ข้อคิดของการเป็นครูดีมืออาชีพ


เลือกที่จะเป็น..เพื่อในหลวงอันเป็นที่รักยิ่ง

ข้อคิดของการเป็นครูดีมืออาชีพ 

อ.ปัญญฎา  ประดิษฐบาทุกา 

๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒

เวลา 05.56 น.

 

                ในการที่จะเป็นครู  หรืออาจารย์นั้นควรเข้าใจและตระหนักให้ดีว่า  เราจะเป็น  “ครูดีมืออาชีพ  หรือ แค่มีอาชีพครู”   ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ในสาขาวิชาชีพอื่นจะมาเป็นครูไม่ได้   แต่ในแท้ที่จริงแล้ว (ปัญญา  Wisdom)  มีจุดประสงค์ในการทำความเห็นให้แจ้งว่า  คนที่จะเป็นครูที่ดีนั้นควรมี  “จิตวิญญาณของความเป็นครู”  หรือถ้าใช้ภาษาของคนทั่วไปก็จะเข้าใจว่า (ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจถูก)  คือ  “ความรักในอาชีพครู”  แต่ถ้าเป็นในทางธรรมเรียกว่า “ฉันทะ”  ซึ่งก็ตรงกับลักษณะทางจิตของมนุษย์ตามแนวจิตวิทยาตะวันตกที่เรียกว่า “ความพึงพอใจ  (job satisfaction)”    แต่ถ้าศึกษาจากเอกสาร  ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทั้งในและต่างประเทศจะพบว่า คุณลักษณะทางจิตของมนุษย์ที่เรียกว่า  “ความรัก หรือความพึงพอใจนั้น”  ยังไม่สำคัญเท่ากับคุณลักษณะทางจิตที่เรียกว่า  “ความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ (Conscientiousness)” ประกอบด้วย ตัวบ่งชี้  คือ  ความมีสมรรถนะ (Competence)  ความมีระบบระเบียบ (Order)  การยึดมั่นในหน้าที่และความรับผิดชอบ (Dutifulness)  การมุ่งความสำเร็จ (Achievement  Striving)  การมีวินัยในตนเอง (Self  Discipline)  และความสุขุมรอบคอบ (Deliberation)  เนื่องจากถ้าท่านได้ลองสังเกตและเข้าใจถึงสภาวะที่เกิดกับตนเองจะพบว่า  ความรักนั้นจะใช้อารมณ์มากำกับมากกว่าเหตุผล   ส่วนความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบจะใช้เหตุผลมากำกับอารมณ์มากกว่า  ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าในการเป็นครูต้องใช้เหตุผลทุกสถานการณ์  ซึ่งในความเป็นจริงนั้นครูหรืออาจารย์ที่ดีต้องใช้ทั้งศาสตร์ (หลักวิชาการหรือสัมมาทิฐิ)  และศิลป์ (ศิลป์ คือ การใช้จิตวิทยา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์)   เพื่อร่วมกันสร้างคนให้เป็นมนุษย์  เพราะมนุษย์คือผู้ที่มีจิตใจสูง   ดังนั้นจึงพูด  หรือให้ข้อคิดในชั้นเรียนเสมอว่า ยิ่งถ้าเราได้อยู่ในจุดที่สูง  มีอำนาจวาสนา  เงินทอง  หรือแม้แต่มีสิ่งที่เหนือกว่าคนธรรมดา  ก็ขอให้ใช้สิ่งเหล่าไปในทางที่ถูก  เพื่อส่งเสริมตนเองและผู้อื่นให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของประเทศ   อันจะนำมาซึ่งความเจริญ   ในทุกๆ ด้าน   เท่านี้ก็เท่ากับมีความกตัญญูต่อตนเองและประเทศชาติที่เราได้อาศัยมาเป็นเวลานาน   ทั้งนี้จะทำได้อย่างที่กล่าวมานั้น  ต้องฝึกหรือพัฒนาให้ตนเองและผู้อื่นมีเหตุผลมากๆ  ซึ่งได้ย้ำเสมอว่า  จากการศึกษางานวิจัยพบว่า  คนส่วนใหญ่ใช้อารมณ์ตัดสินปัญหาถึง ๙๘ เปอร์เซ็นต์  และใช้เหตุผลเพียง  ๒  เปอร์เซ็นต์   ดังนั้นผู้เขียนได้เล่ากรณีตัวอย่างของตนเอง  (Case Study)  เสมอว่าหลายเหตุการณ์นั้นสังคมก็ตัดสินคนๆ หนึ่งอย่างไม่ยุติธรรม  ทั้งนี้โดยทั้งหมดจะมาจากผู้ที่มีอิทธิพลของกลุ่มหรือสังคมที่เราไปสังกัด  แต่ไม่ได้หมายความว่า “คนที่มีสัมมาทิฐิ” เฉกเช่น  เพื่อนหลายๆ คนที่ไม่ได้มีพฤติกรรมในการทุจริต  หรือแม้แต่เวลารับฟังข้อมูล (การนินทา)  ก็จะใช้ความเป็นผู้มีเหตุผล  หรือคุณลักษณะที่สำคัญของนักวัดผล  นักวิจัย   ครู   อาจารย์  และนักวิชาการ  อีกทั้งอาจารย์หลายท่านที่สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์  ไม่ได้เห็นคล้อยตามกับกลุ่มคนเหล่านั้น   กลับพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลจนพบความจริง  ซึ่งทั้งเพื่อนและอาจารย์ที่มีสัมมาทิฐินั้น  ก็จะให้การสนับสนุน (Social Support)  ในทุกด้านเท่าที่จะทำได้  โดยเฉพาะด้านอารมณ์   ซึ่งแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่สังเกตได้คือ ความเห็นอกเห็นใจ  และความเข้าใจ  ซึ่งเหตุการณ์ที่กล่าวมานั้นมันก็คล้ายกับตอนที่ผู้เขียนเรียนในระดับปริญญาโท  และสุดท้ายเมื่อเราเป็นผู้เสียสละ  มุ่งทำความเห็นให้ถูกต้องและมุ่งทำความดี  โดยคิดเสมอว่าจะได้เป็นหนทางในการฝึกขันติ  (ความฉลาดในการอดทน Adversity Quotient)  จนเมื่อเรียนจบทุกคนก็เข้าใจและขอโทษผู้เขียน  ทั้งนี้ก็ไม่เคยได้คิดอาฆาตแค้น  หรือคิดถึงสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว   เหตุการณ์เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อทุกคนเรียนจบจะหมดแรงขับในการแข่งขัน  หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ  ก็คือ คนส่วนใหญ่หรือนักศึกษาที่ไม่ได้รับ  การขัดเกลาในเรื่องของความฉลาดในธรรมะ  (Dhamma  Quotient)  และจากโลกของเราที่เป็นอยู่  คนส่วนใหญ่  หรือผู้เรียน  นักเรียนและนักศึกษาทุกระดับ  จึงแข่งขันในการเรียนกันเสมอ  ทั้งนี้ถ้าวิเคราะห์ในทางจิตวิทยา  พบว่า  คนเหล่านี้จะมีแรงจูงใจใฝ่อำนาจ  ซึ่งผู้เขียนได้สอนนักศึกษา    เสมอว่า ตามทฤษฎีแรงจูงใจของแมคเคนแลนด์นั้น  แรงจูงใจมี  ๓  ลักษณะ  ซึ่งแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์  กับแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์จัดว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีที่จะส่งเสริมให้บุคคลประสบความสำเร็จในทุกด้าน  ส่วนแรงจูงใจใฝ่อำนาจเป็นแรงจูงใจที่ไม่ดีและถ้าไปอยู่ในตัวของผู้นำ จะก่อให้เกิดปัญหามาก  ทั้งนี้พวกที่มีแรงจูงใจในลักษณะนี้  สามารถสังเกตได้  ซึ่งมีพฤติกรรมบ่งชี้จากการกระทำที่สังเกตได้อย่างชัดเจน  ถ้าพิจารณาดูจะพบว่า  แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์มีความสัมพันธ์กับความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient)  และแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์มีความสัมพันธ์กับความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient)  ทั้งนี้จากที่ผู้เขียนได้เสนอมานั้น  ไม่ได้มุ่งหวังให้ท่านทั้งหลายต้องมามองว่าผู้เขียนเป็นคนดี   ไม่จำเป็นเลย  มันไม่ได้ทำให้ผู้เขียนเรียนจบปริญญาเอกตามที่มุ่งหวัง  หรือจะทำให้ผู้เขียนมีชีวิตที่ดีขึ้นไปกว่าเดิม   เพียงแต่มุ่งหวังว่าการให้เรื่องราวในชีวิตของตนเองในบางด้าน  (วิทยาทาน)  จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองของพวกท่าน  และทำความเห็นให้ถูกต้องในการที่จะต้องไปวัดและประเมินผู้เรียน   ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลทางจิตวิทยาที่ยากแก่การทำความเข้าใจ  เพราะจิตของมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึง  

                จากที่กล่าวมาทั้งหมดผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะเป็นครูดีมืออาชีพ  ซึ่งทั้งนี้ต้องพยายามศึกษาหาความรู้อยู่เสมอเกี่ยวกับสมรรถนะทางวิชาการและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่ครูควรจะมี  หรือถ้าเป็นลักษณะทางจิตของคนที่ทันสมัย  ตามทฤษฎีที่กล่าวไว้  ก็ควรมีความใฝ่รู้ตลอดชีวิต   ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้สั่งสอนให้เราชาวพุทธมามะกะ   มีความเห็นที่ถูกต้อง หรือ  พุทธะ  ที่แปลว่า  ผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน  ทั้งนี้ก็สอดคล้องกับเรื่องของสัมมาทิฐิ   ขอให้ท่านทั้งหลายจงยึด  กาลามสูตร  หรือการคิดแนวพุทธ  เช่น  อริยสัจ ๔ หรือโยนิโสมนสิการ  และอื่นๆ อีกหลายวิธี  ซึ่งแนวทางของพระศาสดาของเราชาวพุทธ  ก็ไม่ได้แตกต่างไปกับแนวทางของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  หรือการวิจัยเลย   สิ่งเหล่านี้จะช่วยในการฝึก  และพัฒนาการคิดการตัดสินใจของท่านได้เป็นอย่างดี   ซึ่งในส่วนตัวของผู้เขียนได้ทำ       การสอนวิชาการคิดกับการตัดสินใจและวิชาการคิดให้แก่นักศึกษาครู   และแม้แต่ในการเรียนปริญญาเอก  ซึ่งในหลักสูตรก็บังคับให้ศึกษาวิชาพุทธศาสนากับการพัฒนาพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งทั้งนี้ผู้เขียนมีความต้องการในการฝากข้อคิดเกี่ยวกับการแปลความพฤติกรรมของมนุษย์  จากการวัดและประเมินผล  ดังนี้        

                    ๑.    การที่เราจะตัดสินในพฤติกรรมของคนใดคนหนึ่งนั้นควรทำการเก็บข้อมูลหลาย ๆ ครั้ง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในพฤติกรรมที่เราจะศึกษา  และควรใช้หลักวิชาการ  ทฤษฎี  เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาเป็นหลักในการบ่งตัวชี้วัด  ไม่ควรคิดเอง หรือคิดจากประสบการณ์ของตน  เช่น  ครูบางคนไม่เข้าใจในนิยามที่แท้จริงของความก้าวร้าว  เวลาผู้เรียนแสดงความคิดเห็นมักจะตีความว่าก้าวร้าว   หรือนิยามของความโกรธ  ทั้งนี้ควรไปศึกษาทฤษฎีให้ทราบอย่างแน่ชัด  นั่นหมายถึงว่าได้มีการพัฒนาด้านพุทธิพิสัย  หรือในทางธรรมคือ  สัมมาทิฐิ  หมายถึง  การทำความเห็นให้ถูกต้อง  ซึ่งจะเป็นต้นเหตุ  หรือปัจจัยของมรรคมีองค์แปดตัวอื่น

                    ๒.   การที่จะเป็นครู   อาจารย์  นักจิตวิทยา   นักสังคมสงเคราะห์  นักวัดผล  หรือนักวิจัย  ควรตระหนักไว้ว่า เราจะประเมินว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น  เป็นอย่างนี้  ได้ช้ากว่าคนปกติ  เพราะเนื่องจากอาชีพเหล่านี้ควรมีความสุขุมรอบคอบ  ดังนั้นจะเก็บข้อมูลดังที่กล่าวไว้ในข้อ ๑  ก่อนที่ประเมิน  และควรเข้าใจว่าเราทำเพื่อพัฒนาคนทุกคน  ไม่ใช่เพื่อทำให้คนที่เราประเมินหมดความหวัง  ท้อถอย

                    ๓.   ในความเป็นจริงนักศึกษาได้ศึกษาเทคนิคของการเก็บข้อมูลจากผู้เขียนไปเพียงน้อยนิด  เนื่องจากเวลาเรียนจำกัด  ดังนั้นขอให้ท่านใช้เหตุผล  วิจารณญาณ  และความใฝ่รู้ในการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

                    ๔.   การที่จะเป็นครู  อาจารย์  นักวิจัย  หรือนักจิตวิทยา  ควรที่จะมีลักษณะที่เปิดใจกว้าง  (Open Mind)  รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ  แต่ต้องพิจารณาเพื่อให้เข้าสู่ปัญญาที่แท้จริง

                    ๕.   คนทุกคนในโลกนี้  ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่  เราควรมองในแง่ดี  หรือจุดแข็งของเขา   และช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาให้ดีขึ้น  ในกรณีที่เป็นสิ่งที่ดีต่อการพัฒนาของเรา  เราก็ควรเลียนแบบ   ส่วนในแง่ไม่ดีของเขา  อย่าไปจำ  หรือทางธรรมะ  คือ สัญญา  (ความจำได้ หมายรู้)  แต่ถ้ามีหนทางช่วยแก้ไขปรับปรุงก็ควรทำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นผู้เรียนที่เราต้องรับผิดชอบ   หรือแม้แต่คนสนิทที่ใกล้ตัวเรา  ทั้งนี้ต้องประเมินว่าเขาเหล่านั้นพร้อมที่จะให้เราช่วยเหลือหรือไม่  ซึ่งในบางครั้งเราต้องใช้เทคนิคในการโน้มน้าว  เพื่อให้เขาเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี

ด้วยความรักและเมตตา

 

หมายเหตุ 

    1. เขียนตอนสอน ป.วิชาชีพ คณะศึกษาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย ม.ราชภัฏจันทรเกษม

    2. บทความนี้เขียนเพื่อให้นิสิตที่เป็นครูประจำการแต่ละโรงเรียน ที่มาเรียนป.วิชาชีพได้มีความเข้าใจและมีจิตวิญญาณของความเป็นครูมากขึ้น 

    3. คณะศึกษาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มีหลักสูตร ป.วิชาชีพให้แก่ครูที่ไม่มีวุฒิครู สนใจสามารถติต่อได้ที่คณะศึกษาศาสตร์ หรือบัณฑิตวิทยาลัย โดยเข้าไปดูเวปไซด์ได้ หรือติดต่ออาจารย์ทางอีเมล์ได้

หมายเลขบันทึก: 304406เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ใช้วิชาชีพทางจิตฯ มาเขียนเลยหรือเปล่าครับ ;)...

ผมคงเขียนไม่ได้ลึกซึ้งเข้าสู่ Wisdom อย่างแน่ ๆ เลย

ผมเขียนแต่ใช้ "ความรู้สึก" เขียน บางทีมันก็ไม่ถูกนัก ;)

เขียนบ่อย ๆ นะครับ ... อยู่ในระหว่างการศึกษาต่อ

อาจารย์คงต้องการ "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้" อย่างมากทีเดียว

ขอบคุณมากคร้าบ ;)

เรียนท่านผู้อ่านทุกท่าน

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ K. Wasawat ที่แสดงความคิดเห็นและให้กำลัง ทั้งนี้ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นได้แสดงความคิดเห็น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพื่อเป็นการพัฒนาผู้เขียน หรืออาจารย์ตัวน้อยคนนี้ต่อไป

ขอบคุณคะ

ยินดีที่อาจารย์ได้ตอบความคิดเห็น ;)...

จะติดตามการเขียนของอาจารย์ต่อไปครับ

ทำดี ละความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

ครูที่ประพฤติธรรม ธรรมนั้นย่อมรักษาเช่นกัน จ้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท