37. หลุมดักปลา.....ภูมิปัญญาท้องทุ่ง


เขาขุดหลุมอย่างนี้เพียงเจ็ดหลุมก็ได้ปลาทุกเช้า และทำเป็นอาหารสำหรับทุกคนกินไปจนถึงเย็น

                เช้าวันเสาร์เมื่อผมลืมตาขึ้นมา บนกระท่อมไม่มีใครเลย มองไปข้างล่าง มีเพียงควายสี่ตัวที่ยังคงนอนอยู่ที่เดิม กองไฟที่อยู่ข้างๆ มอดแล้ว ไกลออกไปมีสายหมอกบางๆ เห็นนกแซงแซวสองตัวบินหยอกล้อกัน ถลาว่อนจับกิ่งไม้ กิ่งนั้นบ้างกิ่งโน้นบ้าง พร้อมกับส่งเสียงร้องอย่างเบิกบาน

        ผมเก็บที่นอน ล้างหน้าแปรงฟัน พอลงบันได เดินไปแค่สิบก้าวก็ถึงคันนาที่เดินได้สบาย แต่เวลามีคนเดินสวนมา จะต้องมีคนหนึ่งลงไปที่ท้องนา ให้อีกคนเดินผ่านไปก่อน แล้วค่อยขึ้นมาบนคันนาเดินต่อไป

        ข้าวกำลังตั้งท้อง กอใหญ่สูงเลยเข่าเล็กน้อย ข้างๆ คันนามีผักอีฮีนสีเขียวขึ้นเป็นกอหนาแน่นเป็นแถวยาวไปตามคันนา เลยจากผักอีฮีนออกไปกลางผืนนา มีผักแว่นและผักผ่องปล่อยใบให้ลอยอยู่บนผิวน้ำดูปละปลาย แซมด้วยแพงพวยที่ชูช่องาม สีม่วงบ้างขาวบ้าง น้ำในผืนนาใส มองเห็นปลาเล็กๆ หลายตัวแหวกว่ายเล่นน้ำ พอผมเดินเข้าไปใกล้ก็รีบว่ายหนีไปกลางผืนนา

        ผมสูดอากาศเข้าไปเต็มปอด พร้อมกับชูสองมือขึ้นเหนือศีรษะ กลั้นหายใจสักพัก แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ พลางลดมือลง

        “ครูจะไปไหน” เสียงชินน้องคนเล็กของเหรียญซึ่งเพิ่งจบ ป. 4 ปีที่แล้วดังขึ้นด้านซ้ายมือ ผมหันไปดู เห็นชินสะพายข้องค่อนข้างหนัก ยืนยิ้มมาทางผม

        “ข้องอะไรน่ะ” ผมไม่ตอบคำถามของชิน แต่ถามย้อนกลับไป และเดินเข้าไปหาเขา

        “ข้องปลา” ชินตอบพร้อมกับปลดข้องออกจากไหล่ขวา

        ภายในข้องมีปลาช่อนโตขนาดกระบอกไฟฉายสามตัวและปลาหมอจำนวนหนึ่ง พอผมถามว่าได้มาอย่างไร ชินก็พาผมเดินย้อนไปดูที่เขาได้มา

         เดินไปไม่กี่ก้าว พอถึงตรงที่คันนาตัดกันเป็นสี่แยก ชินชี้ให้ผมดูหลุมหนึ่งที่อยู่กลางคันนา ลึกหนึ่งศอก กว้างประมาณห้านิ้วฟุต บริเวณปากหลุมถูกปาดเรียบเป็นทางยาวไปถึงน้ำในผืนนาทั้งสี่ด้าน

         “ได้ปลาจากหลุมนี้เหรอ” ผมถามด้วยความสงสัย

        “ใช่” ชินยืนยันแล้วขยายความว่า ตอนค่ำเขาจะเอาดินที่อยู่ใต้น้ำในผืนนา มาละเลงที่ปากหลุมเป็นทางไปจนถึงขอบคันนา พอกลางคืนปลาออกหาอาหารตัวไหนโชคร้ายก็จะขึ้นมาบนคันนาตามดินที่ละเลงไว้ แล้วตกลงไปในหลุม ไม่สามารถกระโดดขึ้นมาได้ หากคืนไหนฝนตกจะมีปลาตกลงไปในหลุมมาก

        ชินเล่าว่า เขาขุดหลุมอย่างนี้เพียงเจ็ดหลุมก็ได้ปลาทุกเช้า และทำเป็นอาหารสำหรับทุกคนกินไปจนถึงเย็น


อ่านต่อ ตอน 38. อาหารเช้าที่เถียงนา

หมายเลขบันทึก: 291424เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2018 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

สวัสดีครับซือเฮีย ได้ย้อน อดีตเมื่อ ห้าสิบปีก่อนอีกแล้ว แต่ถ้าเฮียกรุณา มีเชิงอรรถ คำถิ่นเช่น ผักอีฮีน จะทำให่การอ่านได้ รู้เรื่อง ภาษาด้วย เดาเอาว่า ผักอิฮีน คือ ผักรี้น ใช่มั้ยครับ

อ่านได้จินตนาการบรรยากาศนะคะ

ช่วงนี้ข้าวกำลังตั้งท้องหรือคะ ว้าว

คิดถึงช่วงอยู่เมืองลาว และอิสานเป็นอย่างนี้เลย

มีความสุขมากๆกับตู้เย็นธรรมชาติ สวรรค์บนดินค่ะ

แบบนี้ ครู ป.1 ก็มีประสบการณ์ตรงเลยค่ะ ตอนเด็กๆหาปลาย่าง แกง ได้ง่ายๆ ด้วยการทำหลุมดักปลาที่จะลงบ่อ ต้องประมาณปลายฝน ต้นหนาวนะคะ เพราะปลาจะรู้ว่าน้ำกำลังจะแห้ง ต้องหาที่อยู่ใหม่

สวัสดี ครับ คุณเปลวเทียน

เป็นความคิดพื้นบ้าน ที่ไม่น่าเชื่อเลยนะครับ

อดภูมิใจภูมิปัญญาของคนไทยไม่ได้

ขอบพระคุณ ครับ

 

โอ้โฮ... ซือตี๋ ยังไม่นอนหรือว่าเพิ่งตื่นนอนละเนี่ย มาตอนตีสามเลย

จนด้วยเกล้า เพราะผักทั้งหลายแหล่ ซือเฮียไม่ทราบว่าภาษากลางเรียกยังไง เมื่อซือตี๋สนใจ ก็เลยไปหาในเว็บ

ชื่อเพราะเชียว นิลุบล และอีกชื่อหนึ่ง ผักขาเขียด

ผักอีฮีน เกิดอยู่ตามทุ่งนามีมากในหน้าฝน ชอบแจมอยู่ตามต้นข้าว ลักษณะเป็นกอพุ่ม คนอิสาน นํามาเป็นเครื่องเคียงครับ เช่น นํามากินกับ ลาบปลา ป่นทุกชนิด ที่สําคัญ และแซบที่สุดคือ นํามากินกับแกงหน่อไม้สดตอนบ่ายแก่..อร่อยสุดยอดเลยครับ

 ภาพจาก "บ้านมหาดอทคอม"

มาอ่านภูมิปัญญาชาวบ้านค่ะ

เมื่อสี่สิบปีมาแล้วครับ (กันยายน 2512)

คุณปูบอก "ตู้เย็นธรรมชาติ สวรรค์บนดิน"

อืมม.. ให้ความรู้จักดีจังครับ

และผมเชื่อว่า ไม่มีสวรรค์ชั้นไหน เทียบเท่าธรรมชาติท้องนา ป่าเขาในชนบทไทย แน่นอนครับ  

 

 

ขอบคุณครู ป.1 ครับ ที่ช่วยขยายความ

ใช่ครับ ปลายฝนต้นหนาว เริ่มกันยายนจนถึงพฤศจิกายน

ฝนจะสั่งลาช่วงปลายกันยายน ปลาจะหาทางกลับลงห้วยหนองคลองบึง

ดีใจที่ครู ป.1 ก็เป็นเด็กท้องนาเช่นเดียวกันครับ  

  • ดีจังเลยครับ
  • ผมยังทำแบบนี้
  • ที่บ้านไร่
  • แต่เอาไห ไปฝังแทน
  • แต่ตอนไปดู
  • ต้องระวัง งู ด้วยครับ

สวัสดีครับ

ถึงไม่มีภาพแต่ผมก็เห็นภาพแห่งความสุข ความสดชื่น อากาศบริสุทธิ์สามารถสูบลมหายใจได้อย่างเต็มปอด  ภาคภูมิใจกับภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ  มาถึงวันนี้อยากไปใช้ชีวิตแบบนี้จัง ขอบพระคุณ

ใช่ครับ

ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา ท่านทรงภูมิปัญญาที่ลุ่มลึกมาก

ที่ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะอยากถ่ายทอดความภาคภูมิใจ อย่างน้อยก็เพื่อความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง หากทำให้ท่านอื่นมีความสุขไปด้วย ก็ต้องขอบคุณ G2K ที่ให้พื้นที่เขียนครับ

ขอบคุณนะครับ มีความสุขมากๆ ทุกวันครับ

ด้วยความยินดียิ่งครับ

ขอบคุณดอกไม้ที่ดูสวยเนียน เย็นตาครับ

เห็นหลุมอยู่ เลยต้องหยุดแวะมองดูปลาในหลุมกลางทุ่งด้วย

ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังใช้ได้อยู่เสมอ

นำมาประยุกต์เป็นแนวชีวิตได้หลากหลาย

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ

ดีใจที่ ดร.ขจิต เข้ามาแวะครับ

ทำเหมือนกันรึครับ

สงสัยบ้านไร่ของ ดร. งูจะชุม (แถวบ้านผมชอบอยู่บนหัว.... ฮ่า ฮ่า)

ครับ..ต้องระวังงู แต่หลุมดินงูขึ้นได้ครับ (ยกเว้นงูตัวเล็กๆ)

หลุมไหคงขึ้นยากละ

(ตกหลุมไห ปินป่ายได้ยากนัก...โดยเฉพาะ ไหบ้านผี ฮิฮิ)

สัปดนวันละนิดจิตแจ่มใส

สวัสดีครับ ท่าน ผอ.

ผมเองก็ได้แต่จินตนาการครับ คงยากที่จะได้ไปอยู่แบบถาวร ถึงแม้ผมยังไม่มีหลาน แต่ภาระด้านอื่นก็ยุ่งนุงนัง

หวังไว้นะครับ หลังพ้นจากระบบราชการ อย่างน้อยเดือนละหนึ่งคืน ต้องไปนอนสัมผัสกลิ่นอายของธรรมชาติ

ขอบคุณนะครับ

ยินดีอย่างยิ่งครับ

วิถีไทยจะได้รับการสืบทอดให้ยาวไกล ก็ด้วยชนรุ่นหลัง ที่มีพลังและนำภูมิปัญญาไทยไปใช้อย่างหลากหลาย

ดีใจที่คนหนุ่มให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทยครับ

มารู้ภูมิปํญญาคนไทยในอดีต นี่แหละที่ทำให้คนในอดีต ไม่อดไม่อยาก ในน้ำมีปลา  ในนามีข้าว  แต่ทุกวันนี้ ปลาก็ฉลาดขึ้น มันจะมีอีกไหม กระโดดขึ้นมาชมธรรมชาติจนตกลงไปในหลุมพรางหรือเปล่า หรือยังมีคนขุดหลุมพรางไว้อีกหรือเปล่า

และหลุมแต่ละหลุม มันก็จะมีคนอื่นมายามปลามายามกลางคืน เป็นคนอื่นมาขโมยไปก่อน ถ้าไม่มาเฝ้าเอาเอง เพราะทุกคนก็หากิน ทุกวันนี้ สมัยใหม่ คงไม่มีแล้ว หลุม นอกจากว่าเป็นหนองน้ำของนาตนเอง แล้วก็นอนนาเฝ้าด้วย ไม่เช่นนั้น ไม่ได้กิน คนอื่นมายามก่อน

แต่ก็เคยได้ยินทุกวันนี้ ๆไม่ต้องหลุม แต่เป็นที่น้ำไหล ระหว่างนา ไหลแรง  ปลาจะไหลมาตามน้ำ พอถึงน้ำแรง ๆ  มันจะกระโดดขึ้นแต่เวลาลงมันจะตกลงไป ในตาข่าย ที่เขาดักไว้ เขาก็คงเรียกหลุมปลาแต่ทันสมัยขึ้นมาหน่อย  ใช่ไหมคะท่าน

ฝอยไปแล้ว ไม่เคยเห็นไม่เคยทำซักที ก็อ่านๆ ไปเจอหมือนอ่านเรื่องของท่านนี่แหละคะ ลักษณะล่อปลาแบบเดียวกัน รู้มาจากการอ่าน

ระวังนะ เขียนอะไร คนคิดลึกก็มีนะ ซิบอกไห่ คริ คริ

ทำไม สุมาช้าหละวันนี้  มาช้าดีกว่าไม่มาเลย  ก็ท่านบอกว่ายุ่งๆ ยุ่งมาก ก็เลยคิดว่า เขียนเรื่องเดียวก็จะ แย่อยู่แล้ว  วันนี้คิดว่าอาจจะมีเรื่องอะไรอีก ก็มีจริงๆ แต่มีตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว ยุ่งเขียนบทความนี้เอง

สุก็ยุ่งแต่เรียนตกแต่งบล็อค นอนดึกทุกคืน หลับหน้าคอมก็ยังเป็น

ไปก่อนนะคะ แล้วจะมาเยี่ยมใหม่คะOnion06บาย บาย

กำลังจะปิดเครื่อง พอดีเห็นคุณสุมา หากช้ากว่านี้ นู้นนนน...31 สิงหาคมถึงจะได้ตอบ เพราะเย็นนี้ก็จะจรลีไปหนองคาย กระแซะเวียงจันทน์ (เกือบแล้วไหมล่ะ.....)

หลุมพราง ไม่มีในบ้านนี้หรอกครับ (อาจมี ลับ ลวง พราง ฮิฮิ)

โอย...ผมต้องไปเตรียมกระเป๋า เดี๋ยวขึ้นเครื่อง เอ๊ย..ขึ้นรถไม่ทัน แหะ แหะ

ก็จะไม่อยู่บ้านนี่แหละ ถึงได้เขียนเรื่องลง และพอดีช่วงนี้ว่างงานสองวันครับ 

เจอกันใหม่ เดือนหน้านะครับ

บาย คิดถึงนะครับ

สวัสดีค่ะ

วิธีการของแต่ละท้องถิ่น ต่างกันไป มีแบบแปลกๆ น่าทึ่ง แต่ไม่กล้าถ่ายทอด เพราะบางวิธีการใช้ล่าของหายาก โดยวิธีที่ง่ายมากๆ

ที่ทึ่งคือ ใครที่ค้นพบวิธีการเหล่านี้เป็นคนแรกเขาคิดได้อย่างไร

ท่านเปลวเทียนเล่าอะไรมา พาให้ศิริวรรณคิดถึงคุณพ่อเสมอ(ท่านเป็นคนอุบลฯ ค่ะ ปีนี้อายุ ๗๒ ปี ชอบเล่าเรื่องเก่าๆ ชอบชี้ชวนให้ดูต้นไม้ ดูหิน ดิน ทราย ฯลฯ)

ด้วยความระลึกถึงค่ะ

ศิริวรรณ

 

 

พึ่งกลับจากไปเดินเล่นงานมหกรรม Otop ภาคใต้ที่ตึกกาญจนามาค่ะ  ของกินปักษ์ใต้เยอะมากค่ะ  อร่อยๆทั้งนั้นเลยค่ะ  ส่วนมากคนไต้ขาย 

 เลยแว๊บมาดูบล็อกอาจารย์ค่ะ

ชินเก่งจังค่ะ แต่อาจารย์เก่งกว่า ^_^ไม่ได้ทำหลุมแต่จำและทราบว่าหลุมคือที่ดักปลาธรรมชาติ 

เคยเห็นพี่ชายทำค่ะ  แต่จะใส่กระบอกไม้ไผ่หรือไม่ก็ไหค่ะ(ที่ร้อยเอ็ดเรียกหลุมว่าบั้งค่ะ)  ได้ปลาเยอะดีเหมือนกันค่ะ  ประมาณตีห้าพี่ชายจะไปยามปลาในบั้ง  ดิฉันตื่นไม่ทันพี่ชายเลย อดไปยามบั้งค่ะ  อากาศท้องทุ่งนาเช้าๆสุดยอดค่ะ   สดชื่นดีจริงๆค่ะ  ยิ่งอ่านยิ่งคิดถึงบ้านจังเล้ยย 

ผมก็เจอมาแปลกๆ เช่น เกียกกระรอก เอาใบไม้มาเป่า สักพักกระรอกจะออกมาตามเสียง ก็เอาปืนยิงง่ายๆ ที่แสนจะสงสารมันมาก

ที่คิดได้น่าจะมีความบังเอิญอยู่หลายเรื่อง แล้วก็พัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ

อ้อ... ผมดีใจที่ได้ทราบ ท่านคงแข็งแรงมากนะครับ ส่วนคุณพ่อผม 86 ปีแล้ว ตอนนี้ช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ครับ

คุณศิริวรรณสบายดีนะครับ

ขอให้มีกำลังกาย กำลังใจและสติปัญญา เอาชนะงานและอุปสรรคไปได้ด้วยดีนะครับ

ผมจำได้ว่า บั้งเขาใช้ดักปลาไหล เอาไว้ในน้ำนะครับ ใช้ของเน่า เช่นปู หอย หรือปลาเน่าเป็นเหยื่อล่อ ที่จำได้เพราะผมเหม็นปูเน่า บ้านผมเขาเรียกว่า "บั้งลัน"

ส่วนไหที่ทำเป็นหลุมนั้น มีมาตอนหลังครับ คงป้องกันคนเหยียบแล้วหลุมพัง แต่อันตรายหากงูตกลงไปจะขึ้นยาก ตอนยามต้องระวัง เพราะหากเป็นงูเห่าก็น่ากลัวครับ

พี่คงไม่อยากให้ไปด้วย คงบอกว่า "เกะกะ" ฮิฮิ

ทุ่งนาร้อยเอ็ด ผมชอบตอนข้าวออกรวงใหม่ๆ มีครั้งหนึ่งในปี 2519 ผมนั่งรถตู้ราชการจากมุกดาหารจะไปกรุงเทพฯ มาถึงสุวรรณภูมิตอนตีห้า เจ้านายให้คนขับจอดรถ แล้วท่านลงไปยืนหน้ารถและเรียกผมลงไปด้วย ผมงงคิดว่า นายเราเป็นอะไรหว่า

แต่พอก้าวลงจากรถตู้ หอมกลิ่นข้าวหอมมะลิ สดชื่นมากครับ วิเศษจริงๆ

ลมหนาวอ่อนๆ กระทบผิวกาย กลิ่นหอมอ่อนๆ ที่บอกไม่ถูก เพียงบอกได้ว่า นี่คือชีวิต นี่คือพลังแห่งธรรมชาติ

ผมก็คิดถึงบ้านครับ เคยวาดอนาคตว่าจะอยู่กับ ป่า เขา และท้องนา ผมกำลังจะตามหาฝันนั้นครับ 

อ่านบันทึกอาจารย์แล้วคิดถึงตอนเป็นเด็กเลยครับ

พยายามจะทำให้กระชุ่มกระชวยนะครับ

เลยเขียนเรื่องเก่าๆ ฮาฮ่า

ขอบคุณที่แวะมาครับ

 

  •  เรื่องสุดยอดครับ ซึมซับบรรยากาศสุดบรรยาย
  • อ่านแล้วคิดถึงว่าเราเคยทำอะไรมาบ้างแล้วลืมไปบ้าง
  • เยียมมาก ๆ ครับผม

สวัสดีครับ

ขอบคุณที่แวะเยียมนะครับ

ผมเองก็คิดถึงสมัยหนุ่มมากเลย

เราหวนกลับไม่ได้ ก็แค่เพียงรำลึกสิ่งที่ดีๆ

ขอบคุณอีกครั้งที่ให้กำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท