บทความ: ปรากฏการณ์อยู่ก่อนแต่ง...


สังคมเปลี่ยน..วิถีชีวิตเปลี่ยน..ดีแท้ หรือไม่ดีคิออะไร

ปรากฏการณ์อยู่ก่อนแต่ง

        ปรากฏการณ์การใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน หรือการอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาของชายและหญิงที่ไม่ได้ผ่านพิธีกรรมการแต่งงานในทางกฎหมาย (cohabitation)  นั้น  ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือเป็นลักษณะเฉพาะในสังคมตะวันตกเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ซึ่งต่างก็มีรูปแบบของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม (โสพิณ หมูแก้ว.2544:1 อ้างอิงจาก  Secombe. 1992:54 and Berardo.1995)  และแนวโน้มของการอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานกำลังทำให้การแต่งงานลดน้อยลงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (A Kwak. 1996:17) 

         ในสังคมอเมริกันการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างชายหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานกันนี้มีความหมายถึง “การอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงาน”  ซึ่งถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเกี้ยวพาน (courtship)  ก่อนที่จะมีการตัดสินใจแต่งงานกันมากกว่าที่จะมองว่ามันเป็นรูปแบบทางเลือกของการแต่งงาน (alternative form of marriage)  ทั้งนี้เนื่องจากในวัฒนธรรมของสังคมอเมริกันนั้นการอยู่ร่วมกันโดยแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความมั่นคงระหว่างคู่สมรสและถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเกี้ยวพาน  นั่นคือผู้ที่อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานส่วนใหญ่จะแต่งงานกันภายในช่วงเวลาหนึ่งถึงสองปีหลังจากที่ใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันหรือไม่ก็ยุติความสัมพันธ์ไปเลย  และจากการศึกษาของเดวิด และบาร์บาร่า (David Popenoe and Barbara Dafoe Whitehead.2002:5) กล่าวว่า หลังจาก  5 ปี ถึง 7 ปี ของคู่หญิงชายที่อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน  จะแยกทางกันถึงร้อยละ 39  แต่งงานกันร้อยละ  40  และร้อยละ 21 ก็ยังคงอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน   และเดวิดกับบาร์บาร่ายังพบว่า การอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานในสังคมอเมริกันนับเป็นวิถีชีวิตของการใช้ชีวิตครอบครัวแบบใหม่ที่กำลังมีความสำคัญสำหรับสังคมอเมริกัน  ซึ่งคำนิยามง่ายของการอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานนั้น  เป็นการแสดงถึงสถานะของคู่ชีวิตที่เป็นพวกรักเพศเดียวกัน หรือรักเพศที่ต่างกันซึ่งอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน  และมีการใช้ชีวิตร่วมกัน  ซึ่งในปีค.ศ.2000  คู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานในประเทศอเมริกา มีจำนวนทั้งสิ้น 4,750,000 คู่ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า  500,000  คู่จากปีค.ศ.1960   และ 1 ใน 4  ของผู้หญิงที่ใช้ชีวิตคู่โดยไม่ได้แต่งงานในลักษณะนี้มีอายุระหว่าง  25-39  ปี  และยังพบว่าคนหนุ่มสาวระดับอุดมศึกษาเห็นด้วยกับการใช้ชีวิตคู่ในลักษณะนี้        

         ส่วนประเทศแถบยุโรปการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของชายและหญิงฉันท์สามีภรรยาในลักษณะนี้หมายถึง   “การอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน” (โสพิณ  หมูแก้ว.2544: 2 อ้างอิงจาก Macklin.1987:320-321)  ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต (alternative lifestyle)  โดยมีฐานะเป็นสถาบันทางสังคมหนึ่ง ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เบี่ยงเบน  แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของการเต่งงานและไม่ใช่เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเกี้ยวพานด้วย  เช่น  ในประเทศเนเธอร์แลนด์หรือประเทศอื่น ๆ  ที่การอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานได้กลายเป็นสถาบัน (institutionalized)  อันหนึ่ง  ซึ่งการอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานกับการแต่งงานไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด  วิถีการดำเนินชีวิตทั้งสองรูปแบบมีความเหมือนกันในแง่ของการมีความสัมพันธ์ทางเพศอันเป็นที่ยอมรับของสังคมมากกว่าจะมองในเรื่องของความผูกพันและความมั่นคงระหว่างชายหญิง  ส่วนในประเทศสวีเดนมีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ที่อยู่ร่วมกันโดยไม่มีการแต่งงานกันเลยแต่ก็จะมีส่วนหนึ่งที่แต่งงานกันภายหลังซึ่งหลังจากที่อยู่ด้วยกันมานานและมีลูกด้วยกันแล้ว

         สำหรับในสังคมไทยนั้น  การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาของคู่ชายหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานกันยังมีการศึกษาอย่างเป็นระบบค่อนข้างน้อยมาก  แต่ก็เป็นลักษณะของการรับรู้จากสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์  รายการโทรทัศน์ เป็นต้น  ซึ่งลักษณะการรับรู้ดังกล่าวจะเป็นในรูปแบบของ “การอยู่ก่อนแต่ง”  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมไทยและมีแนวโน้มการเกิดปรากฏการณ์นี้สูงขึ้นเรื่อยๆ   และจากการศึกษาพบว่า ในจำนวนคู่หญิงชายที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน  เพียงร้อยละ 52 เท่านั้นที่มีการจดทะเบียนสมรส     (นภาพร ชโยวรรณ, มาลินี  วงสิทธิ์  และวิภรรณ  ประจวบเหมาะ.2538: บทคัดย่อ)  เหตุผลหนึ่งของการอยู่ร่วมกันแบบนี้เพื่อ “ทดลอง”  ว่าจะไปด้วยกันได้หรือไม่  และหากมีปัญหาก็จะเลิกกันได้ง่าย  การอยู่ร่วมกันแบบนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคู่สิ้นสุดลงได้ง่ายเพราะไม่มีพันธะทางกฎหมายที่จะยึดเหนี่ยวกัน  สอดคล้องกับงานวิจัยของเดวิด และบาร์บาร่า (David Popenoe and Barbara Dafoe Whitehead.2002:4)  ที่พบว่า  การอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงานของคู่ชายหญิง  ซึ่งในระยะยาวจะมีความผูกพันกันต่ำ  อีกทั้งมีแรงจูงใจต่ำในการที่พัฒนาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และขาดทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตคู่  และงานวิจัยของมาโนช         หล่อตระกูล. (2544:37-48)  ที่ศึกษาเรื่อง สภาพปัญหาและ   การปรับตัวในชาย-หญิง ผู้พยายามฆ่าตัวตาย  พบว่าปัญหากดดันที่สำคัญของเพศหญิง คือ  คู่ครองนอกใจ  ถูกทุบตีร่างกาย   คู่ครองไม่ไว้วางใจ และอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน  ทั้งนี้จากที่กล่าวมาไม่ได้หมายถึงว่าการอยู่ก่อนแต่งเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี  ถึงแม้ว่า   ตัวผู้เขียนจะได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้มาแล้วในแง่มุมของประสบการณ์ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  และงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ถูกคัดเลือกให้ไปนำเสนอในการประชุม “ศรีนครินทรวิโรฒวิชาการ” ครั้งที่ 3  ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 มกราคม 2552  เนื่องจากการศึกษาที่กล่าวมายังเป็นเพียงในแง่มุมหนึ่งของประเด็นที่สนใจ  และในความเป็นจริงแล้วทุกสิ่งมักมีหลายมิติ หรือหลายแง่มุม  แต่บทความชิ้นนี้เพียงแต่มุ่งเสนอความเป็นไป และสิ่งที่เกิดขึ้นในบางแง่มุมของปรากฏการณ์นี้เท่านั้น 

หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์จันทรกระจ่างฟ้า ม.ราชภัฏจันทรเกษม

 

หมายเลขบันทึก: 304397เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณคุณดวงกมล ที่ให้กำลังใจ..ในความคิดเห็นส่วนตัวจากการทำวิจัย และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคู่อยู่ก่อนแต่ง..โดยส่วนใหญ่พบว่า เพศหญิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบ..

ท่านอาจารย์ที่เคารพ....

....ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยอย่างมหาศาล...

....จะนำความรู้นี้ไปถ่ายทอดต่อเพื่อให้ความยุติธรรมกับสังคมต่อไปครับ....

ในปัจจุบัน การอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานของนักศึกษาและวัยรุ่นมีมากนัก จนไม่สามารถมองหาได้ว่า คนที่รักษาพรหมจรรย์ให้กับคู่ครองคนเดียวนั้น มีเหลืออยู่หรือเปล่า ซึ่งหากดิฉันเป็นผู้ชาย หรือ ผู้หญิง ดิฉันก้ออยากได้คนที่เค้าบริสุทธ์ เก็บพรหมจรรย์นั้นไว้ให้กับคนที่แต่งงานเท่านั้น ลองคิดดูว่า คนที่คุณได้มานั้น เค้ามีคุณค่าแค่ไหน เค้าคือคนของเราคนเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่เคยเป็นของใครมาก่อนเหมือนกับเรา ดิฉันอยากให้มองแบบนั้นนะค่ะ จะได้มองว่าตัวเองมีค่า สำหรับคนที่จะมาเป็นคู่ครองของเราในอนาคต ถ้าคู่ครองของคุณไม่เคยผ่านใครมาก่อน คุณคนแรกและแต่งงานใช้ชีวิตจนตาย คุณจะดีใจแค่ไหนที่เค้า เก็บไว้ให้เรา คนเดียว...

ขอแหล่งอ้างอิงต่อการสืบค้นต่อได้ไหมคะ

พอดีกำลังจะทำวิจัยในประเด็นนี้ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท