BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วิชชาสาม สามนัย : เทศนาธรรมวิสาขบูชา


วันนี้ วิสาขบูชา... ซึ่งปกติจะตรงกับเพ็ญเดือนหก แต่ปีนี้เดือนแปดสองหนจึงเลื่อนมาเป็นเพ็ญเดือนเจ็ด โดยเชื่อกันว่าเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระบรมศาสนาจารย์เจ้า... แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการตรัสรู้ เพราะผู้ที่มีวันเกิดกับวันตายตรงกันนั้น หาได้ไม่ยากนัก ส่วนผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นยากยิ่งนักที่จะเกิดมาพานพบได้

วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น จัดแบ่งเป็นสามช่วงยาม กล่าวคือ

  • ปฐมยาม      ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ รู้ระลึกชาดิได้
  • มัชฌิมยาม   ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ              คือ รู้การตายการเกิดของหมู่สัตว์
  • ปัจฉิมยาม    ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ             คือ รู้ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ

ซึ่งทั้งสามประการนี้เรียกกันว่า วิชชาสาม

 

ตามความเห็นส่วนตัว วิชชาสาม นี้ อาจนำมาแปลความหมายได้ ๓ นัย กล่าวคือ

  • นัยข้ามภพข้ามชาติ
  • นัยเฉพาะชาตินี้
  • นัยสังคม

นัยข้ามภพข้ามชาติ นั้น... ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือมีปัญญารู้ระลึกชาติได้ นั่นคือ พระองค์ระลึกชาติได้ว่า ชาตินั้นๆ เคยเกิดเป็นอะไร มีผิวพรรณวรรณะอย่างไร หรือได้ทำอะไรมาบ้าง... จึงได้มาเกิดเป็นอย่างนี้

จุตูปปาตญาณ คือมีปัญญาหยั่งรู้ถึงการตายการเกิดของหมู่สัตว์ ทำนองว่าสัตว์นี้ทำกรรมอย่างนี้ จึงได้เป็นอย่างนี้ หรือคนนั้นในชาติก่อนโน้นเคยทำกรรมอย่างนั้น จึงได้มาเป็นอยู่อย่างนี้... นั่นคือ นอกจากระลึกชาติของพระองค์ได้แล้ว ก็ยังทรงหยั่งรู้ชาติต่างๆ ของหมู่สัตว์ได้

อาสวักขยญาณ คือมีปัญญารู้ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ ซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะก็คือ นิโรธ การดับทุกข์ อันจัดอยู่ในอริยสัจ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค นั่นเอง...

  • ทุกข์ คือ ผลปรากฎที่ไม่พึงปรารถนา
  • สมุทัย คือ สาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ตัณหา
  • นิโรธ คือ การดับทุกข์ ต้องดับที่สาเหตุ นั่นคือดับตัณหา
  • มรรค คือ วิธีการดับทุกข์ ต้องปฏิบัติตามหลักมรรค ๘ ประการ

จะขยายความเฉพาะ ตัณหา... ตัณหาคือความทะยานอยาก จัดเป็นอาสวะ คือสิ่งที่หมักหม่มอยู่ในจิตใจส่วนลึก... ดังนั้น อาสววักขยญาณ ปัญญารู้ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ ซึ่งหมายถึง ปัญญารู้ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ได้แก่นิโรธนั่นเอง

 

เฉพาะชาตินี้ นั้น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ เรามีปัญญาระลึกความเป็นอยู่และเป็นไปของเราที่ผ่านมาได้ นั่นคือ รู้จักพิจารณาทบทวนเรื่องราวที่ผ่านของเราเอง จนกระทั้งมาเป็นอยู่ในขณะนี้

จุตูปปาตญาณ คือ เราอาจพิจารณากลุ่มชนที่ในช่วงที่ผ่านๆ มา เช่น ญาติใกล้ชิด หรือเพื่อนๆ ตลอดคนที่เคยรู้จักหรือเคยเห็น โดยทำนองว่า  คนนั้น เคยเป็นอย่างนั้น ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ เพราะเค้าได้กระทำอย่างนั้นมา... เราอาจพอใช้เหตุผลกำหนดความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงแห่งวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นได้ ว่าแต่ละคนเป็นอย่างนั้นเพราะเหตุอะไร

อาสวักขยญาณ คือ เรากำหนดได้ว่า คนเหล่านั้น ที่วิถีชีวิตแตกต่างกันไป ก็เพราะความมุ่งหวัง หรือความต้องการของแต่ละคนแตกต่างกันนั่นเอง บางคนความเป็นอยู่ตกต่ำเพราะความมุ่งหวังหรือต้องการนั้นไม่ประกอบด้วยกุศล หรือเป็นความมุ่งหวังที่เกินเลยความพอดีจึงทำให้ชีวิตตกต่ำ... ขณะที่บางคนมีความเป็นอยู่พัฒนาขึ้นมาเพราะคนนั้นมีความเพียรพยายามในแนวทางถูกต้อง... หรือบางคนสูงๆ ต่ำๆ ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดก็เพราะเค้ามีความมุ่งหวังความต้องการอย่างนั้นๆ เป็นต้น

สรุปว่า รู้ตัวเอง รู้คนอื่น และรู้สาเหตุที่แตกต่างกัน

 

ส่วน นัยสังคม นั้น ก็ทำนองเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนตัวเราเองมาเป็นสังคม กลุ่มชน หรือประเทศชาติก็ได้ เช่น ทบทวนประเทศไทยในขณะนี้ ว่าผ่านเหตุการณ์อย่างไรมาบ้าง จึงมีสภาพปรากฎดังเช่นปัจจุบันนี้ ก็จัดเป็นปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

เมื่อศึกษาสังคมหรือประเทศชาติอื่นๆ ว่าเค้าเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น ก็เพราะเค้าดำเนินการอย่างนั้น ๆ เป็นต้น ทำนองนี้ จัดเป็นจุตูปปาตญาณ

และหากเราศึกษาความมุ่งหวังโดยรวมของสังคมหรือประเทศชาติว่าเป็นอย่างไร ต้องการอย่างไร และสิ่งที่พวกเราคาดหวังร่วมกันในสิ่งนั้นๆ นั่น ประกอบด้วยธรรมหรือไม่เพียงไร... ทำนองนี้ อาจสงเคราะห์เข้าในอาสวักขยญาณ

สรุปว่า การศึกษาวิเคราะห์ปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศชาติปัจจุบัน อาจประยุกต์เอาหลักวิชชาสามมาใช้ได้...

หมายเลขบันทึก: 361987เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2010 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • กราบนมัสการ ท่านBM.chaiwut
  • วิชชาสามสามนัย  ลึกซึ้ง ชัดเจน..รู้อดีต  รู้ความตาย   รู้ธรรม
    เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
  • กราบอนุโมทนาค่ะ 

 

 

รีบเร่งเขียน และเพียงวางประเด็นไว้เท่านั้น คิดว่าผู้พอจะมีพื้นอยู่บ้างหรือผู้สนใจน่าจะพอขบคิดและค้นคว้าต่อไปได้...

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

ค้นๆ เรื่องของพระคุณเจ้า หลายเรื่องน่าสนใจ

อ่านไปพักหนึ่ง นึกได้ ก็เลยเขียนไว้ตรงนี้

การรู้จัก กับ รู้จริง ซ้อนทับกันได้ยากเหลือเกิน

อ่านหนังสือมามาก รู้จักอะไรก็เยอะ ทำใจให้รู้จริง ไม่ค่อยจะได้สักที ;)

 

  • ก็ต้องพยายามกันต่อไป...

เจริญพร

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท