ผู้ใหญ่หรั่ง:ผู้นำระบบสหกรณ์แห่งเกาะพิทักษ์


         ช่วงวันหยุด 11- 14 พฤษภาคม  ผมมีโอกาสไปพักผ่อนที่จังหวัดชุมพร  วันที่ 13 ผอ.สุชิน  บุญเพ็ญ ( โรงเรียนสวีวิทยา ) ได้พาผมไปพักที่เกาะพิทักษ์ ข้ามเรือที่ฝั่งท้องโข ( ใกล้วัดท้องโข ) ในอำเภอหลังสวน เดินทางจากฝั่งถึงเกาะไม่เกิน 1 กิโลเมตร
                ที่หมู่บ้านเกาะพิทักษ์มีผู้ใหญ่หรั่ง ( คุณอำพน   ธานีครุฑ )  ลูกศิษย์ ผอ.สุชิน  เป็นผู้ใหญ่บ้าน  และดูแลจัดระบบที่เกาะนี้ให้เป็น โฮมสเตย์  ในลักษณะของสหกรณ์ <p align="justify"></p> <p align="left">
                ที่นี่บรรยากาศดีมาก  ทราบว่าก่อนหน้านี้ไม่นานสภาพแวดล้อมถูกทำลายไปมาก  แต่พอผู้ใหญ่หรั่งเข้าไปพัฒนาไม่นานตอนนี้ทะเลกลับมาบริสุทธิ์เหมือนเดิม  มีหอยมือเสือให้ดู  มีปลาโลมา  ปลาพะยูน ว่ายเข้ามาให้เห็นบ่อยๆ  ห่างจากเกาะไม่ไกลนัก ก็สามารถไปดำน้ำดูปะการังที่สวยงาม และปลาหมึกก็ยังมีให้ตกอย่างชุกชุม
                ผมได้คุยกับผู้ใหญ่หรั่งซึ่งอายุประมาณ 46 ปี ที่ดูกำยำล่ำสัน ( เพราะเป็นอดีตนักมวยเก่า ) แต่มีความสุภาพและฉายแววความเป็นผู้นำสูง ผู้ใหญ่หรั่งเล่าให้ฟังว่า  เขาเกิดและเติบโตที่เกาะนี้  ตอนวัยเด็กค่อนข้างเกเรมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ได้เคยเข้าขบวนการปลุกระดมมวลชนหลายครั้ง  เมื่อเรียนจบนิติศาสตร์ม.รามคำแหง  ได้ทำงานที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯจนได้เป็นถึงผู้จัดการ  แต่เมื่อกลับมาเยี่ยมถิ่นกำเนิดเห็นความทรุดโทรมของเกาะพิทักษ์ก็เกิดความรันทดใจจึงมุ่งมั่นที่อยากจะกลับมาพัฒนาให้ดีขึ้น

                เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการได้เงินบำเหน็จตอบแทนมาประมาณ 3 แสนบาท ก็รวบรวมพรรคพวกเพื่อนฝูงในเกาะมาช่วยกันวางแผนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  จัดระบบระเบียบที่อยู่อาศัย  ส่งเสริมให้ทุกครอบครัวมีอาชีพมีรายได้ ( ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ) มีการทำบัญชีครัวเรือนดูแลให้ละเลิกอบายมุข เป็นต้น โดยมาสร้างกติกาการอยู่ร่วมกันและเขาถูกเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำเบ็ดเสร็จที่นี่

                ผู้ใหญ่หรั่งได้ใช้รูปแบบการรวมกลุ่มแบบสหกรณ์ในการอยู่ร่วมกันทุกเรื่อง โดยจัดกลุ่มพัฒนาเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มเด็กโดยจะมีการประชุมกลุ่มผู้ใหญ่เดือนละ 2 ครั้ง ประชุมกลุ่มเด็กอาทิตย์ละ1 ครั้ง เพื่อให้ร่วมกันคิดริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาเกาะพิทักษ์ในทุกๆเรื่องจนเกิดงานและอาชีพขึ้นมาในเกาะหลายเรื่องเช่น
                1. การกำหนดตลาดกลางรับซื้อปลาหมึก ( เพื่อป้องกันพ่อค้าคนกลาง )
                2. การจัดทำโฮมสเตย์ ( ขณะนี้มี 13 หลัง )
                3. การจัดทำบัญชีครัวเรือน ( วางแผนชีวิตเป็นรายคน )
                4. การดูแลสิ่งแวดล้อมและกำหนดเวรยามดูแล
                5. การดูแลความประพฤติของเด็กเยาวชนและคนในเกาะ    ฯลฯ
                การจัดระเบียบสังคมด้วยระบบสหกรณ์ที่มีระเบียบ มีวินัย  โดยผู้ใหญ่หรั่งคอยดูแลอย่างเคร่งครัด  ทำให้เกาะพิทักษ์กลับคืนสภาพสู่ความบริสุทธิ์ ของทะเลอีกครั้ง และมีความน่าอยู่น่าเยือนมากชึ้น</p>

               ผู้ใหญ่หรั่งบอกว่า “ ตอนนี้เกาะนี้มีบ้าน 42 หลัง  ประชากร 235 คน เป็นเด็ก 62 คน และสามารถต่อน้ำประปาต่อไฟฟ้าจากในเมืองมาใช้ที่เกาะได้แล้ว ”

               ผู้ใหญ่หรั่งยืนยันว่า “ ที่นี่ไม่มีครอบครัวแตกแยก  เพราะการทำระบบบัญชีครัวเรือน  การมีอาชีพและการปลอดสิ่งเสพติดอบายมุขมีส่วนช่วยอย่างมาก ”  และนี่น่าจะสอดคล้องตามแนวพระราชดำริ “ เศรษฐกิจแบบพอเพียง ” ได้กระมัง
                ระบบสหกรณ์ที่นี่มีกติกาว่า การมีรายได้จากผลผลิตทั้งหลาย เช่น ตลาดกลางรับซื้อ-ขายปลาหมึก  การทำโฮมสเตย์ จะใช้กติกาการทำบัญชีที่ซื่อสัตย์ซึ่งผู้ใหญ่หรั่งจะคอยตรวจสอบบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เช่น โฮมสเตย์ ถ้ามีคนมาพักจะมีคนคอยจัดให้พักใน 13 หลังอย่างทั่วถึงโดยมีมาตรฐานการดูแลเหมือนกันทุกบ้าน ถ้าเป็นห้องรวมคิด 450 บาท ต่อวัน ถ้าแยกห้องเฉพาะคิด 700 บาท ต่อวัน มีรถไปรับที่ สถานีรถไฟหลังสวน  แล้วพามาลงเรือข้ามมาที่พัก มีบริการพาไปตกปลาหมึก ดำน้ำดูปะการัง ฯลฯ  พร้อมบริการอาหารทะเลสุดอร่อย ทั้ง 3 มื้อ ผลประโยชน์ 60 % ให้แต่ละบ้านที่เหลือ 40 % มารวมเป็นกองกลางเพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ตามกติกาที่กำหนดร่วมกัน
                ผมเห็นพวกเด็ก ๆ ที่ต่างวัยกันเขารวมกลุ่มกันทำงานอย่างมีความสนุกสนาน เห็นแล้ว ปลื้มใจในคุณภาพของเยาวชนที่นี่  ที่เขาไม่ได้เรียนเพียงแค่ในหนังสืออย่างเดียว แต่เขาได้เรียนจากชีวิตจริง  ต่างมีแผนชีวิตของตนเอง  พวกเขาได้รับการปลูกฝังให้รักและผูกพันกับท้องถิ่น ต่างรู้สึกเป็นเจ้าของและรับผิดชอบดูแลท้องถิ่นร่วมกัน
                ผู้ใหญ่หรั่งบอกว่า  มีการประชุมอยู่ครั้งหนึ่งมีเด็กชั้นป.2 คนหนึ่ง เสนอให้มีการเก็บขยะรอบเกาะ ทุกคนต่างก็เห็นด้วยและทำตามอย่างจริงจัง และถือปฏิบัติจนมาถึงทุกวันนี้
                ผู้ใหญ่หรั่งกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ยังมีอีกหลายอย่างที่เขาอยากทำให้ดีมากขึ้น เช่น เอาหญ้าทะเลมาปลูก  การดูแลเรื่องห้องน้ำให้สะอาดถูกสุขลักษณะยิ่งขึ้น รวมทั้งการประสานหน่วยงานทางราชการและเอกชนมาช่วยกันดูแล เป็นต้น และตอนนี้ใครจะเข้าจะออก จะมาอยู่ที่นี่ก็ต้องถูกตรวจสอบให้ทำตามกติกาอย่างเคร่งครัด
                ผมมีโอกาสได้นอนที่เกาะนี้เพียง 1 คืน แต่ก็ได้ดื่มด่ำธรรมชาติที่นี่อย่างมีความสุขและสุดคุ้ม  ใครที่อยากเข้ามาสัมผัสชีวิตที่เกาะพิทักษ์อย่างผมบ้าง หรืออยากมาพูดคุยกับผู้ใหญ่หรั่งให้ได้กำไรชีวิต  ก็โทร.ติดต่อกับผู้ใหญ่หรั่ง นักพัฒนาตัวอย่างได้ที่
                  คุณอำพล      ธานีครุฑ (ผู้ใหญ่หรั่ง)  
                         01-0931443
                         09-0180644
         32  ม.14  ต.บางน้ำจืด  อ.หลังสวน  จ.ชุมพร  86150

 

หมายเลขบันทึก: 28788เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท