สุขใจเมื่อไปขึ้นเตียงผ่าตัด (๕) : ในห้องผ่าตัด


"ผมรู้สึกอบอุ่นและมีความสุขมากเวลาแพทย์วิสัญญีหรือพยาบาลวิสัญญีเอามือทั้งสองข้างมาวางบนไหล่ทั้งสองข้างของผม"

ความรู้สึกเหมือนเวลาล่องลอยไปอย่างช้าๆ หยุดลง เมื่อขบวนของเรามาถึงหน้าประตูห้องๆ หนึ่ง หน้าห้องมีตัวอักษรใหญ่ๆ ว่า “ห้องผ่าตัด 3” โดยเลข 3 นั้นใหญ่เท่าหม้อแกง ติดอยู่บนบานประตูสีเทา คนเดินหน้าไปเปิดประตูออก แล้วก็ช่วยกันเข็นผมเข้าไปข้างใน ในนั้นมีบางคนกำลังเตรียมอะไรอยู่ก่อนแล้ว

สายตาผมสำรวจไปรอบๆ ห้อง โอ้โห อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ นานาเหมือนในหนังจังเลย มีจออุปกรณ์ติดตามความเป็นไปในร่างกายเราเพียบเลย แล้วเจ้าความคิดก็วิ่งเข้ามาอีก ผมคิดถึงเทคโนโลยีที่เกิดจากกระบวนทัศน์แบบแยกส่วน ที่เอาเข้าจริงมันก็มีคุณูปการไม่น้อย กระบวนทัศน์แบบเดคาร์ดเจ้าของคำพูด "ฉันคิด จึงมีฉัน" ได้สร้างอะไรต่ออะไรขึ้นมามากมายเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์เหมือนกันนะ แต่พอเห็นว่าคุณสุรเชษฐ คุณกำลังคิดอีกแล้ว ก็วางลง มันไม่ใช่เวลามาอภิปรายในหัวตัวเองว่าอะไรแยกส่วนอะไรองค์รวมในตอนนี้นี่นา  

เมื่อกลับมาอยู่กับกาย กับเนื้อกับตัวเองได้ ก็เริ่มรู้สึกว่าอากาศในห้องหนาวมาก ได้ยินเสียงคนหนึ่งพูดว่าเช็คแอร์ ๑๘ องศา ผมได้ยินแล้วก็คิดถึงตู้เย็นที่บ้าน บนฝาตู้ด้านหน้ามีจอมอนิเตอร์แบบดิจิตัลเล็กๆ บอกอุณหภูมิภายในตู้เป็นตัวเลข ๑๘ องศาเหมือนกัน ก็เลยได้ความรู้ว่าอยู่ในห้องผ่าตัดก็เหมือนอยู่ในตู้เย็นดีๆ นี่เอง มิน่าทีมงานทุกคนจึงสวมใส่เสื้อผ้ากันหนาๆ คงจะสวมใส่กันคนละหลายชั้น

ผมเคยเรียนวิทยาศาสตร์มาบ้าง ทราบว่า เชื้อโรคจำนวนมากจะไม่เจริญเติบโตหรือขยายพันธุ์ที่อุณหภูมิต่ำกว่า ๑๘ องศา ก็คงจะด้วยเหตุนี้กระมัง ห้องผ่าตัดจึงต้องเย็นไว้ก่อน

แล้วผมก็คิดขำๆ ว่า ถ้าเราตู้เย็นที่บ้านเรามีขนาดใหญ่พอให้ทั้งทีมเข้าไปข้างในได้ ก็ผ่าที่บ้านได้เลย

ความคิดฟุ้งซ่านของผมหยุดลงอีกครั้งเมื่อมีเสียงเตียงกระทบกัน เตียงที่เข็นผมมาถูกเคลื่อนไปชิดขนานกับเตียงผ่าตัด ผมเพิ่งสังเกตว่าเตียงผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่าเตียงที่เข็นผมมา ความกว้างน่าจะแค่ครึ่งเมตรหรือไม่ถึงด้วยซ้ำ ตรงหัวเตียงลงมาหน่อยมีที่รองแขนยื่นตั้งฉากออกมาทั้งสองข้าง ภาพรวมๆ ของเตียงผ่าตัดเลยดูเหมือนไม้กางเขน

พยาบาล ๒ คนช่วยกันใช้เอวดันเตียงที่เข็นมาแนบเข้ากับเตียงผ่าตัดอย่างสนิทมั่นคง แล้วบอกให้ผมเลื่อนตัวไปนอนบนเตียงผ่าตัด เมื่อผมนอนหงายบนเตียงผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว เขาก็เข็นเตียงเก่าออกไป

เมื่อตามองตรงขึ้นไปข้างบนก็เห็นโคมไฟแบนๆ ใหญ่ๆ ดูคล้ายกระด้งฝัดข้าว ๓ วง ลอยอยู่เหนือเตียง แต่ละโคมสามารถปรับมุมส่องแยกเป็นอิสระจากกัน ในใจก็คิดว่า เออ...คล้ายชุดไฟไลท์ติ้งในงานถ่ายภาพเลย ผมเคยเรียนวิชาถ่ายภาพมาก็พอรู้เรื่องการจัดแสงอยู่บ้าง แต่หน้าที่ของไฟผ่าตัดคงต่างกัน อันนั้นช่วยปรับแสงเงาบนคนหรือวัตถุที่จะถ่ายให้ได้ความงามทางศิลปะ ส่วนอันนี้ คงปรับมุมให้แสงส่องลงมาได้หลายมุมอย่างเดียว เรียกว่าเน้นให้สว่างเห็นชัดเจนไว้ก่อน โดยไม่ต้องสนใจเงาหรือเฉดดิ้งบนพื้นผิวอวัยวะที่จะผ่า

แล้วผมก็จินตนาการต่อไปว่า ถ้ามีกล้องวิดีโอห้อยลงมาระหว่างโคมไฟทั้งสามดวงนั้นก็น่าจะดีนะ ถ่ายทำการผ่าตัดไว้ แต่ถ้าผู้ป่วยคนใดไม่อนุญาตก็ไม่ต้องถ่าย ผมเป็นคนหนึ่งที่อยากให้ถ่าย อยากบันทึกไว้เป็นที่ระลึกแบบเดียวกับที่เราไปท่องเที่ยวผจญภัย แม้จะคิดค่าบริการ ผมก็เต็มใจ 

ความคิดฟุ้งซ่านของผมสะดุดอีกครั้ง เมื่อทีมวิสัญญีขอให้ผมนอนตะแคงขวา เขาจะเริ่มบล็อกหลังแล้ว ให้ผมโก่งตัวให้ข้อกระดูกสันหลังเปิดออกกว้างๆ ตามที่ผมได้เรียนรู้มาแล้วในห้องเตรียมผู้ป่วยผ่าตัด

ผมอยู่ในอารมณ์ที่ต้องการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ยกเข่าทั้งสองข้างของตนขึ้นมา  ขดตัวโก่งหลังเต็มที่ จนตัวงอเป็นกุ้งเลย แล้วก็รู้สึกมีนิ้วมือ คงเป็นของหมอวิสัญญี กดไล่ไต่ไปมาขึ้นๆ ลงๆ ตามข้อกระดูกสันหลังผมอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจู่ๆ ผมก็รู้สึกช่วงล่างของลำตัวผมชาขึ้นมาทันที จึงพูดขึ้นว่า “มือเบาจังเลยครับ ฉีดไม่เจ็บเลย” แล้วก็มีเสียงตอบมาจากด้านหลังว่า “ยัง...กำลังคลำหาเป้าอยู่... ยังไม่ได้ฉีด” ผมเหลือบตาขึ้นไปมองหน้าหลายคนที่มุงดูผมอยู่ เห็นเขาพากันอมยิ้มน้อยๆ ก็เลยอดยิ้มขำความหน้าแตกของตนเองขึ้นมาด้วยไม่ได้  ก็ผมรู้สึกชาท่อนล่างขึ้นมาจริงๆ นี่นา ไม่รู้ว่าจะเป็นอาการคล้ายๆ สะกดจิตตนเองไปล่วงหน้าหรือเปล่า

เรื่องแทงเข็มเข้าไประหว่างข้อต่อกระดูกสันหลังนี้ ผมยังอดแปลกใจไม่ได้ เพราะผมไม่รู้สึกเจ็บปวดกับการแทงเข็มเข้าไประหว่างกระดูกสันหลังผมเลยแม้แต่นิดเดียว นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกว่าถูกแทงเข้าไปตอนไหน หรือเขาอาจจะมีวิธีทำให้หลังผมชาก่อนที่จะแทงเข้าไปกระมัง!

ผมบอกพยาบาลที่ยืนด้านหัวเตียงว่า หมอนต่ำจัง เธอบอกว่า หนุนสูงขึ้นได้อีกหน่อย

ขณะนอนหงายเหยียดแขนกางออกตามแนวไม้กางเขน ก็นึกไปว่าเป็นท่าเดียวกับพระเยซูถูกตรึงกางเขนเลย ต่างกันแต่พระเยซูถูกตรึงด้วยตาปูทั้งมือและเท้า ของผมเพียงถูกรัดมือและเท้าด้วยเข็มขัด

จากนั้นพยาบาลก็ติดตั้งเครื่องมือติดตามความเป็นไปในร่างกายผม โดยติดเครื่องวัดความดันโลหิตที่แขนขวา ติดเครื่องวัดระดับอ็อกซิเจนที่นิ้วมือข้างซ้าย ติดอุปกรณ์วัดคลื่นหัวใจบริเวณหน้าอก เอาหน้ากากอ็อกซิเจนมาครอบปากและจมูก ผมรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็เพราะพยาบาลที่ช่วยกันติดอุปกรณ์ให้ เธอติดไปก็อธิบายให้ผมฟังไปด้วย ผมยิ่งอยากให้มีกล้องถ่ายวิดีโอไว้จริงๆ โดยบันทึกเสียงของ "มัคคุเทศน์" นี้ไว้ด้วย

มีความลับอันหนึ่งที่ผมไม่ได้บอกหมอหรือพยาบาล คือ ผมรู้สึกอบอุ่นและมีความสุขมากเลยเวลาแพทย์วิสัญญีหรือพยาบาลวิสัญญีเอามือทั้งสองข้างมาวางบนไหล่ทั้งสองข้างของผม แค่เอามือมาวางไว้ที่ไหล่เฉยๆ แล้วบีบเบาๆ แค่นั้นก็สุขสุดๆ แล้ว

อีกอย่าง ขณะที่ถูกผ่านั้นผมรู้สึกว่าผมอยู่กับทีมวิสัญญีมากกว่า เพราะพวกเขาอยู่ทางด้านศีรษะผม จอมอนิเตอร์ต่างๆ ก็อยู่ทางด้านศีรษะ ผมเหลือบตาขึ้นมองทีไรก็เห็นแต่พวกเขา ส่วนทีมศัลยกรรมนั้นเหมือนจะถูกแยกออกไปด้วยผ้าเขียวผืนใหญ่ที่มากั้นตั้งแต่หน้าอกผมลงไป ทำให้ผมมองไม่เห็นพวกเขาตลอดการผ่าตัด 

ที่จริงตอนแรกผมนึกว่าจะได้ดูการผ่าตัดแบบสดๆ การที่ได้หมอนสูงขึ้นก็จะทำให้ยกหัวขึ้นมาดูเป็นระยะได้ง่ายขึ้น เพราะเข้าใจไปว่าเมื่อบล็อกความรู้สึกช่วงล่าง ช่วงบนเราจะยังรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงเขามีผ้าสีเขียวๆ มาขึงกั้นตรงหน้าอกผม คล้ายจอภาพยนตร์ ก็เลยรู้ว่า ยังไงก็ไม่ได้เห็นแน่ งั้นฟังเอาก็ได้ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เป็นเช่นที่คิดอีก เพราะขณะที่ตามองจอผ้าเขียวไปได้ไม่นาน ผ้าเขียวนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ใหญ่เท่าผ้าที่ขึงบังอยู่นั้นเลย 

ผมมานึกออกภายหลังว่าหนังสือที่เห็นนั้นเป็นความฝัน อาจจะเป็นไปได้ว่าเขาใส่ยานอนหลับเข้ามาทางสายน้ำเกลือ หรือจะเป็นเพราะการบล็อกหลังมีผลทำให้เราง่วงไปด้วยกระมัง อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ ทราบแต่ว่าหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้

ในฝันนั้น จอผ้าสีเขียวที่ผมจ้องอยู่นั้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหนังสือเล่มใหญ่ๆ หนาๆ ขนาดความกว้างยาว เท่ากับผ้านั้นพอดี ถ้าจะเปิดแต่ละหน้า ก็ต้องวาดมือจนสุดแขนด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งทีเดียว หน้าหนังสือนี้เป็นสีซีเปียร์ คือใช้กระดาษสีน้ำตาลอ่อนๆ ตัวหนังสือเป็นตัวเขียนสีน้ำตาลเข้ม ตัวอักษรโรมัน เขียนเป็นภาษาลาติน ที่ผมอ่านเสียงได้แต่ไม่รู้ความหมายทั้งหมด เช่น ซุมมุม โบนุม โปปูโลรุม ลาบอเรม ฯลฯ ในฝันว่าอ่านไป อ่านไป ไม่เท่าไรก็หลับไป

จากหลับแล้วฝันไป สู่หลับลึกที่มืดสนิท เงียบ และว่างเปล่า...

เวลาผ่านไปนานเท่าไรผมไม่ทราบ แต่ทันทีที่รู้สึกตัว ความคิดแว็บแรกคือ เอ๊ะ ผ่าแล้วยัง หรือยังเตรียมการผ่ากันอยู่ แต่เมื่อเงี่ยหูฟังจากการสนทนากันของพยาบาลก็รู้สึกว่าเป็นบรรยากาศของการเก็บของเก็บอุปกรณ์ แสดงว่า “เวลาของผมหายไปช่วงหนึ่ง” โดยผมไม่รู้ตัว

ก็เลยรู้ว่าผ่าเสร็จแล้ว และเขาก็คงกำลังเก็บความเรียบร้อยอะไรกันอยู่ ผมได้ยินบุรุษพยาบาลคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า full bladder (กระเพาะปัสสาวะเต็ม) แต่ก็ไม่ทราบว่าเขาทำอะไรกับกระเพาะปัสสาวะผมบ้าง เพราะท่อนล่างผมยังชาอยู่

จากนั้นผมรู้สึกหนาวเหน็บขึ้นมา พร้อมกับร่างกายท่อนบนกระตุกเป็นจังหวะช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ผมไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตัวผม ผมตัดสินใจว่าจะพูดอะไรออกไปสักคำ ด้านหนึ่งก็เพื่อทดสอบว่าเราพูดได้หรือยัง อีกด้านหนึ่งก็อยากทราบว่าเกิดอะไรขึ้น 

ผมพูดออกไปว่า ผมหนาวครับและรู้สึกว่ากำลังสั่นกระตุกๆ ก็ได้รับคำชี้แจงว่า เป็นผลข้างเคียงจากการบล็อกหลัง แต่ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็หาย อาการนี้อาจเกิดขึ้นกับบางคน เป็นผลจากการที่จำเป็นต้องเร่งปล่อยน้ำเกลือเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้นในขณะให้ยาบล็อกหลัง แล้วก็บอกว่าอีกสักครู่จะขอยกผมจากเตียงผ่าตัดขึ้นเตียงที่เข็นผมไปห้องสังเกตอาการหลังผ่าตัด

จากนั้น พยาบาลและบุรุษพยาบาลหลายคนก็ช่วยกันจับมุมผ้าปูที่นอนคนละมุมสองมุมยกผมลอยขึ้นจากเตียงผ่าตัดไปวางบนเตียงที่เข็นได้ แม้จะยังหนาวและกระตุกๆ อยู่ แต่ผมก็รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ถูกยกลอยเหมือนถูกไกวอยู่ในเปล

------------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านบันทึกทั้ง ๙ ตอนในชุดผ่าตัดไส้เลื่อนของผมได้โดยคลิกลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

  1. รู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นไส้เลื่อน (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321431)
  2. เมื่อวันนัดผ่ามาถึง (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321469)
  3. ผ่อนคลายในห้องเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321489)
  4. ความสุขที่เกิดขึ้นภายในใจระหว่างทางสู่ห้องผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321619)
  5. ในห้องผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321793)
  6. ผลข้างเคียงจากการบล็อกหลังในห้องสังเกตอาการหลังผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322526)
  7. พักฟื้นในหอผู้ป่วย (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322581)
  8. กลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322678)
  9. หมอที่มีหัวใจมนุษย์ (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322779)
หมายเลขบันทึก: 321793เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2009 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 01:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ครับ...

ตามอ่านทุกบันทึกเลย อาจารย์ได้เขียนบรรยายไว้อย่างละเอียด ผมเองไม่เคยเข้ารับการผ่าตัด แต่ผมคิดภาพการผ่า..เป็นกระบวนการทางการรักษาที่น่ากลัว(มาก)

ขอบคุณครับอาจารย์

อาจารย์ให้ความรู้สึกแบบนี้ของผมดีขึ้นมากเลย

ได้คลิกลิงก์ไปอ่านประวัติ รวมทั้งที่คุณหมอวิจารณ์เขียนถึงคุณ P จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร แล้วครับ อายุยังน้อย แต่เส้นทางชีวิตเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และซึมซับประสบการณ์มากขนาดนี้ คงไปได้ไกล ขอให้สำเร็จดุษฎีบัณฑิตโดยเร็วนะครับ

สุรเชษฐ
21 ธ.ค.52

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท