R2R : เล่าเรื่อง R2R กลุ่ม CVA (ตอนที่ 3): วิธีการวิจัยกลุ่ม


จุดแข็งของกลุ่ม คือ ความถ้อยทีถ้อยอาศัย และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นทุนเดิม

       หลังจากที่ได้หัวปลาที่ชัด...ไปพร้อมๆ กับการได้ "ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา"ในการทำ Routine to Research ...แล้ว เช้าวันนี้สมาชิกในกลุ่มต่างทยอยมาถึงห้องเรียนรู้(ห้องประชุม) แต่เช้า เป็นภาพที่ดิฉันค่อนข้างประทับใจ เพราะไม่คิดว่าจะมีคนมาเช้า เพราะการจัดประชุมโดยทั่วไป นั้นคนเข้าประชุมมักจะมาสายประมาณว่าใกล้ถึงเวลาถึงจะมา และบางทีวิทยากรต้องมานั่งคอยก็มี...ในวันนี้จึงถือได้ว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่อาจสะท้อนหรือบ่งบอกให้มองเห็นอะไรบางอย่างต่อไปในอนาคตได้(อาการแอบฝันของคนช่างฝัน...ที่มักฝันไปไกล)

        จะว่าไปแล้วนอกจากกลุ่ม CVA จะมาเช้าแล้วอีกกลุ่ม คือ กลุ่มทีมเยี่ยมศัลย์ ก็มาเช้าเช่นกัน แต่ในบันทึกนี้ขอเล่าถึงในกลุ่ม CVA ก่อนแล้วกันนะคะ สำหรับวันนี้กระบวนการที่เราต้องเดินต่อตามเป้าประสงค์ของท่านวิทยากร "กระบวนการ"-คุณ"ชายขอบ" คือ การให้ได้มาซึ่งกรอบแนวคิดและวิธีการวิจัยที่ทางกลุ่มจะต้องใช้...แค่ประเด็นก็ทำให้นึกถึงสมัยเรียนและทำวิทยานิพนธ์ ช่างก่อให้เกิดความรู้สึกยุ่งยากใจจัง...นี่คือความรู้สึกจากหลายๆ คนรวมทั้งดิฉันเองก็ได้แอบคิด..แต่พอวิทยากรเดินเรื่องโดยพยายามเชื่อมโยงให้มองเห็นกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของคุณกิจในทีม แล้วเชื่อมโยงมาสู่หัวปลา (KV) ก็พอที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจขึ้นมาบ้าง...

       อย่างเช่นในกลุ่ม CVA นี้เขาได้เดินเรื่องโดยให้แต่ละคนบอกเล่ากระบวนการทำงานของตนในแต่ละจุดแลกเปลี่ยนสู่กันฟัง จากนั้นพี่นารีในฐานะคุณอำนวยก็กระตุ้นให้กลุ่มช่วยกันกรอบกระบวนการและวิธีการทำงานว่า..ทำอย่างไรจึงจะนำไปสู่การเกิน D/C Plan (การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย) พี่ป้อมเสนอว่าน่าจะเริ่มจากตั้งแต่การวางแผน การจัดตั้งทีมและแบ่งหน้าที่กัน พี่จ๋อมเห็นด้วย แต่น้องกาญ-เภสัช กับน้องวัตร-นักกายภาพบำบัด ยังงง..น้องเอ๋จึงช่วยอธิบาย..รวมถึงท่านวิทยากรต่างมาร่วม ลปรร.ด้วย จากนั้นกลุ่มก็เดินเรื่องได้ต่อ พอทางกลุ่มได้กรอบแนวคิดและวิธีการวิจัยแล้ว..ต่างก็พากันแบ่งหน้าที่ไปทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะมาเล่าสู่กันฟังและต่อยอดเติมเต็มกัน ซึ่งห้องสมุดของโรงพยาบาลก็อยู่ไม่ไกลจากห้องประชุม จึงทำให้ค่อนข้างสะดวก

       จากการสังเกตการเดินเรื่องของกลุ่มนี้ แม้จะมีประเด็นที่ค้างคาใจและไม่เข้าใจกระจ่างชัดมากนัก สิ่งหนึ่งที่ดิฉันเรียกว่าเป็นจุดแข็งของกลุ่ม คือ ความถ้อยทีถ้อยอาศัย และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นทุนเดิม เป็นคุณลักษณะที่กลุ่มนี้น่าจะใช้เป็นการเดินเรื่อง ลปรร. กันและการทำงานร่วมกัน ทำให้ค่อนข้างจะดูมีความสุข และที่สำคัญในกลุ่มนี้ในวันที่สองของการอบรมนี้เริ่มมีจุดเชื่อมต่อระหว่างแผนกที่ต้องทำงานร่วมกันมากขึ้นโดยเน้นการยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง...เป็นหัวใจในการเดินเรื่องการทำงาน

7 มิถุนายน 2549

หมายเลขบันทึก: 34578เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2006 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

     การที่กลุ่มนัดกันมาให้ถึงห้องประชุมก่อนเวลาตั้งเกือบชั่วโมง สำหรับผมแล้วเป็นกำลังใจในการขับเคลื่อนต่อเป็นอย่างยิ่ง และเป็นตัวประเมินการจัดเวทีของทีมงานได้ดีที่สุดตัวหนึ่งเลยครับ เรียกว่าฝ่าวัฒนธรรมองค์กรได้ เพราะอะไรต้องเจาะลึก...เอาข้อมูลมาประกอบรายงานของทีมนำ "กระบวนการพัฒนางานจากการทำ R2R" ฝากประเด็นนี้ด้วยนะครับ หรืออาจจะมีประเด็นอื่น ๆ อีก ลองช่วยกันทบทวนเพิ่มเติมดี ๆ นะครับ
     เมื่อผม Get อะไรได้อีกจะ ลปรร.ผ่านทาง Blog นี้นะครับ

ข้อมูลประเด็นนี้เราได้คำตอบตอนทำ AAR ผู้เข้าร่วมอบรมฯสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการประชุมที่ทุกคนพร้อมใจกันมามาก แม้วันสุดท้ายจะเป็นวันหยุดแต่ทุกคนก็มาและมาอย่างมีความสุข...เดี๋ยวจะนำไปเล่าในบันทึก AAR นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท