หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ศิวิไลซ์ ?


ศิวิไลซ์

                     สิงคโปร์ มิได้อยู่ในรายชื่อประเทศของผมที่จะเดินทางไปเยือน และมิได้มีความสนใจแม้แต่น้อย ความรู้สึกต่อประเทศนี้ออกจะติดลบเสียด้วยซ้ำ เหตุที่ทำให้ต้องเดินทางไปเยือน เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ไปร่วมประชุม “The 10th Asia-Pacific Conference on Giftedness” ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ณ Nanyang Technological University

                    ตั้งแต่รู้ว่าจะได้ไปจวบจนถึงวันเดินทาง ก็มิมีความตื่นเต้นยินดีแต่ประการใด ไปก็ได้ ไม่ไปก็ดี ทั้งนี้มิใช่เหตุผลส่วนตัวที่ทักษะภาษาอังกฤษมีน้อยกว่าหางอึ่ง แต่เหตุใหญ่ใจความแล้ว สำหรับผม... สิงคโปร์ไม่มีอะไรน่าสนใจแม้แต่น้อย เหมือนกับญี่ปุ่น อเมริกา ที่เขาเล่าลือว่า “ศิวิไลซ์”

                    พื้นเพผมมาจากหลังเขา บังเอิญว่ามีโอกาสดีกว่าเพื่อนฝูงในหมู่บ้านเพราะได้บวชเรียน จบมาทำงานกับชนบทเป็นส่วนใหญ่ และแม้ว่าจะแต่งงานแต่งการแล้วอาศัยบ้านเมียอยู่ในเมืองหลวง มีที่ทำงานอยู่กลางเมืองหลวง แต่เพราะกำพืดผมเป็นเช่นนั้น ผมจึงโหยหาสิ่งที่ตรงข้ามกับ “ศิวิไลซ์”

                    เป็นเพราะมิได้มีโอกาสเดินทางไปต่างบ้านต่างเมือง มิมีโอกาสได้เห็นความศิวิไลซ์ของเมืองที่ไหน “กรุงเทพฯ” จึงเป็นรูปธรรมเดียวของความศิวิไลซ์ ในความรู้สึกนึกคิดของผม

                    กรุงเทพฯ เมืองศิวิไลซ์ ของผมเป็นอย่างไร... คงจะพอนึกกันออก

                    มาสิงคโปร์คราวนี้ นอกจากเข้าร่วมประชุมตามหน้าที่แล้ว ด้านหนึ่งจึงเป็นการขยายโลกทัศน์เกี่ยวกับความศิวิไลซ์ของผมให้ถ่างกว้างมากขึ้น

                    บ่ายวันนั้น... ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ผมพบตัวเองอยู่ท่ามกลางคณะ เดินทางด้วยรถบัสจากสนามบินไปที่โรงแรม River view ตกเย็นเดินทางร่วมกับคณะไปงานเลี้ยงรับรองต่างโรงแรมหนึ่ง ขากลับเดินเลียบคลอง ผ่านร้านรวง ไปขึ้นรถบัสส่งถึงโรงแรม จับแท็กซี่ออกไปเดินเล่นและถ่ายรูปสิงโตทะเล กลับถึงโรงแรมสั่ง “สิงคโปร์สลิง” สุดยอดค๊อกเทลของที่นี่ ก่อนเข้านอน...

                    ...ยังมิทันจะข้ามคืนผมหลงรักสิงคโปร์เข้าให้แล้ว เมืองอะไร (วะ!) น่าอยู่เป็นบ้า !!!

 

                    สำหรับผมแล้วถ้าไม่อ่านหนังสือก็หลับ คือกิจกรรมระหว่างโดยสารเดินทางไม่ว่าจะทางรถ เรือหรือเครื่องบิน ทันทีที่ขึ้นรถออกจากสนามบินก็เตรียมตัวหลับ แต่เพราะเพิ่งหลับมาตลอดทางจากบนเครื่องเกือบ ๒ ชั่วโมง หนังสือก็ไม่มีอ่าน ผนวกกับหิวนิด ๆ  ก็มองวิวทิวทัศน์ข้างรถขณะแล่นไปเรื่อย ๆ

                    โห!!! ต้นไม้เยอะจัง เต็มสองข้างทางเลย เฮ้ย! นั่นมันป่านี่หว่า... อ้าว! ก็ไหนว่าเป็นประเทศเล็กๆ ไง มีพื้นที่จำกัดต้องถมทะเล แต่ไหงมีต้นไม้เยอะแยะขนาดนั้น... นั่น ๆ ๆ นั่น อีกผืนนึง...

                    ผมอุทานด้วยความแปลกใจเมื่อรถแล่นผ่านผืนป่าขนาดย่อม ๆ ถึงสองผืนในระยะทางที่ไม่ห่างกันมากนัก ขณะที่ริมสองข้างทางก็มีต้นไม้เรียงรายอยู่ตลอดเส้นทาง

                    รถแล่นตามถนนมาเรื่อย ๆ ผมมารู้ทีหลังว่าถนนที่สิงคโปร์นี่มีเยอะมาก ประเทศเล็ก ๆ แต่มีถนนยาวกว่า ๓,๐๐๐ กิโลเมตร ซึ่งถ้านำมาต่อกันจะสามารถเชื่อมต่อสิงคโปร์กับฮ่องกงได้ มีการจัดระบบการจราจรให้ลื่นไหล คล่องตัว ผมไม่เห็นรถติดเลยแม้ในช่วงเวลาเร่งด่วน

                    ช่วงที่เราเดินไปขึ้นรถเพื่อกลับโรงแรมหลังงานเลี้ยงต้อนรับเลิก เดินผ่านตึก คลอง ร้านรวงระยะทางสั้น ๆ แต่ก็ได้สัมผัสกับความงดงามและความน่าอยู่ของเมือง ถนนและทางเท้าสะอาดสะอ้าน ร่มรื่น ไม่มีสิ่งกีดขวาง น่าเดินสุดสุด ซุ้มร้านขายเครื่องดื่มริมคลองเปิดเพลงให้ลูกค้านั่งฟังเพลงคุยกันแบบไม่อึกทึกครึกโครม

                    ค่ำวันเดียวกัน เรานั่ง TAXI ไปเดินเล่นและชมสิงโตทะเล (Merlion) สัตว์ประหลาดครึ่งปลาครึ่งสิงโต สัญลักษณ์ของประเทศสิงคโปร์ บริเวณนั้นมีทั้งนักท่องเที่ยวและเจ้าบ้าน หนุ่มสาวนั่งคุยกันบนสะพานที่ทำม้านั่งยาวไว้ตลอดแนว ริมฝั่งตรงข้ามสิงโตทะเล เป็นที่สาธารณะ มีม้านั่งให้ผู้คนมานั่งเล่น พักผ่อน ถัดจากฝั่งแม่น้ำเข้ามาเล็กน้อยมีเวทีขนาดใหญ่ สำหรับแสดงฟรีคอนเสิร์ตจากนักดนตรีคุณภาพให้ฟังจนดึกดื่น

                    รุ่งขึ้นและอีกสองสามวันถัดมา ผมและพวกเดินทางไปร่วมประชุมที่มหาวิทยาลัยนานยาง การเดินทางไปกลับโรงแรม – มหาวิทยาลัย แม้ในชั่วโมงเร่งด่วน และปริมาณรถบนถนนเยอะพอดู แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องรถติด รถราวิ่งกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีปาดซ้ายป่ายขวาให้เห็น มองหาจราจรสักคนก็ไม่เจอ

                    ผมเคยไปพักและทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยในเมืองไทยแห่งหนึ่ง ที่เขาบอกว่าสวยติดอันดับโลก ในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ชื่นชมกับกิตติศัพท์นั้น แต่เมื่อได้ย่างก้าวเข้ามาเหยียบ Nanyang Technological University พูดกับตัวเองในใจว่า “เออหวะ! ไอ้ที่เรียกว่า “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” เป็นอย่างนี้นี่เอง

                    ผมไม่มีเวลาได้ไปค้นข้อมูลว่า Nanyang Technological University มีศักยภาพทางด้านวิชาการมากน้อยเพียงใด แต่ลักษณะทางกายภาพของมหาวิทยาลัยนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนบ้านนี้เมืองนี้เป็นอย่างดี การออกแบบอาคารต่าง ๆ งดงาม ลงตัว อาคารแต่ละหลังสอดประสานกับอาคารหลังอื่น สอดรับกับสภาพพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา มีความลาดชันลดหลั่นกันไป มีพื้นที่โล่ง ๆ ให้มองทอดสายตาออกไปได้ไกล ๆ มีต้นไม้อยู่ทุกหย่อมอาคารและที่ว่าง มีป่าธรรมชาติขนาบอยู่ด้านข้างมหาวิทยาลัย

                    ...เป็นที่รับรู้กันในแวดวงการศึกษาว่าประเทศสิงคโปร์นั้นขึ้นชื่อลือชาเรื่องการจัดการศึกษา รัฐบาลทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากสำหรับการณ์นี้ ในวันเปิดประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นประธานในพิธี ท่านได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “การจัดการศึกษาของประเทศสิงคโปร์นั้น เป็นการสร้างคนเพื่อไปแก้ปัญหาให้โลก” ผมฟังแล้วอยากส่งลูกมาเรียน แต่...

                    กระทรวงศึกษาธิการทำอะไรต่อมิอะไรมากมายเพื่อพัฒนาเยาวชนของเขาให้มีคุณภาพ อย่างงาน“SINGAPORE YOUTH FESTIVAL 2008” ที่ผมและพวกได้มีโอกาสไปดู SYF Dance Presentation ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้การดูแล

                    ผมเองเป็นเสี้ยวธุลีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของบ้านเรา เห็นบ้านเขาเมืองเขาแล้วก็เห็นว่าเรามีอะไรที่ต้องทำเยอะเพื่อให้บ้านเรา “ศิวิไลซ์”

                ที่ผ่านมาผมแค่สะกด “ศิวิไลซ์” ได้ แต่ถึงตอนนี้ ผมว่าผมเข้าใจความหมายมันแล้ว...

หมายเลขบันทึก: 291180เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท