กาลามสูตร : สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ


หลักความเชื่อของผู้บริหาร

กาลามสูตร : สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ

 

          ช่วงนี้เห็นมีข่าวเกี่ยวกับคลิปวีดีโอ คลิปเสียงต่างๆมากมาย มีทั้งของที่เป็นเรื่องจริง เรื่องที่ตัดต่อขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เรื่องที่ตั้งใจทำขึ้นมา และเรื่องที่ถูกละเมิดให้มีการฟ้องร้องกันอยู่เป็นเนืองนิตย์ เราในฐานะผู้รับข่าวสารจะแยกได้อย่างไรว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง เรื่องไหนไม่จริง เรื่องไหนเชื่อได้ เรื่องไหนเชื่อไม่ได้ ข้าพเจ้าได้อ่านบทความจากวารสารฉบับหนึ่งได้พูดถึง “กาลามสูตร” ซึ่งเป็นหลักความเชื่อที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อทุกคนในการจะพิจารณาที่จะเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมา จึงได้นำมาเสนอไว้เป็นหลักคิดสำหรับบุคคลที่สนใจ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้บริหารซึ่งท่านสามารถให้คุณให้โทษกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ จะเชื่อสิ่งใดที่ใครๆพูดจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยปกติในชีวิตประจำวันของเรา วันหนึ่งๆจะได้รับข่าวสารต่างๆมากมาย ทั้งทางตรงและทางออ้ม บางเรื่องฟังแล้วก็ธรรมดา บางเรื่องก็ฟังแล้วน่าตื่นเต้น หลายๆเรื่องถูกเล่าขานวิพากษ์วิจารณ์ต่อกันเป็นกระแส  การที่คนเราจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องใดนั้นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดจนทำให้มนุษย์ตัดสินใจ “กระทำ” หรือ “ไม่กระทำ” สิ่งใดนั้นขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อ”ของบุคคลนั้นเป็นสำคัญ ข่าวสารที่เรารับเข้ามาในแต่ละวันนั้น มีทั้งเรื่องที่ “เหลือเชื่อ” เรื่อง “ชวนเชื่อ” และเรื่องที่ทำให้คน “หลงเชื่อ” อย่างไม่รู้ตัว  แล้วเราจะพิจารณาได้อย่างไรว่าข้อมูลใดเชื่อถือได้และ๘อมูลใดเชื่อถือไม่ได้  พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเมื่อใดก็ตามที่เราได้ยินได้ฟังข่าวสารเรื่องใด ก็ให้ฟังไว้ก่อน ยังไม่ต้องไปคัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วยหรือไปสนับสนุนเห็นด้วยในทันที แต่ให้ “ฟังหูไว้หู” แล้วมาพิจารณาว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั้นมันผิดหรือถูก มันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อใครหรือไม่ หากคิดไตร่ตรองถี่ถ้วน รอบคอบแล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าข้อมูลนั้นเชื่อได้มากน้อยค่าไหน โดยใช้หลัก “กาลามสูตร” มาใช้ในการพิจารณา ดังนี้

          1. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะการฟังตามๆกันมา  คำพูดที่มาจากการบอกต่อๆกันมา หรือฟังตามๆกันมามีโอกาสที่จะบิดเบือนจากความเป็นจริงสูง พวกเราเป็นครูเคยให้นักเรียนเล่นเกมบอกต่อหรือไม่ จะเห็นว่าเมื่อนักเรียนคนแรกรับทราบข้อมูลแล้วบอกต่อๆกันไปคนสุดท้ายที่รับข้อมูลจะรับข้อมูลไม่ตรงกับคนแรกเลยซึ่งเกมนี้เราใช้สอนเด็กว่าไม่ควรเชื่อในสิ่งที่เขาบอกต่อๆกันมาหรือฟังตามๆกันมา

          2. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถือว่าเป็นของเก่า เล่าสืบๆ กันมา คำสอนข้อนี้มิใช่สอนให้เราดูถูกความเชื่อเก่าๆแต่ให้เราพินิจพิเคราะห์เสียก่อน ไม่ใช่เชื่อทันทีโดยไม่มีเหตุผล เพราะบางคราวความเชื่อของคนโบราญที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นอุบาย ที่เป็นการสอนทางอ้อมเช่น ห้ามกวาดบ้านตอนกลางคืนจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ความจริงแล้วคนโบราญห้ามก็ด้วยเหตุว่าเมื่อก่อนไม่มีแสงสว่างจากไฟฟ้าตอนกลางคืนจึงมืดมากไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีแสงสว่างจากหลอดไฟ การกวาดบ้านในที่มืดหรือมีแสงสลัวๆ จะทำให้กวาดสิ่งของมีค่าที่ทำตกหล่นไว้ทิ้งไปโดยไม่รู้ตัวเป็นต้น ดังนั้นหากจะเชื่อคำสอนโบราญก็ต้องหาเหตุผลมาสนับสนุนไม่ใช่เชื่อเราะเล่าสืบต่อกันมา

            3. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเป็นข่าวเล่าลือ ข้อนี้มีอยู่มากมายในปัจจุบันเช่นเขาเล่าลือว่าเมื่อไปบนบานศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งนี้แล้วจะได้สมตามปารถนาก็ไปกับเขา เขาเล่าลือว่าที่นั่นที่นี่ให้หวยแม่นคนแห่กันไปกราบไหว้ขอหวยแล้วก็ไม่ถูก เขาเล่าลือว่าหมอชาวบ้านคนนี้รักษาโรคสารพัดชนิดให้หายได้โดยการกินยาเพียงชนิดเดียวก็แห่กันไป หรือมีข่าวเล่าลือว่าดาราคนนั้นเป็นแฟนกับคนนี้ นักการเมืองคนนั้นทำอย่างนั้นอย่างนี้ เยอะแยะมากมายการที่เราจะเชื่อข้อมูลที่เป็นข่าวเล่าลือต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

          4. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอ้างคัมภีร์หรือตำรา เรื่องตำรานี่ต้องพิจารณาให้ดีเพราะบางครั้งบางข้อมูลที่เขียนไว้ในตำราก็เป็นเรื่องจริงที่เชื่อถือได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่เมื่อเวลาผ่านไปข้อมูลนั้นอาจไม่เป็นจริงก็ได้ หรือในบางตำราก็มีการอ้างผิดๆหรือเป็นการหลอกลวงเช่นอ้างว่ายานี้รักษาโรคได้เป็นอย่างดีโดยอ้างผลวิจัยแต่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนไม่ได้บอกถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นทำให้ตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย

          5. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดเดาเอาเองว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกัน เพราะเหตุผลบางอย่างก็ไม่ใช่ว่าจะถูกเสมอไปเช่นคิดว่าคนที่มีเงินทองมากมาย มีอำนาจล้นฟ้าจะต้องมีความสุข แต่จริงๆแล้วคนเหล่านั้นอาจจะไม่มีความสุขก็ได้เพราะต้องเดินทางเร่ร่อนไปเมืองนั้นเมืองนี้ตลอดเวลา หรือชีวิตวุ่นวายจนหาความสงบสุขไม่ได้เลยแต่แสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเองมีความสุข

          6. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะการคิดคาดคะเนหรืออนุมานเอา เช่นเมื่อเห็นเมฆฝนตั้งเค้ามาก็คาดคะเนเอาว่าฝนจะตกบางครั้งลมอาจพัดฝนผ่านไปไม่ตกก็ได้หรือเมื่อมีคนมาพูดคุยเอาใจเราคอยรับใช้เราก็คาดคะเนว่าเขาจะจงรักภัคดีกับเราบางทีคนนั้นอาจวางแผนอะไรบางอย่างก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเชื่ออะไรเพราะการคาดคะเนหรืออนุมานเอาจะต้องสืบเสาะหาข้อเท็จจริงเสียก่อน

          7. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดเอาตามอาการที่ปรากฏ เช่นเพราะการปลงใจเชื่อเช่นนั้นอาจจะเกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ หรือเมื่อเราเห็นคนท้องโตก็อย่าเพิ่งคิดว่าคน ๆ นั้นตั้งท้อง เขาอาจจะอ้วนก็ได้ บางครั้งเห็นคนแต่งตัวมอซอก็คิดว่าเขาเป็นคนจนความจริงเขาอาจจะมีเงินมากมาย หรือคนที่แต่งตัวภูมิฐานอาจจะเป็นขโมยก็ได้ เป็นต้น เราจึงต้องแยกแยะธาตุแท้กับปรากฏการณ์ ให้ชัดเจน

          8. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าตรงกับความเห็นของตนหรือเข้ากับทฤษฎีที่มีอยู่ ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีความลำเอียงอยู่ในตัว เมื่อได้รับข้อมูลต่าง ๆ ที่มีความคิดคล้าย ๆ กับตน ก็จะยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองเชื่อนั้นเป็นจริง

          9. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าผู้พูดควรเชื่อได้ สังคมในปัจจุบันมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกออกเป็นหลายฝักหลายฝ่ายและผู้ที่เป็นหัวหน้าของแต่ละฝ่ายก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคมเป็นผู้ที่มีคำพูดที่น่าจะเชื่อถือได้ ดังนั้นเมื่อฟังแล้วจะเชื่อใคร จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน จะได้ไม่เป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

          10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าผู้พูดเป็นครูของเรา ครูของเราสอนให้เรารู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ รู้จักไตร่ตรอง และเลือกที่จะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการดำรงชีวิต ดังนั้นเวลาครูบอกครูสอนอะไรก็ให้ไตร่ตรองให้เข้าใจเสียก่อนจึงจะเชื่อ

          จะเห็นว่าหลักกาลามสูตรนี้มีความคล้ายคลึงกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สอนให้พิสูจน์สิ่งต่างๆให้เห็นเป็นจริงเสียก่อนจึงจะตัดสินใจเชื่อ เป็นการสอนให้อย่าเพิ่งเชื่ออะไรอย่างงมงาย ซึ่งผู้ที่เป็นผู้บริหารจึงควรนำหลักการเหล่านี้ไปปรับใช้ในการบริหารตน บริหารคนและบริหารงาน ให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

 

หมายเลขบันทึก: 295886เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ถูกต้องเลยครับพี่เอ แต่คนไทยตอนนี้ชอบถือมงคล ตื่นข่าว ทำให้สื่อได้ใจ ไปกันใหญ่

ควรจะฟังหูไว้หู ก็จะดีนะ

เห็นด้วยกับครูต้อยนะคะ ว่าเรื่องใดก็แล้วแต่เมื่อเราได้รับฟังมาแล้วเราควรฟังหูไว้หูก่อน จากนั้นค่อยใช้สติไตร่ตรองพิจารณากันอีกครั้งคะ

ถ้าคนเราใช้หลักการนี้เป็นขอคิด คงไม่เกิดปัญหาเสื้อเหลือง เสื้อแดง  ต่างฝ่ายต่างพูดแต่สิ่งชั่วของคนอื่นแต่ไม่พูดความเลวของตนเอง

เอาเพลงนี้มาฝากครับ ขอบคุณครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท