ลมหายใจที่ไร้ค่า


การทำงานช่วยเหลือชีวิตคนนั้นมีคุณค่ายิ่ง เป็นความสุขใจที่หาได้ยาก เป็นความรักที่บริสุทธิ์ซึ่งเพื่อนมนุษย์ควรมีให้แก่กัน โดยไม่ต้องการความรู้จากตำราชั้นสูง

ลมหายใจที่ไร้ค่า

          เราได้ข่าวว่ามีหญิงเร่ร่อนมาอาศัยอยู่ที่โรงลิเกของวัดห้วยแก้ว  เลี้ยงชีวิตด้วยการเก็บขยะขายและอาศัยข้าววัดกิน  เราได้ไปเยี่ยม 2 ครั้ง  แต่ไม่เคยพบเลยสักครั้ง เนื่องจากแกเดินหาเก็บขยะไปเรื่อยๆ  ต่อมาวันหนึ่ง เราก็ได้พบแกจากการส่งต่อเยี่ยมบ้านของแผนกผู้ป่วยใน  แกป่วยเป็นโรคเบาหวานและอัมพฤกษ์  แขนและขาข้างซ้ายอ่อนแรง  ช่วยเหลือตัวเองได้พอควร  เมื่อไปเยี่ยมครั้งแรกพบป้าปลีวัย 52 ปีอาศัยอยู่กับลุงตุ้ม วัย 73 ปี ซึ่งมีอาชีพเก็บขยะขายเช่นกัน  สภาพบ้านเป็นบ้านเล็กๆมีข้างฝา3ด้าน ด้านหน้าไม่มีข้างฝาและประตู  มีมุ้งและเครื่องนอนเก่าๆ เสื้อผ้าเก่าๆและเครื่องครัวไม่กี่ชิ้นวางเกะกะบนพื้นบ้าน   รอบๆบ้านรกไปด้วยต้นหญ้าสูง  เหม็นกลิ่นปัสสาวะและอุจจาระเพราะไม่มีส้วมจึงขับถ่ายไว้ในป่าหลังบ้าน  เราไม่อยากขึ้นไปบนบ้านนั้นเลย  ไม่ใช่เพราะรังเกียจความสกปรกที่อยู่เบื้องหน้า แต่เพราะกลัวว่าจะขึ้นไปทำบ้านเขาพังต่างหาก  เนื่องจากบันได 3 ขั้นและพื้นบ้านเป็นไม้เก่าและผุบางส่วน สภาพบ้านนั้นเก่าพอๆกับสภาพคนแก่ทั้งสองคนที่อาศัยอยู่

         จากการเยี่ยมบ้านครั้งนี้เราได้ขอมูลว่านางปลี เป็นหญิงเร่รอน เคยมีสามีอาชีพถีบสามล้อที่ จ.สุโขทัย แต่แยกทางกัน มีลูกสาวสองคน เมื่อมีครอบครัวก็แยกย้ายไปและไม่เคยติดต่อกันเลย จึงเร่ร่อนหากินเลี้ยงตัวไปเรื่อยๆจนกระทั่งมาอยู่ที่นี่  ส่วนลุงตุ้มก็แยกทางกับภรรยาเก่านานแล้ว มีภรรยาใหม่ก็แยกทางกันอีกไปเรื่อยๆ แกชอบดื่มเหล้าเมาประจำ เคยขโมยของในบ้านไปขายเพื่อซื้อเหล้า จนลูกๆเบื่อละอา ต้องสร้างบ้านแยกให้อยู่อย่างที่เห็นและไม่ได้ดูแลเท่าที่ควร ลุงตุ้มจึงเก็บขยะเลี้ยงชีพไปวันๆจนได้พบกับป้าปลี  ในความคิดของเราขณะนั้น คิดว่าหญิงและชายวัยชราซึ่งไม่มีผู้ดูแล ไร้ญาติขาดมิตร  มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง  เมื่อบังเอิญมาพบกันจึงต้องการอยู่ร่วมกัน  อาจเพราะอยากมีเพื่อน   อยากมีญาติ  อยากมีคู่คิดมิตรคู่ใจ  หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งจะช่วยทำให้ชีวิตของทั้งสองคนไม่ต้องโดดเดี่ยวอีกต่อไป (ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวคงเรียกว่าพรหมลิขิต ละมั๊ง!) 

                นอกจากการดูแลความเจ็บป่วยด้านร่างกายและจิตใจของทั้งสองคนแล้ว  เรายังต้องให้ความช่วยเหลือทางสังคมอีก  เพราะป้าปลีเป็นบุคคลที่ไม่มีหมายเลขประจำตัว 13 หลัก  เราพยายามสืบค้นหาจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ก็ไม่มี  จึงต้องขอให้สิทธิอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลเมื่อรับยา  เคยส่งรายชื่อให้สมาคมผู้พิการประจำจังหวัด เพื่อช่วยเหลือก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ประสานไปที่สถานสงเคราะห์ฯเขาก็ไม่รับเนื่องจากมีโรคประจำตัวและช่วยเหลือตัวเองได้น้อย  การรักษาก็มีปัญหามากเนื่องจากลุงตุ้มมีเพียงจักรยานเก่าๆ1คัน ไม่สามารถนำป้าปลีมาพบแพทย์ได้  จะพึ่งลูกลุงตุ้มให้พามาก็ไม่มีใครยอมรับป้าปลี  เพราะไม่ยินดีที่ทั้งสองคนมาอยู่ร่วมกัน ก็เลยไม่ใส่ใจดูแล  เราจึงต้องขอความช่วยเหลือไปยัง  อสม.ที่ดูแลละแวกนั้น โดยให้วัดความดันโลหิตและเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลโดยเครื่องอัตโนมัติชนิดเจาะปลายนิ้ว  และนำผลตรวจมารับยาให้ทุกครั้ง  ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจาก อสม.ผู้มีใจเอื้ออารีย์เป็นอย่างดีเสมอมา

                เราดูแลแบบประคับประคองเช่นนี้เรื่อยมาตลอดหนึ่งปี  โดยไม่มีญาติมาแสดงตัวเพื่อร่วมดูแลช่วยเหลืออาการป้าปลีดูแย่ลงเรื่อยๆ  ไม่มีการบริหารฟื้นฟูกล้ามเนื้ออย่างที่ได้แนะนำไว้  กินอาหารตามมีตามเกิด   กินข้าวกับกล้วยเป็นประจำเพราะมีต้นกล้วยอยู่หลังบ้าน ซึ่ง เป็นเหตุให้น้ำตาลในเลือดสูงอยู่บ่อยๆ   ส่วนลุงตุ้มก็ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงให้ต้องดูแลอีกคน

                ความรู้สึกสงสารและรันทดใจเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราไปเยี่ยม  แต่ไม่รู้สึกท้อแท้  ความทุกข์ของเขาเหล่านั้นกลับกระตุ้นเตือนใจให้เราอยากช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น  ถึงแม้จะทำได้ไม่ดีที่สุดในทุกครั้งก็ตาม

                เช้าวันหนึ่ง ปลายเดือนกันยายน 2549 อสม.ที่ดูแลป้าปลี บอกกับเราว่า “ช่วยไปดูป้าปลีหน่อย ได้ข่าวว่าแกกินไม่ได้ ลุกก็ไม่ไหวแล้ว”  เราตั้งใจไปเยี่ยมบ่ายวันนั้น  แต่ติดขัดเพราะไม่มีรถไป  เจ้าหน้าที่ก็ติดประชุม   บ่ายวันต่อมา เราจึงได้ไปเยี่ยม   ภาพที่เห็นนั้นยังติดตาตรึงใจเราอยู่จนทุกวันนี้   ลุงตุ้มนั่งโบกแมลงวันที่บินตอมใบหน้าป้าปลี  ใบหน้านั้นซีด ไม่ลืมตา ขอบตาบวมและมีรอยแผลเนื่องจากมดกัด  มดไต่ตามร่างกายซึ่งไม่ไหวติง  ทรวงอกไม่เคลื่อนไหว  ชีพจรที่ข้อมือจับไม่ได้  คลำชีพจรที่คอได้แต่แผ่วเบา   เรารีบนำป้าปลีส่งโรงพยาบาลโดยปั๊มหัวใจมาตลอด  ภาวนาขอให้ช่วยชีวิตป้าปลีไว้ให้ได้ เพราะสงสารลุงตุ้มเหลือเกิน  ป้าปลี!!เสียชีวิตแล้วระหว่างทาง ซึ่งเราก็รู้ดี  แต่ไม่อาจปล่อยไปอย่างนั้นโดยไม่ทำอะไรต่ออีกได้   เมื่อถึงห้องฉุกเฉินการช่วยฟื้นคืนชีพยังคงดำเนินต่อ จนกระทั่ง แพทย์บอกว่า“ พอเถอะ! คงไม่ขึ้นแล้ว”  ในเวลาเดียวกันลุงตุ้มซึ่งนั้งอยู่หน้าห้องฉุกเฉินก็มีอาการสั่นสะท้านเหงื่อออกท่วมตัวจนเสื้อเปียกโชก  แพทย์ตรวจคลื่นหัวใจและคิดว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน  จำเป็นต้องส่งรักษาต่อโดยเร็ว  ลุงตุ้มจึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลพุทธชินราชทันที  คิดดูเถอะ! อะไรจะโหดร้ายต่อความรู้สึกกว่านี้อีกไหม ? เมื่อคนหนึ่งต้องตายจากไปในขณะอีกคนก็ป่วยหนักอย่างกระทันหันและต้องจากกันอย่างไม่มีโอกาสเอ่ยคำร่ำลา

            เราและชาวบ้านช่วยกันจัดทำศพให้ป้าปลีที่วัดอย่างเรียบง่าย ด้วยการบริจาคเงินช่วยกันตามกำลังศรัทธา ตั้งศพไว้เพียงคืนเดียวแล้วก็เผา  ในวันเผาแม้แต่เหรียญที่จะโปรยเป็นทานหน้าเมรุตามประเพณีก็ไม่มี  เราจึงต้องร่วมใจเทเหรียญจากกระเป๋าเท่าที่มีมาช่วยกัน อนิจจา! คนที่เกิดมาแบบไม่มีอะไรเลย  ก็ยังคงไม่มีอะไรเลยจริงๆจนกระทั่งวันตาย  งานศพเสร็จสิ้นลงแล้ว   เราจึงหวนนึกถึงลุงตุ้ม   แกจะรู้สึกอย่างไร ถ้ากลับมาแล้วพบว่าคนที่เคยอยู่ข้างๆ  ตายจากไปโดยไม่มีโอกาสเผาศพให้กัน

            การสูญเสียอันเนื่องจากความตาย ที่เคยผ่านพบมาในชีวิตด้วยอาชีพพยาบาลของข้าพเจ้ามีบ่อยครั้ง  แต่ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่มีทั้งความเศร้า ความชื่นใจและภาคภูมิใจเหมือนเช่นครั้งนี้  “ความเศร้า” เกิดเพราะเรารู้สึกว่าไปเยี่ยมป้าปลีช้าจึงช่วยแกไม่ทัน   “ชื่นใจ” กับความมีน้ำใจของชาวบ้านที่ช่วยเหลือกันตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่จนตาย โดยที่ไม่มีใครเป็นญาติเลยสักคน “ภาคภูมิใจ”ในสิ่งที่ได้กระทำอย่างเต็มที่และเต็มใจ ตั้งแต่เริ่มแรกที่รู้จักป้าปลีจนถึงจุดจบ  ภูมิใจกับคำพูดของลุงผู้ใหญ่ที่ว่า “หมอนี่นะ ดูแลกันตั้งแต่เกิดจนตายเลยจริงๆ” 

          ทุกวันนี้ลุงตุ้มไม่ต้องลำบากไปเก็บขยะอีกแล้ว ลูกๆกลับมาช่วยกันดูแลมากขึ้นกว่าเดิม  แต่เราก็ไม่แน่ใจหรอกว่า จะทดแทนความเดียวดายในชีวิตของลุงตุ้มได้หรือไม่  ลุงตุ้มยังคงอยู่เพียงลำพังในบ้านเล็กๆหลังเก่านั้นเช่นเดิม แกไม่ยอมไปอยู่กับลูกคนไหน บอกว่าอยู่แบบนี้สบายกว่า ลูกๆจึงมาช่วยกันทำบ้านใหม่ให้แข็งแรงขึ้น จัดสิ่งแวดล้อมใหม่ให้สะอาดและปลอดภัย หมุนเวียนกันมาดูแลและไปรับยาเมื่อถึงวันนัด

         วันเวลาผ่านไปอีกปี  ทุกครั้งที่เราไปเยี่ยม ลุงตุ้มจะดีใจจนน้ำตาไหลพราก  พร้อมกับกล่าวคำอวยพรให้พวกเราอย่างยืดยาวด้วยเสียงสั่นเครือจนฟังคำพูดแทบไม่ออก  น้ำตาแห่งความดีใจของลุงตุ้มที่เราไปเยี่ยม ทำให้เรารู้สึกว่าการทำงานช่วยเหลือชีวิตคนนั้นมีคุณค่ายิ่ง เป็นความสุขใจที่หาได้ยาก เป็นความรักที่บริสุทธิ์ซึ่งเพื่อนมนุษย์ควรมีให้แก่กัน โดยไม่ต้องการความรู้จากตำราชั้นสูง  อาจจะไม่ต้องการหมอที่เชี่ยวชาญมากนัก  หากแต่ต้องการ “การดูแลเอาใจใส่ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์”  เพราะทุกๆชีวิตย่อมมีคุณค่าเท่าเทียมกัน

         ท้ายที่สุดนี้ หากคุณงามความดีและบุญกุศลที่ข้าพเจ้าและทีมเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการดูแลป้าปลีและลุงตุ้ม หากพอจะมีอยู่บ้าง ในการประพฤติดีและปฏิบัติดีใดๆ ขออุทิศส่วนบุญ  ส่วนกุศล  ให้แก่  นางปลี   ผู้ล่วงลับไปแล้ว หากเกิดชาติหน้าฉันใด  ขออย่าต้องเร่ร่อน  เดียวดาย  ไร้ญาติ  ขาดมิตร  เช่นนี้อีกเลย

                                                                                                         

                                                 นางนุชศรา    เรืองกิจจา

                                              พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ

                                         กลุ่มงานเวชปฏิบัติฯโรงพยาบาลบางกระทุ่ม

หมายเลขบันทึก: 309705เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2009 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอให้นางปลี ไปสู่สุขคติ ที่สัมปรายภพด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท