01 การจัดการความรู้ Knowledge Management : KM


             01 การจัดการความรู้ Knowledge Management : KM

                            

จะเริ่มอย่างไร
       การจัดการความรู้ หรือการบริหารความรู้คืออะไร ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่สำหรับเรา แต่ทำไมต้องมีการจัดการความรู้ เมื่อเข้าใจแล้วว่าต้องมีการจัดการความรู้แล้วเราจะเริ่มอย่างไร เครื่องมือที่ใช้ในการทำการจัดการความรู้มีอะไรบ้าง ส่วนสุดท้ายคือแล้วเราจะประเมินอย่างไรในผลของการจัดการความรู้

ความรู้คืออะไร
        คำว่าความรู้เป็นคำง่ายๆที่เราทุกคนคิดว่าเรารู้ความหมายของคำๆนี้ แต่พอถามว่าความรู้คืออะไร ก็คงจะหาผู้ที่จะให้คำนิยามได้ค่อนข้างยากมากทีเดียว ถ้าลองเปิดดูความหมายของคำว่าความรู้ตามแบบชาวตะวันตกก็พอจะได้ความหมายดังนี้คือ  "the facts, feelings or experiences known by a person or group of people" (Collins English Dictionary) หรือ “the facts, skills, and understanding that you have gained through learning or experience” (Longman: Dictionary of Contemporary English, 1995) ส่วนความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปีพ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้คือ “สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะ; ความเข้าใจหรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์; สิ่งที่ได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิดหรือการปฏิบัติ; องค์วิชาในแต่ละสาขา…” ดังนั้นทำให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากประสาทสัมผัสทั้งห้า จากประสบการณ์ หรือการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของข้อเท็จจริงหรือทักษะก็ได้ชนิดขององค์ความรู้
       ความรู้มี 2 ประเภทคือความรู้ที่จับต้องได้ หรือความรู้เด่นชัด (explicit หรือ tangible knowledge) และความรู้ที่จับต้องไม่ได้ หรือเรียกว่าความรู้ซ่อนเร้น  (tacit หรือ intangible knowledge) ชนิดแรกเป็นความรู้ตามตำราเอกสาร คู่มือ หรือบทเรียนต่างๆ ที่สามารถรับรู้ได้ด้วยสัมผัสทั้งห้าของผู้เรียนเอง ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล ต้องมีการถ่ายทอดออกมาจึงจะเกิดเป็นความรู้ออกมา

อะไรคือการจัดการความรู้
       ครั้งเมื่อตอนปลายของคริสศตวรรษที่ 20 และย่างเข้าคริสศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในระบอบการเมืองการปกครอง และการเศรษฐกิจ มีการทำลายกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของสหภาพโซเวียต การปฏิวัติทางการเมืองการเศรษฐกิจของจีนโดยให้เศรษฐกิจนำการเมือง ทำให้ระบบทุนนิยมแผ่กว้างครอบคลุมเกือบทั่วไป ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันสูงขึ้น เป็นผลให้องค์กรต่างๆต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่อย่างมากมาย แต่สิ่งที่องค์กรจะละทิ้งไม่ได้ก็คือภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วในองค์กร เช่นในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นงานที่ต้องการความรู้ความชำนาญและทักษะอย่างมากจึงต้องมีการเก็บรวบรวมความรู้ของบุคลากรที่มีอยู่ เพื่อให้มีการดำรงอยู่ของความรู้ความชำนาญนั้นๆ ไม่ให้สูญหายไป แม้ว่าบุคลากรเหล่านั้นจะต้องจากองค์กรไป และบุคลากรรุ่นต่อๆมาสามารถนำเอาความรู้ที่มีอยู่เหล่านั้นมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือนำไปเพื่อพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้อีก แนวคิดเหล่านี้เองเป็นที่มาของการพัฒนาของการจัดการความรู้
       ในการดำเนินกิจการขององค์กรใดๆในปัจจุบัน กลไกที่สำคัญที่สุดขององค์กรใดๆก็คือ คุณภาพของบุคลากรในองค์กรนั้นๆ เพราะทรัพยากรบุคคลเป็นฟันเฟืองที่ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นความรู้ความสามารถของทรัพยากรบุคคลจึงเปรียบเสมือนสมบัติอันล้ำค่าของสถาบันหรือองค์กร
       ลองหลับตานึกถึงเวลาที่เราต้องการจะแก้ปัญหาในการทำงาน เช่นการรักษาผู้ป่วยที่เข้ามารับการดูแล เราก็จะพยายามใช้ความรู้หรือจากประสบการณ์ที่เรามี ทั้งการค้นจากตำรา หรือปรึกษาผู้รู้ อาจารย์ หรือเพื่อนแพทย์อาวุโส เมื่อเรามีคำตอบเราก็จะให้การรักษาผู้ป่วยได้ จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ ต้องอาศัยการค้นคว้าและในบางครั้งอาจจะทำให้เสียเวลามาก แต่ถ้ามีการจัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบที่ดีก็จะทำให้ไม่เสียแรงงานและเวลาในการค้นหาทุกครั้งที่ต้องการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ
       ดังนั้นการจัดการความรู้คือ การใช้ความรู้ทางด้านการจัดเก็บหรือ การสะสมองค์ความรู้เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงขององค์กร โดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บความรู้ทั้งหมดที่มีในองค์กร แต่เก็บในส่วนที่สำคัญมากๆและมีความหมายหรือให้ประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร การจัดการความรู้จะสอดคล้องกับความรู้ที่บุคลากร  ต้องการ และถูกที่ ถูกเวลา  
       อย่างไรก็ตามคำว่า การจัดการความรู้ เป็นคำเรียกที่ผิดเพราะความรู้อยู่กับบุคคล จะไปจัดการกับความรู้ในสมองของคนแต่ละคนคงจะเป็นไปไม่ได้ ที่จริงแล้วหัวใจสำคัญของการจัดการความรู้ก็คือ การสร้างบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมให้บุคลากรมีความต้องการที่จะสร้าง สังเคราะห์ ค้นคว้าหาความรู้ อยากเรียนรู้ แลกเปลี่ยน หรือ ใช้ความรู้ที่มีในองค์กร เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่องค์กร เพื่อคนในองค์กร และที่สำคัญที่สุดคือลูกค้าซึ่งก็คือผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปนั่นเอง

การจัดการความรู้โดยใช้โมเดลปลาทู
"โมเดลปลาทู" เป็นโมเดลที่เปรียบการจัดการความรู้เป็น 3 ส่วนคือ
------> หัวปลา หมายถึง ส่วนที่เป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางการจัดการความรู้ โดยจะต้องเป็นส่วนของผู้ดำเนินกิจกรรม KM ทั้งหมด
------>  ตัวปลา หมายถึง ส่วนของการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งจะต้องกระตุ้นให้ผู้ดำเนินกิจกรรม KM มีการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเฉพาะความรู้ซ่อนเร้นที่มีอยู่ และอำนวยให้เกิดการเรียนรู้แบบเป็นทีมเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนความรู้และเกิดนวัตกรรมในที่สุด
------> หางปลา หมายถึง ส่วนของคลังความรู้ ที่ได้จากการเก็บสะสม เกร็ดความรู้ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งเราอาจเก็บส่วนของหางปลานี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ICT ซึ่งเป็นการสกัดความรู้ที่ซ่อนเร้นให้เป็นความรู้เด่นชัด นำไปใช้และยกระดับต่อไป ดังภาพ

                   

ที่มา... เวปครูพระสอนศีลธรรม

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 321792เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2009 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท