๒๙.เวชนิทัศน์ : ศิลปะสื่อเพื่อพัฒนาชีวิตและสุขภาพ


     เวชนิทัศน์กับนักวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ 

เมื่อวันพุธที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๓ ของสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง พี่แก้ว : ราตรี ปั้นพินิจ หัวหน้างานเวชนิทัศน์และโสตทัศนศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในนามของนายกสมาคมเวชนิทัศน์สมาคมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ มาชวนผมไปร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะการนำเสนอผลงานการคิดทำสื่อต้นแบบเพื่อให้การเรียนรู้ทางสังคมและรณรงค์เรื่องบุหรี่กับการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง บทบาทเวชนิทัศน์กับวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์เพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ เจ้าภาพจัดประชุมคือเวชนิทัศน์สมาคม(ประเทศไทย)กับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพและสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นซ์เซส หลานหลวง กรุงเทพฯ

      เป็นโอกาสทำงานพร้อมกับเป็นเครื่องน้อมรำลึกถึงครูอาจารย์และสถาบันวิชาชีพเวชนิทัศน์ 

ผมนั้นเป็นศิษย์เก่าเมื่อตอนเรียนปริญญาตรีของโรงเรียนเวชนิทัศน์ แล้วก็ได้ใช้ความรู้เวชนิทัศน์ทำงานเป็นเครื่องมือส่งเสริมการพัฒนาให้กับงานเชิงเนื้อหาอีกหลายสาขาโดยเฉพาะการสาธารณสุขมูลฐานและการพัฒนาสุขภาพในชุมชนระดับต่างๆ จึงคิดว่าพอจะมองข้ามพรมแดนวิชาการเวชนิทัศน์ออกไปยังโลกภายนอกและมองจากแวดวงภายนอกเข้ามายังวงวิชาการเวชนิทัศน์ ขณะเดียวกันก็พอจะช่วยกันพิจารณาความเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆให้เห็นขอบเขตการทำงานที่หลากหลายและกว้างขวางมากยิ่งๆขึ้นได้ จึงถือว่างานนี้เป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายวิชาการเวชนิทัศน์ที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบสนับสนุนการดูแลสุขภาวะของผู้คน แล้วก็เป็นโอกาสได้เห็นผลงานดีๆมากมายที่ไม่ค่อยได้เป็นที่รับรู้ของสังคมในมิติที่ให้ทรรศนะกว้างกว่าที่เคยรับรู้กันทั่วไป เลยอยากนำมาเล่าแบ่งปันและบันทึกสืบทอดไว้ให้แก่ผู้สนใจครับ

                            

                              ภาพที่ ๑  กลุ่มผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ : บทบาทเวชนิทัศน์กับวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ เพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ ครั้งที่ ๑ ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นส์เซส หลานหลวง ผู้ชายยืนลำดับ ๒ จากซ้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผดุงศักดิ์ ศิลากร [๑] อาจารย์เวชนิทัศน์และประติมากรผู้ปั้นพระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประดิษฐานในศาลา ๑๐๐ ปีของศิริราชข้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนกซึ่งปั้นเมื่อกว่า ๓๐ ปีมาแล้วโดยสนั่น ศิลากร พ่อของอาจารย์ผดุงศักดิ์ ศิลากร 

                            

                              ภาพที่ ๒  การระดมความคิดกลุ่มย่อยเพื่อพัฒนาสื่อต้นแบบ ผู้ชายยืนด้านซ้าย คือ ชวัล ฝันเชียร หรือนามปากกา แว่น มือการ์ตูนมีชื่อในวงการระดับประเทศคนหนึ่ง อดีตนายกสมาคมเวชนิทัศน์และปัจจุบันเป็นนักเวชนิทัศน์อยู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ชายสวมเสื้อเทาเข้มผูกเนคไท คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญวิทย์ ปั้นทอง ศิษย์เก่าเพาะช่าง สาขาจิตรกรรมสากล และปัจจุบัน หลังจากจบสาขาเวชนิทัศน์ก็เป็นอาจารย์ของโรงเรียนเวชนิทัศน์กระทั่งปัจจุบัน อาจารย์ชาญวิทย์นี้กับพี่เป็ด ปริญญา สุขชิต นักอนุรักษ์ว่าวไทยสนามหลวงและมือเชียร์กีฬาไทยระดับโลก คือผู้ที่ร่วมกันทำว่าวระบายสีซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายและเป็นต้นแบบของว่าวระบายสีแบบต่างๆทั้งที่สนามหลวงและในประเทศไทยดังปัจจุบัน สุภาพสตรีเห็นด้านข้างริมขวาคือว่าที่ ดร.โสภิตา สุวุฒโฒ อาจารย์เวชนิทัศน์และเลขาธิการเวชนิทัศน์สมาคม(ประเทศไทย) ของคณะกรรมการบริหารสมาคมสมัยปัจจุบัน

      กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมกับจุดหมายเพื่อพัฒนาชีวิตและสุขภาพ 

กลุ่มคนที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นกลุ่มครูอาจารย์ นักศึกษา นักวิชาการและคนทำงานด้านเวชนิทัศน์ที่เป็นเครือข่ายสมาชิกของสมาคมจากทั่วประเทศ เป็นกลุ่มประชุมขนาดต่ำกว่า ๓๐ คน ซึ่งจัดว่าเป็นเวทีขนาดเล็ก ทว่า กลุ่มคนที่เข้าร่วมนั้นจัดว่าเป็นกลุ่มสุดยอดฝีมือกลุ่มหนึ่ง ที่ต่างก็มีความเด่นในหลายแขนงของสาขาวิชาชีพเวชนิทัศน์ในประเทศไทย หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในสาขานี้ของกลุ่มประเทศในเอเชียก็ย่อมได้ [๒] หลายเรื่องที่เป็นผลงานของกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมนี้ต้องจัดว่าเป็นต้นฉบับที่บุกเบิกสิ่งที่มีคุณค่าทั้งต่อวิชาการเวชนิทัศน์และต่อภูมิปัญญาสร้างสรรค์ของสังคมในสาขานี้

การทำสื่อต้นแบบในเวทีนี้ มีโจทย์จากความต้องการของผู้ใช้มาเป็นประเด็นการทำงานที่ชัดเจน คือ สมาคมเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ซึ่งมีศาสตราจารย์แพทย์หญิงผ่องศรี เผ่าสวัสดิ์ เป็นนายกสมาคมและท่านได้มาร่วมแสดงทรรศนะ บอกกล่าวจุดหมายสำคัญของการร่วมกันจัดประชุมขับเคลื่อนเครือข่ายนักวิชาชีพเวชนิทัศน์นี้ขึ้นว่า อยากได้สื่อภาพยนต์โฆษณาประชาสัมพันธ์สั้นๆ ฉายในโรงภาพยนต์ทั้งในกรุงเทพฯและทั่วประเทศเพื่อรณรงค์เรื่องบุหรี่กับสุขภาพ

งานที่มีองค์กรผู้ใช้พร้อมจะรับลูกต่อในการนำไปก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ต่อสาธารณะอย่างกว้างขวางต่อไปอย่างนี้ ต้องนับว่าเป็นโอกาสดีที่สุดครั้งหนึ่งที่จะได้เรียนรู้จากของจริงในอีกมิติของวิชาชีพเวชนิทัศน์ต่อบทบาทบริการวิชาชีพแก่สังคมให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น สอดคล้องอย่างยิ่งกับหัวข้อประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้

      ผลกระทบและผลสืบเนื่องต่อเครือข่ายสร้างสุขภาวะสังคม   

ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการในยุคพี่วิโรจน์ นาวาอากาศเอกวิโรจน์ นุตะพันธุ์ เป็นนายกสมาคมและเป็นอุปนายกสมาคมในวาระต่อจากนั้น อีกทั้งเป็นสมาชิกตลอดชีพของสมาคมด้วยคนหนึ่ง ผมก็เลยขอเสริมแนวคิดให้กับที่ประชุมไปด้วยว่า คนทำงานเวชนิทัศน์ในประเทศไทยนั้นมีอยู่จำนวนน้อย ในขณะที่คนทำงานศิลปะกับทำสื่อสุขภาพใช้ตามหน่วยงานชุมชนเฉพาะกิจนั้นไม่ค่อยมี การทำงานอย่างนี้จึงควรทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ แปรการทำงานให้เป็นโอกาสพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการอีกแขนงหนึ่งเพื่อมีส่วนร่วมเป็นกำลังการพัฒนาสังคมให้มากยิ่งๆขึ้นไปด้วย

จัดว่าเป็นการประสานงานเพื่อระดมความร่วมมือกันของเครือข่ายระหว่างสหสาขา (Multi-sectoral and Multi-disciplinary Networking) ของสาขาวิชาชีพแพทย์ สาธารณสุข เวชนิทัศน์ และภาคธุรกิจสื่อบันเทิงของสาธารณะ ขณะเดียวกัน ก็ระดมความคิดพัฒนาสื่อต้นแบบอย่างอื่นเพื่อขับเคลื่อนพลังสังคมอย่างบูรณาการ อีกทั้งเป็นโอกาสเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานวิชาการและพัฒนาเครือข่ายเวชนิทัศน์ไปด้วย

      บรรยากาศเรียนรู้และระดมพลังทำงานเข้มข้น   

                             

                              ภาพที่ ๓  การระดมความคิดกลุ่มย่อยเพื่อพัฒนาสื่อต้นแบบ ๓ กลุ่ม กลุ่มทำสปอตและภาพยนต์โฆษณา กลุ่มทำมัลติมีเดีย และกลุ่มทำหุ่นจำลอง จากนั้นนำเสนอ อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็น

                            

                              ภาพที่ ๔  การทำงานกลุ่มย่อย นำเสนอผลงาน และบรรยากาศเวทีประชุม บนซ้าย : คุณน้อยหน่า : จิรฐา นรพิทยนารถ ช่างภาพหญิงและวิทยากรการถ่ายภาพเพื่อประชาสัมพันธ์ กับอุบลรัตน์ ชุนเจริญ  นักเวชนิทัศน์ จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เจ้าของผลงานและสิทธิบัตรการทำเก้าอี้กระดาษเปเปอร์มาเช่เพื่อน้องผู้พิการจากกระดาษและวัสดุเหลือใช้ และอดีตนายกสมาคมเวชนิทัศน์สมาคม(ประเทศไทย) มุมล่างซ้าย : พี่แก้ว : ราตรี ปั้นพินิจ นายกสมาคมคนปัจจุบัน ผู้จัดประชุม

      ระดมพลังกลุ่มสร้างสรรค์สื่อรณรงค์ ๓ ประเภท   

การทำงานกลุ่มย่อยและนำเสนอแนวคิดการทำสื่อสื่อต้นแบบที่ต้องการ แบ่งทำงานกัน ๓ กลุ่มย่อยเล็กๆ โดยแบ่งตามชนิดของสื่อโดยถือเอาตัวคนและความเชี่ยวชาญที่กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมมีอยู่เป็นเกณฑ์จัดกลุ่ม คือ กลุ่มทำสื่อสปอตและภาพยนต์โฆษณาในโรงภาพยนต์ | กลุ่มทำสื่อมัลติมีเดีย | และกลุ่มทำหุ่นจำลอง

พอทำงานความคิดและวางแผนในกลุ่มย่อยเสร็จก็นำเสนอในเวทีรวม ผมเป็นผู้ดำเนินรายการทั้งช่วยกันเรียนรู้ในเวทีวิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะ ได้ข้อมูลและการออกแบบเพื่อการทำสื่อต้นแบบอย่างที่ต้องการ ๓ ชุดซึ่งนอกจากจะนำไปเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับทำสื่อต่อไปแล้ว พี่แก้วและสมาคมเวชนิทัศน์ก็จะนำไปรวมกับผลของการประชุมจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อไปอีกด้วย

      เครือข่ายข้อมูลและแหล่งวิทยาการรอบด้าน   

นอกจากการทำงานกันในเวทีประชุมปฏิบัติการนี้แล้ว กิจกรรมและองค์ประกอบที่จัดให้เป็นสภาพแวดล้อมทางข้อมูลและทำเป็นวัตถุดิบสำหรับทำงานความคิด หาแรงบันดาลใจเพื่อการทำงานกันของกลุ่มนักเวชนิทัศน์ในเวที ก็มีความเข้มข้นและน่าสนใจมาก มีนักวิชาการสาขาแพทย์อายุรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญปัญญา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กับ เภสัชกรคฑา บัณฑิตานุกูล เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม มาเป็นวิทยากรให้ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับบุหรี่ สถานการณ์ โทษภัย ผลกระทบและผลสืบเนื่องต่อสุขภาพและมิติอื่นๆ ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา สัจจานันท์ มาช่วยให้ความรู้ในด้านพัฒนาบทความวิชาการเพื่อทำให้มีการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย แล้วก็มีคุณน้อยหน่า : จิรฐา นรพิทยนารถ ช่างภาพหญิงมือรางวัลพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร มาถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์การถ่ายภาพเพื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีผลงานระดับเกินความเป็นคนถ่ายภาพรุ่นเยาว์มาให้ชมจากของจริงมากมาย

      สาขาวิชาชีพเวชนิทัศน์และผลงานศิลปะสื่อแพทยศาสตร์ศึกษา  

สาขาวิชาชีพเวชนิทัศน์ ก่อตั้งขึ้นแห่งแรกในประเทศไทยที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อกว่า ๓๐ ปีแล้ว[๓] เป็นสาขาที่บูรณาการกันของหลายสาขา ที่สำคัญคือ ศิลปะ วิทยาศาสตร์การแพทย์ การศึกษาและการสื่อสาร การถ่ายภาพและเทคโนโลยีสื่อภาพและเสียง การจัดแสดงและการสื่อสารเผยแพร่เพื่อการศึกษาเรียนรู้ กายวิภาคศาสตร์ ภาษาอังกฤษทางการแพทย์ และสถิติเพื่อการเก็บบันทึกข้อมูล

 สาขาวิชาชีพเวชนิทัศน์นั้น  ไม่ได้มีผลต่อสุขภาพโดยตรง แต่ก็เป็น Methodology และ Tools ที่ช่วยพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของปัจเจกและสังคม ให้เป็นปัจจัยเชิงสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี (Social Learning,Socio-Economic and Environmental Determinants in Health) ก่อให้เกิดสุขภาวะสังคมและส่งผลต่อความมีสุขภาพดีอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกมิติที่สำคัญมากต่อการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพลเมือง โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพได้มุ่งเน้นการสร้างนำซ่อม

แต่เดิมนั้น ผู้จบสาขาเวชนิทัศน์จะทำงานในตำแหน่งช่างภาพการแพทย์ และต่อมา หลายหน่วยงานก็บรรจุในตำแหน่งนักวิชาการโสตทัศนศึกษา เป็นสาขาหนึ่งที่ทำงานเป็นทีมวิชาการและสนับสนุนทางวิชาการให้แก่แพทย์ อาจารย์แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและบันทึกข้อมูลภาพทางการแพทย์ รวมทั้งทำสื่อและสิ่งแสดงทางการแพทย์ สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัย การจัดการศึกษา การเรียนการสอน การทำสื่อด้วยวิธีการทางศิลปะแบบต่างๆ การทำภาพประกอบและทำงานศิลปะหนังสือ ตำราทางการแพทย์ การจัดแหล่งเรียนรู้ นิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ การสื่อสารเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้ทางสุขภาพแก่สังคม สามารถพัฒนากิจกรรมดังที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ให้เป็นการสนับสนุนทางวิชาการแก่ด้านการแพทย์และการพัฒนาสุขภาพได้ทั้ง ๔ มิติ ทั้งด้านการรักษา การป้องกันและควบคุมโรค การส่งเสริม และการบำบัดฟื้นฟู

                            

                              ภาพที่ ๕  ผลงานของนักเวชนิทัศน์ซึ่งแต่ละคนจะมีพื้นฐานความเป็นจิตรกรและคนทำงานที่เป็นเลิศในสาขาศิลปะแขนงต่างๆ จึงพัฒนาความเชี่ยวชาญบางด้านของสาขาเวชนิทัศน์ร่วมกับแพทย์และนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น ภาพบน : การเขียนภาพร่วมกับอาจารย์แพทย์ในสาขากายวิภาคศาสตร์ บนขวา : การปั้นและทำงานประติมากรรมหุ่นจำลองแสดงปอดของผู้ป่วยมะเร็ง ร่วมกับแพทย์ ศัลยแพทย์ และอาจารย์แพทย์สาขากายวิภาคศาสตร์ ภาพล่างซ้ายและล่างขวา : การเขียนภาพทางการแพทย์ และกลางขวา : การวาดเส้นเพื่อเป็นสื่อแพทยศาสตร์ศึกษาในวิชากายวิภาคศาสตร์ ภาพและสื่อในลักษณะดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นสื่อการสอนและจัดแสดงเพื่อสร้างการเรียนรู้แก่สังคมแล้ว ก็จะเป็นภาพสำหรับทำตำราและสื่อสิ่งพิมพ์แพทยศาสตร์ศึกษา ซึ่งทำให้ตำราและสื่อสิ่งพิมพ์ทางการแพทย์ของไทยมีความเป็นเลิศ ได้มาตรฐานทั้งด้านวิชาการและคุณภาพในการเป็นสื่อเพื่อการศึกษาค้นคว้า เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความเป็นผู้นำด้านแพทยศาสตร์ศึกษาในระดับนานาชาติและของโลกของสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ของไทย

                             

                              ภาพที่ ๖  ตัวอย่างผลงานเวชนิทัศน์ ของนักเวชนิทัศน์กับกลุ่มแพทย์ อาจารย์แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ บนซ้าย : ผลงานของ องอาจ ศิลปะ จากคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สิ่งประดิษฐ์ร่วมกับการปั้นและหล่อแสดงโครงสร้างของหูชั้นในเมื่อน้ำในหูผิดปรกติและทำให้ผู้ป่วยเกิดการสูญเสียการควบคุมการทรงตัว ให้สามารถสังเกตและวินิจฉัยได้จากภายนอก ทำให้แพทย์วินิจฉัยและเป็นสื่อให้การศึกษาที่ผู้ป่วยสามารถเห็นและเข้าใจได้ง่าย เพื่อที่จะได้ให้ความร่วมมือการรักษาและสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างดี ล่างซ้าย : ผลงานและสิทธิบัตรการทำหุ่นจำลองอมีบาและจุลชีพด้วยเทคนิคศิลปะการเป่าแก้ว โดย สมควร สุวุฒโฒ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริาราช มหาวิทยาลัยมหิดล สื่อและหุ่นจำลองทางการแพทย์ในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นสื่อคุณภาพสูงทั้งด้านวิชาการและศิลปะสื่อซึ่งสามารถเผยแพร่ให้แก่สถาบันการศึกษาทุกระดับของประเทศ นอกจากทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศในราคาสูงแล้ว หลายชิ้นเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นต้นฉบับของประเทศไทย

                            

                              ภาพที่ ๗  ผลงานประดิษฐ์และสิทธิบัตรงานสร้างสรรค์นวัตกรรมเปเปอร์มาเช่จากกระดาษเหลือใช้ เพื่อทำเก้าอี้ด้วยมือให้แก่เด็กออทิสติกและเด็กผู้พิการ โดย อุบลรัตน์ ชุนเจริญ นักเวชนิทัศน์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และอดีตนายกสมาคมเวชนิทัศน์(ประเทศไทย) ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากธนาคารออมสินให้เป็นแหล่งเผยแพร่และส่งเสริมให้ทำเองด้วยมือของพ่อแม่และครอบครัว โดยระดมพลังจิตรอาสาและการระดมจิตสาธารณะทั้งจากปัจเจกและภาคธุรกิจเอกชน

                            

                            

                              ภาพที่ ๘,๙  : องอาจ ศิลปะ นักเวชนิทัศน์กับหน่วยทำหุ่นจำลองทางการแพทย์ ของงานโสตทัศนศึกษาและเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยเวชนิทัศน์แห่งหนึ่งที่พัฒนาเทคนิควิธีการในการทำหุ่นจำลองทางการแพทย์ได้อย่างก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ทั้งเพื่อใช้ในการศึกษาทางการแพทย์ งานวินิจฉัยและการบำบัดรักษา รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูและการให้การศึกษาแก่ผู้ใช้บริการทางสุขภาพจากแพทย์ผู้ให้บริการ

      สาขาวิชาชีพเวชนิทัศน์ในประเทศไทย  

ผู้บุกเบิกและก่อตั้งสาขาวิชาเวชนิทัศน์ขึ้นในประเทศไทยคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ซึ่งมีแนวทางมาจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้นของสหรัฐอเมริกา และมีอาจารย์แพทย์กับครูอาจารย์ทางศิลปะร่วมเป็นผู้บุกเบิกที่สำคัญคือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์นันทวัน พรหมผลิน รองศาสตราจารย์นายแพทย์สภา ลิมพานิชยการ หรือที่สังคมไทยรู้จักในนามหมอ ๕ บาท อาจารย์กอง สมิงชัย และอาจารย์โชติ แสงสมพร แต่เดิมนั้นเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง รับคนเรียนจบทางศิลปะในระดับ ปวส.และอนุปริญญาของโรงเรียนเพาะช่าง มหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนช่างศิลป์ และสถาบันการศึกษาต่างๆของประเทศ มาเรียนต่อทางด้านทฤษฎีและทางด้านสาขาเวชนิทัศน์อีก ๒ ปี ในหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาเวชนิทัศน์ ปัจจุบัน ได้ปรับปรุงหลักสูตรเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ เป็นหลักสูตร ๔ ปี รับผู้จบการศึกษา ม.๖ จากทั่วประเทศและเน้นทั้งด้านศิลปะสื่อเพื่อแพทยศาสตร์ศึกษา คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ [๔][๕]

นอกจากนี้ก็มีการจัดหลักสูตรขึ้นอีกในแหล่งอื่นของประเทศ คือ หลักสูตรเวชสาธิต ของกระทรวงสาธารณสุข[๖] ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร และหลักสูตรวิทยาศาสตรและเทคโนโลยีบัณฑิตสาขาเวชนิทัศน์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น[๗] ผมเองนั้นเป็นศิษย์เก่าของเวชนิทัศน์ศิริราชรุ่นที่ ๑๖ จบปีการศึกษา ๒๕๒๕-๒๕๒๖ 

การได้ไปเป็นวิทยากรและร่วมเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เลยเหมือนกับได้กลับไปเยี่ยมบ้าน ได้สันถวะกับพี่น้อง ครูอาจารย์ รวมทั้งได้ดูความเคลื่อนไหวของการทำงาน ได้ความชื่นชมและได้แรงบันดาลใจดีๆหลายอย่าง.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    เชิงอรรถ :  

[๑]     UNSEEN ของมหิดลและประเทศไทย :
สุขภาพและคุณภาพชีวิตของพลเมืองสังคมไทย
กับพระบรมราชานุสาวรีย์คู่กันของพระบรมราชชนกกับพระบรมราชชนนี
 
 
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกหรือพระบิดาการแพทย์สมัยใหม่ของไทยที่ประดิษฐานอยู่หน้าตึก ๗๒ ปีของศิริราชนั้น ประติมากรผู้ปั้นคือ ศาสตราจารย์สนั่น ศิลากร ศิลปินแห่งชาติศิษย์เอกท่านหนึ่งของศาสตราจารย์ศิลป์ พีรศรี และเป็นผู้ปั้นอนุสาวรีย์อีกหลายแห่งทั่วประเทศ ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ผดุงศักดิ์ ศิลากร นี้เป็นลูกอาจารย์สนั่นและเป็นผู้ปั้นพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลา ๑๐๐ ปีของศิริราชข้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งประชาชนมักเห็นจากสื่ออยู่เสมอเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จถวายพระราชสักการะในวโรกาสต่างๆ จึงมีความพิเศษอย่างยิ่ง  ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีนั้นได้ประดิษฐานคู่กันที่ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล และประติมากรผู้ปั้นก็เป็นพ่อลูกกัน ทว่า เกิดขึ้นต่างช่วงเวลากันหลายทศวรรษ โดยเริ่มจากผู้พ่อปั้นพระบรมราชชนกซึ่งเป็นพระบิดาทางการแพทย์ เว้นไปเกือบ ๓๐ ปี อาจารย์ผดุงศักดิ์ผู้ลูก ซึ่งนอกจากกลายเป็นผู้มีฝีมือทางประติมากรรมเหมือนพ่อและเข้ามาเป็นอาจารย์เวชนิทัศน์อยู่ที่ศิริราชที่ประติมากรผู้พ่อได้ปั้นพระรูปสมเด็จพระบรมราชชนกไว้พระองค์หนึ่งแล้ว ก็ได้เป็นผู้ปั้นพระบรมราชชนนี พระผู้เป็นมารดาการพยาบาล อีกทั้งประดิษฐานอยู่ที่ศิริราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ๒ คณะวิชาคู่กันที่น้อมเกล้าว่าทั้งสองพระองค์เป็นต้นแบบเชิงอุดมคติ อันได้แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชและคณะพยาบาลศาสตร์ศิริราช ที่เก่าแก่ที่สุดของสังคมไทยเช่นกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ นอกจากจะบอกเล่าพัฒนาการสุขภาวะของสังคมไทยผ่านห้วงเวลานับครึ่งศตวรรษแล้ว ความสืบเนื่อง สอดคล้อง และลงตัวไปด้วยกันในหลายองค์ประกอบอย่างนี้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
[๒] [๓] สาขาวิชาเวชนิทัศน์ ที่ก่อตั้งและดำเนินการขึ้นในประเทศไทยนี้ เป็นแห่งแรกของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในต่างประเทศอย่างเช่นอเมริกานั้นจัดเป็นสาขาเฉพาะทางสำหรับสร้างผู้เชี่ยวชาญในขั้นสูง ในบางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการสาขาวิชาเวชนิทัศน์เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรหลังปริญญาเทียบเท่าปริญญาโท ผู้ที่เข้าศึกษาในสาขาเวชนิทัศน์จะต่างจากกรณีประเทศไทยซึ่งรับผู้ที่พัฒนาตนเองมาจากทางศิลปะแล้วมาศึกษาทางวิทยาศาสตร์เวชนิทัศน์ ทว่า ในต่างประเทศอาจจัดเป็นหลักสูตรที่รับผู้สำเร็จการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์แล้วมาศึกษาต่อ อันได้แก่จบแพทย์ ชีววิทยา วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆแล้วจึงมาพัฒนาความเชี่ยวชาญเพิ่มทางศิลปะกับ Imaging Sciences  สาขาวิชาเวชนิทัศน์ของประเทศไทยจึงสนองตอบต่อความจำเป็นของประเทศและมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง  ปัจจุบัน มีสาขาวิชาเวชนิทัศน์เฉพาะด้านแยกย่อยอีกหลายสาขาในมหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐอเมริกามากกว่า ๑๐ แห่ง เช่น การวาดภาพศัลกรรมประสาท การวาดภาพศัลยกรรมตา การทำภาพร่วมกับเทคโนโลยีถ่ายภาพกล้องอีเลคตรอน เทคนิควิทยาศาสตร์และศิลปะการทำภาพทางอาชญาวิทยา อีกทั้ง มีแนวโน้มการขยายตัวไปเป็นมืออาชีพในภาคธุรกิจสื่อของภาคเอกชน มากกว่าจะขยายตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิชาการ 
[๔] ความแตกต่างกันของหลักสูตรที่ปรับปรุงและดำเนินการใหม่ในสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์นี้กับสาขาวิชาเวชนิทัศน์แบบเดิมก็คือ หลักสูตรเวชนิทัศน์ในระยะแรกจะเป็นหลักสูตรการศึกษาแบบต่อเนื่อง (Extension Education Degree Programme) คัดเลือกผู้ที่เก่งทางด้านศิลปะมาพัฒนาต่อเนื่องทางวิทยาศาสตร์เวชนิทัศน์ เป็น Art and Sciences Integration ส่วนหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่นี้จะมีลักษณะเป็นหลักสูตรแบบสหวิทยาการ (Multi-Disciplinary Education Degree Program) ซึ่งจะสามารถเตรียมพื้นฐานทางด้านต่างๆให้มีความจำเพาะด้านดังที่ต้องการได้ดีกว่า โดยเฉพาะทฤษฎีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ แต่เน้นทางด้าน IT และ CAG : Computer Art and Graphic หลักสูตรที่ดึงเอาหลายสาขามารวมกันแล้วจัดการศึกษาเป็นหลักสูตรเดียวกันนั้นผู้เรียนก็ต้องเรียนรู้สาขาวิชาที่แยกส่วนจากภายนอกให้บูรณาการขึ้นในตัวผู้เรียนแทนการศึกษาต่อเนื่องกันไปทีละด้าน.

หมายเลขบันทึก: 342341เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2010 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (50)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ข้อมูลจากทางการยืนยันออกมาเรื่อยๆ ว่าเยาวชนติดสิ่งเสพติด(บุหรี่)ในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี

นับเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพและปัญหาสังคม

  กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ 

  • นอกจากเยาวชนแล้ว กลุ่มประชากรที่เริ่มสูบและติดบุหรี่เพิ่มขึ้นคือกลุ่มสุภาพสตรีครับ ส่วนกลุ่มผู้ชายนั้นกลับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง
  • มีบางเรื่องที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่ค่อยทราบ คือ การสูบบุหรี่ในที่ชุมนุมชนและสถานที่สาธารณะที่คนอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากนั้น เป็นเรื่องผิดกฏหมาย
  • และนอกจากผู้สูบจะเป็นการผิดกฏหมายแล้ว ผู้รับผิดชอบสถานที่ และถ้าหากเป็นเจ้าของสถานที่ ก็จะมีความผิดไปด้วย คนสูบจะถูกปรับ ๒,๐๐๐ บาท แต่เจ้าของสถานที่จะต้องถูกปรับกว่า ๒ หมื่นบาท เลยถือโอกาสให้ความรู้และรณรงค์ไปด้วยเลยนะครับ
  • ปัจจุบันบุหรี่ ๑ ซอง ราคา ๕๘ บาท ซึ่งจะสามารถซื้อข้าวสารคุณภาพดีได้เกือบ ๓ กิโลกรัม และซื้อนำตาลทรายคุณภาพดีได้กว่า ๒ กิโลกกรัม สำหรับคน ๑ คนบริโภคตามปรกติได้กว่า ๒ สัปดาห์ครับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

เชื่อว่าสื่อ คือ แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจ และความตระหนักในการดูแลสุขภาพค่ะ

ที่กระทรวงสาธารณสุข มีสื่อดี ๆ มากมาย ที่ส่งมาให้สอ. แต่ยังนำไปใช้ได้ไม่เต็มที่ (ตามความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ)

บันทึกนี้ต่อยอดแนวคิด ..การสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อการสร้างสุขภาพ

แต่ก่อนอื่นต้อง เอ็มพาวเวอร์ตัวเองก่อนค่ะ...อิ อิ

ขอบพระคุณบันทึกที่ช่วยจุดประกายความคิดค่ะ

แต่จะทำได้เมื่อไหร่ก็จะลองพยายามสะสมแนวคิดไว้ก่อน และคิดว่าน่าจะทำได้ค่ะ

สักวันหนึ่งนะคะ

ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ค่ะ...^_^

 

สวัสดีครับคุณสีตะวันครับ : ในทรรศนะผมนั้น  สื่อ ๑ ชิ้นและจัดทำครั้งหนึ่งเพื่อเผยแพร่ทั่วประเทศนั้น ค่าใช้จ่ายในการจัดทำและเผยแพร่ รวมกันแล้วก็เชื่อว่าจะต่ำกว่าค่าใช้จ่ายต่อการรักษาการเจ็บป่วยของประชาชน ๑๐ คน ดังนั้น ในขณะที่การได้มีความรู้และมีข้อมูลข่าวสารสำหรับตัดสินใจและแก้ปัญาให้ตนเองดีขึ้น ที่ช่วยให้ประชาชนป้องกันตนเองและหลีกพ้นปัจจัยเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยไปได้สัก ๑๐ คน รวมทั้งมีความสามารถนำการปฏิบัติตนเอง เอาสุขภาพดีและคุณภาพชีวิตที่ดีไปเป็นโอกาสพัฒนาทางด้านอื่นๆในสังคมได้อีกมากมาย ก็นับว่ามีคุณค่าเกินกว่าการลงทุนทำสื่อเพื่อสุขภาพ ๑ ชิ้นไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนจะสามารถเข้าถึงสื่อสุขภาพที่ทำขึ้นได้มากกว่าที่ยกตัวอย่างนี้หลายเท่าครับ

ดังนั้น แม้จะยังนำไปใช้ไม่เต็มที่ก็ไม่ต้องกังวลใจหรอกนะครับ อยากหนุนให้มีกำลังใจทำและจัดหาไว้อยู่เสมออยู่ดีแหละครับ เพราะอย่างไรก็ดีกว่างานสุขภาพแบบตั้งรับอย่างเดียว อย่างที่ว่าข้างต้นแหละครับ ดีใจครับที่สีตะวันได้ความคิดดีๆ มีความสุขและมีกำลังใจเสมอเด้อ

เห็นงานแบบนี้ให้นึกถึงน้อง..จามจุรีผู้น่ารัก..(พัลลภ อนุสนธิ์พรเพิ่ม)..ไม่ทราบทำงานอยู่กับพี่อาจารย์หรือเปล่าค่ะ..http://www.watchari.com/board/index.php?topic=1588.0

...และในโอเคเนชั่นน้องก็เผยแพร่งานไว้เยอะค่ะ..

http://www.oknation.net/blog/ilovewatercolour

ใต้ภาพบรรยายเอาไว้ว่า..

งานชิ้นแรก เป็นงานตอนเรียนมหิดล จำได้ว่าอาจารย์ให้ทำแผนภูมิ ไอ้เราก็ว่าเราเรียนด้านนี้มาบ้างเลยเอาเรื่อง เซลล์มาทำแป็นแผนภมิซะเลยนี่ก็เป็นอีกงานหนึง จากหลาย ๆ ระบบ รวมกันเป็นร่างกายของเรา....

ไอเดียและความกล้าเล่นของน้องคนนี้เข้าท่ามากเลยน้องคุณครูอ้อยเล็ก การนำเอาข้อมูลที่มีมาพลิกแพลงทำภาพแบบต่างๆเพื่อให้คนสามารถเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายในสิ่งที่ยากๆอย่างนี้ ต้องผ่านการทำงานศึกษาข้อมูลและสตั๊ดดี้ทั้งในความคิดและด้วยมือมากครับ มากจนสามารถทำเป็นภาพในหัวได้แล้วก็พลิกแพลงให้เป็นรูปแบบอย่างไรก็ได้โดยที่การให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในภาพจะต้องถูกต้อง เป็นการเล่าเรื่องทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ด้วยภาษาของนักศิลปะที่คนที่ชอบก็จะสนุกครับ

  คุณน้อยหน่า  : จิรฐา นรพิทยนารถ 
ช่างภาพหญิงมือรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามบรมราชกุมาร

 

เวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการนักเวชนิทัศน์และคนทำสื่อครั้งนี้ ได้รู้จักน้องน้อยหน่า : จิรฐา นรพิทยนารถ ช่างภาพหญิงที่มาเป็นวิทยากรภาคเช้า ผมเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้ฟังเธอถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังและดูผลงานมากมายของเธอไปด้วย ผมไม่ได้ดูกำหนดการที่ทางผู้จัดเข้าส่งไปให้โดยละเอียด เลยไปเข้าใจว่าน้องเขาจะเป็นวิทยากรตลอดในภาคเช้า คิดว่าทำธุระต่างๆในตอนเช้าสักหน่อยแล้วก็จะไปนั่งฟังสักตอน ๑๐ โมงไปจนถึงเที่ยง ปรากฏว่าหัวข้อของเธอถึงแค่ ๑๐.๑๕ น. เสีดายมากจริงๆ แต่ก็ได้นั่งคุยกันแล้วก็ได้ดูผลงาน รวมทั้งหนังสือภาพทั้งผลงานเดียวและผลงานที่ตีพิมพ์ร่วมกับช่งภาพระดับประเทศอีกหลายคน แต่เดิมนั้น เห็นผลงานมากมายแต่ไม่เห็นตัวจริงนั้น ก็คิดว่าน่าจะเป็นคนเก่าแก่และสะสมงานมานาน ที่ไหนได้ ยังเด็กอยู่เลยครับ  ขยันทำงานมากจริงๆ อันที่จริงก่อนหน้านี้ ผมเพิ่งจะเห็นข่าวจากสื่อว่าเธอแสดงผลงานเดี่ยวที่วังสวนผักกาด เป็นแนวการทำงานที่ยังนึกสนใจจะไปดูอยู่เหมือนกัน กลายมาเป็นได้เจอในเวทีประชุมเดียวกันของสมาคมเวชนิทัศน์ เพราะเธอกับพี่แก้ว ราตรี ปั้นพินิจ  นายกสมาคมเวชนิทัศน์ เป็นคนทำงานในแวดวงที่ถึงกัน

เมื่อก่อนเวชนิทัศน์นี่ก็เป็นความฝันของเด็กเพาะช่างเหมือนกันนะคะพี่อาจารย์..หลายคนในเอกจิตรกรรมที่เก่งด้านAnatomy..ก็มีความพยายมที่จะสอบเข้าไปเรียน..ภาควิชานี้ของโรงพยาบาลศิริราช..อ้อยก้อยากไป..แต่มีข้อจำกัด..อยู่หลายข้อ..คือ1.ไม่เก่งFigger2.ไม่เก่งทางวิชาสามัญเช่นวิทย์ฯคณิตฯอังกฤษเป็นต้น3.กลัวผีอย่างไม่มีเหตุผล

เลยไม่ได้ไปสอบอะไรกับเขาในตอนนั้น..เลยเป็นเพียงแค่การเรียนที่ใฝ่ฝัน...ในวัยรุ่นตอนนั้นค่ะ..

ต้องนับว่าเป็นวิสัยทัศน์ของท่านอาจารย์หมอสุดและอาจารย์หมอนันทวันเลยทีเดียวครับ เพราะผมเคยขอนั่งสนทนาเพื่อเก็บเรื่องราวต่างๆไว้จากครูอาจารย์เก่าแก่ที่ร่วมรุ่นการบุกเบิกคืออาจารย์โชติ แสงสมพรท่านก็เล่าไว้ว่าอาจารย์หมอสุดท่านถึงกับไปเดินหาคนที่จบศิลปะเก่งๆจากเพาะช่างแล้วก็ชวนมาวางพื้นฐานต่างๆช่วยท่านที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ศริริาช พอเห็นว่าเป็นทีมร่วมกันทำงานได้ผลดี ก็กลายเป็นแนวในการพัฒนาหลักสูตรเวชนิทัศน์ที่ดึงเอาศิลปะมาบวกกับพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แล้วก็มักจะเป็นอย่างที่น้องคุณครูอ้อยเล็กว่า คือ คนที่สอบเข้าไปเรียนก็มักจะเป็นมือกระบี่จากสาขาที่เป็นวิชาแกนของสาขาต่างๆทางศิลปะของเพาะช่าง อีกทั้งมักเป็นสาขาที่คนจบออกไปแล้วมักมีเส้นทางไปเป็นศิลปิน เลยก็เป็นสาขาที่แปลกดีเหมือนกันที่สามารถดำเนินการได้อย่างดี เพราะธาตุของคนที่เป็นศิลปินกับการที่ต้องเขียนภาพและทำงานศิลปะที่ต้องกำกับด้วยข้อมูลแบบวิทยาศาสตร์นั้น มันแทบจะไปกันคนละทางเลยทีเดียว

แต่น้องคุณครูอ้อยเล็กไม่ได้ไปสอบนั้นดีแล้วครับ ไม่อย่างนั้นครูศิลปะเก่งๆดีๆมีเมตตาต่อลูกศิษย์ของเด็กๆก็คงหายไปคนหนึ่งล่ะสิครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • อ่านเชิงอรรถที่ [๑] แล้ว ครอบครัว ศิลากร นี่ทั้งสุดยอดในด้านผลงาน และโชคดีที่ได้ถวายงานให้กับพระองค์ เป็นความสุดยอดที่ Unseen จริงๆ ค่ะ อ่านแล้วขนลุกเลย ....
  • ในปัจจุบันรายวิชาหลายสาขา หลายหลักสูตร ปรับปรุงให้เข้ากับยุคใหม่ ให้น้ำหนักกับการใช้เครื่องมือ IT มากขึ้น มากขึ้น น่าเสียดายแทนหลักสูตรเวชนิทัศน์แบบเดิมนะค่ะ ..
  • อยากเห็นผลงานการผลิตสื่อของทั้ง ๓ กลุ่มจังค่ะ หลังวันที่ ๑๕ ไปแล้วอาจารย์คงโพสให้ได้ชมบ้างนะค่ะ ...
  • ทำให้นึกถึงเมื่อสมัยทำงานรณรงค์โรคเอดส์นะค่ะอาจารย์ สื่อนี่แหละตัวดี เริ่มต้นจากการรณรงค์ให้ความรู้แก่คนทั่วไปเรื่องโรคเอดส์ ก็ ok อยู่ค่ะ แต่ก็สื่อนี่อีกแหละค่ะ ที่ทำให้คนไม่เข้าใจ รังเกียจคนที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี อยู่พักใหญ่ เพราะภาพที่นำเสนอออกมามันรุนแรงมากเกินไป ทำให้คนไม่ยอมรับ หลายครอบครัวที่ทิ้งลูก ทิ้งหลาน หรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อเอช ไอ วี ไว้ที่วัดพระบาทน้ำพุ กี่เคสต่อกี่เคส ผลพวงส่วนหนึ่งก้อมากจากสื่อที่นำเสนอออกไป ต้องมาตามแก้ไขด้วยสื่ออีกหลายๆ ชุด จนชาวบ้านเริ่มเข้าใจมากขึ้น แต่ก็ใช้เวลากันเป็น ๑๐ ปีเชียวนะค่ะ ....
  • สื่อ ที่บอกว่าสร้างสรรค์กันออกมา บางครั้งนำเสนอมุมมองเดียว จนลืมมองอีกมุมนึงที่เปราะบางเหลือเกิน ......
  • ชื่นชอบ คุณน้อยหน่า จังเลยค่ะ ฝากชื่นชมเธอถ้าครั้งต่อไปอาจารย์ได้พบเธออีกนะค่ะ ขอบคุณค่ะ ^^
  • มีเรื่องขำๆ มาเล่าให้พี่ครูอ้อยเล็กฟัง เพราะเห็นข้อความเรื่องกลัวผี ^^
  • เพื่อนของคุณพ่อท่านสมัยเป็นนิสิตแพทย์ที่จุฬาฯ พากันขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้วไปพบอุบัติเหตุบนถนนรถชนกันค่ะและมีผู้บาดเจ็บด้วย ด้วยจิตวิญญานของคุณหมอให้อนาคตจึงหยุดรถเพื่อลงไปดูผู้บาดเจ็บ เพื่อนคุณพ่อท่านนี้รีบไปประคองผู้บาดเจ็บอย่างห่วงใย แต่พอเห็นเลือดไหลเยอะแยะเท่านั้น เป็นลมไปเลยค่ะ ....
  • และเพื่อนคุณพ่อท่านนี้หล่ะค่ะ เป็นอาจารย์แพทย์มาแล้วหลายสิบปี ซึ่งหลังๆ ส่วนใหญ่การพบปะเพื่อนๆ ก็จะในงานแต่งงานลูก หลาน หรืองานศพเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันแล้วค่ะ .. ในงานศพเพื่อนของท่านท่านนึง เมื่อเผาศพเพื่อนเสร็จ ก็มานั่งคุยกัน เพื่อนคุณพ่อท่านนี้ก็พูดออกมาว่า เอ่อ ขออนุญาตใช้ภาษาที่เพื่อนฝูงเค้าคุยกันนะค่ะ ..

"ถ้ากูตายไปอย่าเอาร่างกูไปบริจาคนะ กูอายลูกศิษย์ .. และอย่าเอากูมาไว้วัดนะ กูกลัวผี ...... "

  สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ 

เป็นเรื่องที่น่าประทับใจอย่างสุดยอดเลยละครับ โดยเฉพาะคนที่ศึกษาทางศิลปะและผู้ที่สนใจกระบวนการศึกษาเรียนรู้ และการสืบทอดภูมิปัญญาช่างขั้นสูงในวิถีสังคมวัฒนธรรมไทยนั้น ยิ่งประทับใจและต้องให้ความสนใจมากเลยครับ เพราะเป็นกรณีศึกษาที่สามารถนำเอาเรื่องต่างๆในบริบททางสังคมมาทบทวนหาความลึกซึ้งได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการศึกษาแบบอาศรมและการศึกษาแบบตระกูลช่าง ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของการศึกษาเรียนรู้ทางช่างแบบดั้งเดิม

 ผมเองนั้น ก็รู้สึกอย่างอาจารย์เลยละครับคือนำมาพิจารณาดูแล้วก็ขนลุกครับ ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวมและสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญอยู่ในตนเองอยู่แล้วอย่างเดียวเท่านั้นครับ ทว่า มันเป็นเรื่องที่แปลกและน่าอัศจรรย์ใจไปด้วยอย่างมากเลยทีเดียว

อาจารย์ณัฐพัชร์ลองคิดดูสิครับ อาจารย์ผดุงศักดิ์ผู้ลูกนั้น เป็นอาจารย์ของเวชนิทัศน์อยู่ที่ศิริราชกว่า ๓๐ ปีราวกับรอมาเป็นผู้ปั้นงานที่สืบเนื่องจากคนรุ่นพ่อ ซึ่งระยะเวลาห่างกันกว่า ๓๐ ปีนั้น บอกเล่าสิ่งต่างๆหลายอย่างนับแต่เส้นทางชีวิตของปัจเจก การดำเนินไปของครอบครัว ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสถาบันการแพทย์ของประเทศ และพัฒนาการขึ้นลงมากมายของประเทศ ทว่า ราวกับสืบทอดกันระหว่างรุ่นของผู้คน

 หากเป็นการเล่าเรื่อง  อาจารย์ลองนึกภาพดูสิครับว่า หากผมเปิดเรื่องที่องค์พระประมุขของประเทศแห่งหนึ่ง คือ ประเทศไทยกับปวงมหาชน ที่ทรงกำลังถวายสักการะต่อพระบรมราชานุสาวรีย์ซึ่งเป็นนอกจากจะเป็นพระราชานุสาวรีย์คู่ขวัญหฤทัยแห่งพระบรมราชชนกกับพระบรมราชชนนีของพระองค์เองแล้ว ยังทรงเป็นพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีของกษัตริย์อีกพระองค์ที่เป็นพระเชษฐาของพระองค์อีกด้วย

อีกทั้งพระบรมราชชนกของพระองค์นั้นทรงได้รับสมัญญาจากปวงชนว่าเป็นพระบิดาการแพทย์สมัยใหม่ของประเทศ พระบรมราชชนนีของพระองค์ก็ทรงเป็นพระมารดาของการพยาบาล การพัฒนาสังคม และชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นระบบสังคมระบบใหญ่ที่เกี่ยวข้องทุกข์สุขและขับเคลื่อนสุขภาวะของผู้คนทั้งสังคมไทยและนานาชาติ

ทว่า การเดินทางของพระราชานุสาวรีย์ของทั้งสองพระองค์กระทั่งมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่แแห่งเดียวกันอีกนั้น เป็นระยะเวลากว่า ๓๐ ปี ประติมากรผู้เป็นช่างปั้นเป็นคนรุ่นพ่อที่ได้ล่วงลับไปแล้วได้ปั้นพระราชานุสาวรีย์ของพระบรมราชชนก ต่อมาคนรุ่นลูกซึ่งนอกจากสามารถสืบทอดความเป็นเลือดช่างในขั้นสูงไว้กับตนแล้ว ก็มาเป็นผู้ปั้นพระราชานุสาวรีย์ของพระบรมราชชนนี เสมือนเป็นการสืบทอดมรดกทางสังคม และเป็นการงานที่ส่งต่อสืบทอดกันที่ราวกับใช้เวลาอดทนรอคอยนับครึ่งชีวิต ซึ่งระหว่างที่กาลเวลาผ่านไปนั้น ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย

กว่า ที่พระราชานุสาวรีย์ของ ๒ พระองค์จะมาประดิษฐานคู่กันอีกที่ศิริราชและ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์ของไทยที่ครองราชยาวนานที่สุดในโลก อีกทั้งทรงเป็นพระราชโอรสของ ๒ พระองค์ท่านพร้อมกับปวงมหาชนของพระองค์นั้น เมื่อเดินเรื่องย้อนกลับไปดูแล้ว ก็มีเรื่องราวมากมายราวกับเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดินแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ที่สืบทอดระหว่างคนในแผ่นดินจากรุ่นสู่รุ่น...........................ให้สติและแสดงความเป็นโลกแห่งการเดินช้าๆแต่หนักแน่นและงดงามดีจริงๆ นี่ผมเล่าแบบได้อารมณ์หนัง Periodical ไปด้วยเลยละครับ

 มองในเรื่องการทำงาน ในเวิร์คช็อปผมก็สนใจมากเช่นเดียวกันครับ ท้าทายมากทีเดียวครับ เพราะงานเชิงสร้างสรรค์นั้น การอาศัยความสร้างสรรค์ของปัจเจกกับการระดมพลังสร้างสรรค์จากการทำงานเป็นกลุ่มนั้นมันไปด้วยกันได้ยากมากๆ งานจะดีและมีพลังต่อการนำไปใช้แก้ปัญหาได้ดีไปคนละแบบ ทว่า ก็ต้องข้ามกรอบและต้องมีวิถีเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนโหมดชีวิต โหมดการทำงาน มากมายมหาศาลด้วยเช่นกัน

ในแง่กระบวนการเรียนรู้เพื่อก่อเกิดมิติของงานจากการสร้างสรรค์ และก่อเกิดวัฒนธรรมการทำงานด้วยกันในแนวประชาคมหรือแนวรวมกลุ่มที่ปัจเจกทุกคนมีดีอยู่ในตนเองไม่เหมือนกัน ต่างมีตัวตนและตำแหน่งแห่งหนที่ดีในสังคม อีกทั้งมีอิสรภาพเต็มที่อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันแล้วละก็ น่าสนใจที่จะเรียนรู้ไปด้วยมากทีเดียวครับ ผมถึงได้เสนอแนะแก่เวทีว่าควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ที่จะได้จากโอกาสการทำงานในครั้งนี้ไปด้วยน่ะครับ

การทำงานเป็นกลุ่มเป็นพฤติกรรมองค์กรและความเป็นชุมชนชนิดหนึ่งครับ ประสบการณ์อย่างนี้จึงจะให้บทเรียนและองค์ความรู้ที่ดีสำหรับความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของสังคมสมัยใหม่อย่างปัจจุบันและในอนาคต ดังนั้น วิธีเรียนรู้และเข้าถึงความเป็นจริงจากการทำงานอย่างนี้จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ

P...จ้าน้องณัฐพัชร์..ประมาณนั้นเลย..แต่ว่าพี่อ้อยเล็กแปลกตรงที่..ชอบดูดอกไม้จัดหน้าศพคริๆแปลกแต่จริง..จัดสวยขนาดไหนใช้ดอกไม้ปลอมนี่จะรู้สึกหดหู่น่าดู..มีอยู่งานหนึ่งเป็นงานคุณแม่พี่ที่สอนอยู่ด้วยกัน..ถามเขาว่าดอกไม้ใครจัด..พี่เขาบอกว่าเขาจัดกันเอง..พี่เขาถามว่าถามทำไม..พี่อ้อยเล็กก็บอกว่าสวยดี เรียบง่าย สะอาด คลาสิคคือเขาจัดแบบสีขาว เขียว มองดูโล่งตา โล่งใจ คลายความเศร้าหมองลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ เขาจัดด้วยลิลลี่สีขาว ซ่อนกลิ่น และใบไม้ใบสวยๆ..ชมเขา..เขาบอกว่าขอบคุณ..ไว้แกตายแล้วชั้นจะไปจัดให้แก..ฮาๆเลย..ยกเว้นแต่ว่าถ้าข้าตายก่อนเอ็งก็อด..หาคนอื่นมาจัดแทนก็แล้วกัน..กึ๋ยๆ..การได้พูดคุยถึงในสิ่งที่เรากลัวและทำใจยอมรับมันบ่อยๆมันก็จะรู้สึกเป็นธรรมดาๆ..ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา..แต่อาการกลัวผีของพี่อ้อยเล็กก็ยังกลัวเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง..

ขำดีครับ เล่นกันได้ขนาดนี้นี่ต้องเป็นเพื่อนและคนที่รักนับถือกันแน่นปึ่ก

ผมชื่อศิษฏ์ เวชนิทัศน์รุ่น 29 ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่คณะทันตฯ มหิดล ได้มีโอกาสช่วยงานของสมาคมเวชนิทัศน์อยู่บ้างเล็กน้อย...เท่าที่ทราบมา พี่น้องเวชนิทัศน์ของเรานั้น ทำงานอยู่ที่มหิดลเยอะมากครับ....แต่ ทุกครั้งที่สมาคมจัดงาน จะมีคนมาร่วมงานน้อยมาก....ซึ่งผมเสียดายงานดีดี ที่สมาคมทุ่มทั้งแรงกายแรงใจและแรงเงินที่มีอยู่น้อยนิดจัดขึ้น แต่ไม่มีคนมาฟัง...ทั้งที่มีประโยชน์กับพี่น้องเวชนิทัศน์มากๆ ไม่ใช่แค่ประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นประโยชน์ส่วนรวมครับ เพราะการที่เราได้มาพบปะกัน จะทำให้เราพี่น้องเวชนิทัศน์มีความสามัคคี และเข้มแข็งมากขึ้น

ผมจึงอยากขอความกรุณาอาจารย์วิรัตน์ ช่วยนำเสนอความเห็นของผมต่อ ผู้บริหารของมหิดลด้วยครับว่า ขอให้มหาวิทยาลัยมหิดลส่งเสริมให้บุคลากรที่เป็นเวชนิทัศน์ ได้เข้าร่วมประชุมสัมนา ของสมาคมมากขึ้น ด้วยการมีข้อผูกพันหรือผลต่อหน้าที่การงาน เช่น หากบุคลากรด้านเวชนิทัศน์หรือด้านงานโสตฯ มาร่วมประชุมสัมนาในงานที่สมาคมเวชนิทัศน์จัดขึ้น จะมีผลต่อการขอเลื่อนตำแหน่งต่างๆ เช่นชำนาญการ เชี่ยวชาญพิเศษ หรือ มีผลต่อการประเมินในแต่ละปี (อาจจะดูเป็นการบังคับนิดๆ) แต่ผมเชื่อว่า หากพี่น้องเวชนิทัศน์ที่อยู่ในมหิดล ได้รวมกลุ่มกันแล้ว จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ แก่มหิดลของเรา เวชนิทัศน์ของเรา อย่างแน่นอนครับ...

   สวัสดีครับน้องศิษฎ์ครับ  

พวกเราที่ทำงานให้กับสมาคมต้องชื่นใจขึ้นมาเลยทีเดียวครับที่น้องศิษฎ์ร่วมแสดงทรรศนะและสะท้อนความสนใจต่อความร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อส่วนรวม สภาพอย่างที่น้องศิษฎ์กล่าวมานั้นเป็นความเป็นจริงมาแต่ไหนแต่ไรแล้วละครับ นับว่าพูดอย่างคนเข้าใจอย่างถ่องแท้เลย

กระนั้นก็ตาม เมื่อก่อนนี้ยังดีที่มีทั้งอาจารย์หมอนันทน์ อาจารย์หมอสภา อาจารย์โชติ อาจารย์เยาวดี อาจารย์เสถียร อาจารย์สุมาลี และคนเวชนิทัศน์เก่าแก่เป็นหลักใจให้ยึดเหนี่ยว พอจัดงานกันขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้คนอยากไปกราบคารวะครูอาจารย์และถือโอกาสไปเยี่ยมทำความรู้จักรุ่นพี่ๆ ทว่า ปัจจุบันนี้ถึงแม้คนจบเวชนิทัศน์จะเยอะขึ้น แต่ก็มีคนเก่าแก่ที่คอยเชื่อมโยงผู้คนให้มุ่งไปทำอะไรด้วยกันได้อย่างทั่วถึงน้อยลง เลยก็ยังมีคนร่วมกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นหรอมแหรมเหมือนเดิม หรือบางทีก็อาจจะน้อยกว่าเดิม

แต่จะว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติที่จะเกิดขึ้นแต่เฉพาะวงวิชาชีพเวชนิทัศน์หรอกครับ ในวงการอื่นๆก็มีสภาพคล้ายๆกันอย่างนี้เหมือนกันครับ ยิ่งคนเรียนและจบเวชนิทัศน์นั้น ทั้งประเทศมีอยู่เพียงจำนวนน้อยครับ ผมเคยทำงานของสมาคมทั้งเป็นกรรมการโดยตรงและเดินเข้าไปช่วยเฉยๆโดยมีความคิดอย่างที่น้องศิษฎ์นี่แหละครับ เลยพอจะทราบสภาพการณ์อย่างนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น เวลาใครทำงานให้กับส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นสมาคมเวชนิทัศน์หรือที่ไหนๆ ผมก็มักอยากช่วย อย่างน้อยก็เป็นแรงใจให้กันครับ คนดูแลส่วนรวมเราต้องดูแลไว้ก่อนเพราะหายากแต่ถอดใจง่ายครับ

โดยปรกติแล้ว ในสาขาวิชาชีพอื่นๆ หากมีสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ และกลุ่มที่เป็นนักศึกษาขั้นสูงที่เป็นรุ่นผู้ใหญ่กว่าเพื่อน เป็นแหล่งช่วยทำงานให้และดำเนินการต่างๆเพื่อระดมความร่วมมือจากสมาชิกของสมาคม ก็จะทำได้ดีครับ แต่โรงเรียนเวชนิทัศน์ก็มีคนน้อยอีกและในแต่ละปีก็รับคนเข้ามาเรียนอยู่ไม่กี่คน รวมกันแล้วก็มีคนชนิดที่เรียกว่าแค่นั่งออกจดหมายเชิญประชุมและนั่งทำรายงานสรุป ก็หมดแรงงานคนแล้วครับ ไม่เหมือนกับวงวิชาชีพอื่นๆ หากสถาบันการศึกษาเข้ามาหนุนก็จะเข้มแข็งและพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีสมาชิกให้ความสนใจกระพร่องกระแพร่งเหมือนกันก็ตาม

วิธีหนึ่งที่จะทำให้มีแหล่งพบปะและรองรับการได้พัฒนาตนเอง พัฒนาการทำงาน รวมทั้งระดมความร่วมือเพื่อการทำงานต่างๆได้ดีก็เห็นจะทำอย่างกับชาวเวชนิทัศน์ที่อยู่ในต่างจังหวัด โดยเดินไปหากันเองและมีโอกาสพบปะสังสันทน์กัน เช่น กลุ่มพี่ๆน้องๆที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกับคนทำงานในภาคอีสาน และกลุ่มที่อยู่ภาคใต้ : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สองกลุ่มนี้ผมเคยไปคลุกคลีด้วยทั้งสองกลุ่ม เขาใช้การพูดคุยและชวนกันทำงานเป็นเงื่อนไขให้ได้พบปะและเป็นกลุ่มเรียนรู้ที่จะได้พัฒนาสิ่งต่างๆไปด้วยกัน กลุ่มภาคใต้ ใช้การทำงานศิลปะ ถ่ายภาพ เขียนรูป การแสดงงาน และการทำวงดนตรีเชิงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นเวทีที่มีพลังและมีบทบาทมากครับ เคยเห็นข่าวความเคลื่อนไหวจากสื่อด้วย แต่ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้จะยังพัฒนาตนเองไปในแนวนี้อยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบนะครับ เพราะแกนหลักเลยนั้นคือพี่ชาญ วารีรัตน์ ซึ่งไม่ทราบว่าแกยังอยู่ที่เดิมไหมเนี่ย เมื่อไม่กี่ปีมานี้เห็นชื่อแว๊บๆว่าตระเวนแสดงงานเข้ามาถึงกรุงเทพฯและเหมือนกับว่าจะลาออกไปเป็นคนทำงานอิสระแล้ว

  กลุ่มที่ขอนแก่นก็เหมือนกัน   ใช้การทำงาน แสดงงาน ทำงานบริการวิชาการให้กับสาธารณะแบบจิตอาสา ทำงานวิจัยที่ลงไปปฏิสัมพันธ์กับสังคมชุมชนในท้องถิ่นภาคอีสาน เหนียวแน่นและเข้มแข็งทั้งทุนทางสังคมและความมีบทบาททางวิชาการเวชนิทัศน์กับศิลปะต่อท้องถิ่น เวลาเจอกันก็อบอุ่น มีพลังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ความบันดาลใจ และสะท้อนความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงให้คนที่เดินเข้าไปสัมผัสกลุ่มทันความเปลี่ยนแปลงและหูตากว้างขึ้นอยู่เสมอ เป็นชุมชนที่ทำงานสาธารณะและเป็นแหล่ง Upadate ความรู้-ประสบการณ์ชีวิตอย่างรอบด้านที่มีประสิทธิภาพมากกว่า Academic Journal เสียอีก กลุ่มนักเวชนิทัศน์ในต่างจังหวัดเลยมักมีทรรศนะทางสังคมกว้างขวาง ทำงานเชื่อมโยงกับสังคมเข้มข้น จริงจัง และเครือข่ายการเรียนรู้เปิดกว้าง-ยืกหยุ่นต่อวงสังคมรอบข้าง

ในกรุงเทพฯส่วนกลางนี่ก็คงจะมีการรวมกลุ่มกันหลายๆลักษณะกระมังครับ แต่ถ้าหากขาดเวทีอย่างนั้น การมีเวทีเสวนากันอย่างในเว็บนี่ก็ไม่เลวนะครับ ของเวชนิทัศน์ก็เคยเห็นมีนะครับ ผมยังเคยเข้าไปเขียนและชวนคุย แต่ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำให้พวกเรา เลยก็ไม่รู้ว่าใครลบทิ้งไปไหนแล้วมั๊ง การทำงานและดำเนินชีวิตนั้น หากได้มีโอกาสสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันกับผู้อื่น ก็จะทำให้ได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอนะครับ เรื่องอย่างนี้จึงมีความจำเป็นแม้ไม่ใช่นักเวชนิทัศน์นักก็ตาม 

สำหรับนักเวชนิทัศน์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล หรืออยู่ตามโรงเรียนแพทย์และสถาบันการศึกษาต่างๆในกรุงเทพฯนั้น หากคนมหิดลจะเป็นแกน ทำงานวิชาการและอื่นๆเสริมเข้าไปกับสมาคมตามความสนใจอย่างที่น้องศิษฎ์ว่านี่ก็เชื่อว่าจะเป็นคุณูปการมากทั้งต่อการพัฒนาวิชาการเวชนิทัศน์ให้มีบทบาทต่อการพัฒนาการศึกษาและทางด้านอื่นๆมากยิ่งๆขึ้น รวมไปจนถึงการได้มีอีกทางหนึ่งในการพัฒนางานที่ทุกคนทำ และการได้พัฒนาตนเองนะครับ

อันที่จริงนั้น เท่าที่ผมทราบและสัมผัสได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแต่ไหนแต่ไรแล้ว ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและครูอาจารย์ที่ท่านทราบ ร้อยทั้งรอยเปอร์เซ็นต์จะให้ความสำคัญและสนับสนุนครับ แต่จะก่อเกิดสัมฤทธิผลได้มากน้อยแค่ไหนนั้น อยู่ที่ชาวเวชนิทัศน์มากกว่าครับ แล้วก็วิธีที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับงานอย่างเวชนิทัศน์ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งนั้นความสำเร็จจะอยู่ที่งานที่ได้ลงมือปฏิบัติ ก็คือ ค่อยๆคิดและทำอย่างต่อเนื่องครับ อย่างที่สมาคมโดยพี่แก้วและคณะกรรมการบริหารสมาคมทำนี่ ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผมว่าดีมากเลยละครับ

แล้วที่ผมก็มานั่งเขียนถ่ายทอดและบันทึกเผยแพร่ไว้นี้ ก็คิดว่าเป็นความตั้งใจช่วยเสริมพลังกันอีกทางหนึ่งนะครับ ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องเวชนิทัศน์อย่างเดียวเท่านั้นหรอกนะครับ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องขอสังคมส่วนรวมมากๆด้วย ก็ดูผลงานหลายอย่างของนักเวชนิทัศน์สิครับ ผมว่าสังคมภายนอกและในวงวิชาการโดยทั่วไปนั้นก็ไม่ค่อยได้ทราบให้เป็นที่แพร่หลายกันบ่อยนักนะครับ และคนทำเองก็มักจะเผยแพร่และถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองทำ ไม่ค่อยได้เสียอีก มันเป็นธรรมชาติของการทำงานอย่างนี้จริงๆ เหมือนอย่างงานขรัวอินโข่งและมรดกทางสังคมของศิลปินโนเนมทั้งหลายนั่นแหละครับ การที่เราไม่ค่อยได้พัฒนาวิธีสร้างความรู้ขึ้นเก็บไว้อย่างเหมาะสมอย่างคนที่รู้การปฏิบัติด้วยได้นั้น ทำให้ภูมิปัญญาของสังคมไทยหล่นหายไปกับกาลเวลามากมายครับ หากคนเวชนิทัศน์และคนในสังคมของเราเองไม่ทำ ใครจะมาเป็นคนทำ เลยก็ต้องค่อยๆทำเท่าที่จะทำได้กันอย่างนี้แหละครับ

มีความสุขนะครับ เชิญชวนกันเสวนาตามอัธยาศัยเลยนะครับ ดีครับ หัวข้อนี้ยกให้เป็นเวทีและบอร์ดให้ชาวเวชนิทัศน์แวะมาแขวนข่าวคราวและแลกเปลี่ยนวิชาการ แลกเปลี่ยนนานาทรรศนะกันได้ตามสบายเลยครับ ท่านผู้สนใจที่ไม่ใช่นักเวชนิทัศน์ก็เช่นกันนะครับ.

 หมายเหตุ : เชิงอรรถเพิ่มเติม

[๕] หลักสูตรปริญญาเวชนิทัศน์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรปรับปรุงใหม่และเปิดรับนักศึกษาโดยการจัดสอบเองโดยตรง เป็นหลักสูตร ๔ ปี เน้นเทคโนโลยีสารสนเทศ Computer-Based Art and Media สาขาต่างๆ โดยเฉพาะ Animation, Graphic Art, 3DCG, รวมทั้งเทคนิค Multimedia แบบต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีวิชาพื้นฐานทางศิลปะ ซึ่งในทรรศนะผู้เขียนแล้วจะทำให้บัณฑิตสามารถทำงานพื้นฐานได้เป็นบางส่วน ทว่า จะมีข้อจำกัดอยู่ในตนเองมาก คือ (๑) ทางด้านกราฟิคคอมพิวเตอร์และการเน้นศึกษาให้เข้มข้นเกี่ยวกับ ICT เมื่อจบออกไปแล้วก็จะไม่เป็นความโดดเด่นเฉพาะทางของตน เพราะจะไม่สามารถฝึกฝนตนเองได้เข้มข้นเท่ากับผู้ที่จบ Computer Science หรือ Applied Art และ Graphic Art รวมทั้ง Educational Technology มาโดยตรง (๒) ทางด้านศิลปะก็จะมีข้อจำกัด เพราะแต่เดิมนั้น ผู้ที่เข้ามาศึกษาเวชนิทัศน์จะเป็นผู้ที่ได้ศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะไปแล้วถึง ๕ ปี และลักษณะการศึกษาก็ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสบการณ์พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองเพื่อมุ่งเป็นมืออาชีพตั้งแต่กำลังศึกษา อีกทั้งในปัจจุบันและในอนาคตนั้น งาน ICT และ Computer Art ตลอดจนการทำมัลติมีเดียทั้งหลายนั้น แนวโน้มจะขึ้นอยู่กับการพัฒนาซอล์ฟแวร์ที่อำนวยความสะดวกผู้ใช้ทั่วไป ดังนั้น ความแตกต่างของนักเวชนิทัศน์ก็จะต้องมาจากความสามารถสร้างสรรค์ทางศิลปะที่เข้าไปบวกกับเทคโนโลยี หากใช้เทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางแล้วก็จะเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาตนเองในอนาคต ลักษณะปัญหาอย่างนี้ หลายแห่งจะมีแนวทางพัฒนาาทางออกได้ ๓ ทาง คือ (๑) เพิ่มวิชาพื้นทางทางศิลปะและการสร้างสรรค์ทางศิลปะประยุกต์ หรือ (๒) ขยายปีการศึกษาออกไปเป็น ๕ หรือ ๖ ปี หรือ (๓) งดจัดหลักสูตรปริญญาตรี แต่จัดหลักสูตรหลังปริญญากับหลักสูตรปริญญาโท เพื่อสร้างความเฉพาะทางให้กับนักศึกษาที่มีพื้นฐานที่ต้องการมาแล้ว
[๖]  โรงเรียนเวชสาธิต ได้ริเริ่มและก่อตั้งโดยสถาบันพยาธิวิทยา กระทรวงสาธารณสุข นับแต่เป็นโครงการอบรมระยะสั้นเมื่อปี ๒๕๒๙ รับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษา ๖ แล้วศึกษาต่ออีก ๑ ปี มุ่งสนองตอบด้านกำลังคนของหน่วยบริการสุขภาพและหน่วยวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ
[๗] สาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความเป็นมาเหมือนกับความเป็นมาของสาขาเวชนิทัศน์ ศิริราช โดยเริ่มก่อตั้งและดำเนินการขึ้นจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๓๙ ทว่า ลักษณะของหลักสูตรนั้น มีความเป็นสหวิทยาการและสะท้อนความเปลี่ยนแปลงกระบวนทรรศน์ทางสุขภาพในยุคใหม่มากกว่าหลักสูตรที่ดำเนินการขึ้นในสถาบันอื่นๆของประเทศ

สวัสดีค่ะ

  • อาจารย์คงสบายดีนะคะ
  • เข้ามาอ่านหลายเที่ยวแล้วค่ะ  ได้เรียนรู้และเข้าใจกับหลักสูตร ฯ
  • เคยได้ยินแต่ไม่เข้าใจละเอียดแบบนี้ค่ะ
  • ขอขอบพระคุณมากค่ะ

  สวัสดีครับคุณครูคิมครับ  

  • ขอบคุณคุณครูคิมมากเช่นกันครับ ในหนังสือหิโตปเทศ รวมทั้งครูอาจารย์ ท่านมักบอกว่า การมีมิตรมาเยือนอย่างนี้ ท่านว่าเสมือนเทวดานำความมงคลมาให้เลยทีเดียวนะครับ
  • ผมสบายดีครับ ขอบพระคุณเช่นกันครับ ตอนนี้ในกรุงเทพฯบอกไม่ถูกแล้วครับว่าเป็นอย่างไร ทั้งทหารและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เต็มไปหมดครับ คล้ายกับว่ามีภาวะตึงเครียด น่ากลัว แต่ก็ไม่เห็นมีอะไร เพราะก็อยู่และเป็นกันมาอย่างนี้มาเป็นนานเสียแล้ว
  • สัปดาห์หน้าผมกับคณะจะจัดประชุมพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยชุมชนในมหาวิทยาลัยมหิดล น้องๆที่เตรียมการประชุมถามว่าจะยังจัดได้ไหม จะเลื่อนไหม ก็ตอบไม่ถูกเลยละครับ เลยบอกว่าให้เตรียมดำเนินการทุกอย่างไปตามปรกติเหมือนกับเตรียมงานตามปรกติ หากจะต้องงดและเลื่อนไปก็ไม่จะเสียหายอะไร แต่จะทำให้เราพร้อมทำงานเสมอ
  • บรรยากาศอย่างนี้เลยได้ความรื่นรมย์ในใจพลันที่คุณครูคิมเข้ามาเยือนกันครับ
  • หลักสูตรอย่างเวชนิทัศน์นี้ สามารถแนะแนวให้กับลูกศิษย์คุณครูคิมได้เพิ่มขึ้นอีกสาขานะครับ เมื่อก่อนคนทั่วไปจะรู้จักน้อยมากครับ เพราะส่วนใหญ่จะเจาะจงไปตามกลุ่มที่เรียนศิลปะ แล้วก็จะบอกต่ๆกันไปในวงการ เด็กๆที่อยู่ต่างจังหวัดจะไม่มีข้อมูลสำหรับวางแผนอนาคตให้ตนเองเพื่อเดินเข้าไปในเมืองหาเส้นทางศึกษาต่อที่ตรงกับความสนใจของตนเองเลยนะครับ

   ผลการระดมความคิด แนวคิดการทำสื่อต้นแบบของ ๓ กลุ่ม   

   กลุ่มที่ ๑ ทำสปอต ๒ เรื่อง : สปอตที่ ๑ สปอตโฆษณา Lung เกลียดบุหรี่  

ความยาว ๑๐ วินาที
ภาพปอด ปรกติ สะอาด ต่อมามีควันบุหรี่ทีละเล็กน้อย ค่อยๆเสื่อม ผิดสภาพ
ภาพจับไปที่หน้าผู้ป่วย dialogue บอกผู้ชม แล้วขึ้น dialogue/caption : Safe Health, ……………………Safe Social

  สปอตที่ ๒ : สปอตโฆษณา  ปอดไม่ปลอดบุหรี่ 

ความยาว ๑๐ วินาที
ตรรกะ : ดึงข้อมูลปัจจัยสาเหตุการตาย=ภัยเงียบของมนุษย์ เริ่มจากนำเสนอสภาวการณ์ แล้วดึงเข้าหา dialogue  รณรงค์ dialogue/caption : Safe social………Safe World…

ภาพปอด ปรกติ ส สะอาด ตาอมามีควันบุหร่ทีละเล็กน้อย ค่อยๆเสื่อม ผิดสภาพ ภาพจับไปที่หน้าผู้ป่วย dialogue บอกผู้ชม แล้วขึ้น dialogue/caption : Safe………………………. Just to say NO…..I Love You.

  กลุ่มที่ ๒ กลุ่ม Model และ Specimen 

กระบวนการ : รวมความคิดกันหลวมๆ วิเคราะห์กลยุทธในการรณรงค์ วิเคราะห์ลักษณะสื่อ ที่สอดคล้องกับความต้องการใช้  อภิปรายเปรียบเทียบสื่อ เทคนิคสื่อ  หาจุดเด่น จุดด้อย จุดแข็ง จุดอ่อน ความสอดคล้องกับการนำมาใช้รณรงค์เรื่องบุหรี่ ประมวลภาพความคิดเห็น สรุปหาความคิดร่วม  ประเมินประเด็นร่วม สรุปเป็นแนวคิดของกลุ่ม ได้แนวคิดและรูปแบบเพื่อทำงาน Creative ของกลุ่ม

 ทำงาน Creative สร้างสรรค์ และ Copy Copy-write

ร่างความคิด : ทำเป็น Visualize โยนไอเดีย หาขนาด รูปทรงของแบบหุ่นจำลอง
ทดลองหาวิธีติดตั้ง วิธีนำเสนอ สื่อผสม ตัวเดินเรื่องหลักคือ โมเดลมวนบุหรี่
มีการผสมผสานสื่ออื่นและเทคนิคอื่นช่วย เช่น รูปปั้นเด็ก แม่ เสียงเด็กร้องทุรนทุราย

ประเด็นที่สื่อคือ
บุหรี่กับผลกระทบต่อผู้หญิง-แม่-ลูกที่อยู่ในครรภ์-เด็ก-(คุณภาพคน/สังคม)

  Space และ Presentation   : แหล่งสาธารณะ  ที่ชุมนุมชนต่างๆ /แหล่งเรียนรู้และจัดขึ้นเพื่อนำเสนอและรณรงค์

การทำ : ต้องการการสนับสนุนจากฝ่ายผู้เกี่ยวข้องอื่นๆด้วย เช่น แหล่งทุนสนับสนุนหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

  กลุ่มที่ ๓ กลุ่ม Multimedia 

กระบวนการ :ทำความคิดกันก่อน วิเคราะห์กลุ่มเชิงยุทธศาสตร์ มองไปที่กลุ่มสตรีและเด็ก วัยรุ่น
จากนั้น เลือกพื้นที่ปฏิบัติการ=อยุธยา รวบรวมข้อมูลมาทำสื่อที่สอดคล้องกับกลุ่ม = การ์ตูนและเกมส์

วิเคราะห์และจัดวางสื่อ : กระตุ้นปฏิสัมพันธ์ และให้ข่าวสารความรู้ Educate and inform communication strategy

Concept/Creative Idea : Q/A : Question /Quiz and Answer
สร้างความสงสัย กระตุ้นให้ติดตาม ให้ความรู้ผ่านกระบวนการกระตุ้นเล่นเกมส์
สอดแทรกข้อมูลไประหว่างกระบวนการที่เป็น Active Learning

  ข้อเสนอแนะต่อกระบวนการประชุมและการพัฒนาเครือข่ายวิชาการเวชนิทัศน์ เพื่อเรียนรู้มิติใหม่ๆของงานสุขภาพและร่วมสร้างสุขภาวะสังคม 

ผมสะท้อนข้อเด่นของเวที สิ่งที่เป็นผลดี และมีข้อเสนอแนะปิดท้ายการนำเสนอผลงานกลุ่มก่อนอำลากันด้วย

  • เวทีมีลักษณะเป็นประชุมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดทักษะ เพิ่มพูนทักษะ ระดมความคิด ได้งาน ได้คนมีความสามารถใหม่ๆกลับไปทำงานเวชนิทัศน์ดีขึ้น
  • ควรเพิ่มมิติกระบวนการเรียนรู้ เสริมพลังเครือข่ายวิชาการเวชนิทัศน์ในประเทศไทยและอาจยกระดับได้ในหลายแง่มุม
  • พัฒนากระบวนการถอดบทเรียน รวบรวมประสบการณ์ และจัดการความรู้บนเวทีแบบนักเวชนิทัศน์ซึ่งมีเครื่องมือ ศิลปะ และเทคนิควิธีการที่มีพลังอยู่ในตัวเอง
  • รวบรวมเป็นบทเรียนและประมวลเป็นองค์ความรู้ที่ผลิตได้คู่ขนานไปด้วยในเวที
  • พัฒนาไปเป็นโครงการและแผนงานในระดับประเทศ เสริมขึ้นมาจากภารกิจเดิม ใช้กระบวนการเรียนรู้จากการทำงานสื่อรณรงค์สุขภาพเป็นโอกาสพัฒนาเครือข่าย

   เลื่อนการประชุม ครั้งที่ ๒ ไปเดือนเมษายน ๒๕๕๓ 

ทางสมาคมแจ้งให้ทราบว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒ ที่แต่เดิมจะจัดในสัปดาห์ที่จะถึง ๑๕-๑๖ มีนาคม ๒๕๕๓ นี้ จำเป็นต้องเลื่อนไปก่อนครับ เนื่องจากสมาชิกและผู้สนใจที่จะเข้าร่วมประชุมบางส่วนจะต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด และสถานที่ประชุมในกรุงเทพมหานคร อยู่ในบริเวณที่มีการชุมนุมกัน ทางผู้จัดเลยเกรงว่าจะไม่สะดวกและไม่อยู่ในบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

  ขอเสนอแนะรูปแบบการประชุมเพิ่มขึ้นบางส่วน   

หากมีการทำเวิร์คช็อปเพื่อรวบรวมแนวคิดและทำงานในเวทีประชุมกันอีก ผมเสนอให้ชาวเวชนิทัศน์พัฒาวิธีถอดบทเรียนและจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นำเอาศิลปะและสื่อ มาทำให้การทำงานความคิดและนำเสนอข้อมูล มีพลังสร้างสรรค์ ได้พัฒนารูปแบบการประชุมให้เป็นปฏิบัติการเรียนรู้แบบเสริมสร้างพลังไปด้วย คนเวชนิทัศน์มีเทคนิค วิธีการ ที่อยู่ในมือตนเองมากมายครับ

 การพัฒนาเวที อย่างนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้เป็นวิธีสร้างความรู้และจัดกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานเป็นกลุ่ม ที่สร้างสรรค์ มีพลังทางวิชาการและสะท้อนความเชี่ยวชาญที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเวชนิทัศน์ได้มากขึ้นเรื่อยๆครับ

 วิธีการกับองค์ความรู้การปฏิบัติ อย่างที่นักเวชนิทัศน์มีนี้เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ไปกับการปฏิบัติ จึงสามารถนำไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักพัฒนาและนักวิชาชีพสาขาอื่นๆให้มีเครื่องมือและวิธีทำงานความรู้ได้ดีขึ้น นักเวชนิทัศน์ก็จะได้เรียนรู้ไปด้วยมากขึ้น และต่างก็เสริมกำลังกัน ให้สุขภาวะของส่วนรวมดีขึ้น..............

กราบสวัสดีงามๆ ค่ะพี่ม่อย (ขออนุญาตเรียกแบบไม่เป็นทางการนะคะ) ต้องขอชื่นชมและขอบคุณพี่ม่อยมากค่ะที่นำเสนอเรื่องราวดีๆ มีสาระมากมาย ประทับใจค่ะที่มีรุ่นพี่เป็นแนวทางเช่นนี้

จริงๆ แล้วเก๋ได้อ่าน blog นี้แบบ scan ไปแล้วครั้งนึง และได้ post link นี้ลงใน hi5, facebook ให้เพื่อนๆ ทั้งที่ได้ไปประชุมเชิงปฏิบัติการกับเวชนิทัศน์และที่ไม่ได้ไปด้วย ซึ่งแต่ละคนอ่านจาก blog นี้แล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โดยภาพรวม งานประชุมก็โอเค และยิ่งได้บทความจากพี่บรรยายประกอบด้วยแล้ว ยิ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ดูเป็นเรื่องราว มีที่มาที่ไปได้ดีมากๆ ค่ะ 

และได้เห็นว่าพี่ม่อยเขียนบทความไว้หลายต่อหลายเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ทีเดียว ซึ่งการได้เข้ามาแลกเปลี่ยนทรรศนะเช่นนี้ ทำให้ขยายกรอบแนวคิด สามารถเชื่อมโยง idea ได้ดีทีเดียว ตอนเก๋เขียน proposal   ได้ลอง search เกี่ยวกับสื่อสุขภาพก็ยังไปเจอบทความของพี่ จึงได้รู้ว่า แกนนำคนนึงในการพัฒนาสื่อสุขภาพเพื่อสังคมก็คือพี่ม่อยนั่นเอง และได้นำไปอ้างอิงในเล่มด้วยค่ะ ขออนุญาติตรงนี้และขอบคุณแนวคิดของพี่ที่ทำให้เก๋สามารถขยายผลต่อได้ค่ะ  

สำหรับผลจากการจัดประชุมของสมาคมที่ผ่านมา ภาพรวมที่ประเมินอยู่ในเกณฑ์พึงพอใจในระดับมากค่ะ เก๋ว่าผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มเล็กๆ อย่างนี้ทำให้เราจัดการอะไรง่ายและทั่วถึงยิ่งขึ้น เป็นกลุ่มเล็กแต่ถ้ามีใจที่จะทำก็น่าจะผลักดันงานให้ลุล่วงได้ ปัญหาของสมาคมฯ คงอย่างที่ทราบๆ กันอยู่ เรายังคงรวมกลุ่มเดิมๆ หน้าเดิมๆ จุดนีี้คงอยู่ที่การให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ถึงจะเอาข้อบังคับไปผูกมัดแต่ถ้าไม่ได้มาด้วยใจที่อยากจะพัฒนาก็คงไม่เกิดผล เก๋เองทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะวิชาชีพนักเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์  คือต้องพัฒนาตัวที่จะเป็นมาตรฐานอาชีพของเวชนิทัศน์ก่อน ดูว่าควรต้องทำอะไรได้บ้างในการประกอบวิชาชีพนี้ แล้วจึงนำมาตรฐานนั้นมาวิเคราะห์และจัดทำเป็นโมดูลการเรียนรู้ จากนั้นจึงพัฒนาสื่อ-การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะให้กับคนในอาชีพ สุดท้ายคือการประเมินสมรรถนะจากการปฏิบัติงานจริงว่าเค้ามีสมรรถนะตามข้อกำหนดในมาตรฐานหรือไม่?  ตอนแรกที่เสนอแนวคิด อ.ที่ปรึกษา ยังกลัวว่าจะเกิดผลแค่ในกลุ่มเล็กๆ ด้วยว่าวิชาชีพเรามันก็น้อยนิดในสังคม แต่ถ้าถามถึงความสำคัญทั้งต่อศาสตร์ สังคม องค์กร ประเทศชาติฯลฯ เก๋ว่าควรอย่างยิ่งที่ต้องจับ เพราะวิชาชีพเวชนิทัศน์เรามีมาถึงวันนี้ 44 ปี เปิดสอนอยู่ 3-5 แห่ง ผลิตบุคลากรต่อปีไม่กี่คน สมาคมวิชาชีพก็มีรองรับแล้ว แต่มาตรฐานของวิชาชีพอยู่ตรงไหน การเรียนการสอนไปในทิศทางใด ตรงนี้สำคัญ เท่าที่สัมผัสมาตอนนี้เด็กในหลักสูตร 4 ปีที่ศิริราชนี่เป็นเด็กที่มีคะแนนค่อนข้างสูง ความรับผิดชอบดี กิจกรรมเก่ง เชื่อว่ามีต้นทุนดีแล้ว แต่สิ่งที่อยากเน้นน่าจะเป็นความที่เราเป็นวิชาชีพที่มีพ่วงท้ายทางการแพทย์ ซึ่งเราน่าจะทำให้โดดเด่นและเป็นจุดขายให้กับหลักสูตรและวิชาชีพของเราได้   เทอมหน้าเก๋ต้องลงสอนเต็มตัว ตอนนี้ก็พยายามหา best practice ค่ะ และนั่งนึกๆ อยู่ว่าเราขาดอะไรตอนเรียน ก็จะพยายามยัดเยียดเอาจุดนี้ไปใส่ให้เด็กละกัน คงต้องไปขอวิทยายุทธ์จากพี่ม่อยในโอกาสต่อไป  ส่วนการปฏิบัติงานในวิชาชีพ คนที่เข้ามาปฏิบัติงานเวชนิทัศน์นี่ เราไม่ได้จำกัดเฉพาะวุฒินี้ หรือจบหลักสูตรนี้ การทำงานบางครั้งจึงขาดมาตรฐานไป (ต้องบูรณาการศาสตร์ 4 ด้าน >>> เทคโนโลยีการศึกษา วิทยาศาสตร์การแพทย์ขั้นพื้นฐาน ศิลปะ นิเทศศาสตร์) กระทั่งผู้ที่จบตามหลักสูตรเองก็ยังต้องพัฒนาทักษะเพิ่มด้วยเช่นกัน นั่นล่ะค่ะจึงเป็นที่มาที่ไปในการคิดหัวข้อของเก๋ อย่างไรคงต้องทาบทามพี่ม่อยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยนะคะ

ท้ายนี้ขอบคุณพี่ม่อยอีกครั้งค่ะที่ร่วมแบ่งปันสาระดีๆ มากมาย อ่านแล้วเพลิดเพลินไปหลายรอบ จนลืมงานที่ยังกองค้างอยู่ โอกาสหน้าเก๋จะเข้ามาเยี่ยมชมอีกนะคะ อย่างไรก็ดีทำงานเยอะและหนักเช่นนี้ ดูแลสุขภาพ & พักผ่อนด้วยค่ะ 

ปล.ฝากความคิดถึง ถึงพี่หน่อยด้วยนะคะ วันประชุมยังไม่ได้ขอ e-mail พี่หน่อยไว้เลยค่ะ

สวัสดีค่ะ

เก๋ โสภิตา สุวุฒโฑ

 

  สวัสดีเจ้าเก๋ : ว่าที่ ดร.โสภิตา สุวุฒโฒ 

ยังสงสัยอยู่ว่าหัวข้อที่ดูค่อนข้างเฉพาะด้านมากอย่างนี้ โพสต์เผยแพร่ไปไม่กี่วันแต่ทำไมคนเข้ามาดูเพิ่มขึ้นเร็วจริง เร็วกว่าหัวข้อเรื่องอื่นๆเสียอีก เลยได้คำตอบจากเก๋นี่เองว่าคงเป็นเพราะเก๋ Foreward ไปให้เพื่อนๆไปด้วยนี่เอง แต่อีกด้านหนึ่งก็เดาว่าคงเป็นเพราะรูปภาพและกิจกรรมน่าสนใจ คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น พอเห็นแล้วก็น่าตื่นตาตื่นใจ

พี่ดีใจและชื่นชมที่ได้ทราบความก้าวหน้าหลายอย่างของเก๋ ทั้งเรื่องกำลังทำปริญญาเอก การเข้ามาเป็นอาจารย์ของเวชนิทัศน์ แล้วก็ทำดุษฎีนิพนธ์ในเรื่องที่จะพัฒนาความเป็นวิชาชีพเวชนิทัศน์ เก๋เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีทุนทางสังคมอยู่ในตนเองดีมากอย่างยิ่งที่จะเป็นเจ้าของเรื่องให้กับหลายเรื่องที่หลายคนให้ความใส่ใจและได้พูดถึงกันในหลายโอกาส ทั้งในเรื่องการพัฒนากิจกรรมทางวิชาการ การพัฒนาเครือข่ายนักเวชนิทัศน์ และการพัฒนาบทบาทของสมาคม ทั้งต่อความเป็นสมาคมวิชาชีพและต่อการเป็นเวทีให้กับพี่ๆน้องๆชาวเวชนิทัศน์

เก๋เป็นคนที่คลุกคลีกับรุ่นพี่ๆเวชนิทัศน์และสมาคม จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นคนเวชนิทัศน์รุ่นใหม่ที่สัมผัสความเป็นเวชนิทัศน์ได้อย่างใกล้ชิดมากที่สุด การเอาเป็นธุระและจัดการทุกอย่างก็ได้ทำและทำดีด้วย ความเป็นวิชาการก็ดี ความผูกพันและเป็นที่รู้จักกับเวชนิทัศน์ทุกรุ่นนั้นยิ่งดีใหญ่ ที่สำคัญคือเป็นอาจารย์เวชนิทัศน์แล้วก็กำลังจะสำเร็จปริญญาเอกในสาขาที่จะช่วยให้เก๋เป็น Authority ในวงวิชาการสาขานี้ที่ดีที่สุดคนหนึ่ง

พี่เห็นลางๆว่าหากเก๋ยังคงมีบทบาททำงานสมาคมอยู่ด้วยละก็ กิจกรรมของสมาคมอย่างที่สมาชิกหลายคนอยากทำก็น่าจะดีขึ้นมากๆและจะส่งผลต่อการพัฒนาทั้งวงวิชาการเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ได้มาก ยิ่งถ้าหากเก๋ดึงเข้าไปเชื่อมโยงกับงานด้านการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนได้ด้วย ก็จะทำให้มีแหล่งสร้างประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาที่กว้างขวาง 

แนวคิดที่เก๋จะทำ Disertation ก็น่าสนใจและสอดคล้องกับความจำเป็นดีนะครับ การรับเด็กในแนวทางใหม่เข้ามาศึกษา ๔ ปีแต่ต้องการให้ได้ความรอบด้านในระยะเวลาอันจำกัดนั้น มันเกิดคำถามการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่ดีได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเป็นเด็กในระดับปริญญาตรี  แต่ว่า แนวคิดในการพัฒนารูปแบบผสมผสานเพื่อเสริมสมรรถนะในขณะที่อยู่ในระหว่างกระบวนการศึกษาของหลักสูตรนั้น สมรรถนะที่สำคัญทางด้านต่างๆ ก็จะอยู่ในจุดหมายรายวิชาอยู่แล้วซึ่งแต่ละรายวิชาก็จะมีการวัดและประเมินผลเพื่อกำกับกระบวนการต่างๆให้นักศึกษาสามารถบรรลุจุดหมายตามมาตรฐานที่ต้องการได้ ดังนั้น การตั้งโจทย์คร่อมลงไปเพื่อเสริมสมรรถนะทางวิชาชีพ ก็คงจะต้องดึงเอาแง่มุมที่เป็นสมรรถนะที่สำคัญโดยตัวมันเองอีกด้านหนึ่งด้วย ทว่า เป็นด้านที่จะสะท้อนความเป็นบูรณาการของทุกด้านเข้ามาอยู่ในตัวเอง หรือไม่อย่างนั้น ก็เป็นสมรรถนะด้านที่สำคัญในการจัดการตนเองของผู้เรียนที่จะทำให้เกิดกระบวนการต่างๆตามมา และกระบวนการที่สืบเนื่องตามมานั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพได้ครบทุกด้าน

หลายแห่งเขาก็จะตีโจทย์อย่างนี้ไปสู่การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ แต่ว่าให้มีองค์ประกอบที่สำคัญ ๔-๕ ส่วน คือ | การฝึกประสบการณ์จากหน่วยงานที่มีงานในสาขาวิชาชีพ | การสัมมนาเพื่อตกผลึกและเสริมความแน่นทั้งประสบการณ์และทางวิชาการ | การมีทีม Mentor | การมีทีม Supervisor | และการสังเคราะห์ประสบการณ์ขึ้นมาทำรายงาน | รูปแบบอย่างนี้สำหรับเด็กระดับปริญญาตรีแล้วก็เหมาะสมดีและสามารถพัฒนาให้เกิดมิติใหม่ๆขึ้นมาได้อีกเยอะนะครับ ยิ่งถ้าหากทำแต่ละองค์ประกอบให้เป็นหน่วยประสบการณ์ที่มีความหมายและบริหารจัดการเชิงกระบวนการ ให้เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้จริงๆ ก็เชื่อว่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างคนได้ดีมากนะ ยิ่งเป็นสมรรถนะที่ผสมผสานอย่างวิชาชีพเวชนิทัศน์ด้วยแล้วละก็ การได้เรียนรู้ที่สะท้อนให้ได้ขัดเกลาเติมแต่งไปในระหว่างการปฏิบัติ-ทำงานจริง ก็น่าจะดีกว่าการเรียนจากท่องตำราและอยู่แต่ในห้องเรียน หลายเท่านะครับ เก๋ทำได้ดีและน่าสนใจอยู่แล้ว ลุยเลย

แต่ไหนๆก็จะต้องได้ทำ ซึ่งก็คงจะเหนื่อยและยุ่งยากอยู่แล้ว พี่เลยขอมีส่วนร่วมเสนอแนะสักเล็กน้อยนะครับ คือ หากในเชิงการได้สร้างความรู้และหาทฤษฎีที่มีพลังต่อการอธิบายเพื่อนำมาพัฒนากระบวนการเรียรู้นั้น มันก็ดีมากๆอยู่นะครับ แต่ในบ้านเรานั้น ยังมีความจำเป็นที่จะได้คนจากการศึกษาในขั้นสูง ที่นอกจากจะแตกฉานในความรู้พื้นฐานของสาขาการปฏิบัติหนึ่งๆแล้ว พี่ว่าควรจะให้ความสำคัญต่อเรื่องที่เป็นประเด็นเชิงระบบ แนวนโยบายในระดับประเทศ และแนวโน้มของการปฏิบัติที่ครอบคลุมทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคไปเลยนะครับ ซึ่งสามารถทำให้อยู่ในส่วนของการศึกษาโครงการย่อยๆ ให้เข้ามาประกอบกันอยู่ในงานวิจัยที่ร่วมกันตอบโจทย์ไปด้วยกันให้ครอบคลุมหลายด้านน่ะ แต่ต้องอยู่ที่ใจสู้และการมีทีมอาจารย์พี่เลี้ยงที่ช่วยกันดูในแนวอย่างนี้ได้นะครับ

ในความคิดของผมนะครับ เราพี่น้องเวชนิทัศน์ืืุทุกคนที่ทำงานในมหิดล เราสามารถมาทำงานได้ทุกวัน(ลาหยุดบ้างเป็นธรรมดา) และเมื่อผู้บังคับบัญชา ให้เราไปปฏิบัติงานที่ไหน เมื่อไหร่ ส่วนใหญ่เรามักจะทำได้เสมอ เพราะเรารู้สึกว่าการมาทำงาน และ การปฏิบัติตามคำสั่งเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญ ถ้ามีอะไรบางอย่างทำให้พี่น้องเวชนิทัศน์ทุกคนที่ทำงานในมหิดล รู้สึกว่าการมาประชุม สัมนา ในงานที่สมาคมจัดขึ้น เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ หากพี่น้องเวชนิทัศน์มองเห็นว่า การมาร่วมงานที่สมาคมจัดขึ้น เป็นไพรออลิตี้ อันดับต้นๆ ของชีวิตการทำงาน ผมว่าวันนั้น มันจะมีอะไรดีดีเกิดขึ้นมากๆ เลยครับ.....มันคล้ายๆ กับโหลแก้วที่มีทั้งหิน ดิน ทราย อยู่ในโหลแก้วที่ พี่น้องเวชนทัศน์อาจคิดว่า โหลมันเต็มแล้ว ใส่อะไรไม่ได้อีกแล้ว เหมือนกับการไม่มีเวลาให้กับสมาคมเวชนทัศน์ของเรา แต่เชื่อไหมครับว่าโหลแก้วที่เต็มแล้วนั้น สามารถเทน้ำลงไปได้อีก หากพี่น้องลองคิดว่าน้ำเปล่าเป็นตัวแทนของการมาร่วมงานสมาคมเวชนิทัศน์ น้ำเปล่านั้นยังสามารถเทลงไปในโหลชีวิตการทำงานของพี่น้องได้อย่างแน่นอน ขอแค่พี่น้องเวชนิทัศน์ลองเปิดใจครับ

ศิษฏ์ ณัฐเศรษฐสกุล

ทันตฯ มหิดล

และขอขอบคุณ คำตอบของอาจารย์วิรัตน์ มากๆ ครับ รู้สึกว่าอาจารย์ใส่ใจกับทุกความเห็น....ทำให้อยากออกความเห็นไปเรื่อยๆ อิอิ

  •   ดีครับ รณรงค์และบอกกล่าวความคิดเห็นกันไว้อยู่เสมอๆก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คนอื่นๆได้ทราบข่าวสารความคิด-ความเคลื่อนไหว
  • การร่วมคิดและเป็นสื่อช่วยกันอย่างน้องศิษฎ์นี้ ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องทำง่ายๆและเล็กน้อยนะครับ แต่สามารถทดแทนหรืออาจจะดีกว่าใช้วิธีทำหนังสือเวียนหรือจุลสารของสมาคมอีกนะครับ อย่างหลังนี้ทั้งเป็นงานที่ต้องใช้กำลังคน ใช้เวลาและความเสียสละของใครสักคน รวมทั้งต้องมีงบสำหรับใช้จ่ายพอสมควร
  • เอาภาพถ่ายมาคั่นให้พักสายตากันนะครับ เป็นมุมหนึ่งของกรุงเทพฯที่มองเห็นศิริราชและธรรมศาสตร์ด้วย                             

                           

                            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย
                            มองจากยอดภูเขาทอง ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  •   การจัดประชุม   สัมมนาทางวิชาการ รวมทั้งกิจกรรมแสดงผลงานของเวชนิทัศน์ หากทำอย่างต่อเนื่องก็น่าจะเป็นเวทีที่น่าสนใจมากนะครับ
  •   ได้ข่าวแว่วๆ    อยู่เหมือนกันว่าปีนี้หรือต้นๆปีหน้านี้ ทางโรงเรียนเวชนิทัศน์และสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ จะจัดประชุมวิชาการและงานแสดงผลงานของเวชนิทัศน์ทุกรุ่น ใครทราบรายละเอียดอย่างไรก็เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กันให้ได้เตรียมตัวและมีส่วนร่วมกันได้อย่างเต็มที่นะครับ

  ขอบคุณน้องศิษฎ์และชาวเวชนิทัศน์ รวมทั้งผู้สนใจทุกท่านด้วยเช่นกันครับ  ที่เจียดเวลามาช่วยกันเขียน คุย สนทนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้และนำเสนอความคิดเห็นให้กัน หลายเรื่องเมื่อสื่อสารพูดคุยกันแล้วก็เป็นการสร้างความคิดและเป็นแรงบันดาลใจให้กัน ซึ่งก็จะเป็นผลดีทั้งต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน

  • มองในเรื่องที่มันเสริมกับงานที่ทำ พี่ก็มองว่ามันเป็นทั้งเวทีคุยและเป็นสื่อที่ดีอย่างหนึ่งที่เราสามารถทำให้มีความหมายใหม่ๆสำหรับเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์เรื่องดีๆด้วยตนเองได้อย่างหลากหลาย และพร้อมไปกับที่ได้ทำนั้น ก็เป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้และการเปิดมหาวิทยาลัยออกให้กับชุมชนต่างๆไปด้วยซึ่งก็หาวิธีพัฒนาได้อีกเยอะครับ
  • จำเพาะทางด้านเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ บางส่วนที่ทำโดยวิธีแบบเราๆ นั้น ก็คงต้องหาทางเรียนรู้จากการทำดูนี่แหละดีที่สุดครับ ขออาศัยในเว็บบล๊อกอย่างนี้ก็ช่วยให้ทำด้วยตนเองได้ดีเหมือนกันครับ
  • แต่การต้องมานั่งเขียน และสำหรับพี่เองนั้นก็ตั้งใจจะทำให้เห็นถึงความเป็นสื่อทัศนศิลป์และภาษาศิลปะ ภาษาภาพจากการเห็น Graphic Art ที่เข้ามาบวกกับสื่อความรู้ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ใช้เวลามากเหมือนกันครับ แต่เชื่อว่าทำบ่อยๆเดี๋ยวก็มีคนเวชนิทัศน์ออกมามาช่วยกันทำกันต่อๆไป คนเวชนิทัศน์ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยก็พอจะมีเวทีหลากหลายคึกคักมากยิ่งๆขึ้น เวทีอื่นๆพี่อาจไปร่วมไม่ค่อยได้ ขอร่วมเป็นบางเวทีและมีส่วนร่วมในทางอ้อมอย่างนี้ก็คงพอได้นะครับ
  • แต่พี่ก็ได้อะไรเยอะเหมือนกันครับ โดยเฉพาะได้เห็นตำเหน่งแห่งหนที่เหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆของงานวิชาการและการสร้างความรู้ การบริการวิชาการแก่สาธารณะในสาขาที่สนใจ ที่พอดีสำหรับการสานสังคมการเรียนรู้ตรงรอยต่อความแยกส่วนของกลุ่มนักวิชาการ กับกลุ่มคนปฏิบัติและกลุ่มชาวบ้านทั่วไป เลยก็เหมือนเป็นการสะสมพื้นฐานประสบการณ์ต่างๆให้กับตนเองไปด้วยน่ะครับ

   ศิลปะสื่อ วิธีทำงานความคิด และหลักจิตวิทยาการออกแบบสารสำหรับทำสื่อรณรงค์บุหรี่  

การแบ่งทำเวิร์คช็อปกลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม เนื่องจากระยะเวลาสำหรับทำงานความคิดและรวบรวมข้อมูล มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งการทำงานสร้างสรรค์นั้น โดยทั่วไปแล้วจะเป็นงานที่เหมาะสำหรับการทำงานคนเดียวแล้วค่อยโยนเข้าหากลุ่มกลับไปกลับมา หากทำเป็นกลุ่มแล้ว ก็จะทำให้สูญเสียพลังในการคิดและหมดแรงไปกับความพยายามที่จะสื่อความคิดกันและกันมากกว่าจะได้ใช้พลังตตนเองทั้งหมดลงไปที่โจทย์การทำงาน ดังนั้น ทั้ง ๓ กลุ่มก็เกือบทำงานไม่ออก

ผมเลยขอเดินเข้าไปนั่งฟังแต่ละกลุ่มพอให้เห็นประเด็นความสนใจและแนวความคิดเท่าที่เริ่มโยนออกมากันได้ ซึ่งก็พอจะมองเห็นวิธีสร้างปมสำหรับสื่อ วิธีคิด และแนวการออกแบบสารเพื่อสื่อออกไปใน ๓ ลักษณะ คือ | เทคนิคการขู่ให้กลัวเกรง | การสร้างพลังความรู้เพื่อตัดสินใจด้วยความพร้อม | และการสร้างตัวแบบสถานการณ์ที่ดีกว่าให้เลือก |ผมจึงช่วยทำหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการระดมความคิด โดยให้ข้อมูลและหลักทำงานความคิด เท่าที่จำเป็นสำหรับวิธีการออกแบบสื่อใน ๓ แนวทางนี้

 (๑)  เทคนิคการขู่ให้กลัวเกรง (Fear-aruasal strategy) การขู่ให้กลัว เป็นเทคนิคิธีการสื่อที่เห็นได้ทั่วไปสำหรับการรณรงค์บุหรี่ เช่น การนำเอาภาพที่น่ากลัวพิมพ์เผยแพร่ไปบนซอง การนำเอาข่าวดาราหรือผู้มีชื่อเสียงที่เจ็บป่วยจากการสูบหรี่มาเป็นกรณีตัวอย่าง กลุ่มที่สนใจแนวนี้ นอกจากมุ่งสื่อให้แรงและออกแบบการนำเสนอสถานการณ์ที่ให้ได้ผลตามที่ต้องการแล้ว ควรมีหลักคิดในการออกแบบสารและองค์ประกอบต่างๆของสื่อที่สำคัญอีก ๒ เรื่องคือ

  • ผลกระทบจากการทำให้กลุ่มเป้าหมายและสาธารณชนที่รับสื่อเกิดความชาชินสิ่งที่เป็นสภาพปัญหาของสังคม ต้องวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของการนำเอาสื่อไปเผยแพร่ด้วย เพราะเมื่อบวกเข้ากับเทคนิคการขู่ให้กลัวเพิ่มเข้าไปอีกสื่อหนึ่งแล้ว ในบางสถานการณ์ นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ก็กลับจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบไปอีกด้าน โดยเมื่อรวมเข้ากับการซ้ำและการย้ำที่เกิดจากสื่อในแนวเดียวกันก่อนหน้านั้นแล้ว ก็กลายเป็นย้ำและซ้ำลงไปจนเกินขีดจำกัดที่จะมีความหมาย ทำให้กลุ่มเป้าหมายและสาธารณชนชินชา เพิกเฉย จนเห็นภาพที่เป็นปัญหากลายเป็นสิ่งปรกติ
  • ผลกระทบที่เกินเลยไปไกลมากกว่าการมุ่งส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยกลายเป็นการตีตรา สื่อแรงเกินไปอาจทำให้เกิดการเกลียดคนมากกว่าการเกลียดการสูบบุหรี่

 (๒)  การสร้างพลังความรู้เพื่อตัดสินใจด้วยความพร้อม กลุ่มที่เน้นการนำเอาข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งจากการวิจัย รายงานผลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ หากจะออกแบบและจัดวางการนำเสนอสถานการณ์สื่ออย่างมีพลัง ก็ต้องเข้าใจแนวทางของสื่อด้วยวิธีอย่างนี้ว่าเป็นการสื่อเพื่อสร้างความพร้อมในการตัดสินใจ หรือสร้างพลังความรู้ให้ปัจเจกและชุมชนได้ข่าวสารที่เพียงพอเพื่อตัดสินใจเมื่อพร้อมด้วยตนเอง สาระสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ปริมาณข้อมูลและการยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ทว่า อยู่ที่การสื่อเสริมพลังเพื่อให้ปัจเจกและชุมชน มีส่วนร่วมทางการปฏิบัติด้วยความมีเหตุผลจากตนเอง ต้องทำจุดแข็งของสื่อแนวนี้ให้มุ่งไปที่การใช้ปัญหาเป็นโอกาสสร้างความเป็นพลเมืองและ Actived participant
 (๓)  การสร้างตัวแบบสถานการณ์ที่ดีกว่าให้เลือก  กลุ่มที่สนใจทำสื่อแนวโฆษณาโน้มน้าวให้คนทิ้งบุหรี่เป็นที่เป็นทางและไม่สูบบุหรี่ในแหล่งที่ไม่ได้จัดให้เป็นสัดส่วน ควร ต้องตระหนักถึงผลของการใช้วิธีโน้มน้าวที่สำคัญไปด้วยเช่นกันว่า การปฏิบัติที่เกิดจากการโน้มน้าวนั้น กลุ่มเป้าหมายของสื่อจะสนองตอบใน ๒ ลักษณะที่ต้องพิจารณา คือ..

  • กลุ่มเป้าหมายจะไม่มีกระบวนการเรียนรู้แต่จะสนองตอบไปตามแรงโน้มน้าวทั้งจากสื่อและจากสังคมรอบข้าง ดังนั้น จึงไม่เกิดทักษะที่จะนำไปปฏิบัติในสถานการณ์อื่นๆ 
  • กลุ่มเป้าหมายที่สนองตอบในทิศทางดังที่ต้องการ จะสนองตอบด้วยการปฏิบัติที่คล้อไปตามแรงโน้มน้าวจากสื่อและสังคมรอบข้าง ดังนั้น จึงทำให้เป็น Passived participant ลดความสามารถของปัจเจกและลดภาวะผู้นำในการตัดสินใจด้วยตนเองของปัจเจก

  ในการทำงานความคิด   หากมีหลักเหล่านี้ประกอบการพิจารณาไปด้วย ก็จะทำให้ออกแบบสารและการนำเสนอสถานการณ์ในสื่อเพื่อสื่อสารกับผู้รับได้ตรงตามวัตถุประสงค์พร้อมกับทำให้เป็นโอกาสสร้างการเรียนรู้และเสริมสร้างพลังของประชาชนให้มีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สร้างสังคมสุขภาวะที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นมากยิ่งๆขึ้นไปด้วย.

 

ผมทดลองใส่ Hit Counter ให้กับหัวข้อนี้แล้วก็ลองเริ่มนับจำนวนให้แล้วละครับ มีผู้อ่านจากอเมริกามาเยือนด้วยครับ ทำให้มีสีสันดีครับ ยินดีต้อนรับนะครับ เผื่อว่าจะเป็นคนไทยไกลบ้านและคิดถึงบ้านนะครับ Hello ! friend from USA, you are very welcome na-krab.

   เวชนิทัศน์    Online Gallery 

                                

                                 อธิบายภาพ : งานศึกษาพื้นฐานการเขียนภาพแสดงข้อมูลและข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะไปเขียนภาพทางการแพทย์และการเขียนภาพทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเน้นการเก็บบันทึกข้อมูลและรายละเอียดต่างๆเพื่อรายงานและแสดงข้อเท็จจริงด้วยภาพเขียน 

                          

                          อธิบายภาพ : การฝึกเขียนภาพจะศึกษาไปพร้อมกับการศึกษาเขียนภาพจากของจริงทั้งจากห้องศึกษามหกายวิภาค จุลกายวิภาค ปาราสิตวิทยา รวมทั้งศึกษาพื้นฐานความรู้เชิงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และบทบาทของสื่อภาพในการบันทึกข้อมูลการวินิจฉัยอาการแสดงทางคลีนิคที่สำคัญเพื่อสามารถผสมผสานหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนการเขียนภาพต่างๆ งานแนวนี้จึงเป็นงานที่เน้นพัฒนาความแม่นยำทั้งทางศิลปะและการศึกษาข้อมูล ในแง่ของการออกแบบทัศนศิลป์ก็จะมีหลักเกณฑ์ที่เคร่งครัดเพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง ทั้งรายละเอียด ขนาด สี ตำแหน่ง และโครงสร้างต่างๆ สื่อภาพที่ดีและมีความถูกต้องนั้น ต้องสามารถใช้เป็นสื่อสำหรับ Conference และนั่งศึกษาหรือวินิจฉัยทางการแพทย์ได้เลยทีเดียว 

อ้างอิงภาพ : ผลงานที่นำมาจัดแสดงและถ่ายทอดไว้นี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลงานอาจารย์และนักศึกษาเวชนิทัศน์ที่จัดแสดงประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ของสมาคม และ ๒ ชิ้นนี้ดูจากลายเซ็นแล้วก็เป็นงานของพี่ป๋อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญวิทย์ ปั้นทอง เข้าใจว่าคงกำลังซ้อมมืออย่างหนักเพราะต้องสอนวิชาพื้นฐานทางศิลปะให้กับนักศึกษาที่เข้ามาในหลักสูตรใหม่ อาจารย์ชาญวิทย์นี้เป็นยอดฝีมือคนหนึ่งที่จบการศึกษาจากจิตรกรรมสากลเพาะช่าง เป็นรุ่นพี่ผมที่เพาะช่าง ๑ ปีและเป็นกลุ่มรุ่นพี่อาสาที่ติวพวกผมเข้าเพาะช่าง แต่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเรียนที่เวชนิทัศน์ด้วยกัน

   Healthy and well-being Community      Art-Science-Social-Health Learning 

แต่ปัจจุบัน กระบวนทรรศน์ทางสุขภาพได้มุ่งเน้นสร้างนำซ่อม เน้นความมีสุขภาพดี การดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งมุ่งสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมให้เป็นทั้งเป้าหมายของสุขภาวะสังคมและเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อความอยู่ดีมีสุข มากกว่าการเน้นการรักษาความเจ็บป่วยแบบตั้งรับอย่างในอดีต

นอกจากนี้ เชื่อกันว่าบทบาทของแพทย์และบุคลากรทางด้านสุขภาพในอนาคต จะเดินเข้าไปทำงานสุขภาพเชิงรุกใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันและใกล้ชิดกับความเป็นชุมชนมากขึ้น รวมทั้งผู้คนในสาขาอื่นก็ขยายกรอบทรรศนะสามารถเข้ามาสร้างความหมายให้กับความเป็นสุขภาพในฐานะเป็นสุขสาธารณะและความเป็นส่วนรวมอย่างหนึ่ง 

ปัจจัยด้านสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (Socio-Economic and Cultural Determinants in Health) รวมทั้งปัจจัยด้านการให้การศึกษาเรียนรู้ สื่อ (Education and Social Leraning for Health) และสภาพแวดล้อม เหล่านี้ ก็จะมีความรู้ที่เข้าใจกันได้มากขึ้นว่าเป็นองค์ประกอบของความมีสุขภาพดีทั้งระดับปัจเจกและชุมชน  รวมทั้งจะมีส่วนทำให้วาระทางสุขภาพผสมผสานเข้าสู่การดำเนินชีวิตในทุกมิติ จึงมีความสำคัญต่อการที่จะต้องเรียนรู้ไปกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อบุกเบิก ริเริ่ม พัฒนามิติใหม่ๆในการทำงานทั้งการศึกษาวิจัย และการส่งเสริมการพัฒนาของสังคม ซึ่งหลายด้านจะเป็นองค์ความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นตามความจำเป็นและจะมีทักษะการทำงานอย่างใหม่อีกหลายอย่าง

 แพทย์และนักวิทยาศาสตร์  จะเก่งในการทำงานสุขภาพบนปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นักเวชนิทัศน์และคนทำงานด้านพัฒนาปัจจัยสนับสนุนก็เชื่อว่าจะเก่งในการบูรณาการความเชี่ยวชาญอย่างในอดีตเข้าสู่การทำงานสร้างเสริมสุขภาพในแนวทางที่หลากหลาย ผมเลยเอางานที่เพิ่งจัดแสดงเดี่ยวที่หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมา มาแสดงเป็นตัวอย่าง เพื่อจุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้กันนะครับ

                     

                     อธิบายภาพ : วัฒนธรรมการเกิดและสุขภาพในวิถีวัฒนธรรมชุมชน การคลอดและอนามัยแม่และเด็ก จัดว่าเป็นสุขภาพของหน่วยทางสุขภาพที่มากกว่าความเป็นปัจเจกที่สำคัญที่สุด ชุมชนมีการเรียนรู้ไปกับสุขภาพที่เกิดขึ้นไปเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนของชีวิต จึงสะท้อนความมีมิติประวัติศาสตร์พัฒนาการสุขภาพของชุมชนอย่างใกล้ชิดมากกว่าความเป็นเรื่องสุขภาพอย่างเอกเทศ วิธีศึกษาวิจัยสุขภาพและปฏิบัติการชุมชนสร้างสุขภาพด้วยกระบวนทรรศน์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องพัฒนาระเบียบวิธีที่บูรณาการและซับซ้อนให้มากขึ้น

ในอดีตนั้น หลังคลอดชาวบ้านจะตัดสายสะดือด้วยผิวไม้รวกที่เตรียมไว้อย่างดี จากนั้นก็อาบน้ำล้างคราบไขออกจากตัวเด็กแล้วให้นอนในกระด้ง สตรีหลังคลอดก็จะนอนอยู่ไฟและใช้ชีวิตภายใต้การดูแลของญาติพี่น้องอย่างใกล้ชิด งดการอาบน้ำและต้องนอนบนซีกไม้ซึ่งจะวางแผ่นสังกะสีก่อฟืนไฟให้ความร้อนเพื่อการอยู่ไฟ หากจะเช็ดเนื้อตัวก็ต้องต้มสมุนไพรในหม้อดินด้วยไพล ข่า ใบมะขาม รวมทั้งใช้ดื่มและเช็ดตัว ข้างๆก็เจาะพื้นบ้านด้วยสังกะสีสำหรับถ่ายหนักเบาอยู่บริเวณใกล้ๆ

หลังคลอด ๓ วัน ก็จะมีพิธีกรรมแม่ซื้อและขึ้นอู่ โดยชาวบ้านจะปั้นคำข้าว ๑ ปั้น พร้อมกับเตรียมกล้วยน้ำว้า อู่ และของเล่น จากนั้น ก็จะวางเด็กทารกบนกระด้ง หมุน ๓ รอบเป็นที่หมายดังการทำกริยาบูชาพระรัตนตรัยและเป็นการแสดงว่าเวลาผ่านไป ๓ วันแล้ว พร้อมกับร้องบอกว่า ...ลูกใครหนอ หากเป็นลูกใครก็มาเอาไปเสีย หากไม่ใช่ลูกใคร พ้น ๓ วันนี้แล้ว ก็ขอเป็นลูกคนเน้อ...(การร้องจะไพเราะและอ่อนโยนเหมือนบทกวี) ข้อมูลชุมชนอย่างนี้ หากงานศิลปะและการวิจัยชุมชนบูรณาการเข้าด้วยกัน การศึกษามิติสังคมวัฒนธรรม การนำเสนอข้อมูล และการเรียนรู้สุขภาพ ก็จะเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญและน่าสนใจมาก การสื่อสารและการศึกษาเรียนรู้สุขภาพจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับชุมชนแต่ให้พลังการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการพัฒนามิติอื่นไปด้วยมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้พลเมืองและชุมชนเป็นหมอและพึ่งตนเองทางสุขภาพได้ทุกคนอย่างในอดีต ทว่า ด้วยทักษะและภูมิปัญญาที่ผสมผสาน ก้าวหน้า และทัดเทียมกับปัจจัยความซับซ้อนได้ดีกว่าในอดีต  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  อ้างอิงภาพและบทความ : http://gotoknow.org/blog/wirat/291923

                    

                     อธิบายภาพ : ส้วมหลุมและสุขาภิบาลชุมชนก่อนยุคสาธารณสุขมูลฐาน ส้วมหลุมของโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ การวาดภาพเพื่อศึกษาชุมชน เก็บบันทึกข้อมูล และนำเสนอข้อมูลชุมชน ในลักษณะดังกล่าว จะทำให้สามารถแสดงรายละเอียด ให้ความเข้าใจ และสามารถนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆได้ดีมากกว่าการพรรณารายละเอียดด้วยข้อความหรือการวิเคราะห์และนำเสนอด้วยตารางตัวเลขอย่างเดียว สามารถวิเคราะห์และแสดงให้เห็นถึงปัจจัยการแพร่ระบาดและกระทบต่อสุขภาวะชุมชน  ขณะเดียวกัน ก็สามารถแสดงนัยะที่เป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรม เห็นด้านที่เป็นความเข้มแข็งและสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิมของชุมชน วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  อ้างอิงภาพและบทความ  :  http://gotoknow.org/blog/civil-learning/238004  

                    

                     อธิบายภาพ : การระดมพลังชุมชน และการร่วมกับโรงเรียนของชุมชนขุดสระสร้างแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคก่อนยุคสาธารณสุขมูลฐาน โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว นครสวรรค์  แสดงการวาดภาพเพื่อศึกษาชุมชน เก็บบันทึกข้อมูลและนำเสนอผลการวิจัยด้วยการแสดงงานทางศิลปะวิชาการ  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  อ้างอิงภาพและบทความ :  http://gotoknow.org/blog/civil-learning/238004

  ลักษณะการบูรณาการ   ศิลปะ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข สังคมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมชุมชนและมิติอื่นๆ ในลักษณะดังกล่าวนี้ จะเห็นว่ามีความน่าสนใจและมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมไทยนั้น มีข้อจำกัดในแง่ที่สังคมวัฒนธรรมความรู้และวัฒนธรรมหนังสือขการอ่าน ยังไม่เข้มแข็งและทั่วถึง แต่ก็มีกระบวนการเรียนรู้และการสร้างสะสมภูมิปัญญาต่างๆไว้อย่างเข้มแข็งในรูปแบบและวิธีการอย่างอื่น โดยเฉพาะผ่านความเป็นกลุ้มก้อนและชุมชน การเล่าเรื่อง การเล่านิทาน การวาดรูปและศิลปะการแสดง หากมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้อย่างกว้างขวาง ก็จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้สังคมสามารถผสมผสานโอกาสการพัฒนาที่ก้าวหน้าต่างๆได้อย่างมั่งคั่งมากขึ้น

การวิจัยและวิเคราะห์ชุมชนโดยผสมสานวิธีการทางศิลปะเข้าไปในลักษณะนี้ รวมทั้งการใช้ศิลปะเป็นอีกมิติหนึ่งของการสร้างความรู้และนำเสนอผลการวิจัย จะทำให้การเข้าถึงความเป็นจริงอย่างเป็นองค์รวม มีความลึกซึ้งรอบด้าน สามารถให้ทั้งมโนทัศน์และความเป็นจริง ตลอดจนสร้างการเรียนรู้ความเป็นจริงเพิ่มขึ้นอีกหลายด้านที่ภาษาถ้อยคำ คำพูด การพรรณาด้วยข้อความ การวิเคราะห์ด้วยตัวเลขและสัญลักษณ์เชิงนามธรรมอย่างอื่น จะไม่สามารนำเสนอและให้ประสบการณ์เพื่อการเข้าถึงได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะความรู้ระดับการเห็นเป็นภาพ ความสัมพันธ์เชิงมิติ สัดส่วน ดุลยภาพ ความพอดีและความลงตัวขององค์ประกอบส่วนย่อยกับความเป็นส่วนรวม

กระบวนการสร้างความรู้ในลักษณะดังกล่าว จะทำให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และวางแผนชุมชน ตลอดจนการวางแผนตนเองของปัจเจก ได้มากขึ้น ทำให้เรื่องสุขภาพและการใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาเข้าถึงและกลมกลืนกับชีวิตประจำวันของประชาชนได้มากขึ้น.

  การสัมมนาครั้งที่ ๒    
บทบาทเวชนิทัศน์กับวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์เพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่
๑๙-๒๐ เมษายน ๒๕๕๓ ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นส์เซส ถนนหลานหลวง

การสัมมนาครั้งที่ ๒ นี้ กลุ่มที่เข้าร่วมสัมมนายังคงน้อยเหมือนเดิม ดูเหมือนจะน้อยกว่าครั้งที่ ๑ คือ เพียง ๑๘ คน ทว่า เป็นกลุ่มที่มีความอาวุโสและรุ่นใหญ่กว่าครั้งที่ ๑ ที่สำคัญคือมีกลุ่มคณาจารย์ทั้งจากเวชนิทัศน์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้ช่วยคณบดี และผู้อำนวยการสถานเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัญชา แจ้งสว่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรินดา แจ้งสว่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญวิทย์ ปั้นทอง อาจารย์ตูน อาจารย์พุฒินันทน์ อาจารย์โสภิตา สุวุฒโฑ และเวชนิทัศน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ๒ ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ดุษฎี มุสิกโปดก และผู้ช่วยศาสตราจารย์สันติพงษ์ แสนรักษ์ 

                         

ในส่วนของนักเวชนิทัศน์ ก็มีความหลากหลายหน่วยงานมาก คือ จากคณะทันตแพทย์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จากโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จากโรงพยาบาลตากสิน จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล องค์ประกอบผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งที่ ๒ ดังที่กล่าวมานี้ จึงทำให้การสัมมนาดำเนินไปอย่างเข้มข้นและมีความเป็นชีวิตชีวาแบบพี่ๆน้องๆชาวเวชนิทัศน์อยู่ตลอดเวลา

นายกสมาคมชวนให้ผมได้ไปร่วมในช่วงเปิดการสัมมนาด้วย เพื่อจะได้มีโอกาสคารวะศาสตราจารย์แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายนักวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และวิทยากรอีกสองท่านที่มาให้ความรู้และเนื้อหาสำหรับนำมาคิดสร้างสรรค์สื่อ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารยฺนายแพทย์สุทัศน์ รุ่งเรื่องหิรัญญา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเภสัชกรคฑา บัณฑิตานุกูล ประธานเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ และในการสัมมนาวันที่สองผมก็ได้มีโอกาสได้คารวะและรู้จัก ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา สัจจานนท์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งมาเป็นวิทยากรบรรยายวิธีเขียนบทความวิชาการเผยแพร่ผลงานให้แก่ชาวเวชนิทัศน์

 นอกจากการสัมมนาตามกำหนดการซึ่งเหมือนกับครั้งที่ ๑ แล้ว พี่องอาจ ศิลปะ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งที่ ๑ ที่ผ่านมา และได้นำเอาผลของการระดมความคิดจากการสัมมนาไปประดิษฐ์สื่อต้นมานำเสนอในการสัมมนาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นที่ประทับใจขององค์กรสนับสนุนและผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งความสร้างสรรค์ของผลงานและสปิริตต่อความเป็นนักเวชนิทัศน์ในการสัมมนาครั้งนี้

   การระดมสมองและนำเสนอผลงาน   
แนวคิดเพื่อทำสื่อรณรงค์สร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่

การสัมมนาครั้งนี้ผมได้รับเชิญให้เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงการนำเสนอผลงานจากการระดมสมอง ซึ่งได้แบ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาออกเป็น ๓ กลุ่ม เพื่อระดมความคิดและนำเสนอแนวคิดการพัฒนาสื่อสำหรับร่วมเป็นเครือข่ายสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่ ประกอบด้วย กลุ่มที่ทำสื่อกราฟิคและสิ่งตีพิมพ์ | กลุ่มทำสื่อหุ่นจำลองและนิทรรศการ | และกลุ่มทำสื่อภาพยนต์รณรงค์ในโรงภาพยนต์

                         

เมื่อเห็นศักยภาพของกลุ่มแล้ว เพื่อเป็นโอกาสการสัมนาโดยถือเอาผลงานของกลุ่มต่างๆเป็นกรณีศึกษาและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มพูนศักยภาพทางวิชาการกันอย่างมีพลัง ผมเลยขอออกแบบกiะบวนการและจัดวางเวทีเพื่อดำเนินการให้มีความหมายที่สุดต่อคณาจารย์และนักเวชนิทัศน์ผู้ร่วมสัมมนาทุกคน แล้วก็ชี้แจงเพื่อนำเข้าสู่รายการนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันให้กว้างขวาง...........

  รูปแบบ   :  นำเสนอผลงานกลุ่มย่อยและสัมมนา ใช้ผลงานกลุ่มเป็นกรณีศึกษาและเปิดประเด็นการสัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กว้างขวาง

 สิ่งที่ควรได้จากเวทีช่วงบ่ายนี้

 ๑.  กลุ่มได้นำเสนอ เผยแพร่ผลการคิดสร้างสรรค์  ฟังข้อเสนอแนะและเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนาสื่อและนวัตกรรมที่ดี-ลงตัวมากยิ่งๆขึ้นต่อไป
 ๒.  เวทีได้เรียนรู้ ได้แนวคิด ตัวอย่าง สะสมประสบการณ์และกระบวนการพัฒนาสื่อเพื่อรณรงค์บุหร่โดยวิธี Community-Based Approach
 ๓.  ได้ใช้ผลงานเป็นกรณีศึกษา วิเคราะห์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มพูนความเข้มแข็งทางวิชาการ รวมทั้งการพํมนาแนวคิดเบื้องหลังสำหรับการพัฒนาสื่อเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ

 กระบวนการ

 ๑. นำเสนอ 
 ๒. กลุ่มอภิปรายเสริม
 ๓. เวทีซักถามและอภิปราย
 ๔. คณาจารย์ ทั้งจากศิริราช ขอนแก่น และนักเวชนิทัศน์จากที่ต่างๆ ช่วยกันสานความคิด สร้างความรู้ และเพิ่มเติมแนวคิด ทฤษฎี วิชาการ ความรู้ และข้อสังเกตใหม่ๆ
 ๕. สรุปและอภิปรายเวทีรวม

 กรอบการนำเสนอเบื้องต้น

 ๑. แนวคิด ข้อมูลที่ทำงานความคิด กระบวนการพัฒนาความคิด
 ๒. สื่อและผลงานของกลุ่ม
 ๓. ข้อคิดเห็น บทเรียน ข้อสังเกต ของกลุ่ม

                        

                        อาจารย์โสภิตา สุวุฒโฑ อาจารย์โรงเรียนเวชนิทัศน์ ศิริราช  ร่วมอภิปราย

                        

                        ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัญชา แจ้งสว่าง อาจารย์โรงเรียนเวชนิทัศน์ ศิริราช ร่วมอภิปราย

 จากนั้น  ก็ดำเนินรายการให้กลุ่มนำเสนอผลงานระดมความคิดกลุ่มย่อย บรรยากาศหลากหลายอรรถรส ได้ความเข้มข้นทางวิชาการ สนุกสนาน ผ่อนคลาย เสริมกำลังใจ และแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างกว้างขวาง

การนำเสนอผลงานของกลุ่มย่อย
 กลุ่มที่   สื่อวิดีโอและภาพยนต์โฆษณา

เรื่องที่ ๑ การวิเคราะห์และทำงานความคิด : เป้าหมายมุ่งกลุ่มผู้หญิง สตรีวัยรุ่น และคนมีครรภ์

แนวการนำเสนอ : แนวเกาหลี เรื่อง ดมและอมท่อไอเสียมอเตอร์ไซค์ อันตรายน้อยกว่าสูบบุหรี่

Message สำคัญ : อยากเลิกบุหรี่มีหน่วยงานและกลไกช่วย
Educated Communication :  สารพิษในบุหรี่ / ผลต่อสุขภาพ
Information และข้อเสนอแนะการปฏิบัติ : เบอร์ติดต่อเลิกบุหรี่
R&D : ทดสอบประสิทธิภาพ และทำ Case study

                        

                       

                           

                               การทำ Story Board   เพื่อแสดงการตีแนวคิดไปสู่การทำภาพยนต์ แสดงแนวคิดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษในบุหรี่ และผลต่อสุขภาพโดยขึ้น Caption และการทำ Special Effect

                           

                             สื่อมีการให้ข้อมูลเพื่อเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการตัดสินใจในผู้ติดบุหรี่โทรติดต่อและเข้าถึงหน่วยบริการสุขภาพด้วยตนเอง ให้อารมณ์ขันและนำเสนอตรง กระชับ

 ข้ออภิปรายและเสนอแนะ

  • การนำเสนอในตัว Campaign ยาวไป
  • การนำเสนอเปรียบเทียบท่อไอเสียกับบุหรี่ อาจทำให้ขัดกันกับคนรณรงค์ควันพิษจากท่อไอเสีย ทำให้ประชาชนสับสนและหน่วยงานผู้รับผิดชอบอาจขัดแย้งวัตถุประสงค์ของกันและกัน หากหลีกเลี่ยงและปรับปรุงได้ก็จะดีขึ้น
  • กลุ่มผู้แสดง แทนผู้แสดงเดี่ยว อาจใช้ความเป็นกลุ่ม เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่น ยังติดกลุ่มและมีกลุ่มเป็นตัวอ้างอิง
  • การสื่อสารและการใช้ภาษาสื่อกับกลุ่มวัยรุ่น อาจค้นหาจากกลุ่มวัยรุ่นเอง
  • การนำเสนอแนวคิดผลงาน บางครั้งผู้คิดและผู้ทำอาจไม่ชอบ แต่เจ้าของงานและผู้ใช้ชอบ ก็อาจต้องรับฟังและรับพิจารณา การทำ Needs Assessment และการ Try out สื่อเพื่อทำ R&D จึงสามารถทำได้จากหลายจุดยืน

                         

 กลุ่มที่ ๒    กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์  : ภาพพลิก ฟลิปชาร์ต

                  ผศ.บัญชา ผศ.สุรินดา เวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช
                  อ.ขนิษฐา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 
                  แดง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 ข้อมูลและแนวคิดเบื้องต้น  : คิดถึงทรัพยากรสื่อที่มีอยู่และดีมากอยู่แล้ว คือ โปสเตอร์ แผ่นพับ หนังสือและสิ่งตีพิมพ์ โดยเฉพาะที่ผลิตโดย ศจย.และ สสส จึงคิดทบทวนเพื่อไม่ผลิตให้ซ้ำซ้อน แต่ในกลุ่มที่อยู่ในหน่วยบริการสุขภาพ ชนบท ต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่กำลังทำงานยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ต้องทำหน้าที่ประจำอย่างอื่นและควรมีสื่อเข้าไปเสริมการทำงาน ดังนั้น จึงควรเป็นฟลิปชาร์ต เพื่อจะยืดหยุ่นต่อเนื้อหาและเสริมบทบาทของสื่อบุคคล

 เนื้อหาของสื่อ   จะเลือกกรณีตัวอย่างจากของจริง โดยเฉพาะกรณีบุหรี่มือสอง

 ตัวอย่าง   (เรื่องจริงจากสมาชิกของกลุ่ม) พี่น้องฝาแฝดหญิง เกิดห่างกัน ๒ นาที พอเริ่มโต แยกกันเรียน คนหนึ่งเรียนศิลปะ อีกคนเรียนพาณิชย์ ต่อมาเริ่มตั้งหลักมีครอบครัว คนพี่มีแฟนซึ่งต่อมาได้เป็นสามี เป็นคนสูบบุหรี่ อยู่ด้วยกันมีลูก ๒ คน กระทั่งอยู่มหาวิทยาลัย รวมที่อยู่ด้วยกันและอยู่กับบุหรี่มือสอง ๒๗ ปี วันหนึ่งภรรยา(พี่ของฝาแฝด) เป็นลม เมื่อไปหาหมอ ก็พบว่าเป็นมะเร็งในปอดและพัฒนาเป็นระยะสุดท้าย โดยที่ตนเองก็ไม่ได้สูบบุหรี่ ในขณะที่วิกฤติและกำลังจะสิ้นใจ ก็ยังรอเพื่อได้เห็นลูกรับปริญญา

                        

 ข้ออภิปรายและเสนอแนะ

  • รูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์แบบเป็นชุดพร้อมใช้ก็เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ
  • แผ่นพับ และการมุ่งเข้าถึงกลุ่มรากหญ้า ครอบครัวในชนบท
  • อาจจะพัฒนาสื่อและเทคนิคการนำเสนอสื่อที่น่าสนใจและสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ด้วยตนเอง เช่น สื่อแบบ Overlay ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลและพลิกด้วยตนเอง ทำให้คนนั่งดูด้วยตนเองระหว่างที่นั่งรอรับบริการสุขภาพ
  • การใช้สื่อและการจัดสถานการณ์การเรียนรู้สุขภาพ ควรหาสื่อบุคคลมาเป็นองค์ประกอบการนำเสนอและเล่าเรื่องกรณีศึกษา เสริมเข้าไปให้ยืดหยุ่นกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

กลุ่มที่ ๓    กลุ่มหุ่นจำลองและนิทรรศการ

สมาชิก : ตูน เวชนิทัศน์ศิริราช บอย คณะเทคนิคการแพทย์ มหิดล อ้อ รพ.เจริญกรุง
รูปแบบ : ประติมากรรมลอยตัว เด็กอยู่ในครรภ์

                         

ผลงานของกลุ่มกำลังขอไฟล์รูปผลงานจากกลุ่มมาให้ชมเพิ่มเติมอีก

   สรุปบทเรียนจากเวที  

หลังการนำเสนอผลงาน ตอบข้อซักถามและอภิปรายเพิ่มของแต่ละกลุ่มครบแล้ว ก่อนดำเนินการให้เป็นเวทีเปิด ผมได้สรุปบทเรียนและตั้งข้อสังเกตให้แก่เวที

  • การได้สื่อที่คิดค้นและทำขึ้นในลักษณะ Appropriate และสื่อสุขภาพพอเพียง
  • Simplified Communication เพื่อผสมผสาน Medical Care, Self-Care, Individual Empowerment  และ Preventive Health
  • ก่อเกิด Collaboration Development ผ่านกระบวนการทำงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย
  • สื่อสะท้อนการบูรณาการ Art, Creative and Health Education Communication
  • เห็นการประยุกต์ใช้การทำ Story Board ให้เป็นเครื่องมือและวิธีการทำ Health Media Production Planning and Feasibility Analysis : การบริหารจัดการทางวิชาการและการประสานงานเพื่อการผลิตสื่อรณรงค์ทางสุขภาพ(บุหรี่) Knowledge-Based Planning
  • เพิ่มความหลากหลายกลวิธีทางสื่อและกระบวนการทางการศึกษา
  • การเพิ่มพูนศักยภาพทางวิชาการของเครือข่ายวิชาชีพเวชนิทัศน์
  • การเผยแพร่บทบาทการดำเนินงานทางวิชาการของเวชนิทัศน์

 จากนั้น ได้เปิดอภิปราย พูดคุย ขอบคุณ สะท้อนความประทับใจและกล่าวอำลา

                        

  ข้อเสนอแนะจากเวที    

๑. ควรยกระดับ ต่อยอด พัฒนาเป็นการวิจัย-พัฒนาด้วย ต่อไป
๒. เป็นเวทีที่ดี ได้สาระมากมาย อยากฝากให้พัฒนาต่อไป

Story Board ตอนเปิดเรื่อง ที่ขาดหายไปบางส่วน
ภาพยนต์โฆษณา ของกลุ่มที่ ๑   ตอน  ดูมันทำ 

                         

                         

  จากนั้นก็ต่อด้วยเฟรมที่ ๙   ที่อยู่ใน dialogue ที่ ๓๙ ก่อนหน้านี้นะครับ น้องคนที่เขียน Story Board นี้คือเจ้าบูรณ์ เป็นเวชนิทัศน์ที่มีฝีมือและมีการทำงานความคิดดีมากคนหนึ่ง ตอนนี้ทำงานอนู่ที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ฝีมือคิดมุมกล้อง องค์ประกอบฉาก ทำ Visualized และทำ Story Board ด้วยฝีมือเขียนสดอย่างนี้ หากเป็นเมื่อก่อนก็รับรองว่าเดินเลือกงานได้สบาย ตอนนี้ถึงแม้จะมีคอมพิวเตอร์ทำงานช่วยได้มากแล้ว แต่ฝีมือและการทำงานความคิดออกมาเป็นภาพ ให้สามารถระดมสมองและวางแผนการทำงานกันต่อไปได้อย่างนี้ ก็มีความสำคัญมาก

ขอคารวะและขอต้อนรับแขกผู้มาเยือนบล็อกของเครือข่ายวิชาชีพเวชนิทัศน์ เวชนิทัศน์สมาคม (ประเทศไทย)

              

ประเทศญี่ปุ่น  สหราชอาณาจักรอังกฤษ กรีซ  สหรัฐอเมริกา  ออสเตรเลีย และอินเดีย ขอขอบคุณรูปธงจาก FC : Flag Counter

ผมกับพี่แก้ว ได้เขียนบทความและจะไปนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ๗-๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่มูลนิธิวชิรเวทวิทยาลัย ซอยศูนย์วิจัย บทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารการประชุมและจะนำเสนอด้วยปากเปล่า โหลดได้ที่นี่นะครับ [Click Here]

สวัสดีครับ อ.วิรัตน์

ผมทำงานเวชนิทัศน์ ที่ รพ.ราชบุรี จบโรงเรียนเวชนิทัศน์รุ่น 19 ผมเห็นรุ่นพี่มหาวิทยาลัยมหิดลใช้ชื่อตำแหน่งว่า "นักเวชนิทัศน์"

ไม่แน่ใจว่าเป็นทางการแล้วหรือไม่หรือแค่เรียกกันเฉพาะกลุ่ม

ขณะนี้ผมและเพื่อนๆ ที่อยู่ภาคกระทรวงสาธารณสุข ใช้ชื่อตำแหน่ง ช่างภาพการแพทย์ เป็นตำแหน่งแต่เดิมสมัยตั้งโรงเรียน เวชนิทัศน์ใหม่ๆ ซึ่งผมมองว่าไม่ครอบคลุมการทำงานในปัจจุบันซึ่งทำงานหลายด้าน เช่น ถ่ายภาพทางการแพทย์ ออกแบบศิลปะ กราฟิคและมัลติมีเดีย โทรทัศน์ทางการศึกษา เคเบิลทีวี วีดิทัศน์ นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ หุ่นจำลอง ฯลฯ

ผมขอคำแนะนำจาก อ.วิรัตน์ว่าเราจะทำหนังสือในนามสมาคมเวชนิทัศน์ขอเปลี่ยนตำแหน่งจาก "ช่างภาพการแพทย์" เป็น "นักวิชาการเวชนิทัศน์" ไม่ทราบว่า คุณราตรี ปั้นพินิจ ดร.โสภิตา สุวุฒโฒ และอ.วิรัตน์จะเห็นด้วยหรือไม่ (เพื่อนๆ ในกระทรวงสาธารณสุขผมได้คุยกันแล้วส่วนใหญ่เห็นด้วย)

วัดีรัพ๊ 

   อันว่า 'นักเวชนิทัศน์' 

อันที่จริงไม่น่าถามเลยเนาะ เพราะการเรียกตำแหน่งงานราชการ ที่คนซึ่งจบสาขาวิชาเวชนิทัศน์จะสามารถสมัครเข้าไปทำได้ กับการเรียกความเป็นกลุ่มนักวิชาชีพวิชาชีพหนึ่งที่ศึกษามาทางเวชนิทัศน์เพื่อระบุให้พอสื่อสารกันได้รู้เรื่องนั้น ไม่น่าจะทำให้สับสนเลย วงการไม่ค่อยกว้างเท่าไหร่ มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือเกิดอะไรขึ้นใหม่ๆในแวดวงวิชาชีพเวชนิทัศน์นี้ก็แทบจะรู้ทั่วถึงกันหมดทั่วประเทศภายในไม่กี่วันเพียงวิธีบอกต่อกันปากต่อปากเท่านั้น

เมื่อสักไม่ถึง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผมเคยเป็นกรรมการสมาคม เลยก็ทำให้พอทราบข้อมูลว่าทั้งประเทศนั้น มีคนเวชนิทัศน์นับแต่ก่อเกิดขึ้นจากงานภาพการแพทย์ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ กระทั่งเปิดหลักสูตรปริญญาโทนั้น รวมทั้งหมดแล้วไม่ถึง ๔๐๐ คนครับ เป็นวงวิชาชีพที่เล็กมาก

ในแวดวงราชการนั้น คนจบเวชนิทัศน์ส่วนใหญ่ก็ทำงาน ๒ ตำแหน่ง คือ ช่างภาพการแพทย์ กับนักวิชาการโสตทัศนศึกษา แต่เมื่ออยู่ในตำแหน่งจ้างเฉพาะกิจหรืออยู่ในภาคเอกชน ก็คงจะทำงานไปตามความจำเป็นและอาจจะเรียกตำแหน่งเป็นอย่างอื่นไปได้เหมือนกัน ซึ่งคนที่เรียนศิลปะทุกสาขาและเรียนเวชนิทัศน์ ผมก็คิดว่านึกภาพออกว่า ความก้าวหน้าในตำแหน่งงานในสาขาวิชาชีพนี้ในประเทศไทยนั้น ไปทางไหนได้บ้างและในแต่ละด้าน จะสามารถเติบโตกันไปได้แค่ไหน

อีกทั้งในหลายสาขาที่เป็นงานสนับสนุนทางวิชาการซึ่งรวมทั้งสาขาวิชาเวชนิทัศน์นั้น หากเป็นตำแหน่งงานสำหรับผู้ที่จบต่ำกว่าปริญญาตรี ก็จะมีชื่อตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่.... หรือ ช่าง..... นำหน้าชื่อตำแหน่ง ทว่า หากจบปริญญาตรี ก็จะมีคำว่า นักวิชาการ......นำหน้า เช่น นักวิชาการช่างศิลป์  นักวิชาการศึกษา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา  ดังนั้น ตำแหน่งช่างภาพการแพทย์นั้น  ในความเป็นจริงแล้วก็คือตำแหน่งของพี่ๆที่จบหลักสูตรภาพการแพทย์และเข้าทำงานในยุคก่อนที่โรงเรียนเวชนิทัศน์จะมีปริญญาตรีน่ะครับ  เมื่อเปิดปริญญาตรีแล้ว หลายท่านได้มาเรียนต่อจนจบหลักสูตรปริญญา และได้ปรับวุฒิการศึกษาเป็นจบปริญญาตรีซึ่งจะมีผลต่อเพดานเงินเดือน ทว่า หลายคนก็คงตำแหน่งเดิมไว้คือเป็นช่างภาพการแพทย์

  'นักเวชนิทัศน์' เป็นการเรียกตนเองของคนเวชนิทัศน์ 

ผมเองนั้น เมื่ออยู่ในกลุ่มประชุมเวชนิทัศน์ ทั้งประชุมวิชาการ ประชุมสมาคม หรือเมื่อคุยกับพี่ๆน้องๆชาวเวชนิทัศน์ ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกตนเองและเรียกหมู่เฮาว่าอย่างไรดี นอกเสียจากก็เรียกว่า นักเวชนิทัศน์  ผมมักเรียกอย่างนี้ทุกที และหลายๆคนผมก็ได้ยินเรียกกันเองรวมๆว่าอย่างนี้ ก็เห็นเข้าใจกันได้ดีน่ะครับ แต่ไม่รู้ว่าใครเขาห้ามเรียก หรือคนอื่นๆมีวิธีเรียกอย่างไรนอกเหนือไปจากนี้หรือเปล่า พวกรุ่นพี่เก่าๆเวลาเรียกกันเองรวมๆ ก็ไม่เคยได้ยินเลยละครับที่จะเรียกว่า ช่างภาพการแพทย์ และ นักวิชาการโสตฯ เพราะมันไม่เจาะจงน่ะ เมื่อเจอกันและออกไปยืนพูดทักทายวงสมาคมก็เห็นเรียก ...พวกเราชาวเวชนิทัศน์ ทุกที ก็ไม่ค่อยได้ยินเรียกตนเองว่าอย่างอื่นนะครับ

ผมนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับเวชนิทัศน์ ผมก็ชอบเรียกตัวเองว่าเป็นนักเวชนิทัศน์ ในฐานะได้ร่ำเรียนจากโรงเรียนเวชนิทัศน์ พอๆกับที่ผมก็ชอบเรียกตัวเองว่าเป็นเด็กเพาะช่าง ในฐานะจบโรงเรียนเพาะช่าง เป็นศิษย์เก่าหนองคอก ในฐานะที่จบโรงเรียนหนองบัว นครสวรรค์ เป็นชาวเทคโนเชิงดอย ในฐานะจบสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษาของหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักประชากรศึกษาและนักวิชาการแนวประชาสังคมศึกษาซึ่งเป็นการแสดงตนว่าผมบริหารจัดการสังคมและงานทางประชากรโดยมีกระบวนการทางการศึกษาเป็นเครื่องมือ ในฐานะที่จบสาขาประชากรศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ผมเรียกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความเคารพต่อครูอาจารย์ และสถาบันการศึกษาที่ได้ศึกษา เชื่อว่าหลายคนก็คงจะเรียกตนเองว่านักเวชนิทัศน์ด้วยมีเหตุผลในสิ่งที่ตนเองเชื่อแตกต่างกันไป แต่ยังไม่ทราบนะครับว่ามีชื่อนักเวชนิทัศน์เป็นตำแหน่งงาน แต่ก็ไม่รู้ว่ามีนัยะอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้หรือไม่นะครับ

  ข้อเสนอและแนวคิดเพื่อนำเสนอ-ผลักดัน ตำแหน่ง 'นักวิชาการเวชนิทัศน์'  

ชื่อตำแหน่ง นักวิชาการเวชนิทัศน์ หากมองดูลักษณะงานที่ทำกันได้และที่จะอยู่ในขอบข่ายริเริ่มงานใหม่ๆขึ้นมากันได้ ก็ดูเข้าทีมากนะครับ ทว่า ก็เข้าใจกันเองในแวดวงแคบๆน่ะสิ คงต้องลองคุยโดยนำเอาแง่มุมต่างๆมาพิจารณากันเพื่อให้เห็นเหตุผลและความเหมาะสมในแง่มุมต่างๆ กันก่อนเสียกระมังนะครับ

แต่จะมีปัญหาว่า สาขาวิชาเวชนิทัศน์ไม่มีแล้วน่ะสิครับ คนที่จบมาจากโรงเรียนเวชนิทัศน์เก่าที่ปรับปรุงเป็นชื่อใหม่(ยังเรียกชื่อไม่ถูกเลยละครับเนี่ย) และหลักสูตรใหม่รุ่นหลังๆ จะลำบาก ไม่สะดวกใจ หรืออาจจะไม่สอดคล้องกับความสนใจของเขาไหม

 กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่คงต้องให้น้ำหนักความคิดเห็นและต้องรับฟังก่อน

กลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรงน่าจะได้คิดช่วยกันนะครับ ที่สำคัญคือ

(๑) กลุ่มที่ทำงานอยู่ในโรงเรียนแพทย์และหน่วยงานบริการทางวิชาการด้านสาธารณสุข-การแพทย์
(๒) กลุ่มที่ทำงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
(๓) กลุ่มที่จบจากเวชนิทัศน์รุ่นเก่าก่อน ก่อนที่จะปรับเป็นหลักสูตรใหม่ อย่างที่คุณประยุทธ์กล่าวถึงว่าชื่อตำแหน่งงานเดิมไม่ครอบคลุม 

คงต้องฟังจากทั้งสามกลุ่มนี้เป็นก่อนอื่นกระมังครับ

  อาจเป็นตำแหน่งงานที่ต้องพิจารณาไปตามเงื่อนไขขององค์กรและระบบงาน 

นอกจากนี้ ก็คงต้องพิจารณาการจัดโครงสร้างและระบบงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยรวมไปด้วยละครับว่า ลักษณะงานนั้นหลากหลายและซับซ้อนมากพอที่จะสร้างงาน สร้างตำแหน่งงาน ขึ้นมาอย่างเป็นการเฉพาะ นักวิชาการเวชนิทัศน์ ได้หรือไม่ จะเหมาะสมไหม

ในทรรศนะผมนั้น ในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล และหน่วยงานที่ต้องการทำสื่อการแพทย์และสาธารณสุข ก็น่าสนใจเหมือนกันนะครับที่จะมีแผนกย่อยทางเวชนิทัศน์ เพื่อทำงานทางเวชนิทัศน์ ในขณะที่งานทางด้านโสตทัศนศึกษาและเทคโนโลยีทางการศึกษาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญและก็มีลักษณะงานเฉพาะสำหรับงานทางด้านการศึกษาทั่วไป

แต่ทั้งนี้ ก็คงจะทำได้ในหน่วยงานขนาดใหญ่กระมัง อย่างในกระทรวงสาธารณสุขนั้น ตรงส่วนกลางก็อาจจะทำได้ แต่ในหน่วยงานทั่วไปซึ่งต้องการใช้คนจำนวนน้อยและภายใต้งบประมาณอันจำกัด คงจะทำไม่ได้

  ควรคิดในเชิงสร้างตำแหน่งงานใหม่และบุกเบิกงานสนองตอบความจำเป็นที่เพิ่มมากขึ้น 

อย่างไรก็แล้วแต่ งานทางด้านสื่อ โสตทัศนศึกษา เทคโนโลยีศึกษา และเวชนิทัศน์นั้น สำหรับผมแล้วเห็นว่าเป็นเครื่องมือขยายกำลังการทำงานของสาขาต่างๆ  ในอีกแง่หนึ่ง ผมเลยไม่ค่อยเห็นความแตกต่างในแง่ของการสร้างตำแหน่งงานและการบริหารจัดการระบบกำลังคน แต่จะให้ความสนใจต่อวิธีทำงานที่จะพัฒนาเครื่องมือการทำงานนี้ให้สะท้อนเนื้อหางานของสาขาใดก็ได้ในแหล่งนั้นๆเสียมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้และพัฒนาขึ้นเองในที่ทำงานนั้นๆนั่นเอง แต่ผมก็ยังคิดในรายละเอียดไม่ออกหรอกนะครับ

หากมองในแง่การมองสังคมและองค์กรการทำงานให้ซับซ้อนขึ้น อีกทั้งมองในแง่การสร้างระบบและตำแหน่งงาน ให้คนรุ่นหลังๆได้มีงานทำ ได้อยู่ด้วยกัน ได้คิดและมีโอกาสสร้างสรรค์สังคมด้วยกัน ในหลักการนี้ก็ค่อนข้างจะเห็นดีด้วยนะครับ ต้องมองในแง่นี้นะครับ อย่าไปมองเพียงการได้แยกพวกพ้อง อันที่จริงนักวิชาการเวชนิทัศน์นั้น หากทำงานวิจัยด้าน Artistic, Medical Artist, และ Simplify Communication รวมทั้งงาน Documentation and Communication และจัดการความรู้ทางด้านสื่อการแพทย์ สาธารณสุข และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เหล่านี้ ก็พอจะเห็นตำแหน่งแห่งหนเฉพาะด้านอีกทางหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะมีความจำเป็นหลากหลายซับซ้อนมากพอที่จะสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ขึ้นได้ในแวดวงวิชาชีพสุขภาพบ้างหรือเปล่านะครับ

  ช่องทางการนำเสนอ สานควาร่วมมือ และสร้างแรงสนับสนุน 

หากจะนำเสนอต่อกระทรวง เสนอว่าควรผ่านสมาคมและควรต้องขอนั่งคุยกับนายกสมาคมและคณะผู้บริหารสมาคมจำนวนหนึ่ง เพื่อให้นายกสมาคมพอกล่าวได้ว่าเรื่องนี้ได้ดำเนินการมาอย่างรอบคอบ และทำในนามสมาคมวิชาชีพ

ริเริ่มดีครับ ขอแสดงความชื่นชมนะครับ และแม้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ หากได้ทำก็ถือว่ามีความริเริ่มที่พยายามจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆครับ.

วันนี้ ๗ มกราคม เป็นวันเกิดเพาะช่าง
ขอน้อมบูชาพระวิษณุกรรม เทพและครูแห่งช่าง
ขอน้อมคารวะบูชาดวงวิญญาณศาสตราจารย์ประกิต(จิตร) บัวบุศก์
กราบคารวะครูเพาะช่างทุกท่าน ขอน้อมรำลึกพี่ๆเพื่อนๆและน้องๆชาวศิลปะ
และคนทำงานศิลปะทุกคน

  • เมื่อวาน อาทิตย์ ๒๕ กันยายน ๕๔ ครู อาจารนย์ พี่ๆน้องๆ หมู่เพื่อน และชาวบ้านผู้ที่ผมเคารพนับถือ ได้ทำงานต่างๆด้วยกันมา ได้ถือโอกาสจัดพบปะ อำลา และเสวนากัน
  • พี่แก้ว : ราตรี ปั้นพินิจ นายกสมาคม พี่ติ๊ก : อุบลรัตน์ ชุนเจริญ อดีตนายกสมาคม และน้องเก๋ : อาจารย์โสภิตา สุวุฒโฑ อุปนายกสมาคมและอาจารย์สถานเทคโนโลยีแพทยศาสตร์ศึกษา ศิริราช ได้ไปทักทายกันด้วย ขอขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ
  • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท