สอนนักศึกษาเรื่อง KM


นักศึกษามี attitude ที่ดีและเห็นประโยชน์ของ KM

ในภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๒ มีการเปิดสอนรายวิชาการจัดการความรู้และการใช้ผลการวิจัยทางสุขภาพ ให้กับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ ๔ ผู้เขียนรายวิชานี้ตอนที่ปรับปรุงหลักสูตรอาจจะเข้าใจการจัดการความรู้แตกต่างไปจากการจัดการความรู้ตามแนวทางของ สคส. แต่ก็เปิดโอกาสให้ดิฉันได้สอนเป็นเวลา ๖ ชม. (สอนครั้งละ ๒ ชม. ๓ ครั้ง)

เนื้อหาที่ดิฉันสอนประกอบด้วย ความหมายและความสำคัญของการจัดการความรู้ ชนิดของความรู้แนวคิดการจัดการความรู้ ความแตกต่างระหว่างการจัดการความรู้และการวิจัย การดำเนินการจัดการความรู้ เครื่องมือและเทคนิคในการจัดการความรู้ อาทิ การเล่าเรื่อง การฟังอย่างลึก เครื่องมือชุดธารปัญญา สุนทรียสนทนา BAR – AAR ฯลฯ หวังว่านักศึกษาจะได้แนวคิดและวิธีการติดตัวไปใช้ โดยเฉพาะในการเรียนรายวิชาด้านการปฏิบัติการพยาบาล และเมื่อจบออกไปทำงานแล้ว

 

นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ ๔

ก่อนเริ่มเรียนในชั่วโมงแรกดิฉันให้นักศึกษาเขียน BAR อ่านดูก็เห็นว่านักศึกษามีความสนใจใคร่รู้ สังเกตการเข้าเรียนในแต่ละครั้งมีนักศึกษาจำนวนไม่มากที่ขาดเรียนหรือมาสาย ในการสอนทุกครั้ง มีการฉาย VDO เรื่องราวของการจัดการความรู้ เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นของจริงในเนื้อหาที่เรียนแต่ละเรื่องและจัดให้นักศึกษาได้ดู VDO “หมอฝอยทอง” และฟังการบรรยายพิเศษของทีมพุทธชินราช (อ่านที่นี่)

อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชานี้มี assignment ให้นักศึกษาทำรายงานกลุ่มด้วย มีนักศึกษา ๔ กลุ่มที่สนใจทำรายงานเกี่ยวกับความรู้ปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยเฉพาะเรื่องเฉพาะกลุ่ม ดิฉันจึงให้ค้นจากเรื่องราวที่บันทึกอยู่ใน http://gotoknow.org ให้ช่วยกันอ่านเรื่องเล่าแล้วตีความสกัดขุมความรู้ที่เป็นเทคนิค/วิธีการปฏิบัติที่ใช้แล้วได้ผลดี รวบรวมและนำเสนอแนวทางในการนำความรู้ไปใช้ต่อไป ดิฉันคิดเอาเองว่านักศึกษาน่าจะยังไม่ติดกรอบวิชาการแข็งมาก คงจะค้นเจอความรู้ปฏิบัติได้ไม่ยาก

แต่การพูดอธิบายหรือฉายภาพของจริงให้ดูอย่างไร นักศึกษาก็ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เหมือนการได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ข้อมูลจากการ AAR ก็แสดงให้เห็นว่านักศึกษามี attitude ที่ดีและเห็นประโยชน์ของ KM เช่น

“ขอขอบพระคุณอาจารย์ค่ะสำหรับเนื้อหาที่สอนหนูตรงจุดนี้ เป็นประโยชน์ต่อการเป็นพยาบาลในวันข้างหน้าของหนูมาก หนูเชื่อค่ะว่าเราไม่จำเป็นต้องเริ่มในสิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ หากแต่เริ่มในจุดเล็กที่อยู่ข้างเราจริงและนำมาสร้างให้เกิดความสำเร็จต่อเราและผู้อื่นอีกมากมาย”

“หลังจากที่ได้เรียนรู้และศึกษาขั้นตอน ลักษณะของ KM ก็พบว่าไม่ยากอย่างที่คิด เนื่องจากได้เห็นรูปแบบที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น”


“ได้มองเห็นถึงความสำคัญของ KM ทำให้ได้รู้ว่า KM เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ๋ สามารถใช้ได้ทุกองค์กร ทุกเวลา เนื่องจากความรู้มีมาก ทำให้ได้เรียนรู้ว่า KM มุ่งเน้นสำคัญที่ความสัมพันธ์ของคน และ KM มีเครื่องมือมากมายที่ใช้ในการจัดการเพื่อให้ความรู้นั้นไม่หายไปหรือไม่อยู่กับคนหนึ่งคน”

“ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ (KM) มากขึ้น ได้เห็นการทำ KM ของเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางสุขภาพใน รพ. และการนำลงไปทำกับประชาชน เช่น กลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน ได้เรียนรู้กระบวนการทำตลาดนัด...การที่จะทำ KM จะต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน เปิดใจในการรับสิ่งใหม่ และมีการสร้างสัมพันธภาพเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กัน ในการแลกเปลี่ยนความรู้กันนั้นจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ตั้งใจฟัง จ้องมองผู้พูด ไม่มีความคิดขัดแย้ง ถ้าสงสัยก็ยกมือถามเมื่อผู้พูดพูดจบ และการเป็นผู้พูดที่ดีคือจะต้องเล่าประสบการณ์ให้ผู้ฟังฟังเหมือนได้อยู่ในสถานการณ์จริง ให้มองภาพออก.....สามารถนำไปใช้ในการทำงาน....เปรียบเสมือนการเรียนรู้ทางลัด ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์......”

สิ่งที่นักศึกษาอยากได้เพิ่มเติม เช่น
- อยากให้มีการเข้าค่ายสัก ๓ วัน ๒ คืน เรียนรู้โดยให้อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมและให้พวกเราลองคิดทำเองเรื่องที่สนใจ เมื่อเกิดปัญหาให้อาจารย์ชี้แนะ เพราะถ้าไม่ลองทำก็จะไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาด
- อยากให้มีการจัดอบรมหรืออยากมีส่วนร่วมเมื่ออาจารย์ได้ลงไปปฏิบัติ อยากเห็น “ของจริง” อาจจะจัดเป็นเข้าค่ายก็ได้ และอยากไปตลาดนัดความรู้
- การเรียนรู้แบบ KM เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม การเรียนรู้จากเอกสารและภาพอาจจะทำให้มีความเข้าใจได้ไม่ลึกซึ้ง จึงอยากให้อาจารย์ลองให้นักศึกษามีการทดลองทำ KM ด้วยกันเอง....
- อยากให้อาจารย์ลองพาไปดูการทำ KM ที่กลุ่มต่างๆ เค้าทำกัน เพื่อจะได้เห็นภาพมากขึ้น จากวันที่ได้เข้าฟังการทำ KM เบาหวานของทีม รพ.พุทธชินราช ทำให้เห็นรูปแบบกิจกรรมต่างๆ คิดอยากจะเข้าไปเป็นซัก “คุณ” ใน KM….น่าจะสนุกเพราะทุกคนดูมีความสุขกับสิ่งที่ทำกันจริงๆ
- อยากให้มีการอบรมและเชิญบุคลากรที่เคยทำ KM สำเร็จแล้วมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังทุกๆ ๒-๓ เดือน และหากมีโอกาส คงจะดีถ้าได้เป็นส่วนร่วมในการทำ KM
- ฯลฯ

ดิฉันได้ความคิดเพิ่มเติมว่าควรจะสอนนักศึกษาให้รู้จักเครื่องมือ KM เพื่อให้เขาได้เอาไปใช้ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาล อาจจะทำให้ได้เรียนรู้เทคนิค/วิธีการปฏิบัติดีๆ จากพี่ๆ ผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งชาวชุมชน นักศึกษาจะได้ไม่ต้องเริ่มต้นทำงานจากศูนย์หรือเริ่มจากความรู้วิชาการล้วนๆ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 291183เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นักศึกษาปีสี่ นี้ผ่านการฝึกงานมาแล้ว...กะปุ๋มเลยเห็นโอกาสค่ะว่า หากเราให้เด็กนำบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติงานมาฝึกฝนในเรื่องการจัดการความรู้ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการสุนทรียสนทนา ผ่านเรื่องเล่า..success story telling การฝึกสกัดความรู้ที่ได้ ตลอดจนการบันทึก รวมถึง AAR จากการที่ได้ร่วม share & Learning นี่จะดีนะคะ

อีกทั้งหากเด็กๆ ได้เริ่มฝึกเขียนบันทึกและหัดสกัดสิ่งที่เขาได้เรียนรู้นี้จะช่วยให้เขาเกิดทัศนะคติที่ดีต่อการเขียนบันทึกทางการพยาบาล ทำให้นำกระบวนการ nurse process และที่สุดสามารถเชื่อมไปสู่การทำ R2R ได้จากการที่เขาจะไปทำงานประจำในวันข้างหน้าได้ค่ะ

ด้วยความนับถือค่ะ

(^__^)

กะปุ๋ม

สวัสดีค่ะ ดร.กะปุ๋ม

เป็นข้อเสนอแนะที่ดีค่ะ เมื่อเย็นนี้ได้คุยและขอเวลาจากอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลของภาคการศึกษาหน้า เพื่อฝึกนักศึกษาให้รู้วิธีการฟัง การเล่าเรื่อง สุนทรียสนทนา BAR-AAR เพื่อให้นำไปใช้ในคลินิกต่อไป

รุ่นต่อๆ ไปจะพยายามเริ่มใช้ตั้งแต่ขึ้นคลินิกแรกๆ เลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องให้อาจารย์ได้เข้าใจด้วย

สวัสดีครับอาจารย์

วิชาการจัดการความรู้และการใช้ผลการวิจัยทางสุขภาพ วิชานี้น่าจะเป็นการปูพื้นฐานเรื่อง KM ให้กับคนรุ่นใหม่ได้อีกทางหนี้ง ซึ่งเป็นประโยชน์มากเลยครับ

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา สคส. ก็มีนิสิตจุฬาฯ 4 คน มาสัมภาษณ์ อ.ประพนธ์ ในเรื่องของการจัดการความรู้เช่นกัน ด้วยความสนใจของตัวนิสิตเอง ทำให้ทราบว่า นิสิตระดับชั้นปีที่ 1-4 ในปัจจุบัน ไม่ทราบเรื่องการจัดการความรู้เลย และอาจารย์ที่สอนก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ นิสิตจึงได้มาสัมภาษณ์เพื่อทำรายงานเผยแพร่เพื่อนๆ นิสิตได้ทราบกัน

อันนี้ ม.วลัยลักษณ์ ก้าวนำหน้าและมีวิชาการจัดการความรู้สอนแล้ว

สวัสดีน้องโหน่ง

วันนี้มีเวลาใช่ไหม จึงแวะมาเยี่ยมเยียนได้ ฝากความคิดถึงไปยังทีม สคส.ทุกคนด้วยนะคะ

สัปดาห์หน้าจะมี workshop ฝึกทักษะการฟัง การเล่าเรื่อง การสกัดขุมความรู้ให้นักศึกษากลุ่มนี้เพิ่มเติมก่อนที่นักศึกษาจะไปฝึกภาคปฏิบัติในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาล หวังว่านักศึกษาจะได้ใช้เทคนิคเหล่านี้เรียนรู้ "ความรู้ปฏิบัติ" จากพี่ๆ พยาบาลและผู้ป่วย

และเรายังมีรายวิชา KM in Healthcare เป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาปริญญาโทด้วย แต่ยังไม่ได้เปิดสอน รอเวลาที่เหมาะสมอยู่ค่ะ

วัลลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท