คำซ้ำ คำซ้อน แฝดคนละฝา


คำซ้ำ คำซ้อน แฝดคนละฝา

การซ้ำคำและการซ้อนคำเป็นการสร้างคำตามวิธีการของภาษาไทยซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก

การซ้ำคำเป็นการนำคำคำเดียวกันมากล่าวซ้ำ โดยใช้ไม้ยมก เช่น เด็ก ๆ เร็ว ๆ ดี ๆ ส่วนที่ควรสังเกตได้แก่ความหมายของคำที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการซ้ำคำ ได้แก่

- ซ้ำคำเพื่อแสดงความหมายเป็นกลาง ๆ เช่น เขาชอบใช้ของดี ๆ(ของส่วนใหญ่คุณภาพดี)

-ซ้ำคำเพื่อแสดงลักษณะส่วนใหญ่ในกลุ่ม เช่น นักเรียน ม.๖มีแต่หล่อ ๆ ทั้งนั้น (ไม่ได้หล่อไปเสียหมดทุกคน แต่ส่วนใหญ่หล่อ)

-ซ้ำคำเพื่อแสดงความหมายไม่เฉพาะเจาะจง เช่น เรานัดพบกันตอนเช้า ๆ (ไม่กำหนดเวลาแน่นอน)

-ซ้ำคำเพื่อแสดงความหมายว่าทำอาการติดต่อกัน เช่น เขาเดิน ๆ อยู่ก็ถูกล้วงกระเป๋า(เดินไปเรื่อย ๆ)

-ซ้ำคำเพื่อแสดงความเป็นพหูพจน์ เช่น เราคบกันมาเป็นปี ๆ แล้ว(หลายปี)

-ซ้ำคำแล้วความหมายเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เช่น กล้วย ๆ(ง่าย) พื้น ๆ(ธรรมดา)

-ซ้ำคำแล้วเปลี่ยนวรรณยุกต์เพื่อเน้นความหมาย เช่น ผู้หญิงคนนั้นอ๊วนอ้วน(อ้วนมาก)

-นำคำซ้อนมาซ้ำคำเพื่อเน้นความหมาย เช่น บ้า ๆ บอ ๆ นั่ง ๆ นอน ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ

การซ้อนคำ เป็นการนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน คล้ายกัน ทำนองเดียวกัน หรือตรงข้ามกันมาซ้อนกัน เช่น บ้านเรือน สวยงาม ห้าวหาญ เท็จจริง คำที่นำมาซ้อนกันเป็นคำภาษาใดก็ได้

-ไทย+ไทย เช่น มืดค่ำ เล็กน้อย เก่าแก่

-ไทย+จีน เช่น ชื่อแซ่ ต้มตุ๋น กักตุน

-ไทย+เขมร เช่น เขียวขจี ทรวงอก เชี่ยวชาญ

-ไทย+บาลีสันสกฤต เช่น ทรัพย์สิน พรรคพวก สร้างสรรค์

-เขมร+เขมร เช่น เฉลียวฉลาด สว่างไสว สนับสนุน

คำซ้อนมี ๒ ชนิด คือ คำซ้อนเพื่อความหมายและคำซ้อนเพื่อเสียง

คำซัอนเพื่อความหมายนั้นบางคำความหมายกว้างขึ้น บางคำความหมายแคบลง

ความหมายกว้างขึ้น เช่น เจ็บไข้(อาจมีอักเสบ ปวด บวมร่วมด้วย) ข้าวปลา(ไม่ได้มีแค่ข้าวกับปลา มีอาหารอย่างอื่นด้วย)

ความหมายแคบลง เช่น ใจคอ (คอไม่มีความหมาย) หยิบยืม (หยิบไม่มีความหมาย) หัวหู(หูไม่มีความหมาย)

คำซ้อนเพื่อเสียงเรียกอีกอย่างว่าคำคู่ จะใช้ตู่กันเสมอเพื่อความสะดวกในการออกเสียง เช่น จุกจิก โอ้เอ้ หยุมหยิม ตุ๊ต๊ะ เลอะเทอะ

ได้เวลาทดสอบแล้ว

๑.คำซ้ำในข้อใดมีความหมายต่างจากข้ออื่น

ก. เรากำลังฟังเพลิน เธอก็หยุดเล่าเฉย ๆ

ข. คนช่วยงานเยอะแล้วเรานั่งเฉย ๆ ดีกว่า

ค. นักเรียนมักจะกลัวครูที่ทำหน้าเฉย ๆ

ง. ไหนเธอว่าเขาเป็นคนเฉย ๆ ไง

เฉลย คำตอบที่ถูก คือ ข้อ ก เฉย ๆ มีความหมายว่า ไม่มีเหตุผล ส่วน เฉย ๆ ในข้ออื่น มีความหมายว่า นิ่งนิ่ง

๒. ข้อใดมีคำซ้อน

ก. มาอยู่ในป่าเปลี่ยวเที่ยวซังตาย จะหมายพิงอิงใครก็ไม่มี

ข. อนิจจาทุกข์ยากลำบากตัว เกลือกกลั้วปถพีธุลีลม

ค. สุริยนเย็นสนธยาค่ำ ประทับลำเรือเรียงเคียงขนาน

ง. จนไก่เถื่อนเตือนขันสนั่นแจ้ว ดุเหว่าแว่วหวาดหมายว่าสายสมร

เฉลย คำตอบที่ถูกต้อง คือ ข้อ ข มีคำซ้อน ๒ คำ คือ ทุกข์ยาก และ เกลือกกลั้ว

คิดว่านักเรียนคงจะเข้าใจเรื่องของแฝดคนละฝา คำซ้ำ คำซ้อน แล้วนะคะ

หมายเลขบันทึก: 304402เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอบพระคุณมากครับ

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ

ขอบคุณที่ให้คำแนะนำ

เยี่ยมยอดไปเลยค่ะ และก็ขอขอบคุณมากนะคะ

มีตัวอย่างน้อยจัง

  • ขอบคุณมานะคะ
  • ฉันต้องสอบวิชานี้ผ่านให้ได้
  • ถึงวิชาอืนจะตกก็ตาม
  • วิชานี้ต้องผ่าน

ขอขอบพระคุณคะ

เอา แต่ คำถามและคำตอบ อะไม่ เอา คำอธิบาย

ขอบคุณนะคะที่ทำให้ยังเห็นคำซ้ำเเบบนี้อยู่ เเละ ทำให้ได้นำไปใช้อีก ขอบคุณจริงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท