ช่วงนี้ได้กลับมาอยู่บ้านกรุงเทพ เพื่อวางแผนงานวิจัยคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่สึนามิกับ อ.แหวว เลยได้มีโอกาสดูละครเกาหลี เรื่อง "หมอโฮจุน คนดีที่โลกรอคอย" ที่พ่อกับแม่กำลังเริ่มติดแทนแดจังกึม
ฉันเองก็เริ่มติดและได้บทเรียนหลายอย่าง เพราะชีวิตหมอโฮจุนช่วงที่กำลังออกอากาศเวลานี้ คล้ายๆ กับชีวิตของฉันช่วงนี้อยู่เหมือนกัน
เมื่อหมอโฮจุน เริ่มเห็นเป้าหมายชีวิตของตัวเองชัดเจนที่อยากเป็นหมอช่วยชีวิตผู้ป่วย
หมอโฮจุนเริ่มต้นไปขอเรียนรู้วิชาแพทย์จากหมอที่มีชื่อเสียงในเมืองนั้น โดยเรียนรู้ทุกส่งทุกอย่างที่ขวางหน้า แม้เริ่มจากการมีหน้าที่เป็นคนตักน้ำ ก็พยายามเรียนรู้ว่าน้ำที่มาจากแหล่งน้ำต่างชนิดกัน สามารถช่วยในการรักษาโรคได้ต่างกัน แต่กว่าหมอโฮจุนจะตั้งหลักตรงนี้ได้ ก็ต้องเรียนรู้ความผิดพลาดจากความไม่รู้ของตัวเอง และถูกหมอใหญ่ต่อว่าอย่างรุนแรง
หมอโฮจุนแอบไปจดรายชื่อผู้ป่วยกับใบสั่งยา เพื่ออยากจดจำให้ได้ว่าสมุนไพรแต่ละชนิดใช้รักษาโรคอะไรบ้าง และหมอโฮจุนก็ได้เรียนรู้จากการถูกต่อว่าอีกเช่นกันว่า วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้รักษาผู้ป่วยได้เพราะใบสั่งยาแต่ละชนิด ก็เหมาะสมกับแต่ละคนใช้ด้วยกันไม่ได้
แต่หมอโฮจุนก็ไม่ย่อท้อ พยายามเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก รับฟังการแนะนำหรือแม้แต่ด่าว่าจากทุกคนรอบข้าง ที่สำคัญคือ อดทน ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ให้ได้
สิ่งสำคัญที่สุดที่หมอใหญ่ ได้สอนหมอโฮจุน ก็คือ หมอมีหลายประเภท ทั้งเอาวิชาความรู้หาผลประโยชน์ หรือใช้เพื่อชื่อเสียงของตนเอง แต่หมอที่ดีคือหมอที่มี "เมตตา" ต่อผู้ป่วยทุกคนที่เข้ามาไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือเป็นใครก็ตาม
การเริ่มต้นออกเดินทางเพื่อเป็นหมอที่ดีและมีความรู้ช่วยเหลือผู้คนได้ของหมอโฮจุนนี้ เป็นบทเรียนที่สอนการเดินทางเรียนรู้ครั้งนี้ของฉันที่อยากเป็นหมอช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคไร้รัฐไร้สํญชาติได้อย่างดี
อ้อ! สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหมอโฮจุนอีกอย่างคือ ไม่ว่าที่ไหนๆ การไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนก็เป็นความยากลำบากในการใช้ชีวิตเช่นกัน เหมือนอย่างที่หมอโฮจุน ที่ไม่มี "ป้ายฐานะ" จนต้องดิ้นรนฝากเพื่อนที่สนิทสนมกับทางการ ไปซื้อหามาให้
นั่นแน่ะ!! ที่ไหนๆ ยุคสมัยใด ก็มีการซื้อขายบัตรอีกแล้ว เรื่องคอรัปชั่นนี่ไม่แยกเชื้อชาติ เวลา สถานที่ จริงๆ นะ
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นางสาว สรินยา กิจประยูร ใน งานวิจัยคนไร้สัญชาติในสึนามิ 2549
ได้บทเรียนด้วยไหมว่า บทเรียนจากเรื่องผิดๆ นั้น ก็เป็นบทเรียนที่ดี เราจะจดจำ และเข้าใจ ในขณะที่บทเรียนในเรื่องถูกนั้น อาจไม่มีพลังเท่า เวลาทำถูก มีคนสรรเสริญ "เรา" ก็จะปิจิยินดี อัตตาอิ่มเอิบ แต่สมองจำ "องค์ความรู้" ในการทำสิ่งที่ถูกๆ ไม่ค่อยได้
ทฤษฎีห้วยน้ำอุ่นมีความผิดพลาดมากมาย และมีความสำเร็จมากมาย
มาถึงทฤษฎีสวนผึ้ง เราก็ปรับแนวคิดและวิธีการที่เราเคยพลาดในการทำงานที่ห้วยน้ำอุ่น
แล้วก็มาถึงแม่อาย
แล้วก็มาถึงหมันขาวนาสะอุ้งน้ำเปื่อย
แล้ววันนี้ ก็พื้นที่สึนามิ
ตำราแพทย์รักษากาย กับรักษาใจ ก็น่าจะไม่ต่างกันนะ ถ้าเรียนรู้แบบผิวๆ ตื้นๆ ก็คงไม่ใช่หมอที่ดี และไม่รับผิดชอบต่อวิชาชีพ