"ธรรม" ในความหมายทั้ง ๔ (รวมคำบรรยายจากท่านพุทธทาส)


ความหมายของคำว่า "ธรรม"

เมื่อพูดถึงธรรมในพุทธศาสนา เราส่วนใหญ่นึกไปถึงคำสั่งสอนของพระพุทธองค์

คำว่า ธรรม นี้ ไม่ได้มีความหมายเพียงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หากหมายความรวมถึง ทุกสิ่ง เนื่องจากประกอบไปด้วย๔ องค์ประกอบคือ

ธรรมในพระพุทธศาสนา

ธรรมในพุทธศาสนา เมื่อกล่าวตามหลักแห่งพุทธศาสนา คำว่า ธมฺม ในภาษาบาลี ย่อมเล็งถึงของทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ยกเว้นอะไร และแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ

ก. ตัวธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติทั้งหมด เรียกว่า สภาวธรรม

ข. กฎธรรมชาติทั้งหมด เรียกว่า สัจจธัมม์

ค. หน้าที่ของมนุษย์ตามกฎธรรมชาติ เรียกว่า ปฏิปัติธัมม์

ง. ผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่ เรียกว่า วิปากธัมม์

พุทธทาสภิกขุ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม หน้า ๑๔

โดยท่านได้อธิบายไว้ในอีกที่ดังนี้

"เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา อยากจะขอร้องให้ทบทวนความจำเกี่ยวกับคำนี้ไว้เรื่อยไป คำว่า ธรรม นี้ก็ตาม ธรรมชาติ ก็ตาม ถ้าเราจะเล็งถึงธรรมชาติทั้งหมดแล้ว เราควรจะนึกถึงตัวธรรมชาติแท้ๆและตัวกฎของธรรมชาติ ด้วยหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องกระทำตามกฎธรรมชาตินั้นด้วย และผลที่เกิดมาจากการทำหน้าที่นั้นๆด้วย มีอยู่ถึงสี่ชั้นซ้อนกันอยู่

โลก : ธรรม : ธรรมชาติ

ตัวธรรมชาติแท้ๆ ดินฟ้าอากาศ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่เป็นรูปและนาม ที่เป็นรูปคือวัตถุ ที่เป็นตัวโลกเป็นของแข็ง กระทั่งสิ่งที่รู้ได้ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยผิวกาย นี่เรียกว่าวัตถุ แม้แต่เสียง ภาษาบาลีก็เรียกว่ารูปกลิ่นก็เรียกว่ารูป คือพวกเป็นวัตถุที่เราเห็นได้ง่ายๆ ก็เอาอย่างนี้ แผ่นดิน ต้นไม้ แผ่นฟ้า ภูเขา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ เป็นวัตถุ เป็นรูป นี้พวกหนึ่ง

อีกพวกหนึ่งเป็นนาม คือเป็นจิตใจ หมายถึงความรู้สึก นึกคิด คือตัวจิตที่คิดนึก อย่างนี้เรียกว่านาม เพราะฉะนั้น โลกก็คือรูปกับนาม ไม่มีอะไรด้วยซ้ำ ถ้ามันสัมพันธ์กันระหว่างกายกับใจ รูปนามมันจึงทำหน้าที่รู้นั่นรู้นี่ได้ โลกจึงปรากฏขึ้นเพราะจิตเป็นผู้รู้สึก ถ้ารู้สึกตามลำพังจิตไม่ได้ ต้องมีร่างกายเป็นเหมือนออฟฟิศให้มันทำงาน มันจึงรู้ คิดนึกได้ โลกจึงมีขึ้นเพราะจิตรู้สึกได้ ถ้าจิตรู้สึกไม่ได้โลกนี้เท่ากับไม่มี

ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือ รูปกับนาม ก็คือทุกสิ่งนั่นเอง ไม่ยกเว้นอะไร วัตถุภายนอกมนุษย์ก็ดี ร่างกายของมนุษย์ก็ดี จิตใจของมนุษย์ก็ดี รวมอยู่ในคำๆนี้ เรียกว่าโลกหรือธรรม ในฐานะที่เป็นธรรมชาติ ธมฺม ธรรมะ, ธรรม ในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาตินี้ชั้นหนึ่ง ที่เราจะต้องรู้ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าโลก

ธรรมชาติ คือตัวธรรมชาตินั้น ยังมีกฎธรรมชาติ อันนี้ไม่เป็นตัวเป็นตน เป็นสัจจะอันหนึ่ง เรียกว่า กฎ เช่น ความที่โลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ก็เรียกว่ากฎธรรมชาติ หรือว่าโลกนี้ สิ่งต่างๆนี้แหละจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แก้ไขไม่ได้ บังคับไม่ได้โดยบุคคลใด นี้เรียกว่ากฎธรรมชาติ คือว่าการที่มันจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นแหละ เป็นความหมายที่สำคัญที่สุด

กฎอีกอย่างหนึ่ง ที่น่ากลัว ก็คือ มันไม่หยุด มันปรุงแต่งกันเรื่อย เรามองไม่ใคร่เห็นว่า มันปรุงแต่งกันเรื่อย เรามองไม่ใคร่เห็นว่ามันปรุงแต่งกันเรื่อย ฉะนั้นจึงต้องขยันศึกษามองให้เห็นว่า มันปรุงแต่งกันเรื่อยไม่มีหยุด เช่น เรากินอาหารเข้าไป อาหารนั้นก็เป็นเหตุ ปรุงแต่งเนื้อหนังมังสาเป็นผล แล้วเนื้อหนังมังสาที่เป็นผลนี้ พอเสร็จแล้วมันก็กลายเป็นเหตุที่จะปรุงแต่งการเป็นอยู่ การกระทำ ฯลฯ ต่อไปอีก แล้วมันเกิดผลอะไรขึ้นมาอีก แล้วมันก็กลายเป็นเหตุอีก นี่ ! มันไม่ยอมหยุดอย่างนี้ ความที่มันปรุงแต่งกันเรื่อยนี้ ก็เรียกว่ากฎธรรมชาติ

ยกตัวอย่างมาให้ฟังเพียงสามอย่างว่า กฎที่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้ก็เรียกว่า กฎธรรมชาติ กฎที่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกัน และปรุงแต่งไปตามเหตุปัจจัย นี้ก็เรียกว่า กฎธรรมชาติ แล้วมันปรุงแต่งกันเรื่อย นี้ก็เรียกว่า กฎธรรมชาติ รวมอยู่ในคำว่าโลก

อันที่หนึ่ง ธรรมชาติ อันที่สอง กฎของธรรมชาติ ทีนี้มาถึงอันที่สาม คือ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ ลองพิจารณาดูว่า สิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ตามธรรมชาตินี้ มันน่ากลัวเท่าไร มันสำคัญอย่างไร นับแต่เราต้องแสวงหาอาหาร ต้องบริหารร่างกาย ต้องเยียวยาความเจ็บไข้ ไหนจะต้องสืบพันธุ์ ไหนจะต้องหนีอันตราย ไหนจะต้องขวนขวายดับความทุกข์นานาประการ กระทั่งทุกข์ดับหมด นี้ เป็นหน้าที่ตามกฎธรรมชาติซึ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงมีหน้าที่วุ่นวายเป็นประจำกันทุกคน ซึ่งมีอยู่ในโลก ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลก การปฏิบัติตามหน้าที่ต่างๆ หน้าที่บริหารร่างกาย หน้าที่ทำมาหาเลี้ยงชีวิต กระทั่งหน้าที่อื่นๆ อันที่สามนี้ก็รวมอยู่ในคำว่าโลก เป็นส่วนหนึ่งของคำว่าโลก

อันสุดท้าย เรียกว่าผลที่ได้รับ ได้รับมาเป็นเงินเป็นทอง เป็นข้าวของ เป็นเกียรติยศชื่อเสียง ฯลฯ อะไรก็ตามทางฝ่ายโลกๆนี้ บางทีก็ถูกใจ บางทีก็ไม่ถูกใจ กระทั่งเราปฏิบัติหน้าที่ทางธรรมะสูงสุด เราก็ได้รับมรรค ผล นิพพานมา ก็เรียกว่าผลที่ได้รับตามธรรมชาติ มองดูกันอย่างเป็นหลักใหญ่ๆแล้วมีอยู่สี่ชั้นอย่างนี้ เราต้องมองดูโลกในลักษณะที่กว้างอย่างนี้ จึงจะเข้าใจได้ดี"

พุทธทาสภิกขุ ทำอย่างไรจึงว่างและอยู่เหนือโลก หน้า ๖ - ๘

หมายเลขบันทึก: 291187เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา

ความหมายน่าจะเหมือนกันนะครับ

ธรรมะสอนให้รูธรรมชาติของจิต ธรรมดาของจิต

สวัสดีครับ

ธรรมะคือ หน้าที่

ขอบคุณมากนะคะที่ให้กำลังใจ

มาชม

มาเชียร์

พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาสากล ศาสนาหนึ่งนะครับ

  • ตามมาศึกษาธรรมมะกับพี่ครับ
  • เก่งแล้วจะไปสอนนิสิต
  • พี่สบายดีนะครับ

ธรรมสวัสดีค่ะ

อ่านแล้วเห็นจริงตามที่กล่าวไว้ค่ะ

ธรรมเป็นสากลและแยบคาย กว้างขวางจริง ๆ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท