บัณฑิตศึกษาเพื่อชุมชน
เมื่อวานผมไปประชุมที่ ม.อุบลฯ เพื่อหารือกันเรื่องการจัดบัณฑิตศึกษาแนวใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาชีวาลัยของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์, พ่อคำเดื่อง ภาษี และปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานท่านอื่น ๆ กับ ม.อุบลฯ
ที่ว่าเป็นบัณฑิตศึกษาแนวใหม่ก็เพราะนักศึกษาจะปฏิบัติงานเรียนรู้และจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้าน เป็นเวลา 80% เรียนที่มหาวิทยาลัยเพียงไม่เกิน 20% ของเวลาทั้งหมด
ย้ำว่าหลักสูตรนี้เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และนักศึกษาภายใต้ความร่วมมือของ มหาชีวาลัย – ม.อุบลฯ – สคส. จะเรียนจากการปฏิบัติร่วมกับชาวบ้าน โดยมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมกับอาจารย์ของ ม.อุบลฯ การเรียนรู้แบบนี้ก็คือการเข้าไปทำ KM ร่วมกับชาวบ้าน นั่นเอง
ชื่อของหลักสูตรนี้คือ “พัฒนบูรณาการศาสตร์มหาบัณฑิต”
ครูบาสุทธินันท์บอกว่าท่านมีวิธีปฏิบัติแบบแหวกแนวสุด ๆ คือจะจูงมือลูกศิษย์ไปกู้เงินธนาคาร 1 ล้านบาท เอามาซื้อที่ 10 ไร่ ราคาไร่ละ 3 หมื่นบาท รวมค่าที่ดิน 3 แสนบาท ที่เหลือเอามาลงทุนปลูกไม้ยืนต้น และพืชอื่น ๆ เพื่อหารายได้ เรียน 3 ปีจบปริญญาโท จะขายที่ผืนนั้นได้ราคามากกว่า 1 ล้านบาท (ถ้าจะขาย)
ใครสนใจเรียนติดต่อครูบาสุทธินันท์ได้ที่ โทรศัพท์ 01-760-1337 โปรดอย่ามาสมัครที่ สคส. เพราะทางปราชญ์ชาวบ้านจะเป็นผู้คัดเลือกหรือสรรหานักศึกษา
สคส. เข้าไปร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างนักจัดการความรู้ท้องถิ่น สำหรับเมื่อจบการศึกษาแล้วก็อยู่ทำงานเป็น “คุณอำนวย” การจัดการความรู้ในท้องถิ่น
วิจารณ์ พานิช
15 ก.ค.48
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
อ่านแล้วมีข้อสงสัยค่ะว่า
1.บัณฑิตที่ยากจนจะนำหลักทรัพย์อะไรไปค้ำประกันเงินกู้
2.บัณฑิตป.ตรีจะต้องจบสาขาไหน จำกัดไหมค่ะ
3.แล้วบัณฑิตจะต้องเป็นคนในพื้นที่หรือเปล่าค่ะ เพราะเห็นบอกว่าจะจูงมือไปซื้อที่ 10 ไร่ไร่ละ 30,000 ซื้อได้ที่ไหน