ร้านกาแฟกับการจัดการความรู้แก้จนเมืองคอน


  • ร้านน้ำชา กาแฟ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีมากมายเหลือเกิน
  • เคยมีรายการโทรทัศน์นำเสนอว่าไม่มีจังหวัดไหนมีมากเท่าที่นี่ มีมากทั้งในชุมชนชนบทและในชุมชนเมือง ยิ่งในชุมชนเมืองจะยิ่งมีถี่มาก เป็นระยะๆในถนนแทบทุกสาย
  • ที่ร้านน้ำชาก็มักจะมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นปรกติอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการเมือง การทำมาหากิน ฯลฯสารพัดเรื่องจะมีการพูดคุยกันที่นั่น
  • ชาวบ้านจะอาศัยร้านน้ำชา กาแฟ เสมือนเป็นที่เรียนรู้ตามอัธยาศัยของเขา เป็นวัฒนธรรมหนึ่ง เป็นเลือดเนื้อ และเป็นวิถีชีวิตของคนนครศรีธรรมราช
  • อาจจะกล่าวได้ว่าร้านน้ำชาคือกลยุทธ์หนึ่งที่จะเร่งให้ วิสัยทัศน์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือส่วนที่เรียกว่าส่วนหัวปลา เป็นจริงได้ ถ้าจะได้ส่งเสริมกันให้ถูกวิธี ไม่ต้องลงทุนสร้างอาคารเรียนเหมือนโรงเรียนทั่วไป
  • สิ่งที่ผู้คนแลกเปลี่ยนกันที่ร้านน้ำชา กาแฟ ก็ไม่พ้น แบ่งปันความรู้และความรู้สึกกัน แต่เท่าที่ฟังจากเพื่อนฝูงเขาพูดๆกัน รวมทั้งที่สังเกตเอง ก็จะพบว่าเป็นเรื่องของความรู้สึกเสียมากกว่า
  • ทำอย่างไรให้ร้านน้ำชาอบอวลไปด้วยข้อมูลความรู้ขึ้นมาบ้าง ผมว่าโครงการจัดการความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเมืองนครศรีธรรมราช ที่เรียกสั้นๆว่า โครงการแก้จนเมืองนครนั่นแหละ คือเครื่องมือวิเศษอย่างหนึ่งที่จะทำให้ร้านน้ำชากาแฟพูดกันดัวยความรู้ (ปฏิบัติ)มากขึ้นได้ ไม่ใช่พูดกันด้วยความรู้สึก หรือข้อมูลประเภท เสียงเขาว่า...............กันเป็นหลัก
  • ที่กล่าวอย่างนี้เพราะเป้าหมายของโครงการฯนี้ ที่นำโดยท่านผู้ว่า วิชม ทองสงค์ ต้องการให้ผู้คนหรือครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ได้จัดการกับความไม่รู้ของตนเอง ครัวเรือนตนเอง เมื่อทำได้แล้ว รู้แล้ว (รู้จากการที่ได้ปฏิบัติมากับมือ) มีหลักฐานร่องรอยการกระทำของตนเอง จะเป็น ภาพถ่าย บันทึก หรือของจริงที่ทำได้ ก็ดี มายืนยันอ้างอิง ก็จะทำให้การพูดคุยในร้านน้ำชา กาแฟ น่าเชื่อถือ ไม่ใช่โม้ จนหาสาระและหลักฐานอ้างอิงไม่ได้เลย
  • ผมทราบว่าโดยพื้นฐานคนนครฯเรา ชอบเล่าเรื่องอยู่แล้วเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งการเล่าเรื่องที่ตนทำได้มากับมือแล้วนี้ นับว่าต้องตามหลัก Story telling ของ KM เลยครับ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่งดงามมาก ชาวนครฯเราคุ้นเคยกับวิธีการเรียนรู้วิธีนี้ดีอยู่แล้ว เมื่อแต่ละคน แต่ละครัวเรือน จะได้เล่ารายละเอียดวิธีทำงานแก้จนของตน ครัวเรือนตน หรือชุมชนของตน ให้ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนกัน มันจะทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นในทุกหย่อมหญ้า การศึกษาภาคประชาชน ที่ท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ กล่าว่า การศึกษาภาค KM เป็นจริงได้แน่นอน
  • โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครฯ เป็นโครงการที่ลงทุนให้ประชาชนได้มีกระบวนการ ทั้งกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการแก้ไขปัญหา กระบวนการชุมชนเข้มแข็ง กระบวนการประชาคม....ฯลฯ โดยในการแก้จนใช้ทุนของตนเองเป็นหลัก อาจจะโดยการหนุนเสริมจากหน่วยงานอื่นบ้างตามสมควร เริ่มจากกิจกรรมแก้จนกิจกรรมเล็กๆที่ตนสามารถทำได้เลย ไม่ต้องพึ่งพาใครไปก่อน พึ่งพาคนอื่น หน่วยงานอื่นอาจจะต้องรอภายหลัง
  • คุณอำนวยทุกระดับ ไม่ว่าระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ จะต้องส่งเสริมให้มีกระบวนการเรียนรู้ในทุกครัวเรือนที่ได้สำรวจไว้แล้ว เมื่อได้รู้จากการปฏิบัติแล้ว ก็ส่งเสริมต่อเนื่องให้นำมาเล่านำมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนในเวทีชุมชน ที่จะได้นัดหมายกัน และควรส่งเสริมต่อเนื่องให้เล่าปัญญาปฏิบัตินี้ในร้านน้ำชากาแฟ เพื่อการเผยแพร่ในวงเรียนรู้ที่กว้างขึ้นต่อไป ไม่อยากจะให้วัฒนธรรมดีๆอย่างวัฒนธรรมร้านน้ำชา กาแฟ ไม่มีส่วนในการแก้จนครั้งนี้


ความเห็น

เห็นด้วยกับความคิดที่จะเอาร้านน้ำชาเป็นเวทีหนึ่งในกิจกรรม KM คะ ครู

       ถ้ามีโอกาส อยากไปลิ้มลองกาแฟที่เมืองคอนของครูนงจังค่ะ  จะได้สัมผัสบรรยากาศสภากาแฟที่เดี๋ยวนี้ในกรุงเทพฯ หายากเต็มแก่ค่ะ  แม้ว่าสภากาแฟจะให้ความรู้สึกในมิติที่ลึกซึ้งจากใจ (หรือบางครั้งก็เป็นเบื้องหลังการถ่ายทำประมาณนั้น) ก็น่าจะมีการบันทึกไว้บ้างเหมือนกัน เพราะหลายๆ ครั้งที่พบว่า มีเรื่องดีๆ ตกหล่นอยู่แถวนั้นมากมาย

       พอดีแกบไม่ได้สวมแว่น ถ้าครูนงทำย่อหน้าให้กับข้อเขียนสักนิด จะดีมากเลยค่ะ

ขอบคุณ Kmm-p ที่เห็นดัวย และขอบคุณ คุณแกบที่แนะนำว่าให้บันทึกการกระทำอย่างนี้เอาไว้มั่ง อย่าให้ตกหล่นไปเสีย ผมจะพยายามทำตามครับ คิดว่าทำได้ไม่ยาก จะหาหนทางร่วมกับทีมคุณอำนวยตำบล(ที่มีใจเดียวกัน)ทำให้เป็นรูปธรรมสักที่สองที่ก่อนครับ (ทำมากค่อยทีหลัง ไม่มีแรงพอ) ส่วนเรื่องย่อหน้า ผมแต่งย่อหน้าไว้อย่างดีแล้วในโปรแกรมเวิร์ด แต่เมื่อโพสต์ลงบล็อกแล้ว มันเป็นอย่างที่เห็นนั่นแหละครับ แก้ไขก็ไม่ได้ แถบเครื่องมือวันนี้หายไปไหนหมดไม่ทราบ เกี่ยวกับเวอร์ชั่น 2 หรือเปล่านี่ ขออภัยด้วยนะครับ

ตอนเที่ยงวันนี้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยม กศน.เมืองคอน เจอครูนง เมื่อทักทายกันแล้ว ครูนงถามว่าได้อ่าน ข้อเขียน  km .ร้านกาแฟแล้วยัง เลยต้องมาหาอ่านจนได้  รู้สึกชื่นชมจริง ๆที่ขณะนี้โครงการแก้จนเมืองคอน ได้บุคคลากรที่เข้าใจสามารถประยุกต์การเรียนรู้เข้ากับสถานการณ์ วิถีชิวิต ได้อย่างสอดคล้อง จริง ๆ

ถ้าใช้ช่องทางนี้ก็จะเพิ่มพื้นที่เรียนรู้ขึ้นอย่างมหาศาล และเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติด้วย การคิดค้นรูปแบบ วิธีการและทดลองทำเป็นตัวอย่างนำร่อง  แล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง จะแต่งแต้มสีสรรการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครขึ้นมากทีเดียว

ตอนนี้เรามีนวัตกรรมของเราเองที่เป็น แบบบันทึกและพื้นที่ที่จุดประกายโดยอ.จำนงและทีมงานกศน.

เมื่อทำดูก็จะรู้ว่าที่สอดคล้องเหมาะสมช่วยเพิ่มพลังการเรียนรู้ของชาวบ้านและชุมชนเป็นอย่างไร?

ขอยกนิ้วให้กับแนวความคิดและการปฏิบัติที่จะติดตามมาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท