การจัดการความรู้ภาคปฏิบัติในชุมชน(6) เวทีการจัดการความรู้ ครั้งที่ 3 การปรึกษาหารือกับที่ปรึกษา(Mentoring System)


ผลสุดท้าย คือการสร้างความสุขของชุมชนที่หลากหลายที่มากกว่ารายได้ประชาชาติ ความสุขจากการมีเงินไม่มีความสุขที่ยั่งยืน ต้องเกิดจากความสุขที่แท้จริง คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี มีสิทธิเสรีภาพ

การจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือการปรึกษาหารือกับที่ปรึกษา(Mentoring System)และเพื่อนช่วยเพื่อน(Peer Assist) ครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่24 ม.ค. 2553  เวลา 09.00 น. – 16.00 น.  ณ วัดโบสถ์  ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี การเวทีการจัดการความรู้ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น"

      ในการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือการปรึกษาหารือกับที่ปรึกษา(Mentoring System) ได้มีการให้คำปรึกษาโดยที่ปรึกษา  2  ท่าน คือ ดร.ประเทือง หงสรานากร จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ.ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

       ดร.ประเทือง หงสรานากร  จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความคิดเห็นกระบวนการจัดทำตัวชี้วัดดังต่อไปนี้

  • กระบวนการจัดทำตัวชี้วัดเป็นการวัดผลการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ให้เหมาะสมกับยุคการทำงานใน ทั้งระบบการทำงานภายในและภายนอก
  • การมองสังคมยุคปัจจุบันกับการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานความเชื่อของคนในชุมชน และการดำรงชีวิต
  • ความเป็นตัวตนของชุมชน “รู้ความต้องการกับงานพัฒนา”และเอกลักษณ์ของชุมชน
  • ประชาธิปไตยบนฐานชุมชน การเชื่อมโยงอย่างมีส่วนร่วม

         อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมได้ให้ความคิดเห็นต่อเวทีการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้ในครั้งนี้ดังต่อไปนี้

         ผลการทำงานจากการประชุมสัมมนาในวันนี้ทำให้ทราบว่า นอกจากมีพื้นที่ที่มีประสบการณ์การจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นแล้วคือที่ตำบลบ้านเลือก ตำบลหนองสาหร่ายและตำบลหนองพันจันทน์แล้ว ยังมีอีก 14 ตำบลกำลังเตรียมดำเนินการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวม ประเด็นที่น่าสนใจคือการทำให้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นที่ยอมรับ เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตชุมชน ที่จริงสภาองค์กรชุมชนตำบลนั้นเกิดจากสมาชิกร่วมกันสร้างขึ้น สภาฯมาจากการก่อตั้งของชุมชนที่เกิดจากการทำฐานองค์กรชุมชน การมีกระบวนการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น จะเป็นเครื่องมือของสภาองค์กรให้มีการดำเนินงานเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เข้าใจได้ จึงเชื่อว่าทุกสภาฯมีความต้องการพัฒนาและทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น

         เพื่อสร้างการยอมรับที่เกิดจากผลงานที่แท้จริง เพื่อเป็นที่รู้จัก ไม่ใช่เป็นแค่การประชาสัมพันธ์  เช่น บ้านเลือกมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา และถ้าหากไม่มองถึงปัญหาต้องมองเป้าหมายการทำงานร่วมกัน เป้าหมาย เราอยากได้อะไร ผลสุดท้าย คือการสร้างความสุขของชุมชนที่หลากหลายที่มากกว่ารายได้ประชาชาติ ความสุขจากการมีเงินไม่มีความสุขที่ยั่งยืน ต้องเกิดจากความสุขที่แท้จริง คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี มีสิทธิเสรีภาพ  จากกระบวนการค้นหาสิ่งที่ดี หรือทุนทางสังคมและกระบวนการค้นหาปัญหาของชุมชนที่นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายการทำงาน เป้าหมายการทำงานจะบรรลุได้อย่างไร

         เป็นการบูรณาการในการพัฒนาที่เอาพื้นที่เป็นตัวตั้งซึ่งในการพัฒนาแบบบูรณาการนี้มีเครื่องมือที่สำคัญเชื่อมโยงกันคือ

         1. ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการทำงานที่ทำให้เห็นผลงานของชุมชน

         2. กำหนดเป้าหมายเป็นเครื่องมือการวางแผน

         3. การวางแผนเป็นเครื่องมือของชุมชน/หน่วยงาน

           ความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือจีเอนเอชที่มีการริเริ่มที่ประเทศภูฎานในปัจจุบันเริ่มเป็นกระแสในนานาชาติ และในหลายประเทศมีการดำเนินงานในเรื่องนี้ แต่กระบวนการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นที่ได้ริเริ่มแล้วที่ตำบลบ้านเลือกนี้มีทั้งส่วนที่เหมือนกับกระบวนการความสุขมวลรวมประชาชาติ และมีทั้งส่วนที่แตกต่างกัน ส่วนที่เหมือนกันคือการเป็นไปเพื่อความสุขของคนทั้งมวล  ส่วนที่ต่างที่นี่เป็นการดำเนินการของชุมชนท้องถิ่นโดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือหรือกลไกเชื่อมประสานขององค์กรชุมชน  ประชาชนสร้างขึ้นมา หน้าที่สำคัญของสภาองค์กรชุมชน คือ การสร้างผลงานตามเป้าหมายและตัวชี้วัด  วิธีการสร้างผลงานต้องมองย้อนไปที่องค์กรชุมชน และหมู่บ้าน (หน่วยย่อยกว่าสภาองค์กร)  ประชาชนและครอบครัวในหมู่บ้าน

            ดังนั้นควรมีการสร้างกระบวนการดังกล่าวให้เป็นวงจรการทำงานที่เชื่อมโยงตั้งแต่บุคคล ครอบครัว องค์กร/หมู่บ้าน ตำบล โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลทำหน้าที่เชื่อมโยงและหนุนเสริมตามเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมของชุมชนท้องถิ่น กระบวนการทำงานดังที่ได้มาเห็นในตำบลบ้านเลือกนี้เป็นการ เริ่มจากพื้นที่เล็กและขยายสู่พื้นที่ใหญ่ การค้นหาสภาพปัญหาของชุมชนโดยการเลือกทำในสิ่งที่สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาได้ การทำแผนพัฒนาประเทศไทยหากสร้างกระบวนการแบบนี้โดยเริ่มจากชุมชน ให้ชุมชนเป็นเจ้าของเรื่อง   สนับสนุนให้ชุมชนได้ริเริ่มทำจากการเลือกเรื่องที่ทำได้ง่าย และสำเร็จ ผลลัพธ์จะเกิดความก้าวหน้ารวมทั้งการสนับสนุนให้ชุมชนแต่ละชุมเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ตามเรื่องที่แต่ละชุมชนมีความถนัด ให้กระจายการเรียนรู้สู่พื้นที่ต่างๆเป็นพื้นที่ที่มีรูปธรรมความสำเร็จ ของตนเองแล้วจึงโยงสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติต่อไปในที่สุด

          การดำเนินงานจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของตำบลบ้านเลือก ตำบลหนองสาหร่ายและพื้นที่อีก 14 ตำบลที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการจัดตั้งแล้วจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยความรู้สึกที่มีความเป็นมิตรไมตรี เป็นสุขร่วมกัน เป็นการเดินหน้าด้วยความมุ่งมั่นทั้งสติ ปัญญาที่ได้ร่วมกันสร้าง จึงเป็นเรื่องที่ดีท้ายสุด ก็จะกลายเป็นขบวนการค้นหาความดีและสำเร็จ ขยายผลสู่พื้นที่ใกล้เคียงได้ต่อไป

          ผลการประชุมสรุปการจัดเวทีการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือการปรึกษาหารือกับที่ปรึกษา(Mentoring System)และเพื่อนช่วยเพื่อน(Peer Assist)ในครั้งนี้พบว่ามีหลายคนที่สะท้อนออกมาว่ากระบวนการและเครื่องมือนี้ทำให้มีความชัดเจนในกระบวนการ  ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น ได้มากขึ้นโดยเฉพาะการได้สร้างการเรียนรู้กับเพื่อนชุมชนใหม่ 14 ตำบลและได้คำแนะนำที่แหลมคมจากที่ปรึกษา

 

หมายเลขบันทึก: 344418เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2010 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท