ภัทรานิษฐ์
นางสาว ภัทรานิษฐ์ เจริญธรรม ภัทร(จิ๋ว) เจริญธรรม

คำว่า"การเมืองในองค์การ"


เพื่อให้ตนหรือกลุ่มได้รับตามที่ต้องการ ภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งและมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นพฤติกรรมดังกล่าวที่บุคคลแสดงออกจึงเป็นพฤติกรรมเชิงการเมือง (Political behavior) ซึ่งต้องใช้อำนาจหรือความพยายามเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน

การเมืองในองค์การ (อำนาจ) 

พฤติกรรมเชิงการเมืองในองค์การ (Political Behavior in Organization)

      พฤติกรรมเชิงการเมืองมีความสัมพันธ์กับการใช้อำนาจในองค์การอย่างมากดังที่เฟฟเฟอร์ (Pfeffer, 1981) ได้ให้นิยามของการเมืองในองค์การว่าหมายถึง กิจกรรมทั้งหลายที่สมาชิกแสดงออกในการแสวงหาการสนับสนุน การใช้อำนาจ และการได้มาซึ่งทรัพยากร เพื่อให้ตนหรือกลุ่มได้รับตามที่ต้องการ ภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งและมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นพฤติกรรมดังกล่าวที่บุคคลแสดงออกจึงเป็นพฤติกรรมเชิงการเมือง (Political behavior) ซึ่งต้องใช้อำนาจหรือความพยายามเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน  

      กล่าวโดยสรุป พฤติกรรมเชิงการเมืองจึงมีลักษณะใน 3 ประเด็นต่อไปนี้

      1. เป็นพฤติกรรมที่อยู่นอกเหนืออำนาจตามกฎหมายหรือระบบอำนาจที่ยอมรับกันตามปกติขององค์การ

      2. เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือหน่วยงานตน โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมที่คนอื่นหรือหน่วยงานอื่นพึงได้รับ

      3. เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจและจงใจใช้เพื่อแสวงหาอำนาจหรือการรักษาอำนาจของตน  

พฤติกรรมเชิงการเมืองกับความผิดทำนองคลองธรรม (The Pervasiveness of Political Behaviors)

      เมอร์เรย์ และแกนซ์ (Murray and Gandz) ได้ทำการศึกษาวิจัยผู้บริหารจำนวน 428 คน เกี่ยวกับการรับรู้ที่มีต่อพฤติกรรมเชิงการเมืองในองค์การ พบว่า ผู้บริหารหนึ่งในสามที่เชื่อว่า พฤติกรรมเชิงการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจเรื่องเงินเดือน ส่วนอีก 28 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า มีผลต่อการตัดสินใจในการจ้างงาน และมีผู้บริหารมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่ามีพฤติกรรมเชิงการเมืองอยู่ในกลุ่มผุ้บริหารระดับสูงมากกว่าในระดับล่าง ผู้บริหารกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่า   พฤติกรรมเชิงการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมขาดหลักการของความมีเหตุมีผล และเป็นสิ่งบั่นทอนทำลายองค์การ แต่ก็ยอมรับว่าผู้บริหารที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีความเป็นนักการเมืองที่ดีต้องมี  พฤติกรรมเชิงการเมือง จึงจะสามารถก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานได้ ส่วนใหญ่ของผู้บริหารเห็นว่า พฤติกรรมเชิงการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา แต่ก็เป็นเรื่องที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ตลอดชีวิตการทำงานอยู่ในองค์การ (Yukl, 1998)

      ในความรู้สึกของคนทั่วไปส่วนหนึ่งมองภาพของการเมืองในแง่ลบ กล่าวคือ เป็นเรื่องการใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงที่สกปรกเอาชนะกัน ใช้วิธีลอบทำลายกันลับหลังอย่างน่ารังเกียจและก็ยอมรับว่าพฤติกรรมเชิงการเมืองเป็นสิ่งไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในองค์การอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแทนที่ผู้นำจะปฏิเสธหรือพยายามที่จะขจัดพฤติกรรมเชิงการเมืองให้หมดไป จึงควรที่จะศึกษาหาวิธีที่ได้ผลในการใช้พฤติกรรมเชิงการเมืองที่เกิดขึ้นในหน่วยงานของตนให้เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์แทน  

 สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมเชิงการเมือง

      ไมส์ (Miles, 1980) กล่าวว่า พฤติกรรมเชิงการเมืองในองค์การมาจากสาเหตุ 5 ประการ ได้แก่ ความไม่ชัดเจนของเป้าหมาย การมีทรัพยากรที่จำกัด ผลกระทบจากเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมการตัดสินใจที่ขาดหลักเกณฑ์แน่นอน และการเปลี่ยนแปลงขององค์การ    (สุเทพ   พงศ์ศรีวัฒน์, 2544)

      ส่วนดิวบรอง (DuBrin, 1998) เห็นว่า ความต้องการมีอำนาจของแต่ละคนมาจากเหตุผลที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การพฤติกรรมเชิงการเมืองขึ้นในองค์การสรุปได้ 6 สาเหตุ ดังนี้ 

           1. การมีโครงสร้างแบบปิรามิดขององค์การ  (Pyramid-shaped organization)

      ทำให้เกิดสายงานที่มีอำนาจในการบังคับบัญชา ลดหลั่นลงไปตามลำดับชั้น โดยผู้มีอำนาจมากที่สุดจะอยู่ที่ยอดของปิรามิด ในขณะที่ผู้อยู่ฐานล่างสุดจะมีอำนาจน้อยสุด โครงสร้างแบบปิรมิดขององค์การจึงเป็นโครงสร้างที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเชิงการเมืองสูง เนื่องจากทุกคนที่อยู่ระดับล่างต่างมุ่งหวังที่จะไต่เต้าสู่ ตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการมีอำนาจที่มากขึ้นในการตัดสินใจต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นกว้างขวางขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการตนเองได้มากขึ้น การก้าวสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนเหล่านี้หันมาใช้พฤติกรรมเชิงการเมืองมากขึ้น

      นอกจากนี้โครงสร้างแบบปิรามิดยังทำให้เกิดการยื้อแย่งทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่จำกัดจึงเกิดการใช้พฤติกรรมเชิงการเมืองเพื่อให้คนที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรดังกล่าวหันมาให้การสนับสนุนตน อย่างไรก็ตามแม้แนวโน้มปัจจุบันจะเน้นการจัดโครงสร้างองค์การแบบแนวนอนหรือแบบทีมงาน ตลอดจนมีการกระจายอำนาจความรับผิดชอบในการตัดสินใจลงสู่ระดับล่างมากขึ้น แต่คนส่วนมากยังคงพึงพอใจในการแสวงหาอำนาจที่ติดมากับตำแหน่งทางการอยู่เช่นเดิม การใช้พฤติกรรมเชิงการเมืองในกรณีนี้จึงยังไม่หมดไป  

            2. การใช้เกณฑ์มาตรฐานแบบอัตนัยในการประเมินผลงาน (Subjective standard performance)

            การใช้วิธีการแบบอัตนัยมีโอกาสให้เกิดการใช้ความรู้สึกและอคติส่วนตัวของผู้ประเมิน ผู้ประเมินเข้าไปเกี่ยวข้องได้ง่าย ทำให้สูญเสียความยุติธรรมได้เพราะขาดระบบที่แน่นอนชัดเจน จึงกลายเป็นจุดอ่อนทำให้คนที่ต้องการได้รับความดีความชอบพิเศษ หรือต้องการให้ผลประเมินออกมาดีเพื่อจะได้เลื่อนยศตำแหน่งที่สูงขึ้น หันมาใช้พฤติกรรมเชิงการเมืองด้วยการเอาใจหรือประจบสอพลอคนประเมินเพื่อให้ตนได้ตามที่ต้องการ  

             3. สภาพแวดล้อมที่ขาดความแน่นอนและมีความผันผวนสูง (Environmental uncertainty and turbulence)

            คนที่ทำงานอยู่ในองค์การที่กำลังอยู่ในภาวะขาดความมั่นคง และมีการเปลี่ยนแปลงสูง จะพลอยรู้สึกขาดความมั่นใจต่องานและองค์การไปด้วย และเพื่อความอยู่รอด ถ้าหากเกิดความจำเป็น ต้องลดขนาดขององค์การให้เล็กลง (downsizing) คนเหล่านี้จึงหันมาใช้พฤติกรรมเชิงการเมือง เช่น  การเอาใจเพื่อให้ได้ใกล้ชิดและเกิดเป็นคนพิเศษหรือเป็น “คนวงใน” ของนาย โดยหวังว่าหากมีการปรับลดพนักงานตนจะมีความปลอดภัยได้รับการคุ้มครองพิเศษจากอำนาจตัดสินใจของนาย  

             4.  การรู้สึกขาดความมั่นคงด้านอารมณ์ (Emotional insecurity)

            คนประเภทที่ไร้ความรู้ความสามารถในงานหรือตำแหน่งที่ทำมักจะขาดความมั่นใจตนเอง จึงแสดงพฤติกรรมเชิงการเมืองออกมาด้วยการคอยประจบเอาใจนาย เพื่อให้นายเกิดความรักความเมตตาแก่ตน ช่วยให้ตนรู้สึกว่ามีความมั่นคงปลอดภัยขึ้น เพราะมีนายคอยปกป้องคุ้มครองลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของคนที่ขาดความมั่นคงด้านอารมณ์  

              5. ความต้องการมีอำนาจบังคับคนอื่นในแง่ไม่ดี (Machiavellian tendencies)

             คนประเภทนี้จะใช้พฤติกรรมเชิงการเมืองเพื่อแสดงว่ามีอำนาจเหนือหรือเพื่อบีบบังคับให้คนอื่นทำในสิ่งที่เป็นความต้องการหรือให้ประโยชน์แก่ตนโดยไม่คำนึงว่าสิ่งนั้นถูกต้องหรือไม่

             6.  ความขัดแย้งในเรื่องสำคัญ (Disagreement over major issues)

            การมุ่งให้ความคิดหรือความต้องการของตนชนะคู่กรณีที่ขัดแย้งกันในประเด็นดังกล่าว ทำให้เกิดการใช้พฤติกรรมต่าง ๆ เชิงการเมืองขึ้น เพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้มีอำนาจตัดสินหันมา สนับสนุนตนให้บรรลุผลตามที่ต้องการ 

ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์เชิงการเมือง (Political tactics and strategy)

      เพื่อบริหารพฤติกรรมเชิงการเมืองที่เกิดขึ้นในองค์การให้เป็นผลดี รวมทั้งบางสถานการณ์ที่จำเป็นต้องสร้างหรือกำหนดพฤติกรรมเชิงการเมืองขึ้นใหม่มาใช้ในการบริหารท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาขององค์การ ผู้นำจึงต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงกลยุทธ์เชิงการเมืองไม่ว่าจะเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีจริยธรรม (Ethical behaviors) หรือพฤติกรรมที่ไร้จริยธรรม (Unethical behaviors) ก็ตามดังจะกล่าวในรายละเอียดดังนี้  

      กลยุทธ์เชิงการเมืองแบบมีจริยธรรม (Ethical political tactics)

      เป็นกลยุทธ์ที่ผู้บริหารใช้เพื่อการได้มาซึ่งอำนาจและการรักษาไว้ซึ่งอำนาจโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น เป็นกลยุทธ์เพื่อช่วยให้ผู้นำสามารถปรับตัวได้กับภาวะการปฏิบัติงานซึ่งมิได้ขึ้นกับความมีเหตุมีผลอย่างที่คาดหมาย จึงเป็นกลยุทธ์เชิงการเมืองที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างสิ่งที่ควรจะเป็นตามหลักการกับพฤติกรรมอันหลากหลายที่มาจากความต้องการของแต่ละคน กลยุทธ์เชิงการเมืองแบบมีจริยธรรมสามารถแบ่งออกตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ได้ 3 แบบ ได้แก่ 1) กลยุทธ์เพื่อแสวงหาอำนาจ 2) กลยุทธ์เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ และ 3) กลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเชิงการเมือง

      1. กลยุทธ์เพื่อแสวงหาอำนาจโดยตรง (Tactics aimed directly at gaining power) ซึ่งประกอบด้วยเทคนิคในเรื่องนี้อยู่ 6 ประการ ดังนี้

            1.1 การติดต่อผูกมิตรกับผู้มีอำนาจ (Develop power contact) โดยการออกงานสังคมเพื่อพบปะสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้มีอำนาจ การให้ความช่วยเหลือต่องานหรือกิจกรรมของคนเหล่านั้น การหาโอกาสเชิญบุคคลดังกล่าวมาร่วมกิจกรรมในโอกาสสำคัญขององค์การ

            1.2 การควบคุมข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ (Control vital information) เพราะข่าวสารทำให้ผู้นั้นมีอำนาจ (Information is power) จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทาง    ราชการที่ควบคุมข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ทางธุรกิจ หลังจากผู้นั้นเกษียณอายุ หรือลาออกจากราชการ จึงเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจเอกชนสูง จนภาคราชการต้องมีกฎห้ามบุคคลเหล่านี้ไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนเป็นระยะหนึ่งหลังออกจากราชการ เนื่องจากอาจส่งผลเสียหายแก่ทาง     ราชการ และไม่เป็นธรรมต่อบริษัทคู่แข่งรายอื่น

            1.3 ต้องไวต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Keep informed) อยู่เสมอ การรู้เท่าทันกับเหตุการณ์ช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ได้อย่างทัน ท่วงทีเมื่อปรากฏว่าฝ่ายตนเองอาจตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ จึงเป็นการลดความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส

            1.4 การควบคุมกลไกและเครือข่ายกลการสื่อสาร (Control lines of communication) ดังจะเห็นในอดีตที่มีเหตุการณ์ต่อสู้ปฏิวัติรัฐประหาร จะมีการเข้าควบคุมกลไกเครื่องมือและเครือข่ายการสื่อสาร เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์อย่างทันที เพราะเป็นแหล่งเผยแพร่ข่าวสารอันทรงพลังต่อการแพ้ชนะในการดำเนินงานขององค์การก็มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน

            1.5 การดึงผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามา (bringing in) โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่มีประวัติดี เป็นที่ยอมรับของคนในองค์การว่าจะสามารถช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์การได้ ทั้งยังช่วยเสริมบารมีให้กับผู้บริหารเพราะทำให้งานความสำเร็จและทุกฝ่ายรู้สึกพึงพอใจ แต่มีข้อพึงระวังในการนำผู้เชี่ยวชาญภายนอกต้องใช้วิธีที่แยบยลต้องเป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและต้องมั่นใจในความเป็นกลางจริง

            1.6 การใช้วิธีปรากฏตัวขึ้นอย่างทันควัน (Making a quick showing) โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญเฉพาะหน้าขึ้น เช่น ผู้บริหารระดับสูงออกปรากฏตัวทันทีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงการจับยาเสพติดรายใหญ่ เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีประชาสัมพันธ์ตนเองที่ดี ทำให้สาธารณะชนเห็นว่าเป็นคนเอาใจใส่งานและมีความสามารถสูง  

      2. กลยุทธ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ (Tactics aimed at building relations)

            เป็นกลยุทธ์เพื่อสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกกับบุคคลที่ต้องการ ตลอดจนเครือข่ายสมาชิกและผู้เกี่ยวข้องเพื่อหวังผลด้านความช่วยเหลือทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ซึ่งใช้กลยุทธ์การเมืองต่อไปนี้

            2.1 การแสดงความจงรักภักดี (Display loyalty) เพราะพนักงานที่จงรักภักดีย่อมมีคุณค่าและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่องค์การได้มาก แต่มีข้อระวังต้องไม่ให้จงรักภักดีจนเกินเลยเพราะจะทำให้เกิดหลงตัว สำคัญผิดว่า องค์การของตนทำผิดไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายต่อองค์การที่ยังต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

            2.2 นำเสนอสิ่งที่น่าปรับใจ (Manage your impression) เช่น ใช้กิจกรรมหรือพฤติกรรมที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ตน รวมถึงการปรับปรุงบุคลิกภาพและการแต่งกายที่เหมาะสม วิธีการพูดจาที่ไพเราะน่าเชื่อถือและการนำเสนอความคิดที่เฉียบแหลมน่าสนใจ การพูดถึงความสำเร็จหรือจุดยืนที่ดีขององค์การต่อส่วนรวม เช่น การประกอบธุรกิจบนพื้นฐานของการมี จริยธรรมซื่อสัตย์ต่อลูกค้าเป็นต้น

            2.3 หาช่องทางให้ลูกค้าที่พึงพอใจผลงานของท่านมีโอกาสได้พบกับนาย (Ask satisfied customers to contact your boss) ข้อมูลที่นายได้รับโดยตรงจากลูกค้าจะมีน้ำหนักมากที่ส่งผลมาถึงตัวท่าน มากกว่าการรับฟังจากการเพื่อนร่วมงานหรือจากลูกน้องของท่าน ด้วยเหตุที่คนทั้งสองกลุ่มหลังก็อาจกำลังเล่นเกมส์การเมืองอยู่กับท่านได้เช่นกัน

            2.4 ใช้ความสุภาพอ่อนน้อม ความน่าคบหาและคุณลักษณะเชิงบวกที่ท่านมี (be courteous, pleasant and positive) โดยมีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านบุคคลว่า คุณสมบัติดังกล่าวคือเกณฑ์ข้อแรกในการพิจารณาจ้างคนเข้าทำงาน และเช่นเดียวกันก็จะถือเป็นเกณฑ์ข้อสุดท้ายที่จะเลิกจ้างพนักงาน (เมื่อพนักงานมีเกณฑ์ข้ออื่นครบถ้วน)

            2.5 ใช้วิธีการขอคำแนะนำ (Ask advice) ถ้าหัวหน้าขอคำแนะนำจากลูกน้อง ลูกน้องก็จะเกิดความภูมิใจและรู้สึกว่าตนมีคุณค่า การขอคำแนะนำจากคนนอกวงการ อาจได้มุมมองใหม่ที่มีประโยชน์ การขอคำแนะนำเป็นกลางบอกถึงความไว้วางใจต่อการตัดสินใจและเป็นการให้เกียรติผู้อื่น

            2.6 ใช้วิธีการส่งบัตรถึงบุคคลต่าง ๆ ในวาระสำคัญ เช่น บัตรขอบคุณที่ให้คำแนะนำ หรือใช้บริการ ซึ่งเป็นกลยุทธ์เชิงการเมืองที่สำคัญถึงกับผู้บริหารบางคนยอมเขียนขอบคุณด้วยลายมือตนเองถึงพนักงานหรือลูกค้า เพื่อสร้างสายสัมพันธ์และความประทับใจขึ้น  

      3. กลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดพลาดง่าย ๆ เชิงการเมือง (Avoiding political blunders)

            เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการคงอำนาจหรือบารมีไว้ ด้วยการระมัดระวังการผิดพลาดในเรื่องง่าย ๆ แต่มีผลเชิงการเมืองสูง ซึ่งได้แก่

            3.1 เว้นการวิจารณ์นายต่อหน้าสาธารณชน (Criticizing the boss in a public forum) คนโบราณมักสอนให้รู้จักชมคนต่อสาธารณชนแต่วิพากษ์วิจารณ์กันเมื่อยู่ส่วนตัว (Praise in public and criticize in private)

            3.2 อย่าปฏิบัติการข้ามหัวนาย (Bypassing the boss) เพราะทำให้นายรู้สึกว่าลูกน้องกระด้างกระเดื่องไม่ให้เกียรติและความนับถือ และที่สำคัญทำให้นายอาจเสียหน้า ถูกคนภายนอกมองว่านายไม่มีความสามารถ และที่รุนแรงอาจกระทบต่อตำแหน่งของนายได้ แต่โดยรวมเกิดภาพลบต่อผู้กระทำด้วย

            3.3 หลีกเลี่ยงการปฏิเสธต่อข้อเสนอของฝ่ายบริหารระดับสูง (Declining an offer from top management) การปฏิเสธผู้บริหารของตนถือเป็นความผิดพลาดทางการเมืองที่สำคัญเพราะจะไม่ได้รับไว้วางใจจากหัวหน้าอีกต่อไป ส่งผลกระทบต่ออาชีพและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามมา

            3.4 อย่าเผาสะพานของตนเอง (Burning your bridge) ได้แก่ การตำหนิติเตียนนายคนเก่าที่หมดอำนาจหรือพ้นจากองค์การไปแล้ว ซึ่งความจริงยังอาจเป็นสะพานช่วยเชื่อมโยงกับนายคนใหม่ให้เกิดประโยชน์แก่ตน นอกจากนี้พฤติกรรมเช่นนี้อาจถูกมองในแง่ลบจากนายคนใหม่ว่าเป็นคนที่ไม่จริงใจต่อไปในอนาคต ก็จะปฏิบัติกับนายคนอื่นด้วยวิธีเดิม จึงดุเป็นคนไม่น่าคบหรือไว้วางใจ 

ที่มา

สุเทพ   พงศ์ศรีวัฒน์ (2545) ภาวะผู้นำ : ทฤษฎีและปฏิบัติ.

กรุงเทพฯ : บุคส์ลิงค์.

หมายเลขบันทึก: 332619เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2010 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

จุดมุ่งหมายของผู้เขียนที่นำบันทึกนี้มา เพื่อง่ายต่อการค้นคว้า และนำมาอ่านเพื่อความเข้าใจ

ได้ข้อคิดเตือนสติดีทีเดียวน้องครูจิ๋ว

ทำงานมีนายเป็นเรื่องลึกซึ้งเหมือนกันนะคะ

อ่านแล้วก็ต้องร้องอื้มมมมมม....อย่างนี้นี่เอง

แล้วก็ถอนหายใจ อิอิ

ขอบคุณค่ะ

โอโหครูจิ๋วเขียนละเอียดมากๆ โดนใจ

สวัสดีค่ะ พี่ครูต้อย

อ่านแล้วโดนใจ จึงเก็บมาฝากค่ะ

โชคดีค่ะ

สวัสดีค่ะ ดร.ขจิต

ยังมีต่ออีกนิดค่ะ

แล้วจะเข้าใจมากขึ้น

ขอบคุณที่เข้ามาชมค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบพระคุณกับความรู้ค่ะ
  • พี่คิมมาชวนไปเยี่ยมโรงเรียนดีที่บนดอยค่ะ
  • http://gotoknow.org/blog/krukimgtk/332122

สวัสดีค่ะ พี่ครูคิม

ไปดูภาพมาแล้ว ชื่นชมจริงๆค่ะ

บรรยากาศดีมากๆค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท