การเป็นผุ้นำการเปลี่ยนแปลง


The Power of Change,Cheer, and Choice Leadership

ฉันแอบเป็นปลื้มปนกับมีความภาคภูมิใจมากๆ ที่มีโอกาสไปจัดWorkshopให้กับผู้บริหารระดับกลางขององค์กรที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในระดับ Top 5 ของประเทศ จำนวนเกือบ 30 ท่าน ไม่ได้ปลื้มเพราะเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียง แต่ปลื้มและภูมิใจที่ผู้บริหารกลุ่มนี้ได้หันหน้าเข้าหากัน ฝึกฟัง ฝึกคิด ฝึกชื่นชม ฝึกความกล้าที่จะบอกในสิ่งที่ตนเองไม่ดี ฝึกความกล้าที่จะบอกเพื่อนในจุดที่ต้องปรับปรุง ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปก่อให้เกิดพลังร่วม ก่อให้เกิดความไว้วางใจ จนตกผลึกทางความคิดร่วมกันว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์กร ไม่ว่าจะขยับซ้าย ขยับขวาการกระทำของแต่ละคนมีผลกระทบต่อองค์กรตลอดเวลา บางครั้งผลกระทบมีมาให้เห็นจะๆ บางครั้งผลกระทบก็มองไม่เห็น ผลกระทบนั้นมีทั้งในแง่ดีและไม่ดี พวกเขามองเห็นภาพเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้น มากขึ้น เมื่อได้มีโอกาสหันหน้าเข้าหากัน สะท้อนความรู้สึกนึกคิดร่วมกัน ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ เกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าขอองค์กรร่วมกันมองเห็นภาพอนาคตร่วมกันว่าหากไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรแล้วล่ะก็ อนาคตทั้งของพวกเขาและกลุ่มผู้ใต้บังคับบัญชาที่แต่ละคนดูแลอยู่ อาจจะดูไม่จืดเอาซะเลย และแน่นอนว่ามันสะท้อน สะเทือนถึงองค์กรอย่างไม่ต้องคิดให้ซับซ้อน

นี่จึงเป็นที่มาของ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับกลางกลุ่มนี้ ว่าพวกเขาอยากเห็นภาพอนาคตของการเป็นผู้บริหารที่ใครๆ จะต้องกล่าวขวัญถึงในฐานะ “The Power of Change, Cheer, and Choice”

โดยที่พวกเขามีความหมายใน Key Word ออกมาว่า

• Power of Change หมายถึง การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader)

• Power of Cheer หมายถึง Cheerleader คือ การเป็นผู้นำที่คอยสนับสนุน ให้ขวัญให้กำลังใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

• Power of Choice หมายถึง Leader of Choice คือ การเป็นผู้นำที่ใครๆ ก็อยากมา

ทำงานด้วย อยากอยู่ด้วยมากที่สุด

Power of Change/Change Leader คุณผู้อ่านคะ การถอดสมการชีวิตการเป็นผู้บริหารที่ต้องเป็นผู้นำด้วยในขณะเดียวกัน ในเบื้องต้นง่ายๆ ก็คือ หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทีมของเรา เราต้องเปลี่ยนตนเองก่อน หากยังเปลี่ยนแปลงตนเองไม่ได้ เราจะไปคาดหวังอะไร กับการให้ผู้อื่นต้องเปลี่ยนตามที่เราต้องการ

ดังนั้น ผู้บริหารทีมนี้เลยมีคำมั่นสัญญาร่วมกันและลุกขึ้นมาทำแผนปฏิบัติ ดังนี้

แผนปฏิบัติของการเป็น Change Leader

1. การปรับเปลี่ยนตนเอง (Managing Self) ก่อน โดยฝึกฝนตนเองในทักษะพื้นฐานที่ได้เรียนรู้มาร่วมกัน ว่าเรียนมาแล้ว เมื่อเห็นว่าดี มีประโยชน์ก็ต้องนำไปปฏิบัติใช้ โดยการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มที่ตนเองก่อนง่ายๆ เช่น

คำพูด น้ำเสียง ภาษากาย ให้เป็นไปในลักษณะที่เป็นมิตร เป็นกันเอง ถูกกาลเทศะ

มีทักษะการฟัง ฝึกฟังอย่างตั้งอกตั้งใจและเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

สร้างมนุษยสัมพันธ์ และปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ

กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าถามอย่างสมดุล

ไม่เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ เป็นต้น

การเปลี่ยนตนเองก่อนจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นว่า ผู้บริหารทำตัวเป็นแบบอย่าง (Lead by Example) โดยการลงมือปฏิบัติให้เห็นจริง ตลอดจนทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีกับลูกน้องในทีม

2. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยสร้างวิสัยทัศน์หรือทิศทางอนาคตของทีมหรือหน่วยงานอย่างชัดเจน (Lead by Vision)

ผู้บริหารชุดนี้ได้กลับไปสร้างวิสัยทัศน์ของทีมตนเองร่วมกับลูกน้องด้วย โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม มีการสื่อสารพูดคุยและส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความเข้าใจตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงจะช่วยให้องค์กร ทีม และพนักงานไปสู่จุดหมายที่ต้องการ และนำไปสู่การปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน มีการเติบโตร่วมกัน (Mutual Growth)ผู้บริหารทุกคนได้ไปสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันกับทีมและพวกเขามีข้อผูกพันร่วมกันว่า จะทำให้วิสัยทัศน์บรรลุผลให้ได้ นอกจากนี้ยังทำแผนปฏิบัติที่จะทำให้วิสัยทัศน์บรรลุด้วย

3. ผู้นำต้องเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง (Support Change)นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่มนี้ยังต้อง “Walk the Talk” โดยการกระตุ้นและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ลักษณะของการไป “Walk the Talk” ผู้บริหารกลุ่มนี้มีกฎประจำตัวว่า พยายามเน้นที่อารมณ์/ความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชาให้มากขึ้น ฝึกการฟังอย่างตั้งใจเตือนตัวเองให้ช้าลง มีความอดทนมากขึ้น พยายามไม่ชี้นำ และเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยสัพเพเหระทั่วไปบ้าง เพื่อสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชากล้าแสดงความคิดเห็นและได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ภายในทีม ด้วยความรู้สึกปลอดภัย (Safe to take Risks)

Power of Cheer/Cheerleader : เชียร์ลีดเดอร์

ตามคำจำกัดความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้ความหมายว่าเชียร์ลีดเดอร์ (Cheerleader)หรือ ผู้นำเชียร์ คือผู้ที่ทำหน้าที่ในการนำฝูงชนให้มีความฮึกเหิม โห่ร้อง ตะโกน ร้องเพลง ให้กำลังใจเชียร์นักกีฬาที่กำลังทำการแข่งขัน

ทีมผู้บริหารทีมนี้เองก็อยากเห็นผู้บริหารทุกคนในทีมเป็นผู้นำที่สามารถนำลูกน้องให้เกิดความฮึกเหิม ให้กำลังใจ เชียร์ลูกน้องในการทำงาน เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดกับพนักงาน

ผู้บริหารทีมนี้จะกลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์ที่มีแต่รอยยิ้ม มีความเมตตาต่อลูกทีม ดังนั้น เชียร์ลีดเดอร์จะต้อง

ปฏิบัติต่อลูกน้องด้วยความรัก เคารพในความเป็นตัวตนของเขา คอยค้นหาว่าจะพัฒนาและดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาได้อย่างไร เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ตระหนักอยู่เสมอว่าหากช่วยลูกน้องให้ได้รับการพัฒนามากเท่าใด เขาเหล่านั้นก็จะมาช่วยทีมและช่วยหัวหน้ามากเท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติด้วย เพราะเราได้ปั้นและบ่มเพาะคนดีมีคุณภาพด้วยมือเรา

ใส่ผลกระทบในทางบวกแก่ลูกน้องในทีมมากๆ เพื่อให้มีจิตใจดี มีปิติในการทำงานระหว่างกันเพราะในธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมีความสุขในการทำงานและมีสภาพแวดล้อมที่ดี ก็จะทำให้เพิ่มพลังในทางบวกมากยิ่งขึ้น

แผนปฏิบัติของการเป็น เชียร์ลีดเดอร์

1. ผู้บริหารแต่ละท่านนัดเจอกับลูกน้องของตนเองทีละคน เพื่อพูดคุย ทำความรู้จักกันในลักษณะลงลึกมากยิ่งขึ้น โดยที่ผู้บริหารทุกคนจะต้องถาม 3คำถามนี้กับลูกน้องและบันทึกคำตอบเอาไว้ เพื่อนำข้อมูลคำตอบที่ได้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนา ปรับปรุง ทีม

คำถามที่ 1 : คุณชอบอะไรมากที่สุดในการทำงานในทีมนี้

คำถามที่ 2 : คุณชอบอะไรน้อยที่สุดในการทำงานในทีมนี้

คำถามที่ 3 : หากคุณเปลี่ยนได้คุณอยากจะเปลี่ยนอะไรในการในทีมนี้

คำตอบที่ได้ เชียร์ลีดเดอร์ จะรับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของลูกทีมดังนั้น ต้องใส่ใจอย่างประณีต นำมาใช้ประโยชน์ อย่าเพียงแค่ถามและจบอยู่แค่นั้น

2. เช็ควันเกิดลูกน้องและกล่าวอวยพรให้แต่ละคนด้วยความจริงใจ

3. ให้ Feedback ที่ถูกต้องแก่ลูกน้องอย่างสม่ำเสมอ เช่น การชมและการติเพื่อก่อ

4. ยิ้มแย้ม แจ่มใส ทักทายลูกน้องอย่างจริงใจ

5. ใช้คำว่า สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ กับลูกน้องอย่างสม่ำเสมอ

หน้าที่ของเชียร์ลีดเดอร์คือผู้ที่ทำหน้าที่ให้ลูกทีมเกิดความตื่นเต้น            ฮึกเหิมกับงานและเป้าหมายในชีวิตส่วนตัวและการงาน ตื่นเช้ามาทุกวัน ลูกน้องจะต้องตะโกนด้วยความฮึกเหิมว่าสู้โว้ย!”

ผู้บริหารทีมนี้มีความอยากและปรารถนาที่จะให้ใครก็ตามที่รู้ว่าหากต้องมาทำงานกับพวกเขา คนเหล่านั้นต้องมีความรู้สึกอยากวิ่งมาอยู่ด้วย เพราะการเดินมาอาจจะช้าไป กลัวผู้บริหารเปลี่ยนใจ เพราะพนักงานฝันถึงผู้บังคับบัญชาแบบนี้มานานแล้ว ได้โอกาสดี เลยขอวิ่งมาอยู่ด้วย หรือพนักงานจะพูดว่า หากได้มาทำงานกับผู้บริหารท่านนี้จะการันตีได้ว่าเขาจะต้องเป็นคนดีและคนเก่ง มีอนาคตแน่ๆ

1. เริ่มต้นสร้างความน่าเชื่อถือในตนเองก่อน (Building Trustworthiness within Self) โดยต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเอง รู้ลึกรู้จริงในงาน รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นวิธีการที่ง่ายและเร็วที่สุดในการพัฒนาตนเองคือ การอ่านหนังสือ คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินวลีภาษาอังกฤษที่บอกว่า “You are what you read” นะคะ การอ่านคือการปลูกเมล็ดพันธุ์ทางความคิดเข้าไปในตัวคน ทีมผู้นำทีมนี้ได้ตระหนักถึงข้อนี้ดี จึงร่วมแรงร่วมใจทำแผนปฏิบัติการโดยแต่ละคนอาสาอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ต่ออาชีพการงานในปัจจุบัน เป็นต้น มีความมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกันว่าจะนำเอาความรู้ที่ได้อ่านมาเล่าสู่กันฟังในลักษณะของการทำ Book Briefing (การอ่านหนังสือแล้วนำมาสรุปให้ทีมฟัง) ทีมนี้นัดเจอกันทุกๆ เดือนๆ ละ 1 วันเพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่ององค์ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือ เมื่อดิฉันเห็นตารางการเป็นเจ้าภาพในการอ่านหนังสือของแต่ละคนแล้ว ก็อดภูมิใจและรู้สึกเป็นปลื้มไม่ได้เพราะใน 1 ปี โดยรวมแล้วพวกเขาจะอ่านหนังสือได้ถึงปีละมากกว่า 36 เล่ม ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาที่เร็วมาก นอกจากนี้พวกเขายังตกลงกันว่าจะนำเอาความรู้จากการแลกเปลี่ยนไปถ่ายทอดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยเป็นการตอกย้ำความรู้ที่ได้มาให้แน่นลงไปอีกและฝึกการถ่ายทอดแบ่งปันให้กับคนรอบข้าง

2. นอกจากสร้างองค์ความรู้แล้ว ผู้บริหารต้องครองตนให้เป็นคนดีด้วยค่ะ เช่น

• Discipline มีวินัยในตนเอง

• Ethics มีจริยธรรมและคุณธรรม

• Integrity มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น

• Responsibility มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อทีมงาน

• Courage มีความกล้าหาญ กล้าคิด กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม

• Respect to the laws & rules เคารพต่อกฎหมายและระเบียบ

• Respect to the rights of other citizens เคารพในสิทธิของผู้อื่น

• Work Hard ขยันขันแข็งในการทำงาน

• Commitment มุ่งมั่น ทำจริง รักษาสัญญา

• Punctuality การตรงต่อเวลา

ฯลฯ

การเป็นคนดีต้องอาศัยเวลาการบ่มเพาะ ดังนั้น Change Leader จึงต้องช่วยเหลือกันและกันในการเป็น Buddy จับคู่กัน ในการคอยกระตุ้นเตือน ตอกย้ำให้คู่ของตนเองมีการตระหนักรับรู้ ทบทวนกันบ่อยๆ ให้คำปรึกษากันและกันด้วยจิตใจที่รักและปรารถนาดีต่อกัน นอกจากนั้น ทีมนี้ยังขอให้ลูกน้องของตนเองเป็นกระจกสะท้อนให้อีกด้วย โดยมีกระจกหลายๆ บาน รอบตัวเลยค่ะ ว่าตัวผู้บริหารเป็นอย่างไรบ้างในสายตาลูกน้องในทีม ตาม List ความเป็นคนดีที่พวกเขาได้ทำขึ้น ผลปรากฏว่ากระจกแต่ละบานก็ใสสะอาดค่ะ เพราะลูกน้องจะให้ข้อมูลค่อนข้างตรง (เพราะคนประเมินไม่ต้องลงชื่อในแบบสอบถาม) ข้อมูลที่สะท้อนกลับมายังผู้บริหารแต่ละคนก็มีทั้งดีและต้องปรับปรุง ซึ่งผู้บริหารทีมนี้ยอมรับและดีใจที่ได้ข้อมูลตรงๆ เพื่อการพัฒนาของตัวเขาเองค่ะ

การเปลี่ยนตนเองโดยนำตัวเองไปสู่การเป็นคนเก่งมีความรู้ความสามารถและการครองตนให้เป็นคนดี เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง เมื่อผู้บริหารนำตนเองได้แล้วก็จะสามารถนำคนอื่นได้ง่ายค่ะ

3. เป็นผู้นำที่มอบหมายกระจายอำนาจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตามความรู้ความสามารถของพวกเขา พร้อมทั้งดูแลทุกข์ ดูแลสุขด้วย เรียกว่าการ Empowerment ดังนั้นผู้บริหารทีมนี้ก็ต้องพูดคุย ลงลึกถึงความต้องการในการพัฒนาตัวเองของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อปรับให้สอดคล้องกับทีม จะได้ส่งเสริมได้ถูกทางตามความแตกต่างของแต่ละคน เช่น บางคนอาจจะต้องใช้วิธีการกำกับดูแลที่ใกล้ชิด ในขณะที่บางคนต้องการเพียงการมอบหมายงานแล้วไปดำเนินการเอง หรือบางคนอาจต้องการการสนับสนุนหรือการโค้ช สิ่งเหล่านี้ผู้บริหารต้องพูดคุย สื่อสาร สังเกต ทำงานร่วมกันกับลูกน้องให้มากๆ จึงจะได้ข้อมูล

4. การปรับเรื่องของคนในทีม ระบบการทำงาน โครงสร้างของทีม ให้สอดรับกัน (Alignment) ผู้บริหารทีมนี้ก็จะต้องไปทำการบ้าน เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในทีมตนเองให้สมาชิกทีมรับรู้และเข้าใจว่าพวกเขาต้องการซึ่งกันและกัน ใครที่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน ไม่ช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง ต้องรับโทษ ใครที่ทำงานหนัก (Work Overload) ต้องหาคนอื่นมาช่วยทำ หรืองานหนักเป็นเพราะว่าระบบการทำงานไม่เอื้อมีหลายขั้นตอน ผู้บริหารก็จะได้เข้าไปดูและแก้ไขให้

5. การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ใต้บังคับบัญชา (Quality of Work Life) เช่นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้น่าอยู่ การออกกำลังกายผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่วมกัน ทุกวัน วันละ 10 นาทีในเวลางาน เป็นต้น

คุณผู้อ่านจะเห็นว่า แผนปฏิบัติมากมายจะทำหมดหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าทำไม่หมดในเวลาสั้นๆ หรอกค่ะ ทีมนี้เลือกทำในสิ่งที่สำคัญก่อน เพราะวิสัยทัศน์กว่าจะบรรลุผลก็ต้องใช้เวลาค่ะแต่ปลายทางของการเป็นผู้นำ ทีมนี้เชื่อมั่นร่วมกันว่าพวกเขาต้องการให้ผู้ตามมีความสุขในชีวิต มีการเติบโตในการครองชีวิตทั้งส่วนตนและชีวิตการทำงานที่มั่นคงเป็นคนคุณภาพ จากการที่มีพวกเขาเป็น Change Leader, Cheerleader และ Leader of Choice ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 284335เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

เป็นความรู้ที่พึ่งได้รับ

ขอบพระคุณมากๆนะคะ

ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยน......การนำ

ขอให้โชคดีในการสอบ.....ผู้บริหารเด้อค่ะมีผู้เข้าสอบจำนวน 15,835คน ....ผอ.หนึ่ง หนึ่ง หก หนึ่ง ศูนย์ คน รอง สาม เก้า สี่ แปด คน ขอให้ท่านทำคะแนนได้มากกว่าร้อยละ 50 โอม...เพี้ยง

อย่าลืมนำความรู้ที่ประมวลได้ทั้งหมดไปใช้ในการทำข้อสอบนะคะ เป็นกำลังใจให้พี่เสมอคะ น้องนางบ้านนา

ขอบคุณพี่แอ๋ว/น้องนาง ที่ให้กำลังใจครับ/ดอกไม้สวยมากครับคุณกรุง/คุณแจ่มแจ้ง น่ารักครับ

PPPP

มีหลักการและเหตุผลมากๆค่ะ

ดีใจด้วยที่แมว...มีโอกาสต้อนรับอาจารย์ดร.ดิศกุล...อิจ.....จริงๆ

ถือโอกาสมาเยือนค่ะ

ขอบคุณทุกท่านครับที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ

ผู้บริหารที่ดี ต้องมีความจริงใจ ค่ะ

สวัสดีค่ะท่านประธาน พี่แวะมาเยี่ยมชมหาความรู้เพิ่มเติมก่อนสอบปลายภาคเรียนค่ะ ขอบคุณที่ให้ความรู้

บทความดีดีอย่างนี้ต้องมีรางวัลค่ะ

พี่

ขอเข้ามาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ กำลังเรียน ป.โทบริหารการศึกษาอยู่เหมือนกันค่ะ เทอมแรก ม.บูรพา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท