่งทางวิทยุ พระราชทานเป็นพระราชหัตถเลขาลงมาก็ได้
        แล้วผมก็นำจดหมายหรือฎีกาฉบับนั้นไปฝากผู้ใหญ่ในราชสำนักที่รู้จักคุ้นเคยกับผมผู้หนึ่ง ขอให้ท่านช่วยนำขึ้นเกล้าฯ ถวายให้
        ผมไม่ได้หวังว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระปฏิกิริยาอย่างใด เพราะฉะนั้นในวันรุ่งขึ้น เมื่อทูลกระหม่อมน้อยทรงเชิญบันทึกพระราชกระแสตอบจดหมายหรือฎีกาที่ผมถวายขึ้นไปมาพระราชทานให้ผม ผมตกใจแทบสิ้นสติ
        ผมจำไม่ได้ทั้งหมดว่าได้กราบบังคมทูลอะไรไปบ้าง ในจดหมายหรือฎีกาที่ทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่ขึ้นไป แต่บันทึกพระราชกระแสนั้น ตอบจดหมายหรือฎีกาผมที่ผมทูลฯ เป็นข้อๆ
        ข้อแรก ผมเข้าใจว่าคงจะทรงตอบที่ผมกราบบังคมทูลตัดพ้อไปว่า ทรงลุกขึ้นมารับสั่งทางวิทยุ และ ผมกราบบังคมทูลขอให้พระราชทานเป็นพระราชหัตถเลขาแทน ทรงตอบว่า
        "1. ถ้าเป็นพระราชหัตถเลขาเขียนหยุกหยิกเมื่อยมือ ยิ่งช้า จึงต้องพูด"
        ส่วนที่ผมรำพันไปในจดหมายว่า จะตายแทนพระเจ้าอยู่หัวได้นั้น มีพระราชกระแสว่า
        "2. ก. จะตายแทน? ใครจะตาย? เราเหนียวเราไม่ตาย ถ้าเราไม่ตาย เราก็ต้องการใช้ จะไปหาความสุขส่วนตัว อุปสมบทไม่ได้"
             ข. ถ้าเราตาย อนุญาติให้บวชหน้าไฟ ถวายพระราชกุศล(แต่เราไม่ตาย)
"
        บันทึกพระราชกระแสที่ตอบมาเป็นข้อๆ นั้น ยังมีข้ออื่นอีก ซึ่งจะขอเชิญไว้ในที่นี้ เพราะทุกข้อสะท้อนพระราชอัธยาศัย ทำให้เห็นน้ำพระทัยและวิธีทรงงานของพระเจ้าอยู่อย่างชัดเจน
        "3. ถ้าจะทำอะไรก็ต้องมีคำสั่งให้ทำตามคำสั่ง ไม่อย่างนั้น สะตึ จะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำเป็น team work (ทำมานานแล้ว)"
        "4. เคยบอกไว้ว่า งานประจำต้องทำอยู่แล้ว ถึงไม่บอกให้ทำก็ต้องทำไม่ต้องสั่งให้ทำซ้ำอีก จะประชวรหรือไม่ก็ต้องทำตามโนบายที่สั่งไว้ตั้งแต่ต้น ห้ามทรยศและห้ามโง่ด้วย"
        "5. เห็นด้วยว่า ทุกคนต้องเห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวโดยแท้ โดยบริสุทธิใจ ประเทศชาติก็รอด (ห้ามมีอคติ)"
        ข้อสุดท้ายเข้าใจว่าเป็พระราชวิจารณ์ที่ทรงมีต่อจดหมายหรือฎีกาที่ผมทูลเกล้าฯ ถวายไป เพราะมีข้อความดังนี้
        "6. แบบฟอร์ม very เชย"

ที่มา : ที่สุดของหัวใจ
สำนักพิมพ์ : กันตนา

หมายเลขบันทึก: 36450เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2006 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ขอบคุณมากครับ
  • รู้สึกรักประเทศไทยมากขึ้น

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ซาบซึ่งในพระมหากรุณาธิคุณมากเลยครับ

แม่ว่าท่านจะทรงพระประชวร ท่านก็ยังเห็นความทุกข์สุข ของพสกนิกรของท่านมาก่อนเสมอ

ว่าแต่คำว่า สะตึ แปลว่าอะไรครับ

พจนานุกรม ฉบับบัณฑิตนสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
หน้า ๑๑๕๑สะดุด - สะเต๊
กรอบขวา ศัพธ์ที่ ๖

สะตึ,สะตึ ๆ (ปาก)  ว. ไม่มีอะไรดี, ไม่ได้เรื่อง, ไม่มีค่า, เช่น หนังเรื่องนี้สะตึดูแล้วเสียดายเงิน ของสะตึๆ อย่างนี้ไม่ชื้อหรอก.

     เรื่องราวของพระองค์ตอนนี้ ผมได้นำเอาไปเป็นเรื่องเล่าเวลาผ่อนคลายเวทีฯ ต่าง ๆ จนบางครั้งมีคนบอกว่าซ้ำ แต่อยากฟังอีกเสมอไม่เคยเบื่อครับ
     โรค scrub typhus หรือ "ไข้รากสาดใหญ่" นาน ๆ จะเจอสักทีครับ จริง ๆ เชื้อโรคตัวนี้จะพบในไรสัตว์ปีกนะครับ เมื่อประมาณ 4-5 ปีมาแล้ว ผมยังทำงานที่ สสอ.บางแก้ว จ.พัทลุง ได้มีโอกาสออกสอบสวนโรคนี้ที่ ม.2 ต.ท่ามะเดื่อ ก็พบว่าน่าจะเกิดจากที่บ้านของผู้ป่วยคุณตาเลี้ยงแม่ไก่พันธ์พื้นเมืองเพื่อให้ฟักแล้วขายลูก เยอะมากครับ ซึ่งจะมีไรไก่เป็นพาหะนำเชื้อนี้อยู่ จึงได้ใช้มาตรการทำลายไร่ไก่หลาย ๆ วิธีประกอบกัน โดยได้ประสานกับปศุสัตว์อำเภอในการดำเนินการให้ครับ

การร้องทุกข์โดยจดหมายต้องจ่าหน้าซองอย่างไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท