ทบทวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ บทเรียนใหม่ที่ได้รับ


 

 

 

มีข้อตกลงของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ข้อหนึ่งบอกว่า หากมี

ความเสี่ยงระดับ 6-7 ต้องมีการทบทวน หากผู้ป่วยเกิดเสียชีวิตแบบไม่คาดคิดหรือไม่สมเหตุสมผลต้องมีการทบทวนระหว่างทีมที่ดูแลผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้อง

 

 

การทบทวนในลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในโรงพยาบาลของเรา แต่หากมีเหตุการณ์ที่เราอยากเก็บมาทบทวนก้นแม้ว่าจะสมเหตุสมผลแต่เราอยากวางระบบกันใหม่ เราก็ทำการทบทวนในทีมของเรา

 

ลักษณะการทบทวนของเรา ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มักจะเป็นประธานการประชุม การประชุมเป็นไปในลักษณะการหาปัญหาราก โดยจะมีเครื่องมือชนิดหนึ่ง เป็นแบบฟอร์มการค้นหาราก(root cause analysis) ว่ามีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง ตั้งแต่ คน อุปกรณ์ ระบบ สิ่งแวดล้อม แล้วก็สรุป เพื่อหาแนวทางและวางระบบกันใหม่

 

 

การประชุมครั้งนี้ เราเริ่มด้วย ให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับผู้ป่วยของเรา เราหลุดมาตรฐานอะไรไปบ้างหรือไม่ ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า ในการทบทวนหลายครั้งที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์มักจะปกป้องตัวเอง แต่ในครั้งนี้ ผู้เล่า เล่าได้ดีมาก บอกแบบตรงไปตรงมา แล้วก็ไม่ได้หลุดมาตรฐานอะไร ดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดีและครอบคลุมแต่ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้ต้องเสียผู้ป่วยไป

 

 

หลายต่อหลายครั้งที่การทบทวนของเรากลายเป็นการบรรยายวิชาการ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน บทเรียนครั้งนี้ที่ผู้เขียนได้รับมาเพิ่มก็คือการซักถามแบบสอนผู้ดูแลผู้ป่วย คล้ายจะตำหนิผู้ดูแลมากกว่าการให้กำลังใจกันและกันหรือช่วยกันหาแนวทางไม่ให้เหตุการณ์เกิดซ้ำอีก

จึงมีผู้สะกิดให้ผู้เขียน สรุปการประชุม เนื่องจากประธานการประชุมออกจากห้องประชุมแล้ว

 

 

ผู้เขียนสรุปตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น ระหว่างการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดรายนี้ที่ต้องสูญเสียผู้ป่วยไป  

-เครื่องมือในการช่วยเฝ้าระวังไม่เพียงพอที่วิสัญญีแพทย์เห็นว่า น่าจะมีมากกว่านี้

-อัตรากำลังของเราไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดนอกเวลาราชการ

-สมรรถนะของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ต้องยกระดับ

 

 

สิ่งที่ต้องปรับปรุงพัฒนา กันก็คือ

-กรรมการเครื่องมือ จะเสนอซื้อ/ทำแผน/ขอรับบริจาค เครื่องมอร์นิเตอร์สัญญานชีพ

-ศัลยแพทย์จะเลือกเคสผ่าตัดนอกเวลาเฉพาะเคสที่เร่งด่วน

-จะมีการพูดคุยระหว่างทีมพยาบาลผู้ดูแล ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด โดยใช้ เครื่องมือ KM แลกเปลี่ยน tacit knowledge น่าจะเหมาะสมกว่าการใช้ทฤษฎีและหลักการมาสอนกัน

 

 

การประชุมเสร็จสิ้นลงด้วยบรรยากาศที่ต้องให้กำลังใจกันและกัน ภายใต้สถานการณ์ที่คนไข้ล้นตึก อัตรากำลัง พยาบาลหนึ่งคนต่อคนไข้ยี่สิบคน แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้ได้

บทเรียนครั้งนี้ จะคอยเตือนเราไม่ให้เราไว้วางใจในอาการของคนไข้ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะคนไข้หลังผ่าตัดที่เสียเลือดเป็นจำนวนมาก

 

 

หมายเลขบันทึก: 320052เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้วยครับ แล้วก็ประทับใจตรงนี้

*   ใช้ เครื่องมือ KM แลกเปลี่ยน tacit knowledge น่าจะเหมาะสมกว่าการใช้ทฤษฎีและหลักการมาสอนกัน

               ขอบคุณครับ

  • ชื่นชมทีมงานค่ะ
  • การทำ RCA นี่สำคัญนะคะ..
  • อ่านแล้วนึกถึงตอนเป็นผู้ประสานงาน HACC เลยค่ะ
  • อากาศเย็นๆ รักษาสุขภาพค่ะ
  • กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะที่จะพยุงความรู้สึกดีของคนทำงานไว้ได้
  • เชื่อว่าทุกคนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแน่นอน
  • ...............................................
  • ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายค่ะ

สวัสดีคะ น้องแดง

แม่ต้อยมาให้กำลังใจ และชื่นชมที่มีกิจกรรมนี้เกิดขึ้น

เป็นเรื่องยากที่ เราจะใช้เทคนิคการประชุมแบบเป็นทางการ หรือวิชาการ มาเสาะหาต้นเหตุ หรือ root cause เพราะว่า ทุกคนอาจจะรู้สึกว่ายังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ  จึงจะเห็นการปกป้องตนเองขึ้นมา

การนั่งสนทนา แบบผ่อนคลาย  แบบเล่าเรื่องและผสมผสานด้วยความเข้าใจตรง กัน และมีเป้าหมายตรงกัน ว่าอันนี้เราจะพัฒนางาน  ไม่ใช่การจับผิดใคร

ค่อยๆทำไป อาจจะดีขึ้นคะ

ให้กำลังใจนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • มาให้กำลังใจค่ะ
  • สู้ ๆ ๆ ๆนะคะ

แวะเข้ามาเรียนรู้ค่ะ"ป้าแดง"

ขอนำไปปรับใช้ที่รพ.นะคะ

สวัสดีค่ะ มาขอทบทวนด้วยคนนะคะ เห็นด้วยกับ หลายต่อหลายครั้งที่การทบทวนของเรากลายเป็นการบรรยายวิชาการ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน บทเรียนครั้งนี้ที่ผู้เขียนได้รับมาเพิ่มก็คือการซักถามแบบสอนผู้ดูแลผู้ป่วย คล้ายจะตำหนิผู้ดูแลมากกว่าการให้กำลังใจกันและกันหรือช่วยกันหาแนวทางไม่ให้เหตุการณ์เกิดซ้ำอีก

ก็จะพยายามใช้เทคนิคของแม่ต้อยนะคะ........เพื่อบริการที่ดีมีคุณค่า

  • เมื่อนำเรื่องของการพลาดมาคุยกัน
  • ผู้คนมักรู้สึกไปเองเสมอว่า
  • เป็นการหาความผิด
  • การบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยง
  • จึงทำยากมากกกกกกกกกกกก...ในทุกๆที่
  • .....
  • อ่านๆที่ป้าแดงสรุปรากปัญหาไว้ข้างบน
  • พี่รู้สึกเหมือนยังจับรากไม่เจอนะคะ
  • ไม่ได้อวดเก่งทำตัวเป็นผู้รู้หรอกนะคะ
  • เพียงแต่ประสบการณ์ที่เคยทำ CQI บอกค่ะ
  • .....
  • การนำเรื่องของการพลาดมาคุยกัน
  • เป็นการทบทวนเพื่อให้เกิด CQI
  • ที่เดินออกจากห้องคุยร่วมกันเมื่อไร
  • จะมีข้อสรุปอะไรที่กลับไปลงมือทำได้เลย...ไม่ต้องรอ
  • .....
  • หากข้อสรุปที่ได้เป็นเรื่องของข้างหน้า
  • ที่กว่าจะได้สิ่งนั้นต้องรอแล้วละก็
  • CQI ที่กำลังทำอยู่นั้นยังไม่ใช่
  • สิ่งที่เกิดจากการจับรากมาแก้ตรง
  • .....
  • เดี๋ยวนี้ในเวทีบริหารความเสี่ยง
  • ที่ร.พ.ของพี่เราทำกันอย่างนี้
  • นำเรื่องพลาดมาคุยกันว่า
  • ถ้าย้อนไปได้...มีอะไรที่เราสามารถทำให้ดี
  • .....
  • เมื่อเรื่องราวถูกบอกถึงทางแก้
  • มันจะมีทั้งเรื่องของการทำร่วม
  • ที่ทุกช่วงของรอยต่อมีต่อกัน
  • เชื่อมประสานแบบส่งไม้วิ่งผลัดกัน
  • ประสานกันแบบว่าการส่งไม้
  • เชื่อมือว่าไม้ต่อไปจะได้ใช้ศักยภาพ
  • ที่มีอยู่ของตัวร่วมแก้ต่อ
  • ทุกๆส่วนได้เรื่องไปจัดการ
  • ทำให้ระบบของตนดำเนินไปเอื้อ...เชื่อมได้ดี
  • .....
  • เวลาคุยย้อนรอยอย่างนี้จะบอก
  • เรากำลังใช้เรื่องราวเป็นบทเรียนรู้
  • ว่าจะทำต่อไปข้างหน้าให้ดีกว่าอย่างไร
  • ใครต่อใครที่มาเกี่ยว....สบายใจ
  • .....
  • อ้อ...ลืมไปอีกเรื่องที่เปลี่ยนไปนั้น
  • ร.พ.ของพี่นั้น..ทีมผู้บริหาร..
  • ไม่คนใดคนหนึ่งจะนั่งร่วม
  • เพื่อรับรู้มีอะไรต้องลงมือทำเอง
  • .....
  • ในบางเรื่องที่ติดขัดเป็นเรื่องของ
  • ระบบใหญ่ที่ดูแลอยู่ก็มากหลายเรื่อง
  • .....
  • การได้เข้านั่งฟังด้วยทำให้ได้รู้
  • อ้อ...ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ผู้บริหารต้องรับไป
  • .....
  • รับไปแล้วก็ไปคุยกันหาทางออก
  • หาทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทองค์กร
  • ได้ทางเลือกก็ลงมือบริหาร
  • ทำไปแล้วก็กลับมาบอกว่าทำอย่างไร
  • มีอะไรทำไปให้บ้าง..อย่างนี้ค่ะ
  • ....
  • แวะมาบอกเผื่อว่าจะมีประโยชน์
  • ในการหมุนวงล้อคุณภาพในอีกรูปแบบค่ะ

สวัสดีครับ คุณป้าแดง

แวะมาขอบคุณที่เข้าปเยี่ยมโลกของคนรักเห็ดนะครับ

ดีจังได้แวะไปลาวบ่อยๆ มีโอกาศทานเห็ดหวายแล้วลองมาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ทุกท่านที่แวะมาแลกเปลี่ยน
  • การทบทวนทุกครั้ง ป้าแดงก็คิดว่า ยังไม่ได้ราก แต่บางครั้งเรื่องที่ sensitive มากๆใครก็คงไม่อยากกล่าว
  • ป้าแดง คนที่เป็น fa ต้องเก่งมากๆที่จะดึงผู้มีส่วนร่วมกลับเข้ากระบวนการที่ควรจะเป็น
  • -----
  • ป้าแดง...เห็นด้วยเป็นมาก กับแม่ต้อย จะนำไปเสนอ ประธานความเสี่ยงและผู้ที่จะเป็น fa ว่าควรเป็นอย่างนี้ดีมั้ย...
  • ---
  • สำหรับ อาจารย์ พี่หมอเจ๊ ก็ชอบมาก เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ อยากเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นที่ทำงานป้าแดงจัง..........ก็จะนำไปเสนอผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องดูค่ะ
  • ขอบคุณมากมายค่ะ

ขอบคุณ คุณเจษฎาค่ะ

ซีเกมส์ครั้งนี้ ก็ไม่ได้ข้ามไปเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ ต้องหาเห็ดหวาย กินให้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท