Reward Management Series: โบนัส ค่าจ้างจูงใจในการสร้างผลงาน


นอกจากเงินเดือนที่เรียกได้ว่าเป็นค่า ตอบแทนหลักในการทำงานของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายแล้ว พวกเราชาวมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่จะได้รับเงินรางวัลเพื่อตอบแทนการทำงานอีก ตัวหนึ่ง ซึ่งทุกปีจะต้องมีการลุ้นว่าจะได้สักกี่เดือน หรือบางแบ่งพนักงานก็ออกมาเรียกร้องกันเย้วๆ ว่าจะขอเพิ่มกันบ้างล่ะ ใช่แล้วครับ ค่าตอบแทนอีกก้อนหนึ่งที่พนักงานได้รับที่ผมกำลังกล่าวถึงนี้ก็คือ “โบนัส” นี่เอง

โบนัสถือเป็นค่าจ้างชนิดหนึ่ง ซึ่งฝรั่งเขาจะใช้คำว่า Variable Pay เรียกรวมโบนัสนี้เข้าไปด้วย ความหมายก็คือ เป็นเงินที่จ่ายให้กับพนักงาน โดยให้แตกต่างกันตามผลงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวัตถุประสงค์จริงๆ ของการให้โบนัสก็คือ ให้เป็นเงินรางวัลผลงานของพนักงานในแต่ละปี เพื่อให้มีแรงจูงใจที่จะช่วยกันสร้างผลงานให้กับบริษัทต่อไป

การจ่ายโบนัสในบ้านเรานั้น จากผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนในแต่ละปี จะเห็นรูปแบบการจ่ายอยู่ 2 แบบก็คือ

  • จ่ายคงที่ ก็คือไม่ว่าผลงานพนักงานจะมีความแตกต่างกันแค่ไหน ทุกคนในองค์กรจะได้โบนัสเท่ากัน ปกติก็จะตัดส่วนออกมาจากกำไรของบริษัทที่ได้มา และแบ่งให้กับพนักงานเพื่อเป็นรางวัลการทำงาน แต่การจ่ายคงที่ก็มีปัญหาตามมาอีก พนักงานบางคนก็อ้างว่าเขาขยันกว่า เหนื่อยกว่า แต่ทำไมถึงได้โบนัสเท่ากับคนที่ไม่ขยัน และยังผลงานที่ออกมาก็ไม่ดีด้วย พนักงานที่ได้รับโบนัสคงที่จากบริษัทในลักษณะนี้จะต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่สัก เล็กน้อย ก็คือ จริงๆ บริษัทตัดเงินออกมาก้อนหนึ่ง แล้วก็เฉลี่ยให้ทุกคนเท่ากัน โดยให้เหตผลว่าทุกคนเป็นสมาชิกขององค์กรเหมือนกัน ก็เลยแบ่งให้เท่าๆ กันไป (จริงๆ แล้วก็จะได้มากน้อยอยู่ที่เงินเดือนของพนักงานนะครับ แต่ถ้าได้ 1 เดือน ก็คือทุกคน 1 เดือนเท่ากันหมด)
  • จ่ายผันแปรตามผลงาน โบนัสที่จ่ายในลักษณะนี้จะต้องอาศัยผลงานของพนักงานที่ทำในแต่ละปีมาเป็น เกณฑ์ในการจ่าย ใครที่ทำผลงานดี ก็จะได้โบนัสเยอะกว่าคนที่ผลงานไม่ดี โดยทั่วไปแล้วโบนัสในลักษณะตามผลงานนี้จะผูกผลงานที่ชี้วัดได้อย่างชัดเจน ของพนักงานแต่ละคน ดังนั้นการที่จะจ่ายโบนัสตามผลงาน บริษัทจึงจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการประเมินผลงานที่ชัดเจน และเป็นธรรมที่สุด เพื่อจะได้สร้างเป็นกฎเกณฑ์ในการจ่าย

ในปัจจุบันนี้ หลายองค์กรเลิกการให้โบนัสแบบคงที่ไปแล้ว และหันมาใช้โบนัสตามผลงานแทน เพื่อเป็นการจูงใจพนักงานให้สร้างผลงานจริงๆ จังๆ มิฉะนั้นแล้วคนที่ไม่ทำงาน หรือขี้เกียจทำงาน ก็ยังคงได้โบนัสเท่ากับคนที่ขยัน ผลก็คือแรงจูงใจของคนขยันก็จะเริ่มหดหายไป ส่งผลให้ผลงานขององค์กรก็จะเริ่มถดถอยลงเช่นกัน

วิธีการให้โบนัสตามผลงาน ส่วนใหญ่ก็จะผูกกับผลงานเลยโดยตรง ผมเห็นบางบริษัทก็ผูกเข้ากับตัวชี้วัดผลงานที่ตกลงกันไว้กับนายตั้งแต่ต้นปี บางแห่งบอกตัวเลขโบนัสให้เลยก็มีว่า ถ้าทำได้ตามเป้าหมายที่เราตกลงกันไว้นั้น ก็จะได้โบนัสไปเลย 1 เดือน (ตัวอย่าง) เป็นต้น ถ้ามากกว่าเป้าหมาย ก็จะมีการปรับตัวเลขให้มากขึ้น หรือในทางตรงกันข้ามถ้าทำไม่ถึงเป้า ก็จะไม่ได้โบนัส

จริงๆ แล้ววิธีการนี้ผมคิดว่าเป็นวิธีการที่ดี เพราะจะจูงใจพนักงานให้สร้างผลงานได้โดยตรงเลย และยิ่งไปกว่านั้นเงินโบนัสที่จ่ายนั้นเราตัดออกมาจากกำไรที่พนักงานทำได้ ก็ยิ่งง่าย ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับผลกำไรนั้น ไม่ว่าจะเป็น กำไร ยอดขาย ต้นทุน ประสิทธิภาพการทำงาน ยอดผลิต คุณภาพการผลิต ฯลฯ แม้แต่งานสนับสนุนสามารถตั้งเป้าหมายได้เช่นกัน เช่น การลดต้นทุนลง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็คือเรื่องของคนที่ประเมินผล งาน ถ้าคนประเมินลำเอียงก็จบทันทีครับ การให้โบนัสก็จะเบ้ไปตามความลำเอียงของนาย

ก็เป็นปัญหาโลกแตกครับ ผลงานกับความลำเอียงของหัวหน้างาน สร้างวิธีการประเมินให้ดีอย่างไร ถ้าหัวหน้างานไม่รู้วิธีการประเมิน หรือ ไม่สามารถมองผลงานของลูกน้องเป็น อ่านคนไม่ออก การประเมินผลงานก็ยังคงเป็นปัญหาต่อไปครับ วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือ การให้ความรู้แก่บรรดาหัวหน้างานนี่แหละครับ ให้เขาประเมินออกมาได้ดีที่สุดและชัดเจนที่สุด สามารถอธิบายได้ด้วย

กลับมาที่เรื่องของโบนัสกันต่อครับ โบนัสจะผูกกับผลงานได้ดีกว่าเรื่องของการขึ้นเงินเดือน นายจ้างมักจะเต็มใจจ่ายโบนัสให้พนักงานเยอะๆ ถ้าบริษัทมีกำไรในปีนั้นๆ มากกว่าที่จะให้ขึ้นเงินเดือนเยอะๆ เพราะเงินเดือนเป็นสิ่งที่ผูกติดกับตัวพนักงานไปจนกระทั่งเกษียณ ถ้าบริษัทมีกำไรเยอะแล้วให้ขึ้นเงินเดือนสูงๆ ก็จะเป็นภาระของบริษัทมากขึ้น ยิ่งถ้าในปีถัดไปบริษัทเกิดขาดทุนขึ้นมา ก็จะยิ่งบริหารยาก

ดังนั้นแนวโน้มในปัจจุบันก็คือ เน้นให้พนักงานสร้างผลงานในแต่ละปี และถ้าทำผลงานได้ดี บริษัทก็ยินดีที่จะตัดส่วนแบ่งกำไรให้กับพนักงานเยอะหน่อย เพื่อกระตุ้นผลงานพนักงานต่อไป ส่วนเรื่องของการขึ้นเงินเดือนนั้น ก็ยังคงขึ้นให้ครับ แต่จะขึ้นในอัตราที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก เมื่อเทียบกับตลาด ทั้งนี้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของบริษัท แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะรักษาระดับรายได้ของพนักงานไว้ให้ทัดเทียมกับตลาดด้วย

คำสำคัญ (Tags): #reward
หมายเลขบันทึก: 344411เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2010 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท