หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ไปเรียนวิชา KM และ ถอดบทเรียน กับ คุณเอก - จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร (๒)


วันนี้ยอมรับครับว่ามึนเอามาก ๆ เพราะเป็นเพียงนักเรียนประถมดันไปนั่งเรียนร่วมกับนักเรียนมัธยม ความรู้ที่ได้จึงรับได้เพียงกระท่อนกระแท่น กลับมาบ้านมานั่งคิด ทบทวน ไตร่ตรอง ว่าที่ผ่านมานั้น ผ่านการเรียนรู้อะไรมา ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

   จาก สรพ. คุณเอก พาผมและคณะไปที่สำนักงานวารสารหมออนามัย ตั้งอยู่ที่ อาคาร ๔ ชั้น ๗ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

   ผมเข้าใจว่าการมาที่นี่ในครั้งนี้ เป็นการแวะมาเยี่ยมเยียนพรรคหมออนามัยพวกของคุณเอก รวมทั้งแนะนำให้เรารู้จักวารสารหมออนามัย

   ผู้จัดทำวารสารหมออนามัย คือ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ผู้สนับสนุนการจัดทำส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานที่ทำงานอยู่ในแวดวงสุขภาพ เอ่ยชื่อมา หลายท่านน่าจะรู้จัก เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กระทั่งองค์การอนามัยโลก

   ผมเดาเอาเองว่ากลไกสำคัญในการจัดทำวารสารนี้ น่าจะเป็น สมาคมหมออนามัย

   วารสารหมออนามัยก่อตั้งและดำเนินการมาจะครบ ๒๐ ปี ในปีหน้า นับว่าเป็นวารสารที่มีอายุยืนยาวฉบับหนึ่งของเมืองไทย

   ผมจำได้ว่าเคยอ่านผ่าน ๆ วารสารฉบับนี้มาบ้างตามสถานีอนามัยที่มีโอกาสไปแวะเยี่ยมเยียน ใช่ครับผมมีเพื่อนอยู่ในแวดวงหมออนามัยบ้างพอสมควร

   เนื้อหาในวารสารส่วนใหญ่จะนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการสาธารณสุขบ้านเรา วารสารหมออนามัยนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ การทบทวนความรู้เดิมให้หมออนามัยได้นำไปใช้ไปปฏิบัติแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ กระทั่งเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติของหมออนามัยทั่วทั้งประเทศอีกด้วย

   จากการพูดคุยกัน ทำให้ผมรู้เรื่องเกี่ยวกับคุณเอกเพิ่มมากขึ้น เช่น คุณเอกมีอดีตเป็นหมออนามัย เป็นนักเขียนประจำวารสาร คอลัมน์ที่เขียนคือ “หนังสือชวนอ่าน” ผมพลิกอ่านดูคอลัมน์นี้พบว่าคุ้นตาบ้าง เนื่องจากเป็นบันทึกที่ผมเคยอ่านแล้วใน G2K

   ผมและคณะผู้มาเยือนได้รับของที่ระลึก เป็นวารสารหมออนามัยคนละ ๑ เล่ม ซึ่งแต่ละเล่มไม่เหมือนกัน ผมได้ฉบับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๕๒ นอกจากนั้นก็ยังได้หนังสือบันทึกชีวิตหมออนามัย เล่ม ๑ และ เล่ม ๒ ซึ่งเขียนโดยนักเขียนสารคดีมือดี อรสม สุทธิสาคร อีกคนละสองเล่ม สำหรับผมได้เพิ่มเป็นพิเศษอีก ๒ เล่ม จากคุณเอก คือ “กระบวนการเรียนรู้สู่เส้นทางสีขาว” เป็นบันทึกประสบการณ์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่คุณเอกได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. และ “เรียนนอกฤดู” ของ พนัส ปรีวาสนา ซึ่งคุณเอกเป็นผู้หนึ่งที่เขียนคำไม่นิยมให้

   บรรยากาศที่นี่สบาย ๆ ครับ ไม่เคร่งเครียด ผมนั่งฟังการสนทนาระหว่างเจ้าบ้านกับแขกเยือนคู่ไปกับการพลิกอ่านวารสารไปพลาง ๆ

   วารสารฉบับที่ผมได้รับมานั้น มีเรื่องราวน่าสนใจหลายเรื่องครับ เช่น อปท.กับการจัดสุขภาวะชุมชน, มาคืนหัวใจให้ระบบสุขภาพกันเถอะ, เรื่องราวของคุณศุภารัสภิ์ ยศปัญญา ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนางฟ้าบนดิน และบทสัมภาษณ์พิเศษหมออนามัยอาวุโส บุญรักษ์ ถิ่นแสนดี ฯลฯ

...

 

   บ่ายๆ คุณเอกนำผมและคณะไปที่กองทันตสาธารณสุข

   ก่อนขึ้นไปถึงที่นัดหมาย คุณหมอท่านนึงมารอพบและพาเราขึ้นไปที่ห้องประชุม และหากผมเดาไม่ผิด คุณหมอท่านนี้น่าจะเป็นผู้แนะนำและเชิญชวนคุณเอกและทีมงานให้เข้าไปช่วยถอดบทเรียน....

   ในห้องประชุม ผมนั่งถัดจากคุณเอก ถัดไปเป็นคุณน้ำฝนและคุณนายด๊อกเตอร์

   ฝั่งตรงข้ามผมเป็นคุณหมอผู้รับผิดชอบโครงการ เมื่อทักทายและแนะนำตัวกันพอรู้จักแล้วก็มีคำถามยิงมาเป็นชุด จากคุณหมอผู้ประสานโครงการ

   - เคยถอดบทเรียนไหม ?

   - ทำอย่างไร ?

   - ถอดบทเรียนแล้วสรุปให้เขาไหม ?

   - การสรุปเอกสารใช้เวลาเท่าไร ?

   เพราะผมนั่งอยู่กลางตรงหน้าคุณหมอผู้ตั้งคำถาม และเมื่อตอนถามก็มองหน้าผม ผมจึงทำได้เพียงยิ้มเจื่อน ๆ เพราะตอบไม่เป็น ไม่รู้จะตอบอะไรอย่างไร ผมได้แต่หันซ้ายหันขวา โป้ยไปให้คุณเอกและคุณน้ำฝน จากนั้นผมก็พยายามนั่งก้มหน้าไม่สบสายตา กลัวถูกถาม จากนั้นจึงเป็นผู้ฟังที่ดีตลอดรายการ

   คุณเอกกับคุณน้ำฝนเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านั้น หลังจากนั้นจึงเป็นการพูดคุยเนื้อหาของงาน

   ผมมิได้เข้าใจสิ่งที่คุณหมอนำเสนอทั้งหมด ด้วยเหตุผลเดียวกับช่วงเช้าที่ สรพ

   แต่อย่างไรก็ตาม ก็พอจับความได้ว่า กองนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. ให้มาดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาทันตแพทย์ที่อยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

   โครงการฯ เริ่มจากการคัดเลือกทันตแพทย์ในแต่ละภาค ภาคละ ๕ คน รวมทั้งสิ้น ๒๐ คน มาอบรมเกี่ยวกับ KM และอื่น ๆ เช่น CROP, OM, EE (แหะ แหะ คำภาษาอังกฤษผมจดมาอย่างนั้นแหละครับ ไม่รู้สักนิดว่ามันคืออะไร หมายความว่าอย่างไร...) ซึ่งผู้ดำเนินการคือ มูลนิธิแพทย์ชนบท ทั้งหมดเรียกว่าเป็นการอบรมสร้างครู ก

   จากนั้นทันตแพทย์ ที่เป็นครู ก. ก็จะไปจัดอบรมในภูมิภาคของตนเองทั้ง ๔ ภาคแต่ละภาคมีกลุ่มเป้าหมายเป็นทันตแพทย์ภาคละ ๒๐ คน ซึ่งได้ดำเนินการไปแห่งละ ๒ ครั้ง

   ฟังจากที่คุณหมอผู้รับผิดชอบโครงการเล่า ในแต่ละภูมิภาคดำเนินการไม่เหมือนกัน บางแห่งดำเนินการตรงตามที่ได้รับความรู้จากการอบรมครู ก. ไป บางแห่งมิใช่ แต่ไปใช้วิทยากรจากภายนอกที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับการอบรมในคราวแรก ซึ่งตรงนี้คุณเอกเห็นว่าน่าสนใจ ที่แต่ละแห่งมีการดำเนินการแตกต่างกันไป ซึ่งจะทำให้มีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป

   ผมเดาว่า คุณหมอผู้รับผิดชอบโครงการน่าจะต้องการผลสองประการ โดยใช้การถอดบทเรียนเป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นวิชาที่ผมกำลังเรียนรู้อยู่ในขณะนี้

   ประการแรกน่าจะเป็นการประเมินกระบวนการทำงานของโครงการ ว่าที่ทำผ่านมาแล้วเป็นอย่างไร เกิดมรรคผลอะไรขึ้นมาบ้าง การออกแบบโครงการเหมาะสมแล้วหรือยัง รวมทั้งการค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน ฯลฯ

   ประการที่สองน่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วม ซึ่งทางทีมงานเชื่อว่าจะทำให้เกิดการพัฒนางานไปในทิศทางที่ดีขึ้น

   ช่วงท้ายเป็นการหารือเรื่องวิธีการดำเนินงาน มีการหารือกันหลายแนวทาง เช่น

   - การจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนกันตามลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มผู้ประสาน/บริหารโครงการ กลุ่มทันตแพทย์ที่เป็นครู ก และกลุ่มที่เป็นทันตแพทย์ที่เข้าร่วมอบรมในแต่ละภูมิภาค

   - การจัดกลุ่มตามภูมิภาค เป็นการจัดกลุ่มทันตแพทย์ทั้งครู ก และผู้เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ภูมิภาค ได้แก่ เหนือ กลาง อีสาน และใต้

   สำหรับประเด็นการถอดบทเรียนยังมิได้ลงรายละเอียด ซึ่งคุณน้ำฝน (ได้รับการอุปโลกให้เป็นทีมประสานงานจากคุณเอก) ได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการไปศึกษาเพิ่มเติม เข้าใจว่ารายละเอียดอื่น ๆ จะมีการหารือกันในภายหลัง

  ...

   วันนี้ยอมรับครับว่ามึนเอามาก ๆ เพราะเป็นเพียงนักเรียนประถมดันไปนั่งเรียนร่วมกับนักเรียนมัธยม ความรู้ที่ได้จึงรับได้เพียงกระท่อนกระแท่น กลับมาบ้านมานั่งคิด ทบทวน ไตร่ตรอง ว่าที่ผ่านมานั้น ผ่านการเรียนรู้อะไรมา ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

   ขออนุญาต ต่ออีกตอนนะครับ ตอนหน้าผมจะลองตอบคำถามตัวเองว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง

หมายเลขบันทึก: 303538เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2009 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 04:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

7 -8 อยู่หน้ากระทรวงสาธาณสุข มีเวลามาเยี่ยมบ้างเน้อ

สวัสดีครับพี่หนานเกียรติครับ

เมื่อวานท่าน อ.ศิลา ได้โทรศัพท์มาคุย หลายเรื่องราว ในบทสนทนา ก็เป็นห่วงว่าพี่หนานจะเครียดกับบรรยากาศสนทนา ส่วนใหญ่ที่เราติดต่อคุยกันเรื่องงานทั้ง สอง สามจุด

แต่ผมไม่เป็นห่วงนะครับ ...เป็นแบบนี้เอง ไม่มีอะไรที่เราสามารถเรียนรู้ได้เลยทั้งหมดคราวเดียว ก็ต้องค่อยๆสะสมความรู้กันไป ถึงเวลาที่เราต้องงัดออกมาใช้ ก็สามารถเอามาใช้ได้ไม่ต้องกังวล

วารสารหมออนามัย ผมเขียนคอลัมภ์ประจำอยู่ที่นี่ ตามที่หนานเกียรติทราบครับ  ถือว่าเป็นงานจิตอาสาของผมอย่างหนึ่ง ที่มีหน้าที่สรรหาหนังสือดีๆให้มวลมิตรพี่น้องหมออนามัยได้อ่าน ได้รู้จัก ถือว่าเป็นภารกิจที่ผมก็ภูมิใจครับ

ที่ผมพาไปก็อยากให้ไปสัมผัสคนทำงานที่มีจิตอาสา ไปสัมผัสอุดมการณ์ของคนทำหนังสือ เเละ ถือว่าเราเบรคเรื่องราวคุยหนักภาคเช้า ก่อนที่จะเดินทางไป กรมอนามัย คุยกับกองทันตฯ ต่อ

ที่กองทันตฯ  ด้วยความที่เราไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน ก็ไม่ค่อรู้จักฝีไม้ลายมือกันมาก่อน การตั้งคำถามตรงๆของทีมเจ้าภาพ ก็เป็นเรื่องปกติครับ การทำงานอาจต้องเคลบียร์ตรงนี้ ด้วยกระบวนการ งานที่เราต้องคิดร่วมกัน หากทราบแบคกราวกันและกัน ก็สามารถทำงานเชื่อมกันได้แบบมีความสุข

ผมเน้น ความสุข ในการทำงาน และ สร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับทุกคน เเล้วแต่ว่าทีมงานจะเปิดใจรับ และมีทัศนคติอย่างไรต่องานที่อยู่ตรงหน้า รวมถึงทัศนคติต่อผู้คนด้วยครับ

ดีใจครับ ...หลังจากที่ไปอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ เห็นผู้คน มวลมิตร มาให้กำลังใจพี่หนานเกียรติเยอะเเยะเลย...

จริงๆ ไม่ได้โพกัส ว่า ทำได้ หรือ ทำไม่ได้ นะครับ อยู่ที่ว่า มีความสุข ที่จะทำไหม และ มีพลังใจที่ดีในการร่วมกันทำงานไหม...

หากงานคือโอกาส หากงานคือพื้นที่ให้เราได้แสดงฝีมือ ผมว่าเราได้โอกาสนั้นเเล้ว อยู่ที่ "ใจ" เราจะสู้ไหม คือ ผมมองว่า เป็นโจทย์ท้าทายที่ผมมักได้รับประจำในช่วงหลังๆกับภารกิจงานที่ได้รับ

หากการงานคือการปฏิบัติธรรม ชิ้นงานเหล่านี้ มีคุณค่าที่เอกอุ ให้เราได้เรียนรู้ ทดสอบตัวเองตลอดเวลา

ให้กำลังใจครับพี่หนานเกียรติครับ...

 

มีทีมงานโทรศัพท์แซวมาว่าต้องพาไปรับน้องที่ ลำน้ำป่าสัก ท่าน้ำบ้าน ดร.ยุวนุช เพราะเวลาทำงานหนักๆผ่านไป การได้กระโดดเล่นเเม่น้ำแบบสบายๆ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผ่อนคลาย

ทริปต่อไป จะพาไปที่บ้านทรงไทย ริมน้ำป่าสัก ทริปนี้ผมเป้นพ่อครัวครับ ผมเตรียมเมนูมากมายทำให้สาวๆรับประทานกันมีเครื่องดื่มที่ อ.ดร.นุช เก็บไว้มานาน ถึงคราวที่ผมจะมีเพื่อนนั่งจิบท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม บนระเบียงบ้านทรงไทยหลังนั้น :)

 

และ ผมยังเป็น นักเรียนอนุบาล นะครับ

หวัด(บ่)ดีเจ้าอ้ายหนานเกียรติ

  • บันทึกนี้มึนๆ กาเจ้า
  • มาหื้อกำลังใจ อ้ายหนานเจ้า
  • เพิ่งรู้ว่าพวกพี่ๆ อยู่แวดวงหมออนามัยกัน
  • เคยมีเพื่อนสมัยเรียนประถม ไม่ได้เจอกันนานมากๆ  บังเอิญได้ยินชื่อเสียงว่าเพื่อนคนนี้ไปลุยๆ  ช่วยเหลือชาวบ้านในรายการคนค้นคน...ก็เลยคิดถึง แต่ไม่รู้จะติดต่อเพื่อนยังไง  อ้ายหนานน่าจะคุ้นๆ ชื่อบ้างนะคะ หมอแป๊ะผีบ้าแห่งอมก๋อย(นิเทศ  สุขสามัคคี)  หากมีโอกาสได้เจอหมอแป๊ะฝากบอกว่า  อิง และเพื่อนๆ รุ่นเรา อีกหลายคน ฝากความคิดถึงมานะคะ
  • ขอบคุณค่ะสำหรับบันทึกดีๆ

เคยมีเพื่อนสมัยเรียนประถม ไม่ได้เจอกันนานมากๆ  บังเอิญได้ยินชื่อเสียงว่าเพื่อนคนนี้ไปลุยๆ  ช่วยเหลือชาวบ้านในรายการคนค้นคน...ก็เลยคิดถึง แต่ไม่รู้จะติดต่อเพื่อนยังไง  อ้ายหนานน่าจะคุ้นๆ ชื่อบ้างนะคะ หมอแป๊ะผีบ้าแห่งอมก๋อย(นิเทศ  สุขสามัคคี)  หากมีโอกาสได้เจอหมอแป๊ะฝากบอกว่า  อิง และเพื่อนๆ รุ่นเรา อีกหลายคน ฝากความคิดถึงมานะคะ

สอบถามแล้ว ให้ติดต่อไปยังที่ สสอ.อมก๋อย ครับ

053-467052 และ 053-467125

หรือที่ สถานีอนามัย บ้านนาเกียน  อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

อ้ายแป๊ะ ทำงานที่นี่ครับ

 ว้าว!!!  ดีใจจังค่ะ

ขอบพระคุณคุณเอกมากค่ะที่เป็นธุระสอบถามรายละเอียดมาให้

 

สวัสดีค่ะหนานเกียรติมาติดตามการไปเรียนรู้ของหนาน...ที่มีจิตอาสา..ได้ประสบการณ์มากเลยนะ มาให้กำลังใจต่อไปค่ะ..

 

P สวัสดีครับ ท่านผู้เฒ่า วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

เย็นย่ำวันที่ ๗ ขอเกียรติเลี้ยงมื้อเย็นสักมื้อนะ

ผมขออนุญาตขอเบอร์โทรท่านผู้เฒ่าจากครูคิมนะครับ

 

P สวัสดีครับ เอก - จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ขอบคุณมาก ๆ ที่ห่วงใยความรู้สึกมากมายถึงขนาดนี้

จริง ๆ แล้วผมไม่ได้เป็นอะไรเลยครับ เพียงแต่เรื่องมันยาก และก็สะท้อนให้รับรู้ว่าผมคิดและรู้สึกอย่างไร สงสัยจะอินมากไปเลยดูล้น ๆ

ผมมิได้ต้ังใจจะถ่มทับตัวเอง แต่ผมเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ผมเรียนรู้และคิดได้ช้า ต้องใช้เวลามากกว่าผู้คนทั่วไป

จริง ๆ แล้ว ผมดีใจมากที่ได้รับโอกาสให้เข้าไปร่วมเรียนรู้ด้วย ในชีวิตผมที่เติบโตขึ้นมาทั้งความคิดและจิตใจก็เพราะการได้รับโอกาส มิฉะนั้นเด็กบ้านนอกอย่างผมที่เกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือด้วยซ้ำจะมีที่ยืนอยู่ ณ จุดนี้ได้อย่างไร

ผมเปลี่ยนวงเข้าไปเรียนรู้นอกเหนือประสบการณ์ตัวเองอยู่บ่อยคร้ัง พบกับความยากเย็นเป็นปกติธรรมดาครับ

ขอบคุณอีกคร้ังครับ

 

 

 

P สวัสดีครับ คุณอิง ชาดา ~natadee

หายมึนแล้วเจ้า...

ขอบคุณจ้าดนักสำหรับกำลังใจครับ...

หมอแป๊ะผีบ้าแห่งอมก๋อย(นิเทศ  สุขสามัคคี) เคยได้ยินชื่อและดูรายการคนค้นคนครับ ชื่นชมเขามาก ๆ

เข้าใจว่าได้ที่ติดต่อแล้ว  ติดต่อได้หรือยังครับ

...

 

P สวัสดีครับ คุณครูrinda

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ อย่าลืมไปเยี่ยมเฌวาโตยเน่อ

...

  • สวัสดีครับ
  • ตามมาเก็บเกี่ยวความรู้ต่อ
  • ให้กำลังใจครับ
  • เป็นธรรมดาครับ ต่างพื้นที่ที่เราคุ้นชิน
  • ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

 

 

P สวัสดีครับ พี่ สิงห์ป่าสัก

ขอบคุณที่ตามมาเยี่ยมครับ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจด้วยครับ

แวะมาเยี่ยมค่ะ ถ้าไปร่วมงานกับน้องเอกบอกว่าพี่ท้องฟ้าฝากความคิดถึงมาให้ และคุณวอญ่าด้วย สำหรับอ.วัลลาที่หนานเกียรติไปหาเมื่อกี้ พี่ท้องฟ้าเคยได้มีโอกาสพบกับอาจารย์ 2ครั้ง อาจารย์น่ารักมากและเขียนเรื่องKMได้เข้าใจ ดีมากๆ

P สวัสดีครับ คุณท้องฟ้า

ผมจะพบคุณเอกอีกคร้ังวันจันทร์ที่จะถึงนี้ แล้วจะเป็นบุรุษไปรษณีย์ให้ด้วยความเต็มใจครับ

สำหรับท่านผู้เฒ่า คาดว่าจะพบกันที่พัทลุงราวปลายเดือนนี้ มีทริปไปเดินป่าด้วยกันครับ

และการเข้าไปเยี่ยมอ่านบันทึก อ.วัลยา ผมอ่านผ่าน ๆ แต่ได้ copy เก็บไว้อ่านโดยละเอียดอีกคร้ัง

ผมค่อนข้างมือใหม่ครับ ต้องเรียนรู้อีกมาก

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับ

 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท