ไดเจ๊กห้า : แหล่งบุกเบิกเกษตรผสมผสานและเศรษฐกิจพอเพียงของหนองบัว


  

 

  ไดเจ๊กห้า   : เป็นกลุ่มบ้านเรือนอยู่ตรงกลางระหว่างบ้านตาลินกับบ้านป่ารัง อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๒๕  ของถนนจากชุมแสง-หนองบัว แต่เดิมนั้น บริเวณไดเจ๊กห้าเป็นทางน้ำหลากมาจากเหนือล่องไปจรดกับห้วยปลาเน่าและห้วยวารี แล้วก็ไหลเทไปยังบึงบรเพ็ด

ในหน้าน้ำหลากกระทั่งน้ำทรงในเดือนสิบสองถึงเดือนยี่-เดือนอ้าย ไดเจ๊กห้าก็จะเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมมาก ชาวบ้านจะมารวมตัวกันจับปลา เมื่อน้ำแห้ง ก้นคลองและดินโคลนตามลำห้วยแตกระแหง ก็จะเต็มไปด้วยเขียดหลากหลายชนิด ชาวบ้านก็จะมาจับเขียดกันอีก เขียดนี้ชุกชุมจนสามารถใช้อวนลากเรี่ยพื้นให้เขียดกระโดดเข้าไปติดอวนแทนการค่อยๆจับทีละตัวเลยทีเดียว

เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อนนั้นไดเจ๊กห้าเป็นทุ่งนาไม่มีบ้านเรือนชาวบ้าน ในหน้าทำนา ชาวนาหนองบัวและกลุ่มชาวบ้านจากชุมชนโดยรอบที่มุ่งมาหาปลา ก็มักจะมาทำห้างและตั้งเรือนพักชั่วคราว ต่อมาก็มี พ่อใหญ่เรือง : ครูเรือง พินสีดา ไปลงหลักปักฐานอยู่อาศัยที่ไดเจ๊กห้าอย่างเป็นการถาวร บ้านพ่อใหญ่เรืองกับไดเจ๊กห้าจึงเป็นแหล่งอ้างอิงกันและกัน

ครูพ่อใหญ่เรืองนี้ เป็นคนร่วมรุ่นกับครูเสริญบ้านป่ารัง ครูเสริญเป็นครูสอนและดูแลโรงเรียนบ้านป่ารัง ส่วนครูพ่อใหญ่เรืองนี้เป็นครูที่ร่วมกับนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ นายอำเภอหนองบัว และคนรุ่นบุกเบิกของบ้านตาลิน บ้านป่ารัง รังย้อย ห้วยถั่วใต้ และห้วยถั่วเหนือ ขอให้กองทุนวันครูของครูทั่วประเทศไทยในปี ๒๕๐๔ เอาทุนที่จะสร้างโรงเรียนให้เด็กๆลงไปสร้างโรงเรียนที่บ้านตาลิน ทำให้มีโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)  อยู่ที่บ้านตาลิน อำเภอหนองบัวตราบจนทุกวันนี้

ในปี ๒๕๐๔ นั้น การระดมทุนของเหล่าคุณครูทั่วประเทศ สามารถสร้างโรงเรียนเนื่องในวันครูในจังหวัดต่างๆของประเทศไว้เป็นที่รำลึกวันครูได้เพียง ๕ แห่งเท่านั้น โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ของอำเภอหนองบัวเป็นเพียง ๑ ใน ๕ ของโรงเรียนดังกล่าวนั้น และในปี ๒๕๕๔ นี้ก็จะก่อตั้งมาได้ครึ่งศตวรรษ ส่วนโรงเรียนบ้านป่ารังและโรงเรียนห้วยถั่วใต้ ต่อมาก็ได้ยุบให้เด็กๆไปเรียนที่โรงเรียนวันครู ไดเจ๊กห้าห่างจากบ้านตาลินและบ้านป่ารังเพียงเดินถึง

หากครูพ่อใหญ่เรือง อยู่จนถึงยุคปัจจุบันนี้ก็เชื่อว่าจะเป็นครูต้นแบบของการดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงท่านหนึ่งแน่นอน เพราะครูพ่อใหญ่เรืองท่านขอลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการ จากนั้นก็ดำเนินชีวิตเป็นเกษตรกรแปรผืนดินที่ไดเจ๊กห้าทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ด้วยวิธีคิดที่ล้ำยุคเกินใครจะคาดคิด

ท่านขุดสระขนาดใหญ่ ๒ ลูกเชื่อมต่อกันและสามารถจัดการน้ำให้ถ่ายเทถึงกันได้ รอบคันสระก็ปลูกพืชสวนผสม ในสระก็เลี้ยงปลา ที่ขอบสระด้านหนึ่งทำเป็นคอกไก่และเลี้ยงไก่ให้ไก่ขี้ลงไปในสระเพื่อเกิดไรและเป็นอาหารปลา รอบสระเต็มไปด้วยแปลงผัก  ข่า ตะไคร้ และที่สุดจะก้าวหน้ามากก็คือท่านล้อมตาข่ายเลี้ยงกบและแมงดานา ซึ่งเมื่อกว่า ๓๐-๔๐ ปีก่อนโน้นไม่มีใครคิดได้ทันอย่างที่ครูพ่อใหญ่เรืองทดลองทำด้วยตนเองอย่างนี้เลย

เมื่อถึงวันพระหรือมีกิจกรรมประเพณีต่างๆของชุมชน ครูพ่อใหญ่เรืองนอกจากจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของลูกหลานแล้ว ก็จะเป็นศูนย์กลางของการตีวงเข้ามานั่งคุยและศึกษาหัวข้อธรรมต่างๆด้วยกันของชาวบ้าน ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว แต่ลูกหลานและภรรยาของท่านคือแม่ใหญ่คูณก็ยังคงอยู่ที่ไดเจ๊กห้า กระทั่งทุกวันนี้.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                                                  ภาพ ข้อมูล และบรรยาย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์
                                                                                                  ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
                                                                                                  มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 348148เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ภาพนี้เห็นแล้วขำเลย
เด็กๆในตลาดหรือในหมู่บ้านหนองบัว-หนองกลับ จะได้เล่นน้ำอย่างสนุกสนานกันทีปีละครั้งก็มีที่สะพานหนึ่ง และไดเจ๊กห้านี่แหละ มีน้ำไหลแรงเพราะเป็นหน้าน้ำนองนั่นเอง
อดีตของไดเจ๊กห้าที่มีชื่อเสียงมากๆคือปลาชุม

ผมเคยเจอคนขับแท๊กซี่คนหนึ่ง มีอายุพอสมควรแล้วครับ แกบอกว่าเคยเป็นคนงานหาฟืนไปเป็นเชื้อเพลงหัวรถจักรให้กับการรถไฟที่สถานีปากน้ำโพ เวลาไปหาฟืนก็จะไปค้างอ้างแรมกันอยู่ที่ป่าหนองบัวซึ่งแกรำลึกให้ฟังว่าปลาที่หนองบัวนั้นเยอะมากจริงๆ ทุกที่ที่มีสระและหนองน้ำขังก็จะมีปลามากมาย แกหาปลากินได้อย่างง่ายๆ 

ลายเส้นสนุกดีขอรับท่านอาจารย์พี่

คุณแม่หรือเปล่าครับอาจารย์กู้เกียรติ ดูใจดีจังเลยนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • เห็นคำว่า "ไดเจ๊กห้า" เข้าใจว่าเป็นชือเครื่องมือของชาวจีนชื่อเจีกห้าค่ะ ฮ่า ๆ ๆ ๆ ขำกลิ้ง
  • เพิ่งได้ทราบว่าพระคุณเจ้าพระมหาแล  อยู่วัดใกล้ ๆ  บ้านค่ะ  บนถนนเดียวกันและอยู่ฝั่งเดียวกันเลยค่ะ
  • ตอนที่ไปเป็นครูใหม่อยู่บ้านนอกที่กรุงเกรง บางกระทุ่ม  จะเห็นปลาจำนวนมากเอาหัวมาเกยขอบสระ ริมทุ่งนา บางที่ก็ว่ายไปมาในท้องนา
  • ชาวบ้านยังไม่จับมากิน  เพราะตัวยังไม่โตเต็มที  ปัจจุบันคงหายากนะคะ
  • ครั้งหนึ่งเคยไปอำเภอชุมแสงที่ติดกับฝั่งบางมูลนาค  เห็นปลาช่อนมากมาย  ปลาตะเพียนตัวเล็กตัวใหญ่  แต่ชาวบ้านก็ยังถนอมไว้ให้ตัวโต ๆ
  • ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันจะเป็นแบบนั้นอยู่หรือไม่  น่าสงสัยค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ชาย  อาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • ห่างหายพักใหญ่ค่ะ ยุ่งๆกับงานงบประมาณsp2  มากพอสมควรค่ะ 
  • ตอนนี้ต้องไปทำงานที่โรงเรียนอีก กว่าจะได้พักอีกหลายวันค่ะ
  • น้ำกับเด็กบ้านนอกเป็นของคู่กันค่ะ  มีคลองที่ไหน จะเห็นเด็กๆเป็นกลุ่มเป็นก้อน  โดดน้ำกันสนุกสนาน ชนิดที่เล่นกันเป็นวันๆตัวดำปิ๊ดเลย และเรียนรู้การเอาตัวรอดจากการตกน้ำไปด้วย ไม่ต้องไปเรียนว่ายน้ำในสระให้เสียตังค์เหมือนปัจุบันค่ะ
  • ถนนสายเก้าเลี้ยว ชุมแสง  หนองบัว  ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านแถวนั้น  ผ่านไปครั้งไรก็ยังเห็นความช่มชื้น เขียวชอุ่มของต้นไม้ใบหญ้า  นั่งอยู่ในรถก็ยังรู้สึกได้ถึงความเย็นฉ่ำ
  • มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติตลอดเวลาค่ะ แต่เสียดายไม่ค่อยรักษ์ธรรมชาติ

 

  สวัสดีครับคุณครูคิม 

  • เลยทำให้ผมได้พลอยขำไปด้วย เพราะนึกไปตามคุณครูคิมแล้วก็เพิ่งจะนึกออกว่า เวลาเรียก ได นั้น คนทั่วไปก็จะหมายถึง ๒ อย่าง คือ เครื่องมือผู้ชายก็เป็น ไดนาโม และหากเป็นผู้หญิงก็เป็น ไดเป่าผม พอได้ยินไดเจ๊กห้า ก็ชวนให้คิดไปได้ว่าเป็นไดนาโมของเจ๊กห้า จริงๆนั่นแหละ
  • ผมไม่รู้ว่าถิ่นอื่นๆใช้คำนี้บ้างหรือเปล่านะครับ แต่แถวบ้านนั้น หากพื้นที่ลุ่มตรงไหนลุ่มเป็นแอ่งน้ำขังเล็กกว่าบึง และไม่ลึกอย่างคลอง บ่อ หรือสระ ลักษณะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ราบโดยรอบจนแทบจะแยกให้เห็นขอบเขตฝั่งไม่ออก กระทั่งลุ่มลงไปเป็นแอ่ง แล้วก็มีปลาชุกชุม มีพืชพรรณอุดมสมบูรณ์ ลักษณะอย่างนี้ก็มักจะเห็นเรียกกันว่า ได น่ะครับ
  • เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยเลือกกินที่สะท้อนการอนุรักษ์และพัฒนาอยู่ในตัวไปด้วยแล้วละครับ ปูปลาคงไม่เหลือกลับเข้าวงจรที่จะได้เติบโตตัวใหญ่ๆให้เลือกเหมือนอย่างเมื่อก่อนแล้วกระมังนะครับ

  สวัสดีครับน้องนก   : คุณครูจุฑารัตน์ หายไปนานเลยนะนี่ สบายดีนะครับ  ตอนนี้ปิดเทอมคงได้ตั้งหลักและหยุดผ่อนลมหายใจชั่วครู่

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

โพสคุยเรื่องไดเจ็กห้าไว้ที่ไฟล์ภาพของอาจารย์ตั้งแต่ตอนอาจารย์อัพโหลดรูปภาพค่ะ เห็นภาพความสนุกสนานของเด็กน้อยค่ะ อาจารย์ความจำดีจังเลยค่ะ ขนาดภาพเหล่านี้ผ่านมานานแล้วก็ตาม จำได้แม้กระทั่งหลักกิโลเมตรเลยนะค่ะว่าหลักกิโลที่ ๒๕ คงจะเป็นที่พักประจำของจักรยานอาจารย์นะค่ะ ...

เลยทำให้นึกถึงภาพนี้ค่ะ ถ่ายไว้เมื่อวันงาน ถนนคนเดิน ของมหาวิทยาลัยมหิดล (ประมาณเดือนมกราคม ๕๓) ช่วงแดดร่มลมตก แสงสวยค่ะ จังหวะรถติดไฟแดงหน้ามหา'ลัย ค่ะ ....

                      

ตลอด ๒๕-๒๖ ปีที่ศาลายา อาจารย์ทราบไหมค่ะว่ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๐ บนถนนทางหลวงหมายเลข ๓๓๑๐ ค่ะ ^^

ไม่มีอะไรค่ะ อยากอวดภาพสวยๆ ค่ะ ^^"

  สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ 

ที่ตรงนี้ แต่เดิมเลยชาวบ้านแถวศาลายาเรียกบ่อหลา เป็นส่วนหนึ่งของที่ลุ่มที่สุดของอาณาบริเวณนี้ที่เชื่อมต่อไปจนถึงบริเวณที่เป็นพุทธมณฑลสถานในปัจจุบัน ผมเคยถามชาวบ้านว่าทำไมจึงเรียกบ่อหลา ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้เพราะส่วนใหญ่คนแถวนี้ก็บอกว่าเรียกตามๆกันมา แต่ฟังดูการบรรยายลักษณะ รวมทั้งผมยังได้ทันมาเห็นสภาพดั้งเดิมแล้วก็มีลักษณะเหมือนแถวบ้านผมเรียกว่าได

บริเวณนี้เคยเป็นทุ่งเลี้ยงควายของชาวศาลายาเพราะเป็นทุ่งโล่งและมีแอ่งน้ำ ในแอ่งน้ำมีบัวหลวงตามธรรมชาติขึ้นอยู่ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่เชื่อมต่อไปทางด้านขวาของป้ายในรูปที่อาจารย์ถ่ายนี้ยาวไปอีก ๙๐ ไร่ไปจนถึงตลาดศาลายาและข้างสถานีรถไฟศาลายา เจ้าของที่เป็นเจ้าเดียวกันในตระกูลลูกหลานของนายกองนา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้เจียดบริจาคให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สำหรับก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล ๖๐ ไร่

แต่ว่าก่อนที่จะมาเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ส่วนหนึ่งของที่ดินตรงนี้ ๖ ไร่ เป็นนาบัวหลวงแปลงแรกที่ชาวบ้านทดลองเอาบัวที่ขึ้นเองในบ่อหลามาทำเป็นพันธุ์ ก่อนที่ต่อมาจะเป็นที่แพร่หลายถึง ๗๘ เจ้าในปี ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นแหล่งทำนาบัวหลวงหนาแน่นที่สุดของประเทศ หลังป้ายนี้ไปอีกนิดหน่อยจะเป็นสำนักงานอธิการบดีและเป็นผืนเดียวกันกับนาบัว

ดังนั้น ตรงสำนักงานอธิการบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นนาบัวแปลงแรกของพุทธมณฑลครับ และที่ดินส่วนใหญ่ที่รวมกันเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลนี้เป็นที่ดินของในหลวงที่ทรงสืบทอดมาจากรัชกาลที่ ๕ แล้วก็ทรงพระราชทานให้กับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ก่อนที่ต่อมาจะพระราชทานให้ก่อสร้างขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา

ประมาณปี ๒๕๑๔ มหาวิทยาลัยก็เริ่มมาเวนคืนที่ดินและเริ่มก่อสร้างประมาณปี ๒๕๑๗ และในปี ๒๕๒๕ ก็เริ่มจัดการเรียนการสอนเป็นปีแรก คณะแรกที่มาก่อตั้งและดำเนินการอย่างเต็มที่มากที่สุดของมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายานี้คือ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งย้ายออกมาจากสำนักงานชั่วคราวที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ผู้ที่เป็นเลขานุการของคณะทำงานตั้งแต่ต้นและต่อมาก็เป็นผู้อำนวยการของศูนย์สาลายาคนแรกก็คือ คุณอนุชา โมกขะเวช ซึ่งต่อมาก็ไปเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ในระยะแรกที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนั้น บริเวณที่เห็นในรูปของอาจารย์นี้เป็นถนนเส้นเล็กๆ จากสถานีรถไฟศาลายา วัดมะเกลือ บางภาษี ไปจรดกับถนนเพชรเกษม มีคลองขนาบไปกับถนนซึ่งชาวบ้านสามารถใช้เดินเรือออกไปยังบางแคและปากคลองตลาด  ผมและชาวมหิดลหากต้องการเข้ากรุงเทพฯเมื่อปี ๒๕๒๕-๒๕๒๖ นั้นจะต้องเดินออกจากตรงนี้ไปทางแยกตรงที่เป็นวิทยาลัยราชสุดาและกำลังสร้างคณะพยาบาลศาสตร์ในปัจจุบันเพื่อโบกรถจากแม่กลองไปลงสายใต้ที่สามแยกไฟฉายแล้วก็ต่อรถไปยังศิริราช

เดินเลยตามถนนไปทางด้านซ้ายมือในรูปของอาจารย์อีกสักประมาณ ๒ ช่วงเสาไฟฟ้าซึ่งจะเป็นประตู ๑ ของมหาวิทยาลัยนั้น มีร้านเพิงมุงจากเป็นร้านอาหารร้านแรกและร้านเดียวที่คนมาทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลรุ่นแรกๆพอจะหาข้าวกินได้ ชื่อ ร้านป้าเป๊ก แต่ขายถึง ๕-๖ โมงเย็นก็เลิกเพราะย่านนี้จะไม่มีผู้คนเลย

ตอนนั้น แม้แต่คนมาเป็นยามและภารโรงเฝ้าอาคารต่างๆของมหาวิทยาลัยก็มีไม่พอ บางทีโลหะที่บิดก๊อกน้ำตามท่อน้ำและคอมเพรสเซอร์แอร์คอนดิชั่นที่ติดตั้งอยู่ตามนอกอาคารก็ถูกขโมยถอดไป พอเลิกงานผมกับพวกผู้ชายตามหน่วยงานต่างๆ ต้องอาสาท่านศาสตราจารย์ ดร.สิรินทร์ พิบูลย์นิยม ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการศูนย์สาลายาในระยะต่อมา ช่วยกันเป็นยามและภารโรง เดินและถีบจักรยานเฝ้าบริเวณและนอนเฝ้าตามตึกต่างๆของมหาวิทยาลัย

บนถนนเส้นนี้ เลยออกไปทางด้านขวาของในภาพไปจนสุดถนน ฝั่งซ้ายมือจะเป็นเขตจังหวัดนครปฐมและฝั่งขวามือจะเป็นเขตกรุงเทพมหานครโดยมีคลองทวีวัฒนาเป็นแนวแบ่งเขต ตรงหัวถนนมีทางแยกและมีเล้าเป็ด และถ้าหากเดินไปบนแนวถนนเลียบคลองทวีวัฒนาเส้นเดียวกันย้อนไปจนสุดอีกปลายทางด้านหนึ่งของถนน ตรงข้ามตลาดพุทธมณฑล ก็จะมีอีกเจ้าหนึ่ง เป็นของบ้าน สก.เขตทวีวัฒนา นักการเมืองท้องถิ่นของ กทม. ท่านหนึ่ง การมีร้านเป็ดพะโล้และร้านก๊วยเตี๋ยวเป็ดกระจายอยู่มากมายแถวศาลายาและนครปฐมนั้น จึงมีพื้นฐานความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของท้องถิ่นย่านนี้ก่อนที่เล้าเป็ดจะหายไปหมดแล้ว

อีกด้านหนึ่งเป็นโค้งหักศอกตามแนวพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เป็นถนนสายดั้งเดิมที่ทอดมาจากสวนผักตลิ่งชันไปยังเมืองเก่านครชัยศรีทะลุออกนครปฐม บริเวณนี้ ตกเย็นก็จะมีรถบรรทุกมาจอดรออย่างคับคั่งเพราะยุคนั้นมีกฏหมายห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯก่อน ๓ ทุ่ม บริเวณนั้นยามมืดค่ำเลยเป็นย่านเริงรมย์ มีร้านยาดอง ร้านเหล้า และแหล่งขายบริการทางเพศแบบแอบแฝง ทำให้พุทธมณฑลมีอัตราความเสี่ยงต่อเอชไอวีเอดส์ในช่วงนั้นสูงที่สุดของจังหวัดนครปฐม พวกเราชาวมหิดลจำนวนหนึ่งกับคนในพื้นที่ รวมทั้งครูอาจารย์โรงเรียนในพุทธมณฑลและนายอำเภอสมดี คชายั่งยืน นายอำเภอพุทธมณฑลท่านหนึ่งซึ่งต่อมาไปเป็นผู้อำนวยการกองทะเบียนกระทรวงมหาดไทย และปัจจุบันไปอยู่จังหวัดสกลนคร ได้ช่วยกันจัดเวทีพูดคุยรณรงค์หลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องนี้อยู่เสมอ กระทั่งเขาเปลี่ยนกิจการและก็เกิดเครือข่ายช่วยกันทำงานส่วนรวมของท้องถิ่นด้วยกันหลายอย่างกระทั่งปัจจุบัน

หลังปี ๒๕๒๗ ถนนบรมราชชนนี หรือถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรีก็เริ่มก่อสร้างและปรับขยายใหญ่เป็นถนนคอนกรีต และต่อมาก็สร้างถนนหน้ามหาวิทยาลัยเป็น ๒ เลนกระทั่งเป็นถนนหลวงขนาด ๘ เลนหมายเลข ๓๓๑๐ อย่างที่เห็นในปัจจุบันน่ะครับ ผมยังนึกอยู่นะครับว่าจะวาดรูปเหล่านี้ไว้ให้คนศาลายา ก่อนออกจากรุงเทพฯไปอยู่ต่างจังหวัด

  ที่มาของชื่อไดเจ๊กห้า 

กลับบ้านในหน้าเทศกาลสงกรานต์ ผมจึงถือโอกาสถามความเป็นมาของชื่อไดเจ๊กห้าจากแม่ผมเองว่าพอทราบบ้างไหมว่ามีความเป็นมาอย่างไร แม่ผมอายุย่าง ๗๖ ปี เกิดและเติบโตอยู่ที่บ้านตาลินมากระทั่งปัจจุบัน

แม่บอกว่า คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาอีกทีหนึ่งว่า ชื่อ ไดเจ๊กห้า เป็นชื่อไดที่ชาวบ้านเรียกไปตามเหตุที่มีเจ๊กหาบเกลือจากชุมแสงไปหนองบัวไปขาดใจตายอยู่ที่ไดนั้น

เมื่อก่อนนั้น การไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ของชาวหนองบัวและชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ จะไปซื้อที่ตลาดชุมแสง หรือไม่ก็เดินเท้าขึ้นเหนือไปบางมูลนากและตะพานหินเมืองพิจิตรในปัจจุบัน

การเดินทางจากหนองบัวไปชุมแสงนั้นต้องไปด้วยการเดินเท้าและขี่เกวียนซึ่งอย่างเร็วก็ใช้เวลา ๒ วัน ในยุคที่ผมเกิดและยังเป็นเด็กพอจำความได้นั้นก็ยังคงมีสภาพดังกล่าวนี้อยู่

มีเจ๊กคนหนึ่งจากหนองบัวแกหาบเกลือมาจากชุมแสง หาบเดียวถึง ๕ ถัง ซึ่งเท่ากับขนาดหาบข้าวโดยทั่วไปของชาวบ้านแต่เกลือ ๕ ถังจะมีน้ำหนักมากกว่าข้าว ด้วยความหนักของหาบเกลือแต่ด้วยความขยันและจิตวิญญาณของพ่อค้าเจ๊ก แกหาบไปก็หยุดนอนและแรมทางไปเรื่อย แต่ก็ไปจนถึงไดเจ๊กห้าแล้วก็ไปขาดใจตาย ชาวบ้านเลยเรียกว่าไดเจ๊กห้า

ได้ทราบที่มาแล้วก็ทำให้ได้ทั้งความรู้และแง่คิดสอนใจมีคติธรรมแฝงอยู่ในเรื่องนี้ไม่น้อย ได้เห็นการต่อสู้ชีวิตการสร้างเนื้อสร้างตัว การสู้สิ่งยากในการกำเนินชีวิต ฝ่าฟันอุปสรรค ความยากลำบากโดยไม่ย่อท้อ ถึงแม้เรื่องนี้จะจบลงด้วยความเศร้าใจก็ตาม แต่เมื่อคิดในทางบวกแล้วละก็ จะเห็นปรัชญาชีวิตที่เข็มแข็งของพ่อค้าอย่างมากมาย

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์ ได้อ่านประวัติชุมชน แม้นคนไกลถิ่นก็ชื่นชอบ

ยิ่งภาพประกอบ รถจักรยานอานหนังท้ายใหญ่ ตั้งพิงหลักกิโลไว้ แล้วกลุ่มเด็กก็ โผผลุงลงน้ำ ให้ความสุขครับ

สุขภาพ....สุขภาวะชุมชนที่นักสร้างสุขกำลังฝันถึง"ชุมชนน่าอยู่" อยากเห็นถาพอย่างนี้อยู่ด้วย ควบคู่กับภาพนั่งหน้าคอมพ์ครับอาจารย์

  กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ  

คนหนองบัว ทั้งชาวบ้านและพ่อค้าแถวหนองบัว ที่เป็นตัวอย่างร่ำลือกันถึงความขยัน อดทน ประหยัด มีน้ำใจ มีอยู่เยอะเลยนะครับ

   สวัสดีครับคุณลุงวอญ่าผู้เฒ่าครับ   

ในสังคมมีประสบการณ์และความทรงจำ รวมทั้งสภาพแวดล้อมกับวิถีการดำเนินชีวิตที่ร่วมสมัยอยู่ในปัจจุบัน ที่เมื่อได้เห็นหรือนำมารำลึกถึงแล้วก็มีความสุขความรื่นรมย์ใจ อยู่รอบตัวเลยนะครับ พอวาดเป็นรูปแล้วเอามาแบ่งปันกันชม คนได้ดูแล้วก็มีความสุขเพราะได้อยู่กับตนเอง ได้เห็นสิ่งที่ก็เป็นเรื่องราวในชีวิตของตัวเราเอง

การได้มีโอกาสเรียนรู้ตนเองและชุมชนของตนเอง จึงนอกจากจะเป็นการช่วยกันสร้างความรู้สะสมให้แก่ชุมชนแล้ว ก็เป็นการเรียนรู้สร้างความสุขกายสบายใจที่เรียบง่ายอย่างหนึ่งเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท