ชีวิตที่พอเพียง : 38. เจียมตัว


• วันนี้เป็นวันหลัง ๑๐๐ ปี ชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ๑ วัน    ผมจึงตีความเรื่องความเจียมตัวที่จะเล่านี้ ว่าหมายถึงสติ   การมีสติอยู่กับความเป็นจริง   ไม่ฟู่ฟ่องล่องลอยไปกับความสุข สรรเสริญ หรือความสำเร็จ/ความสมหวัง จนเกินไป    และไม่แฟบฟุบหดหู่หรือเป็นทุกข์กับความผิดหวัง จนเกินไป    เป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิตคนเรา    ผมจะลองวิเคราะห์ตัวเองให้ฟัง (อ่าน)    ไม่ทราบว่าจะวิเคราะห์ได้ตรงหรือไม่
• เมื่อเป็นเด็ก พ่อแม่เลี้ยงผมมาแบบเคี่ยวกรำ    ไม่ได้ใช้จิตวิทยาการเรียนรู้แบบ positive feedback   คนสมัยนั้นคงจะเน้นการเลี้ยงลูกไม่ให้เหลิง    ผมจึงโตขึ้นมาในวัฒนธรรมเจียมตัว    ตอนเป็นเด็กผมถูกปู่ด่า “ไอ้อ๊อต หมึง โหง่หม้าแฉ้” ภาษาปักษ์ใต้ หมายความว่าโง่จนหมายังไม่มอง    แฉ้ = แชเชือน   ปู่ด่าเป็นประจำช่วงผมอายุ ๘ – ๑๐ ขวบ จนผมก็เชื่อเอาจริงๆ    ผมเป็นเด็กเงอะงะอยู่แล้ว ต่อหน้าผู้ใหญ่จึงยิ่งเงอะงะยิ่งขึ้น   ผู้ใหญ่เขาบอกว่าเป็นเด็กขี้อาย   แต่ผมก็เถียงปู่อยู่ในใจว่าโง่แล้วทำไมเรียนหนังสือเก่งกว่าเพื่อนวะ    ผมมาฉลาดขึ้นภายหลังว่าที่ปู่ด่านั้นหมายความว่าไม่มีไหวพริบ   ตอนโตแล้วผมจึงฝึกไหวพริบให้ตัวเองมาก   พยายามเรียนรู้เรื่องไหวพริบจากคนเก่งๆ ที่อยู่รอบตัว    แต่ไหวพริบบางแบบผมก็รับไม่ไหว เพราะผมมองว่าเป็นไหวพริบแบบขี้โกง 
• ที่จริงพ่อแม่รู้ว่าผมเป็นเด็กฉลาด เพราะสอนงานได้เร็ว ผมทำบัญชีโรงสีได้ตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบ    ผมมาสังเกตภายหลังว่างานที่ต้องทำเอง หรือทำคนเดียว หรือกับคนที่คุ้นเคย ผมจะเรียนรู้ได้เร็ว    แต่ถ้าต้องติดต่อผู้คนจำนวนมาก หรือไม่คุ้นเคย หรือเป็นผู้ใหญ่ ผมจะทำไม่ได้ จึงมักถูกตำหนิ    และเป็นที่ผิดหวังของแม่ที่รักการค้าขาย    จุดอ่อนเหล่านี้ผมแก้ไขตัวเองได้ช้าๆ เมื่อโตขึ้น   แต่ก็ยังเป็นข้อด้อยติดตัวตลอดมา    ผมเจียมตัวในข้อด้อยนี้และหมั่นฝึกฝนจากตัวอย่างดีๆ ที่มีอยู่รอบตัว    แต่ก็ฝึกแบบเจียมตัว บอกตัวเองว่าเราคงทำอย่างเขาไม่ได้ แต่เราก็ฝึกตัวให้ดีขึ้นได้ จะได้ทำอะไรๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
• เมื่อสอบได้ที่ ๑ ของประเทศ ผู้คนเล่าลือเรื่องความปราดเปรื่องของผมจนเกินจริง    แม้คนเล่าลือการทำงาน วิธีทำงาน ตอนผมเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มอ. ก็เกินจริงไปมาก ทำให้ผมนึกถึงเรื่องอภินิหารที่เขาเล่าลือเรื่องผู้วิเศษต่อๆ กันมา    ว่ามักมีการต่อเติมจินตนาการของผู้เล่าลือเข้าไปด้วยเสมอ   ผมตั้งข้อสงสัยตัวเองเสมอว่าอะไรบ้างที่มีส่วนทำให้บรรลุความสำเร็จนั้น   และถามตัวเองเสมอว่าที่ได้สิ่งนั้นมา เราได้พลาดโอกาสอะไรไปบ้าง    ในตอนก่อนผมได้เล่าแล้วว่าความสำเร็จส่วนใหญ่ของผมได้จากวิธีเรียนหรือทำงานแบบ “ควายเทคนิค” คือเอาทนเข้าว่า    ผมตอบตัวเองว่าในช่วงเวลาประมาณ ๓ – ๔ ปีที่เรียน ม. ๖ จนถึงจุฬาฯ ปี ๑ ผมเป็นคนแคบมาก    ไม่รู้เรื่องราวของโลก   ไม่เข้าใจคน   ความรู้แคบอยู่แค่วิชาที่เรียนเพื่อสอบ    ผมบอกตัวเองว่าต้องลดการเรียนเพื่อสอบลง เพิ่มการเรียนให้รู้รอบมากขึ้น    นี่คือที่มาของการอ่านหนังสือนอกวิชาเรียนเป็นการใหญ่ในช่วงอยู่ปี ๒ ที่จุฬาฯ    เป็นการฝึกฝนตัวเองให้เรียนรู้นอกห้องเรียนเป็น

วิจารณ์ พานิช
๒๘ พค. ๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 34076เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 06:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท