สิงห์อมควันปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วง


ควรช่วยกันป้องกัน และแก้ไข

สิงห์อมควันปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วง 

 ว่าที่ร้อยตรีปิยะปทีป  แสงอุไร

และปัญญฎา ประดิษฐบาทุกา

 บทนำ 

            ปัจจุบันการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันดับ 2  ของประชากรทั่วโลกปีละ  650  ล้านคน  เฉลี่ยนาทีละประมาณ 10 คน  หากไม่มีการรณรงค์แก้ปัญหาใดๆ  คาดว่าในอีก 14 ปีข้างหน้าหรือในปี 2563  ประมาณ 650 ล้านคนจะจบชีวิตก่อนวัยอันควรโดยเฉพาะวัยแรงงาน และล่าสุดปีพ.ศ.2550  ทั่วโลกมีเยาวชนอายุ 10-24 ปีสูบบุหรี่แล้ว 1,800 ล้านคน มากกว่าร้อยละ 85 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา (http//www.medicine online.com) 

            สำหรับในประเทศไทยบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตอันดับ 3 ของคนไทยรองจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยกับการดื่มสุรา  คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 42,000-52,000 คน  หรือวันละ 142 คน  โดยผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เฉลี่ยอายุสั้นลง 12 ปี  และโดยเฉลี่ยป่วยหนักเป็นเวลา 1.7 ปี  ก่อนเสียชีวิต (สำนักงานสถิติแห่งชาติ.2549 : 8 ; ออนไลน์)  และผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกวิเคราะห์ว่า ตามแนวโน้มการสูบบุหรี่ของคนไทยที่เป็นอยู่   คนไทยจะเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 80,000 คน ในอีก 20 ปีข้างหน้า (มูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่.2547 : ออนไลน์) ซึ่งจากผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ประจำปีพ.ศ. 2550  (สำนักงานสถิติแห่งชาติ : ออนไลน์)  พบว่า อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำในช่วง 7 ปี  ได้แก่ ระหว่างปีพ.ศ.2544-2550  โดยประชากรไทยมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ประมาณ 18 ปี  แต่ในในปีพ.ศ.2550  มีอายุเฉลี่ยของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ โดยเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุเฉลี่ย 18.5 ปี  จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ของเยาวชนยังคงน่าเป็นห่วง  เนื่องจากอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนยังมีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเริ่มทดลองสูบบุหรี่  และอาจนำมาซึ่งการติดบุหรี่ในระยะยาวต่อไปได้

 

สถานการณ์การสูบบุหรี่ของประชากรและเยาวชนไทย

            สำหรับประเทศไทย  ผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากร ปี 2550   โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ออนไลน์)  ได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15  ปีขึ้นไปประจำ ปี 2550 เพื่อนำเสนอสถานการณ์พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรสำหรับให้หน่วยงานภาครัฐใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย   และจัดทำแผนงาน  มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนเป็นการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การสูบบุหรี่ของประชากรไทยเพื่อสุขอนามัยของประชากร โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 80,000 ครัวเรือน ระหว่างเดือน สิงหาคม -ตุลาคม 2550   พบว่ามีผู้ที่สูบบุหรี่ 10.8 ล้านคน หรือร้อยละ 21.2 โดยสูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน 9.4 ล้านคน หรือร้อยละ 18.5 และสูบบุหรี่นาน ๆ ครั้ง 1.3 ล้านคน หรือร้อยละ 2.7 และ พบว่า ผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงถึง 22 เท่า คือร้อยละ 41.7 และ1.9 ตามลำดับ และผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลสูบบุหรี่มากกว่าในเขตเทศบาล ร้อยละ 23.4 และ 16.3 ตามลำดับ 

            ผลจากการสำรวจการสูบบุหรี่ของประชากรไทยพบว่าในช่วง 7 ปี (2544-2550) พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีแนวโน้มลดลงจาก 22.5 เป็น 19.5 18.9 และ 18.5ตามลำดับ โดยมีอัตราการลดลงที่ชะลอตัวในปี 2550และเพศชายยังคงมีสัดส่วนการสูบบุหรี่ที่สูงกว่าเพศหญิงอย่างต่อเนื่อง

            หากพิจารณาเป็นกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มวัยทำงาน (25-59ปี) มีอัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น คือ ร้อยละ 21.0 และรองลงมาเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราร้อยละ 16.7 และกลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) มีอัตราร้อยละ 12.1

          หากพิจารณาอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ในช่วง 7 ปี (2544-2550) พบว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลง คือ ประชากรไทยมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ประมาณ 18 ปีโดยกลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุประมาณเกือบ 17 ปีมาโดยตลอดในขณะที่กลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าในช่วงแรกอายุเริ่มสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลงแต่ในช่วงปี 2550 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 18.7 ปีและ 19.3 ปี ตามลำดับ   และจากผลการสำรวจยังพบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่เป็นประจำในปี พ.ศ. 2550 เท่ากับ 9.48 ล้านคน ลดลงจากปี พ.ศ. 2549  ประมาณ 5หมื่นคน  แต่ที่สำคัญ คือ สถิติการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยกลับเพิ่มสูงขึ้น(http://www.aksorn.com)  

 

แบบแผนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในเยาวชนไทย 

          จากผลการสำรวจปี 2550 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ : ออนไลน์)  พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุเฉลี่ย 18.5 ปี (เยาวชน)  ผู้ชายเริ่มสูบบุหรี่เร็วกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายเริ่มสูบเมื่ออายุ 18.4 ปีขณะที่ผู้หญิงเริ่มสูบเมื่ออายุ 22.4 ปี  สำหรับจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน พบว่าในปี2550 มีจำนวนเฉลี่ย 10.3 มวนต่อวัน ซึ่งผู้ชายจะสูบ จำนวนมากกว่าผู้หญิงคือ 10.4 และ 8.3 มวนตามลำดับ กลุ่มวัยทำงาน (25-59 ปี) และกลุ่มวัยสูงอายุ(60 ปีขึ้นไป) สูบบุหรี่ปริมาณต่อวันมากกว่ากลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) คือ ประมาณ 10 มวนต่อวัน  อีกทั้งแนวโน้มการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น  โดยเยาวชนอายุ 11-14 ปี     มีจำนวน 7,335 คน ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ  คิดเป็นร้อยละ 0.18 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 เท่ากับ ร้อยละ 38.46   สำหรับกลุ่มอายุ 15-18 ปี มีจำนวน 228,219 คน ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ คิดเป็นร้อยละ 5.03 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 เท่ากับร้อยละ 12.72 ส่วนเยาวชนอายุระหว่าง 19-24 ปี มีจำนวน 1,042,502 คน ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ คิดเป็นร้อยละ 17.37 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 เท่ากับร้อยละ 10.52  นอกจากนั้น  ยังพบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.25 ซื้อบุหรี่เป็นมวน และร้อยละ 93.60 ของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถซื้อบุหรี่โดยผู้ขายไม่ได้ขอดูบัตรประชาชน   เยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 91 ซื้อบุหรี่จากร้านค้าใกล้บ้าน และใช้จ่ายวันละ 12.58 บาทต่อวันในการซื้อบุหรี่   ดังนั้นเยาวชนทั้งประเทศเผาผลาญเงินไปกับค่าบุหรี่ต่อวันถึง 20.3 ล้านบาท และพบว่าเยาวชนเหล่านี้ ร้อยละ 2.19 ที่สูบบุหรี่ที่ไม่มีภาพคำเตือน เป็นผลให้รัฐต้อง สูญเสียรายได้จากภาษีบุหรี่ไปถึงวันละ 6.9 ล้านบาท หรือปีละไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท   และผลจากการสอบถามสาเหตุของการเริ่มสูบบุหรี่ ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ พบว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 54.5) เป็นเพราะอยากทดลองสูบ รองลงมา คือตามอย่างเพื่อน /เพื่อนชวนสูบ เพื่อเข้าสังคม/สังสรรค์ (ร้อยละ 25.8 และ 5.7 ตามลำดับ) เนื่องจากความเครียด มีร้อยละ 3.3 และที่สูบเพื่อความโก้เก๋มีร้อยละ 2.8 ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่เริ่มสูบบุหรี่ มีสาเหตุเดียวกับที่กล่าวข้างต้น ในขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เริ่มสูบบุหรี่มีสาเหตุต้นๆ เช่นเดียวกับผู้ชาย แต่มีข้อสังเกตว่าผู้หญิงที่เริ่มสูบบุหรี่เพราะอาชีพ และความเครียดมีสูงถึงร้อยละ 12.7 และ 11.1 ตามลำดับ 

            ผลจากโครงการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่     ปีพ.ศ. 2549 (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.:ออนไลน์)  พบว่า  นักศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ในปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 3,249 คน  โดยประมาณนั้น จำแนกตามความถี่ในการสูบบุหรี่  โดยส่วนใหญ่จะสูบทุกวัน จำนวนประมาณ 1,645 คน คิดเป็นร้อยละ 50.6  โดยนักศึกษาชายสูบทุกวัน จำนวนประมาณ 1,264 คน คิดเป็นร้อยละ 51.5 ของนักศึกษาชายที่สูบบุหรี่ในปัจจุบันทั้งหมด  ส่วนนักศึกษาหญิงที่สูบทุกวัน จำนวนประมาณ     135 คน  คิดเป็นร้อยละ 41.8 ของนักศึกษาหญิงที่สูบบุหรี่ทั้งหมด  นักศึกษาที่มีพฤติกรรม    การสูบบุหรี่ทุกวัน  จะสูบเฉลี่ยวันละประมาณ 7 มวน  โดยที่ค่าเฉลี่ยของนักศึกษาชายกลุ่มนี้เป็นวันละประมาณ 7 มวน  และค่าเฉลี่ยของนักศึกษาหญิงกลุ่มนี้เป็นวันละประมาณ 8 มวน   นักศึกษาที่สูบบุหรี่ในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการสูบบุหรี่สัปดาห์ละประมาณ 140 บาท มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 13.49 บาท  โดยนักศึกษาชายมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการสูบบุหรี่สัปดาห์ละประมาณ 141 บาท  มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 13.47 บาท  นักศึกษาหญิงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการสูบบุหรี่สัปดาห์ละ 164 บาท  มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 11.18 บาท  โดยยอดรวมของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสูบบุหรี่ต่อสัปดาห์ของนักศึกษา คือ  399,009 บาท หรือคิดเป็น 20,748,468 บาทต่อปี โดยประมาณ

            จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า แบบแผนการสูบุหรี่ของเยาวชนไทยส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน  และจะเห็นได้ว่าปัญหาการสูบบุหรี่ของเยาวชนยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น   หาก    ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันในการหาแนวทางป้องกันและแก้ไขย่อมจะนำมาซึ่งปัญหาของสังคมที่น่าเป็นห่วง

หมายเหตุ  ลงวารสารจันทรกระจ่างฟ้า

หมายเลขบันทึก: 304403เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ถ้าสังคมช่วยกันรณรงค์
  • สร้างขีดจำกัด สร้างอุปสรรคในการสูบ เช่นเขตหวงห้าม ให้มากขึ้น
  • พร้อมๆกับบทลงโทษที่จริงจัง
  • น่าจะดีขึ้นไหมครับ

เรียน คุณสามสัก

เห็นด้วยอย่างยิ่ง...จะทำให้คนในสังคมตระหนัก และลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ลงได้ อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้..

ผมคิดว่ายังยากนะครับ เพราะโรงงานยาสูบเป็นของรัฐบาล รัฐเล่นทำเอง ขายเอง รวยเอง แม้จะบอกว่าถ้าไม่ทำ เอกชนก็ทำ

แต่ผมว่ารัฐควรไปหารายได้จากส่วนอื่นเถอะครับ ถ้าไม่อย่างนั้นก็เปิดเองให้หมดเลยครับธุรกิจสีเทาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบ่อน สถานบริการทางเพศ

ถ้าคนในชาติไม่ร่วมกันช่วยคนไทย แล้วใครจะช่วย

ผลจากโครงการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปีพ.ศ. 2549 อยากได้ข้อมูลตรงนี้เต็มๆค่ะ แต่ลองไปหา ใน สสส.แล้ว ไม่เห็นมี รบกวนขอลิงค์หน่อยได้ไหมคะ

รบกวนขอลิ้งไปวารสารจันทร์กระจ่างฟ้าที่ได้เผยแพร่บทความนี้ครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท