คลังดึงเงินฝากคืน ธนาคารรัฐ 'ทนง' ห้าม ธปท. ขึ้นดอกเบี้ย ซ้ำเติมประชาชน


คลังดึงเงินฝากคืน ธนาคารรัฐ 'ทนง' ห้าม ธปท. ขึ้นดอกเบี้ย ซ้ำเติมประชาชน
       จากการประชุมการติดตามการดำเนินการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคารของรัฐเพื่อคงอัตราดอกเบี้ยเดิม และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อบรรเทาภาระประชาชน กระทรวงการคลังจึงเดินหน้าการตรวจสอบเพื่อนำเงินจากธนาคารพาณิชย์กลับมา รวมทั้งชี้ว่า ธปท. ไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบายซ้ำเติมประชาชนอีก
วานนี้ (30 พ.ค.) นายทนง พิทยะ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 พ.ค. จะเรียกนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลางมาหารือถึงการนำเงินลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินกองทุนต่าง ๆ    ที่อยู่ในงบประมาณและนอกงบประมาณ ซึ่งคาดว่ามีอยู่ 200,000-300,000 ล้านบาท มาพิจารณาว่า จะปรับเปลี่ยนแหล่งฝากเงินเหล่านี้จากธนาคารพาณิชย์มายังธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จำนวนเท่าไหร่ โดยมีเงื่อนไขว่า ดอกเบี้ยใหม่ต้องไม่น้อยกว่าเดิม   “แค่ย้ายเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์เอกชนมายังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 2 แห่งนี้ ประมาณ 100,000 ล้านบาท ก็พอ  เพื่อให้ธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 2 แห่ง มีเงินทุนใหม่ไหลเข้ามาเสริมสภาพคล่องแล้วนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ย       ที่เหมาะสมเพื่อ ช่วยเหลือประชาชน มีกำไรเพียง 0.25-0.50% ก็พอแล้ว ขณะที่เจ้าของเงินก็ไม่ได้รับผลกระทบจากการย้ายแหล่งเงินฝาก เพราะได้รับอัตราดอกเบี้ยไม่น้อยไปกว่าเดิม”
       นายทนงกล่าวต่อว่า ในส่วนของธนาคารออมสินนั้น ทราบว่าไม่มีปัญหาเรื่องการระดมเงินฝาก เพราะมีสลากออมสินเป็นแหล่งระดมเงินทุน แต่ ธอส. และ ธ.ก.ส. มีปัญหาเรื่องการระดมเงินฝากเพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อใหม่ ดังนั้น ถ้ามีเงินจากส่วนราชการ เงินกองทุนต่าง ๆ ของรัฐบาลเข้าเสริมสภาพคล่องแล้ว เชื่อว่า ธนาคารเฉพาะกิจ ทั้ง 2 แห่ง จะปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมได้ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากมีต้นทุนต่ำกว่าการระดมทุนด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การออกพันธบัตร หรือตราสารหนี้
       นายทนงยังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปด้วย โดยเชื่อว่า ในการประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 7 มิ.ย. กนง.ไม่น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรอายุ 14 วัน) แล้ว  เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนถดถอยเช่นนี้ แต่ต้องให้ความอิสระกับ ธปท.
       นายทนงกล่าวด้วยว่า มีโอกาสหารือกับนักลงทุนญี่ปุ่นที่ชะลอการลงทุน เพราะไม่เข้าใจว่า เมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภาแล้ว ทำไมถึงไม่มีการเลือกตั้ง   ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา จึงได้หารือกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่า ควรจะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น หรือ EPA ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการลงทุน และการค้า แตกต่างกับเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่พูดถึงเรื่องการลดอัตราภาษี ซึ่งจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีความมั่นใจในเศรษฐกิจไทยระดับหนึ่ง
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับเงินฝากจากหน่วยงานราชการของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน มีการกำหนดเกณฑ์ว่าสถาบันการเงินที่จะนำเงินไปฝากได้นั้น  รัฐจะต้องถือหุ้นใหญ่เกินกว่า 51% เช่น ธนาคารกรุงไทย    แต่ในส่วนของธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารไทยธนาคาร  แม้มีการแปรรูปเป็นเอกชน โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นต่ำกว่า 49% แล้ว แต่ยังผ่อนผันระยะเวลาให้รับเงินฝากต่อได้    โดยธนาคารนครหลวงไทย รับเงินฝากได้ถึงเดือน มิ.ย.นี้ ปัจจุบันมีเงินฝากเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท เมื่อครบกำหนดเดือน มิ.ย.นี้ต้องไถ่ถอนทั้งหมด ส่วนเงินฝากรัฐวิสาหกิจได้รับการผ่อนผันให้สามารถรับได้ถึง มิ.ย. 2550 ส่วนธนาคารเฉพาะกิจที่นำไปฝากได้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เงินฝากของหน่วยงานราชการ จะมีการเปิดให้ประมูลเพื่อเสนออัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน จะเสนอดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ และเป็น  ผู้ชนะการประมูลอยู่แล้ว นอกจากนั้น เงินฝากของหน่วยงานราชการที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่จะเป็นจำนวนที่ไม่มาก และเป็นเงินฝากของแต่ละหน่วยงานที่นำมาฝากเป็นวงเงินหมุนเวียนเพื่อแลกกับสินเชื่อสวัสดิการ ส่วนเงินรัฐวิสาหกิจชั้นดี และกองทุนประกันสังคม ส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้นำไปฝากกับธนาคารออมสิน ธอส. และบริษัทจัดการกองทุนรวม เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าธนาคารพาณิชย์
       นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินฝากที่หน่วยงานราชการอยู่กับธนาคารกรุงไทย เป็นจำนวนที่ไม่มาก และเงินฝากที่นำมาฝากส่วนใหญ่ จะเป็นเงินฝากที่นำมาพัก ในบัญชีเพียง 1-2
วัน เพื่อรอการสั่งจ่ายเท่านั้น ขณะที่นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า วงเงินที่หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ นำมาฝากมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นเงินฝากที่เป็นวงเงินหมุนเวียน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่ธนาคารสนับสนุนเงินกู้สวัสดิการให้กับรัฐวิสาหกิจ

ไทยรัฐ  31  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32304เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท