ตลาดนัดความรู้ครูเพื่อศิษย์ : ประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อเด็กไทยวัยใส (ฝ่าวิกฤติวัยรุ่น)


“ผลลัพธ์” ที่จะเกิดขึ้นในตลาดนัดความรู้สองวันนี้ จึงไม่สำคัญเท่ากับการได้ซึมซับความรู้จากการปฏิบัติของครูเพื่อศิษย์ และกระบวนการหรือเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยทำให้เกิดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเด็กไทยวัยใสร่วมกันทั้งในระดับโรงเรียนและระดับเครือข่ายต่อไปในอนาคต

          วันที่ ๒๖-๒๗  สิงหาคมนี้  สคส. กับ สพบ. (สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา)  จะจัดตลาดนัดความรู้ครูเพื่อศิษย์ :  ประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อเด็กไทยวัยใส (ฝ่าวิกฤติวัยรุ่น)  ที่โรงแรมรอยัล ซิตี้  ปิ่นเกล้า  กรุงเทพฯ  โดยหัวปลาในครั้งนี้ คือ ประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อเด็กไทยวัยใส
          เมื่อวันที่ ๒๓  สิงหาคม เรา คือ สคส. และ สพบ.  จึงได้มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตลาดนัดครั้งนี้ร่วมกัน  ซึ่งจากการพูดคุย สรุปได้ว่า  จะมีผู้เข้าร่วมตลาดนัดประมาณ ๗๐  คน  โดยบุคคลสำคัญของตลาดนัดครั้งนี้คือ  กลุ่ม “คุณกิจ”  หรือ ครูอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ  จำนวน  ๒๒  คน  และผู้บริหารโรงเรียน  จำนวน  ๓๒  คน  ซึ่งจะมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้แบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อเด็กไทยวัยใสและเรียนรู้กระบวนการจัดการความรู้ร่วมกันตลอดสองวัน   

          โดยเป้าหมายหลักของ  สคส.  ต่อกลุ่มครูอาจารย์และผู้บริหารโรงเรียน  คือ
          ๑. ครูอาจารย์และผู้บริหารโรงเรียนจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้เพื่อเด็กไทยวัยใสร่วมกัน
          ๒. ต้องการเห็นครูอาจารย์แต่ละคนหรือโรงเรียนแต่ละแห่ง จะสามารถนำไปกระบวนการKM  นี้ไปปรับใช้ในโรงเรียนหรือบริบทของตนเองและขยายผลในวงกว้างต่อไปได้  โดยเฉพาะหากการขยายผลสามารถเชื่อมโยงระหว่างพ่อแม่,  ผู้ปกครอง, ครูอาจารย์, ผู้บริหารโรงเรียน, นักกิจกรรม,นักพัฒนา, องค์กรพัฒนาเอกชน, นักวิชาการ, นักวิจัย  ฯลฯ  ได้จะยิ่งดีมาก 
          ๓. ครูอาจารย์ลดบทบาทของตนเองไปเป็น “ครูอำนวย”  ไม่ใช่  “ครูอำนาจ”  โดยมอบบทบาทสำคัญให้แก่เด็กนักเรียน  ให้เด็กวัยรุ่นเหล่านั้น  คิดและดำเนินการแก้ไขปัญหาในลักษณะ  “เพื่อนช่วยเพื่อน”  หรือ  “พี่ช่วยน้อง”    ให้เด็กนักเรียนที่ผ่านมรสุมชีวิตวิกฤติวัยรุ่นมาแล้ว ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้, เล่าประสบการณ์ให้กับเด็กนักเรียนรุ่นน้องได้รับฟัง  ซึ่งครูอาจารย์หรือผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้เอื้ออำนวยและจัดสภาพแวดล้อมการแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมให้เท่านั้น  ถ้าทำได้เช่นนี้  สังคมไทยจะได้ความรู้เชิงปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาหรือการป้องกันวิกฤติเด็กวัยรุ่นที่หลากหลายและทันยุคสมัยเป็นอย่างดีทีเดียว

          สำหรับเป้าหมายหลักของ สคส. ต่อ สพบ.  คือ
          ๑. ต้องการให้บุคลากรของ สพบ.  ได้นำกระบวนการ KM  ไปปรับใช้ภายใน สพบ. เอง  รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมให้เครือข่ายของ สพบ.  ได้นำกระบวนการ KM  ไปปรับใช้  เพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทของ สพบ.  ไปเป็น “สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ด้านการศึกษา”  ได้ต่อไป  ดังนั้น  การบ้านแรกของ สพบ. หลังตลาดนัดความรู้ครั้งนี้เสร็จสิ้น (ภายใน ๑  สัปดาห์)   คือ  ขอให้ทาง สพบ.  AAR  กันภายใน  โดยเฉพาะในประเด็นของกระบวนการ KM    แล้วนำผล  AAR  นั้น  ขึ้น Blog 
          ๒.  ภายใน ๓ เดือน ๖  เดือน หรือ ๑ ปี ต่อจากนี้  สพบ.  จะขยายเครือข่ายหรือจะเข้าไปสนับสนุนเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว หรือเข้มแข็งอยู่แล้วอย่างไร   จะเดินชุมชน “ครูเพื่อศิษย์  :  เด็กไทยวัยใส  อย่างไรต่อไป  และจะมีเกณฑ์ในการวัดผลอย่างไร

          ข้อควรคำนึงหรือข้อพึงระวังของตลาดนัดครั้งนี้ คือ
          ๑. การประเมินตนเองของโรงเรียนอาจจะไม่ใช่ของจริงทั้งหมด  ซึ่งการนำไปใช้จะต้องมีการปรับให้ตรงและเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนนั้นๆ เอง
          ๒. การทำตลาดนัดความรู้หรือการทำ Workshop  แบบนี้  ในทุกๆ  จุด  ทุกๆ กิจกรรมปฏิบัติ  ล้วนเป็นเครื่องมือของ  Knowledge Sharing  และเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิด  Knowledge  Assets  ทั้งสิ้น
          ๓. ผลที่ได้จากตลาดนัดทั้งหมด  เป็นเพียงการทดลองทำเป็นตัวอย่าง และเป็นการทำงานในเวลาที่จำกัด  การนำไปใช้ จะต้องลงลึกในเนื้อหารายละเอียดและมีการปรับประยุกต์ใช้เอง  และผลที่ได้จากการนำไปปรับประยุกต์ใช้  ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกโรงเรียน  มีความแตกต่างกันมากยิ่งดี เพราะจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น
          ดังนั้น  “ผลลัพธ์”  ที่จะเกิดขึ้นในตลาดนัดความรู้สองวันนี้  จึงไม่สำคัญเท่ากับการได้ซึมซับความรู้จากการปฏิบัติของครูเพื่อศิษย์ และกระบวนการหรือเครื่องมือต่างๆ  ที่จะช่วยทำให้เกิดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเด็กไทยวัยใสร่วมกันทั้งในระดับโรงเรียนและระดับเครือข่ายต่อไปในอนาคต
         

         ส่วนไฮไลต์ของตลาดนัดครั้งนี้    ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ได้เสนอให้มีการนำเครื่องมือ  Peer  Assist  มาใช้ในช่วงของการแลกเปลี่ยนหลังจากที่ทราบกลุ่ม “ผู้พร้อมให้”  และกลุ่ม “ผู้ใฝ่รู้”  แล้ว  (คือ  ช่วงหลังจากที่แต่ละโรงเรียนได้ประเมินตนเองแล้วนำมาทำเป็นธารปัญญาและบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว)  โดยโจทย์สำหรับการแลกเปลี่ยนในช่วงนี้  คือ 
         ๑.  “ผู้ใฝ่รู้”  บอกถึงวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นนั้นๆ  ว่า  อยากเรียนรู้อะไรจาก  “ผู้พร้อมให้”  และคิดว่าจะทำอะไร อย่างไร
         ๒.  “ผู้พร้อมให้” “เล่าให้ฟังว่า  ที่ประเมินตนเองค่อนข้างดีในเรื่องนั้น  ที่ผ่านมาทำอย่างไร? พร้อมทั้งแนะนำว่า  “ผู้ใฝ่รู้”  ยังขาดอะไร หรือควรทำแบบใด  จึงจะบรรลุเป้าประสงค์ของ “ผู้ใฝ่รู้”
        ๓. “ผู้ใฝ่รู้”  บอกถึงแผนงาน หรือ แผนการดำเนินงานต่อไป
        ๔. “ผู้พร้อมให้”  ช่วยให้คำแนะนำถึงแผนงานหรือแผนการดำเนินงานของ “ผู้ใฝ่รู้”
          
        หลังจากนั้น  ก็จะให้แต่ละกลุ่มนำเสนอให้กลุ่มใหญ่ฟังถึงผลการพูดคุยแลกเปลี่ยน  และให้สรุปความรู้สึกของสมาชิกกลุ่มโดยรวมว่า  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในช่วงดังกล่าวนี้ เป็นอย่างไร  ความเข้มข้นหรือความสนุกของการพูดคุยในช่วงนี้ต่างกับช่วงแรกอย่างไร  ซึ่งคำถามเหล่านี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมมองเห็นถึงความสำคัญของการใช้เครื่องมือ “ธารปัญญา”  ได้ชัดเจนมากขึ้น  และทำให้เห็นว่า  การปรับประยุกต์ การเลือกใช้เครื่องมือในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของการจัดการความรู้  ไม่มีสูตรตายตัว  แต่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายสูง   ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามบริบทอย่างเหมาะสมอยูตลอดเวลาเลยทีเดียว

         บทสรุปของตลาดนัดความรู้ “ครูเพื่อศิษย์ :  เด็กไทยวัยใส”  ครั้งนี้จะเป็นอย่างไร  โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

yayaying 
               

 

หมายเลขบันทึก: 3001เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2005 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท