จุดอ่อนของการสอนงานในหลักการวิทยาศาสตร์การจัดการของ Frederick Winslow Taylor


จุดอ่อนของการสอนงานในหลักการวิทยาศาสตร์การจัดการของ Frederick  Winslow  Taylor

“มากครูก็มากความ”

 

จรูญ   ไชยศร

 

          หลักการสำคัญประการหนึ่งในวิทยาศาสตร์การจัดการ (Scientific Management) ของ Frederick   Winslow  Taylor คือ การพัฒนาคนงานโดยการสอนให้คนทำงานถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์การจัดการแทนที่จะปล่อยให้คนงานทำงานกันไปตามใจชอบ แต่อย่างไรก็ตาม คนงานแต่ละคนต้องเรียนรู้งานจากหัวหน้าคนงาน (Foreman) หลายๆ คนไปพร้อมๆ กัน การคาดหวังประสิทธิภาพจากการทำงานของคนงานที่ต้องทำงานไปพร้อมกับการเรียนรู้ในหลายๆ เรื่อง จากครูสอนงานหลายๆ คน อาจเป็นไปได้ยาก      

          ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่าการสอนงานเป็นจุดเด่นในหลักการวิทยาศาสตร์ การจัดการที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่องค์การ แต่การที่คนงานหนึ่งคนต้องเรียนรู้งานจากครูสอนงานหลายคน อาจทำให้เกิดความสับสนในการสื่อความระหว่างหัวหน้าคนงานกับคนงานในลักษณะที่เรียกว่า “มากความ” ก็ได้  ซึ่งไม่เป็นผลดีในการพัฒนาคนงาน ทั้งนี้ต้องมีวิธีการที่เป็นระบบชัดเจน และมีศิลปะในการสอนงาน จึงจะทำให้เกิดผลดีต่อองค์การ ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นตามลำดับ คือ การสอนงานตามหลักการวิทยาศาสตร์การจัดการ จุดแข็งของการสอนงาน จุดอ่อนของการสอนงาน แนวทางการสอนงานที่มีประสิทธิภาพ

การสอนงานตามหลักวิทยาศาสตร์การจัดการ

          การสอนงานเป็นการพัฒนาคนงานตามหลักวิทยาศาสตร์การจัดการ (Scientific Management) ของ Frederick   Winslow  Taylor ที่เน้นว่าต้องพัฒนาคนงาน โดยการสอนให้คนทำงานถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์การจัดการแทนที่จะปล่อยให้คนงานทำงานกันไปตามใจชอบ (พิทยา บวรวัฒนา,2535 : 7) เป้าหมายของการสอนงานก็เพื่อให้คนงานได้เรียนรู้วิธีการทำงานที่ดีที่สุดวิธีเดียว (One best way) ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดการที่ต้องคอยเอาใจใส่สอนคนงานให้ทำงานทุกขั้นตอนของงานอย่างถูกวิธี

จุดแข็งของการสอนงาน

          การสอนงานตามหลักการวิทยาศาสตร์การจัดการของ Taylor มีจุดแข็งที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มความสามารถ (Maximum Productivity) ซึ่งฝ่ายจัดการสามารถผลิตสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนคนงานก็ได้รับค่าจ้างที่สูงและยุติธรรม  นอกจากนั้นการสอนงานจะช่วยก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่ง Frederick Winslow Taylor ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง The Principle of Scientific Management ในส่วนของการสอนงาน (Teaching the men) สรุปได้ว่า ในสมัยก่อนหากจะให้คนงานคนหนึ่งคนใดลาออก หัวหน้าคนงาน (Foreman) จะเดินไปบอกคนงานว่าคุณเป็นคนไม่ดี ทำงานไม่ได้เรื่องให้ออกไปได้แล้ว แต่ในความคิดใหม่หัวหน้างาน หรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครู (Teacher) จะไปพบคนงานและบอกกับคนงานว่าการที่จะทำงานได้ดี ได้ค่าตอบแทนสูงจะต้องทำอย่างไร (Jay M.Sahfritz and J.Steven Ott, 2001 : 65-70)

          เมื่อคนงานรู้ถึงวิธีการทำงานที่ดี และได้ค่าตอบแทนสูงแล้ว เรื่องการออกจากงานก็ไม่ต้องพูดถึง ครูจะเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้คอยกล่อมเกลาจิตใจคนงาน นายจ้างกับลูกจ้างจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน (We were smart enough to know whom the boss was coming, and when hr came up we were apparently really working) นอกจากนั้นครูที่สอนงานในแนวทางของวิทยาศาสตร์การจัดการจะมีภาพที่ดี และได้รับการยอมรับจากคนงาน ครูไม่ใช้ศัตรู แต่จะเป็นเพื่อนที่ช่วยให้คนงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และสอนแนะงานบางสิ่งบางอย่างให้ (Under the new, the teacher is welcomed ,he is not an enemy, but a friend. He comes there to try to help the man get bigger wages, to show him how to do something.)

จุดอ่อนของการสอนงาน                

          จุดอ่อนของการสอนงานตามหลักวิทยาศาสตร์การจัดการในทรรศนะของผู้เขียนกล่าวสรุปได้ คือ การที่ฝ่ายจัดการต้องคอยเอาใจใส่สอนคนงานให้ทำงานอย่าง        ถูกวิธีในทุกขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนจะตอนจะมีฝ่ายจัดการคนหนึ่งเป็นครูสอน ทำให้คนงานคนหนึ่งต้องขึ้นตรงต่อหัวหน้าหลายๆ คนพร้อม ๆ กัน และจะได้รับการสอนงานจากครูหลายๆ คน ซึ่งจะทำให้เกิดการสื่อความ (Communication) เป็นไปได้ยาก           ด้วยข้อจำกัดด้านการรับรู้ของคนงาน อีกทั้งความรู้ความสามารถของครูในแต่ละขั้นตอนของงานจะต้องอยู่ระดับที่เชี่ยวชาญ และมีความสามารถในการถ่ายทอดที่ดีเยี่ยม จึงจะทำให้การสอนงานเป็นไปด้วยดีบรรลุเป้าหมายในการแนะนำให้คนงานได้เรียนรู้วิธีการทำงานที่ดีที่สุดวิธีเดียว (One best way) อาจเป็นข้อจำกัด และอุปสรรคต่อการทำงาน เพราะคนงานอาจมีข้อจำกัดทางร่างกายที่ไม่สามารถทำงานได้สอดคล้องกับวิธีที่ดีที่สุดวิธีเดียว         ในขณะเดียวกัน คนงานที่มีความคิดสร้างสรรค์อาจค้นพบวิธีการทำงานที่ดีกว่า ซึ่งฝ่ายจัดการยังไม่สามารถค้นพบก็เป็นได้

การสอนงานที่มีประสิทธิภาพ                   

          จากการที่ผู้เขียนได้ศึกษาจุดแข็งจุดอ่อนของวิธีการสอนงานตามหลักวิทยาศาสตร์การจัดการแล้ว เห็นว่าน่าจะมีวิธีการสอนงานที่มีประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์การจัดการมากขึ้น ดังนี้

         1. ควรมีแผนงานที่ชัดเจนในการสื่อข้อความ (Communication) ของครูที่ทำการสอนคนงานมีระบบ (Process) ที่ชัดเจน โดยมีทีมที่ฝึกครูผู้สอนอีกขั้นหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องใช้ครูหลายคน เพื่อแก้ปัญหาการสื่อข้อความ (ในลักษณะที่มากครูมากความ)

         2. ควรมีการสำรวจความต้องการคนงานว่ามีความจำเป็นต้องเรียนรู้ในขั้นตอนของงานประการใดบ้าง เพื่อรวบรวมความต้องการมาวิเคราะห์จัดลำดับความสำคัญในการสอนงานให้ถูกต้องทันเวลา และมีความสอดคล้องกับวิธีการทำงานที่ดีที่สุดในแต่ละขั้นตอนของงาน

3. ควรมีการประเมินผลการทำงานในแต่ละขั้นตอนของงาน โดยมีระดับคะแนนของทักษะการทำงาน (Skill) เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าคนงานถนัดที่จะทำงาน ในขั้นตอนนั้นๆ หรือไม่ หรือต้องเรียนงานให้สอดคล้องกับความถนัด และวิธีการทำงานที่ฝ่ายจัดการกำหนดขั้น

สรุป      

การสอนงานตามหลักวิทยาศาสตร์การจัดการตามแนวคิดของ Frederick Winslow Taylor มีเป้าหมายเพื่อให้คนงานได้เรียนรู้วิธีการทำงานที่ดีที่สุดวิธีเดียว ในแต่ละขั้นตอนของงาน ซึ่งจะทำให้องค์การมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนงานได้รับค่าจ้างเพิ่มมากขึ้น การสอนงานจะมีครูในแต่ละขั้นตอนของงาน ซึ่งผู้เขียนงานเห็นว่าการสอนงานมีจุดแข็งในเรื่องของการเพิ่มทักษะของคนงาน เพื่อทำงานให้มีประสิทธิภาพมีผลผลิตมากขึ้นได้รับค่าจ้างมากขึ้น แต่ในการสอนงานต้องวางแผนการสอนอย่าง เป็นระบบ สร้างทีมงานในการฝึกครูอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้ครูมีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดวิธีการทำงานที่ดีที่สุด แต่ต้องคำนึงว่าการมีครูในทุกขึ้นตอนของงานจะทำให้เกิดการสับสนในการสื่อความ (Communication) ในลักษณะ “มากครูมากความ”  จึงจำเป็นต้องหาวิธีการสอนงานที่มีประสิทธิภาพเข้ามาแก้จุดอ่อนในการสอนงานตามหลักวิทยาศาสตร์การจัดการ

 

  บรรณานุกรม

 

พิทยา บวรวัฒนา, รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฏีและแนวการศึกษา (ค.ศ. 1877-ค.ศ. 1970) กรุงเทพ ฯ : พิมพ์ครั้งที่ 3 โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2535

Jay M.Shafritz and J.Steven Ott,2001. Classics of Organization Theory.  (Fifth Edition), Harcourt, Inc.

หมายเลขบันทึก: 309843เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2009 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บทความน่าสนใจดีค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท