“เปลี่ยนสัญญาจ้างเป็นสัญญาใจ”


แนวทางใหม่ในการรักษาคนเก่งและคนดีให้อยู่กับองค์กร

เปลี่ยนสัญญาจ้างเป็นสัญญาใจ

                     เขียนโดย...ณรงค์วิทย์ แสนทอง

ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างเริ่มต้นจาก สัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนคือลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้าง และนายจ้างตกลงที่จะตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนและสวัสดิการ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบหลวมๆที่ต่างฝ่ายต่างพร้อมจะบอกเลิกสัญญาเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น นายจ้างก็มีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้าง ในขณะเดียวกันลูกจ้างก็มีสิทธิลาออกได้ทุกเมื่อเช่นกัน หลายองค์กรประสบปัญหาเหมือนๆกันคือ ไม่สามารถรักษาคนเก่งและคนดีให้อยู่กับองค์กรนานๆได้ เพราะเมื่อนายจ้างไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับลูกจ้างตามที่ลูกจ้างต้องการแล้ว ลูกจ้างก็พร้อมที่จะออกไปอยู่ที่อื่นซึ่งให้ผลตอบแทนการทำงานที่สูงกว่าและสวัสดิการดีกว่า เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของลูกจ้างที่มีต่อนายจ้างคือผลประโยชน์ในเชิงวัตถุเท่านั้น ผลประโยชน์ในเชิงวัตถุเปรียบเสมือนน๊อตและสกรูที่ล๊อคแผ่นเหล็กสองแผ่นเข้าด้วยกัน นานวันเข้าน๊อตหรือสกรูอาจจะเป็นสนิมและทำให้แผ่นเหล็กแยกออกจากกันได้ ไม่เหมือนกับการยึดติดแผ่นเหล็กสองแผ่นเข้าด้วยกันโดยการเชื่อมที่สามารถทำให้แผ่นเหล็กยึดติดกันได้ดีกว่าและนานกว่า และถ้าฝีมือการเชื่อมดีๆก็อาจจะแยกไม่ออกว่าเป็นแผ่นเหล็กสองแผ่นนำมาเชื่อมติดกัน ดูแล้วเหมือนกับเป็นแผ่นเหล็กแผ่นเดียวกัน

องค์กรที่ต้องการรักษาคนเก่งและคนดีให้อยู่กับองค์กรนานๆ ควรจะเปลี่ยนแนวคิดจาก สัญญาจ้าง มาเป็น สัญญาใจเพราะสัญญาใจเป็นสัญญาที่อยู่ส่วนลึกของจิตใจคนเป็นสัญญาที่อยู่นานกว่าสัญญาจ้าง เหมือนกับการที่เราเคยตกทุกข์ได้ยากแล้วมีคนๆหนึ่งยื่นมือมาช่วยเหลือเรา เราจะจดจำบุญคุณของคนๆนั้นไปตลอดชีวิต สัญญาใจเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีการลงชื่อในเอกสาร ไม่ต้องกลัวเอกสารสูญหาย ไม่ต้องกลัวว่าสัญญาเขียนไม่รัดกุม

เนื่องจากคนไทยมีนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือ ไม่ลืมบุญคุณคน ดังนั้น การที่เราจะทำให้บุคลากรไม่ลืมบุญคุณองค์กร เราจะต้องทำให้คนๆนั้นรู้สึกเป็นหนี้ทางใจต่อองค์กร เพราะหนี้บุญคุณเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้คนเก่งและคนดีอยู่กับองค์กรได้นานกว่าสัญญาจ้างงานทั่วไป การสร้างหนี้บุญคุณคนให้ยึดหลัก “3 ให้ ดังต่อไปนี้

  • ให้โอกาส
    คนเกิดมาเพื่อแสวงหาโอกาส และโอกาสบางอย่างไม่สามารถใช้เงินทองซื้อหามาได้ ไม่มีตลาดไหนขายโอกาส โอกาสส่วนใหญ่เกิดจากการแสวงหาหรือมีคนหามาให้ ดังนั้น องค์กรควรเน้น การบริหารโอกาส ให้กับคนในองค์กร ซึ่งการบริหารโอกาสจะครอบคลุมในประเด็นดังต่อไปนี้
    • การสรรหาโอกาส หมายถึงการมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกองค์กรว่ามีโอกาสอะไรบ้างที่น่าจะมาเติมเต็มให้กับชีวิตของพนักงาน เช่น หาบัตรชมงานหรือนิทรรศการที่พนักงานบางคนไม่เคยได้ไปพร้อมจัดรถรับส่ง การเชิญบุคคลภายนอกมาบรรยายให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องการบริหารชีวิตส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพเสริม การทำประกันชีวิต การดูแลสุขภาพ การดูแลบุตร ฯลฯ ซึ่งโอกาสที่มีอยู่มากมายจากภายนอกองค์กรไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เพียงแต่ต้องคอยติดตามและเสาะหามีภายนอกมีโอกาสอะไรเกิดขึ้นบ้าง และคอยคัดเลือกดูว่ามีโอกาสไหนบ้างที่น่าจะนำมาสร้างหนี้บุญคุณให้เกิดขึ้นกับจิตใจของพนักงาน
    • การจัดสรรและแบ่งปันโอกาส  หมายถึงการจัดสรร สับเปลี่ยน โยกย้ายโอกาส ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน เนื่องจากโอกาสบางอย่างอยู่กับคนบางคนไม่มีคุณค่า แต่ถ้าโอกาสนั้นได้ถูกโยกย้ายไปให้กับคนบางกลุ่มบางคน โอกาสนั้นก็จะมีค่าขึ้นมาทันที เช่น คนที่เป็นพิธีกรจัดงานปีใหม่มาแล้ว 5 ปีที่เป็นพิธีกรเพราะหน้าที่(ทำงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล) เขาจะไม่คิดว่านั่นคือโอกาส แต่เขาจะคิดว่าเป็นภาระหน้าที่ที่น่าเบื่อ แต่ถ้าเรานำโอกาสนี้ไปให้พนักงานที่เขาไม่มีโอกาสได้เป็นพิธีกรงานปีใหม่ รับรองได้ว่าองค์กรได้ใจของพนักงานคนนั้นอย่างแน่นอน  คนบางคนต้องพาลูกค้าไปเที่ยวต่างประเทศไปมาจนเบื่อแล้ว ถ้าเราสับเปลี่ยนให้คนที่ไม่เคยไปต่างประเทศไปบ้าง รับรองได้ว่าการไปเที่ยวต่างประเทศในครั้งแรกของเขาจะตราตรึงเป็นสัญญาใจอยู่กับเขาตลอดไป
  • ให้อภัย
    การให้โอกาสเป็นการสร้างสัญญาใจจาก การเติมเต็มช่องว่างระหว่างความฝันกับความจริงแต่ชีวิตคนนั้นยังมีอีกด้านหนึ่งที่องค์กรควรจะนำมาใช้สร้างสัญญาใจนั่นก็คือ การเติมเต็มช่องว่างระหว่างสิ่งที่บกพร่องอยู่กับสิ่งที่ควรจะเป็นเครื่องมือในการเติมสิ่งที่บกพร่องอยู่ในชีวิตคนคือ การให้อภัยถือเป็นทั้งทานที่ยิ่งใหญ่และเป็นเครื่องมือสร้างสัญญาใจที่สำคัญมากเพราะคนที่เดินทางผิด ทำผิดทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ย่อมต้องการการให้อภัยจากสังคมและคนรอบข้าง เมื่อไหร่ที่บุคลากรที่เป็นคนเก่งคนดีทำอะไรผิดพลาด อย่าคิดเรื่องการลงโทษเป็นอันดับแรก แต่จงคิดเรื่อง การให้อภัยก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการให้อภัยเปรียบเสมือนการฝังเข็มเข้าไปที่จิตใจของคนๆนั้นได้ดีกว่าและลึกกว่าการให้โอกาสเสียอีก ยิ่งความผิดพลาดนั้นเป็นความผิดพลาดที่ยากต่อการให้อภัย แต่องค์กรยังให้อภัยได้ รับรองได้ว่าคนๆนั้นจะจดจำไปตลอดชีวิต แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เรื่องการให้อภัยไปกระทบกระเทือนต่อความไม่เป็นธรรมในองค์กร เช่น บางองค์กรให้อภัยกับพนักงานที่เคยลาออกไปแล้ว เมื่อกลับเข้ามาทำงานใหม่ปรากฎว่าคนๆนั้นอยู่กับองค์กรนานและทำตัวทำงานดีกว่าเดิมมาก

·         ให้กำลังใจ
ถึงแม้คนจะมีทั้งโอกาสและการให้อภัย แต่การให้กำลังก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะคนไม่ใช่เครื่องจักรที่สมรรถนะจะคงที่สม่ำเสมอ คนมักจะมีปัญหาอุปสรรคมาขัดขวางทำให้หมดหวัง หมดกำลังใจ จนทำให้รู้สึกท้อแท้และเบื่อหน่ายได้ตลอดเวลา ดังนั้น การที่องค์กรจะสร้างสัญญาใจให้บุคลากรที่ทั้งเก่งและดีอยู่กับองค์กรนาน องค์กรก็ต้องมีระบบการติดตามดูว่าบุคลากรคนไหนต้องการกำลังใจ เพราะกำลังใจก็หาซื้อที่ไหนไม่ได้เช่นกัน จะไปขอกำลังจากใครก็เป็นเรื่องยาก กำลังใจที่สำคัญต้องได้รับจากการให้ด้วยความเต็มใจเท่านั้น เช่น หัวหน้าทุกคนควรจะผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเทคนิคการสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้อง องค์กรควรจะมีวัฒนธรรมองค์กรเรื่องการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ควรจะมีบุคคลที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตของพนักงาน (Personal Counselor)

       เป็นต้น

 

                สรุป การเปลี่ยนสัญญาจ้างเป็นสัญญาใจ น่าจะเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยให้องค์กรรับมือกับถูกดึงคนเก่งและคนดีไปอยู่ที่อื่น และรับมือกับค่านิยมของคนทำงานรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมมากกว่าการจงรักภักดีต่อองค์กรเหมือนคนทำงานในรุ่นก่อนๆ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดของผู้เขียนที่อยากระตุ้นให้องค์กรต่างๆหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ส่วนกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเพื่อรองรับแนวคิดนี้ ผมมีความเชื่อมั่นว่าไม่มีใครคิดได้ดีไปกว่าคนในองค์กรนั้นๆอย่างแน่นอน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่างๆจะสามารถรักษาคนเก่งและคนดีที่ต้องการให้อยู่กับองค์กรได้นานมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #hr
หมายเลขบันทึก: 284329เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

หากการทำงานทุกอย่างทำด้วยสัญญาใจ เราก็จะมีความทุ่มเท และมีความตั้งใจในการทำงานที่ดีค่ะ

เมื่อมีการให้ใจ ก็ย่อมได้รับใจตอบแทนกลับคืนมา การให้โอกาสลูกจ้องได้ทำงาน ให้อภัยเมื่อเกิดข้อผิดพลาด และให้กำลังใจหากผลลัพธ์งานทั้งที่ออกมาดีและไม่ค่อยสมบูรณ์

ยังงัยเราก็ให้ใจนายไปหมดแล้วเพราะนายคือเพื่อนlove

ชื่อบทความเหมือนเพลงเลยเปลี่ยนสัญาจ้างเป็นสัญญาใจ อ่านแล้วสาระดีมาก หน้าเว็บอลังการณ์ไปสอนพี่ทำบ้าง

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของทุก ๆ ท่านค่ะPPPPP

ดีมากเลย ทำอะไรควรจะทำด้วยใจ ดีที่สุด

ก็ดีนะค่ะที่สามารถเปลี่ยนสัญญาจ้าง เป็นสัญญาใจ จะได้เกิดเป็นความรัก....ต่อองค์กรนะค่ะ

ถ้าเราให้ใจกับเขา เราก็จะได้ใจเขากลับมา จริงๆนะจะบอกให้

คนที่มีแต่ให้ ย่อมเป็นที่รักของทุกคนจ้า

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมผลงานจ้ะ

ผมแวะมาให้กำลังใจครับ...พี่ลักษณ์ผมจะแวะไปที่ฝ่ายบุคลากรบ่อย ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท