การจัดการความรู้ภาคปฏิบัติในชุมชน(4) เวทีการจัดการความรู้ ครั้งที่ 2 ถอดองค์ความรู้การพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวม


พบว่ามีหลายคนที่สะท้อนออกมาว่ากระบวนการและเครื่องมือนี้ทำให้มีความชัดเจนในกระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นได้ชัดเจนมากขึ้น

การถอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นในครั้งนี้ได้มีการจัดเวทีเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2553  เวลา 09.00 น. – 16.00 น.  ณ วัดโบสถ์  ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี การเวทีการจัดการความรู้ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น" โดยแนวทางการถอดองค์ความรู้ในครั้งนี้ผมใช้แนวทางการถอดความรู้ของคุณสวิง  ตันอุด จาก สจส.(สถาบันจัดการทางสังคม)ครับ

มีข้อข้อสรุปจากเวทีที่สำคัญดังนี้

1)  การถอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น ในเรื่องหลักคิดการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นพบว่า หลักคิดการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นตำบลบ้านเลือกสอดคล้องกับหลักการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นที่เสนอโดย อ.ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรมซึ่งมีทั้งหมด 7 หลักการที่สำคัญ ดังนี้

        1. คิดเอง ทำเอง 

        2. ร่วมมือ รวมพลัง

        3. อะไรก็ได้  เมื่อมาร่วมคิด  ร่วมทำตัวชี้วัด ไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว  โดยมีเสาหลักของตัวชี้วัดที่ประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ ความดี  ความสุข  และความสามารถ

        4.  คิดจริง ทำจริง 

        5. เรียนรู้ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

        6. ร่วมสร้างขบวนการ 

        7. แข็งขันบันเทิง 

2)  การถอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นในเรื่องกระบวนการ  ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น  สามารถสรุปกระบวนการ  ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น  ซึ่งมีกระบวนการ / ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ 6  กระบวนการ ดังต่อไปนี้

       1. การศึกษาวิเคราะห์ชุมชน  เป็นการประเมินการพัฒนาในปัจจุบันของชุมชนโดยการวิเคราะห์ปัญหาและทุนทางสังคม ประวัติความเป็นมา(ประวัติศาสตร์ชุมชน) และบริบทของพื้นที่ การวิเคราะห์ระบบภูมินิเวศน์วัฒนธรรม และทุนทางสังคม / ผู้รู้ องค์ความรู้ประสบการณ์งานพัฒนารวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อชุมชนในประเด็นต่างๆ

       2. กำหนดเป้าหมายหรือทิศทางการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น และการกำหนดวาระการพัฒนาของชุมชน  เป้าหมายร่วมกันของขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละพื้นที่ คือประชาชนในพื้นที่นั้นมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และเราต้องร่วมกันสร้างเป้าหมายที่ดีและชัดเจนโดยถามตนเองว่า เป้าหมายเราดีไหม  ชัดเจนไหม ที่สำคัญคือเราต้องรวมพลังกันให้ได้ เรื่องที่ทำจะง่าย  แต่จะยากถ้าเราเห็นไม่ตรงกันหรือมีความเห็นขัดแย้งกันก็จะเป็นปัญหาตั้งแต่ต้น

       3. การจัดทำตัวชี้วัดความก้าวหน้าการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและกำหนดวิธีการดำเนินงานที่สำคัญ  ทั้งนี้ในการจัดทำตัวชี้วัดนี้ขบวนชุมชนอาจจัดเวทีหมุนเวียนรายชุมชน ในลักษณะ"เวทีประชาคมหมู่บ้าน"เพื่อการสื่อสารและสร้างการยอมรับร่วมกันแล้วสรุปเป็นตัวชี้วัดร่วมของคนทั้งตำบลและจัดเวทีเชื่อมโยงกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่ด้วย         

       4. การกำหนดวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล ตัวชี้วัด  ว่าข้อมูลนั้นได้มาอย่างไร  ทำอย่างไรจึงจะมีข้อมูลสนับสนุนการวัดผลอย่างต่อเนื่องได้  โดยสามารถระบุได้ว่าจะมาจากแหล่งใด  โดยวิธีการใด  ฯลฯ

       5. การจัดระบบสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาของกลุ่มองค์กรชุมชนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนตามแผนงาน  ให้บรรลุผลตามตัวชี้วัด

       6. การจัดระบบการติดตาม / ประเมินผลภายในตามตัวชี้วัดเพื่อติดตามความก้าวหน้าตามตัวชี้วัด ทบทวนผลการดำเนินงานที่ชุมชนดำเนินการว่ามีกิจกรรมใดที่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการ    มีการจัดเก็บข้อมูล  บันทึกข้อมูลจากการติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อใช้เปรียบเทียบและประเมินผลและการจัดทำรายงานผล  เสนอผลต่อชุมชน / ผู้เกี่ยวข้อง/ภาคีการพัฒนารวมทั้งการสรุปบทเรียน(AAR)และการสรุปเป็นชุดองค์ความรู้เชิงประสบการณ์เพื่อการขยายผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนต่อไป

กระบวนการทั้งหมดนี้จะเสริมกันและส่งผลถึงกันและกัน  ให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายของการพัฒนาของพวกเราซึ่งก็คือความสุข หรือ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” นั่นเอง

3)   การถอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นในเรื่องกลไกการขับเคลื่อนการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  สามารถสรุปกลไกการขับเคลื่อนการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น  มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

       1. สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้งหมด

       2. ตัวแทนจากองค์กรปรกครองส่วนท้องถิ่น

       3. ตัวแทนจากหน่วยปรกครองท้องที่ คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

       4. ตัวแทนภาคีการพัฒนาในพื้นที่

4)   การถอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นในเรื่องเครื่องมือที่ใช้ในการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  สามารถสรุปเครื่องมือที่ใช้จัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น  มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

       1. การจัดเวทีระดมความคิดเห็น

       2. การใช้เครื่องมือตารางสรุปการจัดทำข้อมูล

       3. การจัดเก็บข้อมูลตามตัวชี้วัดในตารางสรุปการจัดทำข้อมูล

ผลการประชุมสรุปการจัดเวทีการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือการถอดองค์ความรู้ในครั้งนี้พบว่ามีหลายคนที่สะท้อนออกมาว่ากระบวนการและเครื่องมือนี้ทำให้มีความชัดเจนในกระบวนการ  ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น  ได้ชัดเจนมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 344410เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2010 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท