๙ ข้อคิดในการไปค่ายอาสาพัฒนา


นิสิตมีสถานะเพียงผู้เรียนรู้ และมีสถานะเป็นเสมือนเครื่องมือในการขุดค้น หรือกระตุ้นให้ชุมชนได้เห็นคุณค่าหรือต้นทุนของตัวเอง

ก่อนการปฐมนิเทศผู้นำค่ายภาคปลายฝนต้นหนาว
เมื่อเดือนตุลาคมจะเริ่มขึ้น ผมใช้เวลาสองถึงสามวันนั่งถอดบทเรียนเกี่ยวกับแนวคิดการทำงานในวิถี “ค่ายอาสา” ของตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป 
โดยหวังที่จะนำหลักคิดดังกล่าวมาเป็นโจทย์เสวนา
กับผู้นำค่าย  อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้
สู่ผู้นำค่ายในครั้งนั้น

 

กระทั่งที่สุดแล้ว  ทุกอย่างก็มาลงตัวที่ ๙ ข้อคิดที่ประกอบด้วย  รู้ตัวตนโครงการ  ทุกหมู่บ้านมีเรื่องเล่า  เราไม่ใช่นัก “เสก-สร้าง”  ทุกเส้นทางมีปัญหา  คลังปัญญาชุมชน  เราคือคนต้นแบบ  อย่าแยกส่วนการเรียนรู้  หันกลับไปดู “บ้านเกิด”  ก่อเกิดองค์ความรู้

 

 

อย่างไรก็ดี  สำหรับแนวคิดทั้ง ๙ ข้อนั้น เรียกได้ว่าเป็นการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรงของตัวเองแบบล้วนๆ เลยก็ไม่ผิด  เนื่องเพราะส่วนใหญ่แทบไม่ต้องพลิกค้นตำราจากเล่มใดมาประกอบเลยก็ว่าได้ เพราะผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า “เรื่องของเรา-เราก็ควรต้องบอกเล่าด้วยวิถีของเราเอง”  และการที่จะสื่อสารกับนิสิตนั้น  หากเอาความเป็นวิชาการมาใช้แบบแข็งๆ เสียทั้งหมด  มีหวังนิสิตคงออกอาการเบื่อเมาและสำลักทฤษฎีเป็นแน่แท้  ซ้ำร้ายยังอาจบั่นทอนจินตนาการในการทำค่ายไปโดยปริยายด้วยก็เป็นได้

 

และด้วยข้อจำกัดของความสั้นยาวแห่งบันทึกนี้  ผมคงไม่อาจเขียน หรือเล่าถึงเนื้อหาทั้งหมดได้อย่างละเอียด  แต่จะขอหยิบยกเพียงสั้นๆ ในแต่ละข้อคิดตามมุมมองของผม  ดังว่า

 

  • รู้ตัวตนโครงการ : ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า คนเราจะทำอะไรสักอย่างต้องถามตัวเองให้ชัดว่าเราจะทำอะไร  เพื่ออะไร และอย่างไร  ซึ่งก็คล้ายกับว่าเมื่อต้องเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา  ก็ควรต้องรู้รายละเอียดทั้งหมดว่ากิจกรรมที่จะมีขึ้นนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร  และให้อะไรกับใครบ้าง โดยผมเน้นย้ำถึงกระบวนการของการปฐมนิเทศค่ายที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ  ด้วยการนำเอาข้อมูลที่เกี่ยวกับค่ายมาเล่าให้สมาชิกได้ร่วมรับฟังพอหอมปากหอมคอ อาทิ รูปแบบกิจกรรมและข้อมูลของชุมชน เป็นต้น  และถ้าจะให้ดีควรมีระบบคัดกรองคนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีจุดยืน  มิใช่เปิดรับสมัครแบบไม่รู้จบ  จนบางทีคนที่ไปค่ายก็ไม่เคยเตรียมตัวมาล่วงหน้าเลยก็มี  เรียกได้ว่ากระโดดขึ้นรถในวินาทีสุดท้ายโดยไม่ผ่านกระบวนการคัดกรองและปฐมนิเทศแม้แต่ยกเดียว

 

 

  • ทุกหมู่บ้านมีเรื่องเล่า ผมพยายามย้ำกับนิสิตให้รับรู้ว่าในทุกพื้นที่นั้น  ย่อมมีเรื่องราวมากมายให้ชวนสืบค้น  อย่างน้อยการไปที่ไหนสักแห่งก็ควรจะต้องกลับออกมาพร้อมกับสาระเล็กๆ น้อยๆ  เป็นต้นว่า ประวัติศาสตร์ชุมชน สภาพการณ์จากอดีตสู่ปัจจุบันและทิศทางอนาคตของชุนนั้นๆ บ้าง หรืออย่างน้อยก็ให้รู้ตำนานบ้านตำนานเมืองนั่นแหละ

 

  • เราไม่ใช่นัก“เสก-สร้าง” :  ผมไม่อยากให้นิสิตชาวค่ายทำตัวราวกับเป็นนักบุญ หรือเทวดา หรือแม้แต่นางฟ้า หรือซาตานที่เต็มไปด้วยเวทมนต์ที่สามารถเสกสร้าง หรือเนรมิตสิ่งใดๆ ให้กับชุมชนอย่างเสร็จสรรพ  แต่อยากให้ตระหนักว่า นิสิตมีสถานะเพียงผู้เรียนรู้  และมีสถานะเป็นเสมือนเครื่องมือในการขุดค้น หรือกระตุ้นให้ชุมชนได้เห็นคุณค่า หรือต้นทุนของตัวเองมากกว่าการไป “ฟันธง” ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นอย่างงั้นอย่างนี้  โดยไม่สนใจบริบทของชุมชน  รวมถึงการสำคัญตัวเองว่าเป็น “ผู้ให้” อย่างผิด ๆ จนทำให้ชุมชนรู้สึกว่าตัวเขาเองเป็น “ผู้รับ” ที่ชวนเวทนาและปราศจากคุณค่าใดๆ ในสายตาของตัวเองและผู้มาเยือนอย่างนิสิต

 

 

 

  • ทุกเส้นทางมีปัญหา : ผมย้ำให้นิสิตพึงระลึกเสมอว่าการทำค่ายอาสาพัฒนานั้น  จะต้องระมัดระวังมิให้กิจกรรมของตัวเองพลัดหลงไปสู่ประเด็นการเมืองในชุมชน  รวมถึงการคิดคำนึงถึงความแตกต่างทางความคิดของคนในชุมชนและความแตกต่างทางความคิดของชาวค่ายที่มีต่อกันและกัน  โดยต้องให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมองค์กร หรือกฎกติกาของค่ายนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 

  • คลังปัญญาชุมชน :  ผมพยายามสื่อสารให้นิสิตให้รับรู้ว่าหมู่บ้าน หรือชุมชนคือฐานการเรียนรู้ของประเทศชาติ  รวมถึงการตระหนักว่าในชุมชนนั้นๆ มีแหล่งเรียนรู้มากมายในมิติของ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” (บวร)  ตลอดจนแหล่งความรู้ หรือบ่อเกิดแห่งความรู้ใน ๔ มิติอันหมายถึง  ธรรมชาติ คน  ตำรา และเทคโนโลยี  ซึ่งคนค่ายต้องตอบให้ได้ว่าในชุมชนนั้นๆ มีอะไรเป็นความรู้ หรือพลังทางปัญญาที่ควรค่าต้องการศึกษา สืบค้นและต่อยอดได้บ้าง

 

  • เราคือคนต้นแบบ  :  ผมไม่ได้อธิบายอะไรมากเกี่ยวกับประเด็นนี้เพียงแต่สื่อสารแบบตรงไปตรงมาว่า  เราคือกลุ่มคนที่สังคมคาดหวัง พฤติกรรมของคนค่ายจึงกลายเป็นเป้าที่คนในชุมชนเฝ้ามองด้วยความรู้สึกอันดีงาม  หรือแม้แต่การเป็นเป้าแบบสุ่มเสี่ยง  จึงจำต้องระมัดระวังเรื่องการวางตัว  ระมัดระวังเรื่องบทบาทและสถานะของการเป็นผู้ให้ ผู้รับ หรือผู้เรียนรู้  อย่าทำให้ชุมชนมองว่าตัวเองสูงลอยแตะต้องสัมผัสไม่ได้  หรือแม้แต่การถูกมองว่านิสิตเป็นผู้นำแฟชั่นแบบผิดๆ เพี้ยนๆ  และที่จะลืมไม่ได้โดยเด็ดขาดเลยก็คือ “ความเป็นสถาบันติดตัวนิสิตอยู่ตลอดเวลา”

 

 

  • อย่าแยกส่วนการเรียนรู้ : ผมย้ำกับนิสิตว่าอย่าเอาตำราเป็นตัวตั้งไปเสียทุกเรื่อง  การไปค่ายต้องเรียนรู้แบบบูรณาการ ทั้งในมิติของการจัดการค่ายและการเรียนรู้ชุมชน  ไม่ใช่ว่าค่ายอยู่ในโรงเรียนก็ทำกิจกรรมอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียน โดยไม่สนจะก้าวข้ามออกมาสู่การเรียนรู้บ้านและวัด หรือแม้แต่ทุ่งนาป่าเขา ลูกเล็กเด็กแดง ผู้เฒ่าผู้แก่  ก็ล้วนแล้วแต่เป็นห้องเรียนได้ทั้งนั้น และทุกอย่างก็เกี่ยวพันโยงใยกันแทบทั้งสิ้น

 

  • หันกลับไปดู “บ้านเกิด” :  สิ่งหนึ่งที่ผมมุ่งเน้นอย่างมากมายเลยก็คือ  “เมื่อไปค่ายแล้วพบเจอสิ่งใดมาบ้าง  ผมก็ปรารถนาให้ชาวค่ายได้หันกลับมาเพ่งมองรากเหง้าตัวเองไปพร้อมๆ กัน”  และนั่นก็รวมความถึงการทำความเข้าใจกับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง  ไม่ใช่ “เข้าใจบ้านอื่น...แต่ไม่เข้าใจบ้านตัวเอง”  หรือแม้แต่การตระหนักว่าจะต้องทำอะไรเพื่อบ้านเกิดของตัวเอง อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งบ้านเกิดที่ว่านั้น อาจหมายถึง -หมู่บ้านของตัวเอง –ความเป็นภูมิภาค-ความเป็นประเทศชาติ-สังคมโลกตามลำดับโน่นเลยยิ่งดี

 

  • ก่อเกิดองค์ความรู้ : สรุปสั้นๆ แต่เพียงว่า การไปค่ายในแต่ละครั้งนั้น  นิสิตชาวค่ายควรต้องตอบตัวเอง หรือถอดบทเรียนให้ได้ว่าตัวนิสิตได้เรียนรู้อะไรบ้าง  เข้าใจในโลกและชีวิตมากขึ้นหรือไม่  เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อย่างไร  และอะไรคือต้นทุนอันดีในการพัฒนาตัวเองและสังคมไปพร้อมๆ กัน

 

 

 

......................................ฯลฯ.................................................

 

ครับ  ทั้งปวงนั้น  ผมขอยืนยันว่า  มันคือสิ่งที่ผมพยายามสื่อสารแบบกว้างๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นการสื่อสารในแบบ “ตื้นๆ” กับนิสิตชาวค่าย หรือผู้นำค่ายในแบบฉบับของผมเอง  โดยการไม่ย้ำลึกในทางเนื้อหา  แต่พยายามให้เขาคิดและหาคำตอบด้วยวิธีการของเขาเองเป็นสำคัญ

 

  

หมายเลขบันทึก: 323021เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2009 07:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

แวะมาเรียนรู้สิ่งดีๆ..และมาทักทายค่ะ

มีความสุขในทุกก้าวย่าง  นะคะ

  • สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน
  • ไม่ผิดหวังทุกครั้งที่อ่านบันทึกของอาจารย์
  • ไม่ผิดหวังที่ติดตาม
  • อาจารย์ให้ข้อคิดมากมาย
  • ตอนนี้ป้าแดงก็พยายามบอกน้องๆไม่ลืมตัวตนของตนเองที่คนรุ่นใหม่มพยายามหนีกัน
  • ขอบคุณสำหรับความดี
  • ---
  • มีความสุขมากๆนะคะตลอดปีตลอดไปค่ะ

น่าสนใจในหลายเรื่องมากครับอาจารย์ เห็นการผสมผสานข้อดีของหลายวิธีการซึ่งล้วนเป็นวิธีการที่เน้นความบูรณาการและความเป็นองค์รวมของการพัฒนาการเรียนรู้ครับ คือ

(๑) Field expose ซึ่งทำให้นักศึกษาได้การเรียนรู้ทั้งในโลกความเป็นจริงของสังคม นอกและในห้องเรียน การเตรียมประสบการณ์ภาคสนามให้กับผู้เรียน มีความเป็นศิลปะแห่งการเรียนรู้มากอย่างยิ่งครับ (๒) Community-Based Approach ปัจเจกและกลุ่มก้อน มีบทบาททั้งเพื่อกระบวนการเรียนรู้และการจัดการอย่างมีส่วนร่วม เพื่ออยู่ในสถานการณ์ของความเป็นชุมชนและกลุ่มก้อนเพื่อเรียนรู้ผ่านการทำงานและการปฏิบัติการเชิงสังคม กระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ มีอิทธิพลต่อการกระตุ้นการเรียนรู้จากภายใน หรือเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ Inspired ให้ปัจเจกนำเอาประสบการณ์กับความรู้ชนิด Tacit knowledge และปัญญาชนิดที่มีบริบท ซึ่งเป็นพลังการเรียนรู้ที่นอนนิ่งอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว ออกมาใช้ สามารถเข้าถึงการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงระดับวิธีคิด และในทางสังคม ก็ทำให้เกิดการจัดวางตนเองเป็นกลุ่มซึ่งทำให้ความเป็นกลุ่มและชุมชนแห่งการเรียนรู้ เกิดการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเชิงโครงสร้างเพื่อการอยู่ร่วมกันที่ลงตัวในสถานการณ์ต่างๆ

(๓) Community Learning การเรียนรู้ชุมชนและการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของผู้คนที่เป็นชาวบ้าน เป็นการเดินเข้าไปอ่านตำราที่มีชีวิตผ่านประสบการณ์เชิงสัมผัส เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและแยบคาย บทบาทและการปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนในโครงสร้างใหม่ จะทำให้ชุมชนและนักศึกษาต่างได้สถานะเป็นครูและผู้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ของกันและกัน เป็นการปฏิบัติการเชิงสังคมและการเรียนรู้ในแนวราบ ชุมชนก็ได้กำลังและความแข็งแรงเพิ่มขึ้น และนักศึกษาก็ได้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เข้มข้น (๔) Uniqueness of Learning Unit ในทาง Process of learning design ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ และ Instructional design ของการพัฒนาหลักสูตรและการสอนนั้น ต้องนับว่าการจัดกิจกรรมค่าย เป็นการออกแบบและจัดหน่วยประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้อย่างบูรณาการที่มีประสิทธิภาพมาก เป็น Goal oriented learning process ที่วางแผนและกำกับให้บรรลุจุดหมายที่ต้องการได้อย่างค่อยข้างแน่นอน เรียกว่าเชื่อได้ว่าจะเกิดผลดี ทว่า การจะทำให้เป็นรูปแบบ Close system โดยเน้นวัตุประสงค์กับกิจกรรมที่ตายตัว หรือ Open system โดยเน้นกระบวนการและการก่อเกbดเป้ายหมายแบบร่วมกันสร้างขึ้นได้ หรืออย่างไรนั้น ก็แล้วแต่ฝีมือ ความสร้างสรรค์ ลูกเล่น และความกล้าเล่นของ Facilitator แต่โดยทั่วไปนั้น นักกิจกรรมก็ไม่ค่อยมีหลักเกณฑ์เชิงทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม วางไว้อยู่เบื้องหลังกันสักเท่าไหร่ ของอาจารย์นี่ทำงานความคิดในแง่นี้ลึกซึ้งมากครับ (๕) Inspired and empowerment learning practice resources ชอบหนังสือพิมพ์ผนังที่นักศึกษาทำขึ้นมากครับอาจารย์ จะขอยืมรูปแบบและแนวคิดไปทดลองใช้เมื่อมีโอกาสบ้าง สื่อที่ทุกคนได้ลงมือทำอย่างเรียบง่ายและวิธีการอย่างนี้ มีพลังการสร้างบรรยากาศการทำงานและเรียนรู้เป็นกลุ่มได้ดีมากครับ ผมมักใช้กระดาษปิดบอร์ดและให้ผู้เรียน ผู้เข้าอบรม ได้ขีดเขียน เหมือนกับเป็น dialogue board ก็จะเป็นพื้นที่การแสดงความสร้างสรรค์และการเป็นกลไกจัดการการสื่อสารที่สร้างพลังการเรียนรู้ของกลุ่มอย่างมีความสุขได้อยู่เสมอ เป็น Communication practice for learning and empowering the group ที่ผมมัก Document สะสมไปบนกระบวนการทำงานได้อยู่เรื่อยๆ แต่วิธีที่เด็กๆของอาจารย์ทำนี้สร้างสรรค์กว่ามากครับ

เราอาสา...พัฒนา...ใจเริงร่าและสามัคคี...เราร่วมจิตอุทิศชิวิตพลี...ทำความดีเพื่อพี่น้องผองไทย

แม้ห่างไกลไม่ท้อถอย...ถึงยอดดอยสูงเยี่ยมเทียมฟ้า...เราบากบั่นฝ่าฟันเข้าไปหา...ร่วมพัฒนาด้วยเมตตาอารี

สายลมหนาวเคล้าลมฝน...ในกมลเราแสนเยือกเย็น...แสนอบอุ่นในบุญที่บำเพ็ญ...ความลำเค็ญก็มลายหายไป

ชาวค่ายอาสาสมัคร...เรารักงานกิจการสังคม...เรานิยม...มุ่งกระทำกันแต่ความดี

เรามาจากแดนไกล...มีน้ำใจสามัคคี...เราต่างมีใจมั่นร่วมกันทำงาน

ร่วมงานชาวบ้าน...ร่วมการกินอยู่...เราร่วมเชิดชูไม่ว่างานไหนๆ...เรารวมกันอยู่...เราทำกันไป

เสร็จงานเมื่อไหร่สบายใจเฮฮา...

ยิ้มเถิด ยิ้มเถิด...มายิ้ม...ยิ้มแย้มแจ่มใส...ยิ้มสนุกสุขใจ...ขอให้สวัสดี

จากอดีตนิสิตอาสา มหาวิทยาลัยบูรพาครับ

มาเยี่ยม มาชม คุณแผ่นดินและบันทึกดีดี

และส.ค.ส.ปี 2553

อ่านเอาไปประสานความรู้ตัวเองค่ะ

ขอบคุณมากๆๆๆ

 

สวัสดีปีใหม่อุทัยรุ่ง 

ชีวิตมุ่งหมายสร้างทางสดใส 

จบพบสิ่งมิ่งมงคลดลโชคชัย  

ขอพรให้ผู้อ่านสราญรมย์

 

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน.. ได้ข้อคิ..วิธีการที่ดีค่ะ..มาอวยพรปีใหม่ค่ะ

  • สวัสดีค่ะ คุณสิงขรศิลา
  • ขอบพระคุณที่ไปแสดงความคิดเห็น
    ใน "วิธีเอาชนะโชคชะตา"
  • "ความสุขที่สุดในชีวิต"  ยังไม่มีเวลาเขียนค่ะ
    เขียนเสร็จเมื่อไรจะส่งข่าวนะคะ
  • สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะ

     
  • สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน
  • ขออภัยตาลายส่งผิดคน  (อย่างนี้ก็มีด้วย  ฮา ฮา)
  • ช่วยลบความคิดเห็นแรกด้วยนะคะ
  • ขอบพระคุณสำหรับคำอวยพรปีใหม่ค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • บันทึกนี้ขออนุญาตจัดเก็บไว้อ่านต่อ ๆ ไปค่ะ
  • ขอขอบพระคุณ และขอเป็นกำลังใจให้นะคะ
  • เพียงแค่นี้ก็มองเห็นความสำเร็จปลายทางมากมาย มีคุณค่าอย่างยิ่ง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท