Open will : การชมไม่ทำให้สังคมไทยดีขึ้น (จริงหรือ)


     วันนี้ ในชั่วโมง Introduction to Palliative มีคำถาม ให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีสี่ คิดว่า หากตัวเองมีเวลาเหลืออีก 8 ชั่วโมง จะทำอะไร ส่วนมาก นักศึกษาจะตอบใกล้เคียงกับทฤษฎี ว่า ต้องการอยู่ที่บ้าน อยู่กับครอบครัว กับคนที่รัก ได้กล่าวลา ได้ขอโทษ กับบุคคลเหล่านั้น
    แต่มีนักศึกษาคนหนึ่ง ทำท่าครุ่นคิด พร้อมกับคำตอบ "ผมจะขอเขียนจดหมายไปด่านักการเมืองคนนึง มิฉะนั้นคงเสียทีที่เกิดมา" .."โอ้" ฉันและอาจารย์อีกท่าน อุทานขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย..ฉันเกือบหลุดออกไปว่าแบบนี้ก็เป็นเวรเป็นกรรมต่อกันสิ แต่สิ่งที่ได้ฟังจาก อ.สกล ก็ทำให้ฉันระงับไว้ เปลี่ยนเป็นคำถาม "อะไรที่ทำให้น้องคิดอย่างนั้นคะ" ..."ผมคิดว่า การชมไม่ทำให้สังคมไทยดีขึ้นหรอกครับ" เขาตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง "อีกอย่าง ผมอยากจะเขียนหนังสือร่วมกับ (ชื่อพิธีกรรายการสนทนาการเมืองชื่อดังคนหนึ่ง) ที่ทำให้คนไทยรู้สึกตัว" เขาเสริม..
ด้วยใจจริง ถึงแม้นักศึกษาคนนี้ จะให้คำตอบที่ฟังดูออกจะ "แปร่ง" และถึงแม้ฉันไม่เห็นด้วยกับทัศนคติเรื่องการ "ด่า"เท่านั้นที่ทำให้อะไรดีขึ้น  แต่ฉันก็รู้สึกชื่นชมในความกล้า และความเป็นตัวของตัวเองของเขา "สงสัยว่าอนาคตข้างหน้า เราคงได้เห็นน้องในรายการทีวีเสียกระมัง"
ความรู้สึกต่อการเมืองที่รุนแรงของนักศึกษาคนนี้เกิดจากการตัดสินว่าสิ่งที่คนอื่นทำและไม่ตรงกับที่เขาคิดนั้น "ผิด"  แล้วเราในฐานะครูควรสอนเขาอย่างไร?  หากด่วนไปตัดสินว่า เธอคิดอย่างนั้นผิด แล้วอะไรละคือตัวอย่างของการไม่เอาตัวไปตัดสิน?? อะไรคือสิ่งเปรียบเทียบให้เขาเห็นข้อแตกต่าง??

มันเป็นเรื่องยากที่จะไปคิดแทนคนอื่น เมื่อผิดไปจากที่คิด ก็ผิดหวัง โดยเฉพาะการคิดแทนแบบสำเร็จรูป ยกตัวอย่าง พ่อแม่บางคน คิดว่า ต้องเตรียมบ้านพร้อมที่ดินไว้ให้ลูก  แต่เมื่อลูกโตขึ้น ไม่ได้ทำงานในจังหวัดนั้น ก็ไม่ได้อยู่  ความรู้ที่อาจารย์บอกให้ท่องจำให้ได้ จบมา เครื่องมือเปลี่ยน concept เปลี่ยน ก็ไม่ได้ใช้  
   สิ่งมีค่าหนึ่ง ที่เราอาจลืมหยิบยื่นให้แก่กัน เป็นของมีค่า ทั้งที่ไม่มีราคา ก็คือ "ความเคารพใน ความแตกต่าง" 



คำสำคัญ (Tags): #ms-pcare#palliative class
หมายเลขบันทึก: 317748เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะ ชื่นชมในความกล้าหาญจริงๆ แต่ถ้ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆแล้วล่ะก็ใครๆก็ต้องคิดถึงตนเองก่อนเป็นอันดับแรก  ..จริงม่ะค้า..

สวัสดีคะ คุณครูบันเทิง

เห็นด้วยคะ ว่าถ้าเรารู้ว่าเวลาในชีวิตเราเหลืออยู่เท่าไหร่

เราจะเอาเวลามีค่าที่เหลือไปเกลียดใครอีกหรือ?

เป็นครูก็สนุกตรงที่มีสิทธิได้ฟังความคิดเด็ดๆ ของเด็กยุคนี้

แค่ความนึกคิดที่อิสสระอยากพูดอยากทำในขณะนั้นที่การเมืองเป็นเช่นนั้น
แต่ถ้าหากจะต้องตายจริงๆ ความนึกคิดคงไม่เป็นเช่นนั้นแน่นอน
เพราะมีตัวเลือกที่สำคัญอีกหลายตัวเลือกเมื่อเหตุการณ์คับขัน
ชีวิตข้างหน้าเขาจะต้องลองถูกลองผิดอีกมาก สังคมที่ถูกต้องจะสอนเขาเอง

เห็นด้วยกับประโยคสุดท้ายค่ะ "ความเคารพใน ความแตกต่าง"

ผมมีสองประเด็นมาแลกเปลี่ยนครับ

   ประเด็นแรก  การชมไม่ทำให้สังคมไทยดีขึ้นจริงหรือ

   ประเด็นนี้  ถ้ามองกันง่ายๆ  ผมก็ว่าการชมก็น่าจะทำให้สังคมดีขึ้นนะครับ  แต่ที่นักศึกษาบอกว่า "การชมไม่ทำให้สังคมไทยดีขึ้น"  เป็นคำถามที่น่าคิดและน่าติดตามครับ   เขาอาจเป็นพวกหัวก้าวหน้าในวิธีคิดแบบ No  conflict   No  progress  ก็ได้กระมังครับ

    ประเด็นที่สอง ก็คงต่อเนืองจากประเด็นแรกครับ นั่นคือ  เคารพในความแตกต่าง  ผมเห็นด้วยครับ  ทุกความคิดเห็นมีคุณค่า  ดังนั้น  จะทำอย่างไรในการจัดการกับทุกความคิดเห็นที่แตกต่างได้ โดยไม่แตกแยก   ที่เรียกว่า  "แตกต่างโดยไม่แตกแยก"

             ขอบคุณครับ 

พี่ว่าดีนะที่น้องมันกล้าแสดงความรู้สึกข้างในออกมา...จริง ๆก็เป็นการดีถ้าใครบางคนจะได้ระบายความอัดอั้นคับแค้นใจกับใครอีกคนออกมาในวาระสุดท้ายของชีวิต ถึงแม้ดูรุนแรงแต่ก็เป็นเหมือนการ กรีดหนองออกมาก็ได้

น่าสนใจนะ..ถ้าเป็นพี่จะขุดต่อไปถึงสังคมที่เขาอยากเห็นควรเป็นอย่างไร...และการจะไปถึงสังคมที่อยากเห็นควรเป็นอย่างไร (แทนที่เขาจะด่าคนที่เขาเกลียด) เราเปลี่ยนโลกได้ด้วยวิธีใดกันแน่ เด็กคนนี้อย่างไรก็แล้วแต่ น่าจะมีจิตสำนึกสาธารณะพอสมควร เพราะพูดถึงเรื่องส่วนรวม

น่าทึ่งน้องคนนี้นะคะ นศ.แพทย์น้อยรายที่คิดและมุ่งมั่น เรื่องการเมืองอย่างนี้ ...ผมจะขอเขียนจดหมายไปด่านักการเมืองคนนึง มิฉะนั้นคงเสียทีที่เกิดมา ...

.. คิดว่าพอเข้าใจนะคะ น้องเค้าคงเกลียดนายคนนั้นมากมาย เพียงคนเดียว หากเค้าตัวเล็กๆ ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจาก ด่า  ... เพราะคนบางคนอาจจะไม่รู้สึกสำนึก

การเป็นกลางนิ่งเฉย วางมาด ของผู้นำชุมชน ที่มีบทบาทในสังคม อาจสร้างความสับสนได้ เพราะปชช. เค้าก็อาจเข้าใจผิด ... เรื่องราวจึงได้บานปลายและแตกแยกมาขนาดนี้

... อย่างไรก็ตาม การชม สร้างพลังบวก กำลังใจ สร้างสรรค์ บนหลักพื้นฐานความถูกต้อง ดีงาม หากควรเด็ดขาด จริงจัง ชัดเจน กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์บ้านเมืองส่วนรวม ขอบคุณค่ะ  

 

 

สวัสดีครับ

สาเหตุที่เราอยากจะตอบ โต้ตอบ แนะนำ ขัดแย้ง นั่นเป็นเพราะเราฟังใน mode debating หรือ I in It มองเห็นประเด็น ตีความ และก็เข้าใจในความหมายของ words ที่เราได้ยิน

แต่เมื่อเราฟังใน mode ของ I in You เราจะเริ่มได้ยินเสียงร้องจาก "หัวใจ" ของคนพูด คนพูดได้เปิด "พื้่นที่" เชื้อเชิญให้เราลองเข้าไปย่างกราย เยี่ยมเยือน ความเป็นตัวของตัวเขา เราในฐานะแขก เราจะทำอย่างไรดี?

เข้าไปฉี่รด? เข้าไปชมเฉยๆ เข้าไป engage สืบค้น เข้าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราไม่ชอบ? เข้าไปทำให้เหลือแต่สิ่งที่เรา approve?

ในขณะที่เรามั่นใจว่าเราเป็นคนดี หวังดีต่อสังคม เป็นไปได้หรือไม่ที่คนอื่นก็เป็นคนดีด้วย หวังดีต่อสังคมด้วย แต่อะไรล่ะที่ทำให้เราคิดต่างกัน และสุดท้ายใครเป็นคนตัดสิน? และสุดท้ายสุดท้ายถ้าไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้ว relationship ระหว่างเรากับเขาสำคัญหรือไม่ เพราะนี่อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่เราทั้งคู่อาจจะได้รับกลับไปหลังการสนทนาครั้งนี้

ฯลฯ

สิ่งที่ทำ คงจะเกิด consequences ต่างๆกัน เราไม่ทราบหรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปัญหาที่น่าสนใจอาจจะเป็น "แล้วเรา care หรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และเรา care ใคร? care ความถูกผิิด (ในความหมายของเราเอง) หรือว่า care ในมิตรภาพที่เปิดออกต้อนรับเราแต่แรกเริ่ม แล้ว care ว่า ถ้าเราพูดอย่างนี้ๆ คนๆนั้นอาจจะรู้สึกอย่างไร?"

ถ้าเราสนใจแค่ contents เราก็จะอยู่แต่เพียง debating mode เท่านั้น หาคนแพ้ คนชนะ หาข้อสรุป นี่เป็นเรื่องของ traditional morality แต่ถ้าเราสนใจคนพูด สนใจความรู้สึก สนใจใน relationship ระหว่างเรากับเขา ก็จะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของ moral sensitivity แทน

เราคิดว่า "เด็ก" พูดเรื่องราวแบบไหนกับครู อาจารย์?

บรรยากาศเช่นไร ที่เด็กถึงได้แสดงความคิดเห็น ที่ controversial ออกมาในกลุ่มได้? relationship ระหว่างเรากับเขาเป็นเช่นไร ณ ขณะนั้น?

ในขณะที่ี contents อาจจะมีความสำคัญระดับหนึ่ง (หรืออาจจะไม่สำคัญเลย) แต่การที่เราเกิดความไว้วางใจ จนกระทั่ง "เปิดใจ" เราจะทำอะไรให้กับน้องคนนี้ในอนาคตได้อีกเยอะ หรือว่าเราจะเสี่ยง "ปิดใจ" และ close argument ใน contents ครั้งนี้ให้จงได้ ไม่สนใจว่าเราจะร่วมเดินทางอย่างไรกับน้องคนนี้ในอนาคต?

เป็น class ที่น่าสนใจจริงๆครับ

คุณธีรมนต์ : จริงคะ สังคมอาจจะค่อยๆ เกลาคนให้เข้ากับคนส่วนใหญ่ สมัยจบแพทย์ใหม่ๆ เคยพูดด้วยความโมโหคนหามเปลที่

ไปพักกินข้าว คนไข้ stroke เลยไม่ได้ไป CT สักที ยังจำสายตาเจ้าหน้าที่ใน ER ได้ไม่ลืม บทเรียนครั้งนั้น เลยทำให้

ความห่ามค่อยๆลดไปเองคะ

คุณ noktalay : สวัสดีคะครูนก แวะเข้าไปดูในบล็อกของคุณครูแล้ว

คุณ small man : น่าคิดคะ เพราะความแตกต่าง ทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วจึงเกิดความก้าวหน้า

พี่โรจน์ : คิดเหมือนกันคะว่า อย่างน้อย เด็กคนนี้ก็สนใจสังคมรอบข้าง แต่แบบอย่างที่มี คือเมื่อเกิดปัญหา ต่างคนต่างหันหน้าแล้ว

ด่ากัน..น่าจะเสริมวิธีบวก อย่างที่พี่โรจน์ และ คุณ poo ว่าคะ

อาจารย์สกล : สวัสดีคะ อาจารย์เปรียบเทียบดีจัง ได้รับเชิญให้เป็นแขกในพื้นที่ความคิด การฟังที่มีมิติของ relationship นอก

เหนือไปจาก content ขอบคุณคะ

เราอาจหาจุดพอดีเจอ หาก .."เราเคารพในความแตกต่าง" ขอบคุณนะคะ ได้ข้อคิดดีๆ เช่นเคย

Acss5s

2 ปีที่แล้ว ผมกลับมาอ่าน

ยังรับรู้ถึงพลังของบันทึกอยู่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท