บันทึกจากประกายรังสี "อะตอมจะแตกแล้วที่ สปป.ลาว"


สำหรับนักศึกษารังสีเทคนิค 18 คนนั้นพื้นฐานไม่ค่อยดีเลย ดังนั้นที่ผมเตรียมไปสอน radiation physics จึงต้องปรับใหม่หมด ใช้เวลาสอนและให้ทำแบบฝึกหัดมากขึ้น บางคนพอผมสอนไปมากๆก็ต้องขอพักแล้วพูดตลกๆว่า "อะตอมของผมจะแตกแล้ว"

(อ่านบทความพร้อมภาพประกอบ http://www.tsrt.or.th/note/RTnote14.htm )
     ช่วงนี้มีกิจกรรมเกิดขึ้นในแวดวงรังสีเทคนิคของชาวเรามากมาย โดยเฉพาะเรื่องใบประกอบโรคศิลปะฯ มีทั้งการสอบ การติวก่อนสอบ การประกาศผลสอบ ฯลฯ ชาวเราหลายคนผ่านการสอบและสอบได้คะแนน 60 เปอร์เซนต์ตามเกณฑ์ที่ ก.ช. กำหนดก็ได้รับใบทะเบียนกันเรียบร้อยแล้ว ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับกับชาวเราที่รอมานาน สำหรับชาวเราที่สอบยังไม่ถึงเกณฑ์ก็สอบใหม่ครับ ก.ช. ของเราก็ใจดีมาก จัดสอบในปีที่ผ่านมา (2548)นี้กึง 2 ครั้ง เห็นว่าในปีต่อๆไปจะจัดสอบแค่ครั้งเดียวในแต่ละปีครับ เกริ่นเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อคุยกับชาวเราให้สบายใจกันก่อน ความจริงบันทึกจากประกายรังสีคราวนี้ อยากจะกล่าวถึงสิ่งที่ผมได้พบเมื่อปลายปี 2548 ต่อถึงต้นปี 2549

  ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น College of Health Technology (CHT) ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) และ WHO ได้เชิญ รศ.ชวลิต วงษ์เอก ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ และผม ให้ไปช่วยสอนนักศึกษารังสีเทคนิคของลาวรุ่นที่ 1 ในเดือน ธันวาคม 2548 ถึงเดือนมกราคม 2549 รวมระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ผมเดินทางไปสอนเป็นคนแรก ก็จะขอเล่าให้ฟังในส่วนของผมแล้วกันนะครับ

     ก่อนอื่น ขอย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน WHO ได้เชิญ อาจารย์ชวลิต ให้ไปช่วยสำรวจข้อมูลที่ลาวและช่วยทำหลักสูตรรังสีเทคนิคให้ เหตุการณ์นี้น่าจะคล้ายกับเมื่อ 40 ปีก่อนที่ WHO ส่ง Mr Ward จากประเทศอังกฤษมาสำรวจเมืองไทย และช่วยทำหลักสูตรรังสีเทคนิคของไทย ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว และก็เกิดเป็นรังสีเทคนิคไทยขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น กลับมาที่ลาวครับ อาจารย์ชวลิตเทียวไปเทียวมาประเทศลาวอยู่หลายครั้ง เพื่อสำรวจขอมูลทางรังสีของลาวและทำหลักสูตรรังสีเทคนิค ที่ผมทราบเพราะ อาจารย์ชวลิตเป็นหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มหิดล เมื่ออาจารย์ชวลิตไปลาว ผมซึ่งเป็นรองหัวหน้าภาคฯ ก็ต้องรักษาราชการแทน จึงพอทราบเรื่องนี้ดี ต้องถือว่าอาจารย์ชวลิตเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญมาก ในการก่อกำเนิดรังสีเทคนิคในลาว

     ข้อมูลทั่วไปของนักศึกษาลาวคือ รุ่นนี้หรือรุ่นแรกมี 18 คนถูกคัดเลือกมาจาก 18 แขวง เพราะลาวแบ่งการปกครองเป็นแขวง แต่มาไม่ครบทุกแขวง เพราะแขวงนครหลวงหรือเวียงจันทร์แขวงเดียวมา 6 คน เลยกินที่นั่งเรียนของแขวงอื่นไป (เหมือนๆประเทศไทย??) วิธีการคัดเลือกผมไม่ทราบว่ามีเกณฑ์อย่างไร แต่เท่าที่คุยกับนักศึกษาก็บอกตรงกันว่าถูกส่งมา มีผู้ชาย 16 คนและผู้หญิง 2 คน ทุกคนไม่เคยเรียนรังสีเทคนิคมาก่อน แต่ทำงานรังสีเทคนิคมาแล้ว มีอายุสูงสุด 48 ปี อายุน้อยสุดผมจำไม่ได้แต่ดูเหมือนจะเกิน 30 ปีเล็กน้อย เนื่องจากวิทยาลัยฯหรือ CHT อยู่ที่เวียงจันทร์ ดังนั้นทุกคนที่มาจากแขวงอื่นก็ต้องมาเช่าบ้านพัก เรียน 3 ปี จบแล้วได้ diploma กลับไปทำงานก็จะได้ปรับเงินเดือนเพิ่ม 2 ขั้น หรือประมาณ 3,000 กีบต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8-10 บาท ปัจจุบันนักศึกษาเหล่านี้ก่อนส่งมาเรียนจะมีเงินเดือนคิดเป็นเงินไทยเดือนละประมาณ 1,800 บาท

     ผมต้องไปสอนที่ลาวเป็นคนแรก แต่มีเรื่องตลกร้ายๆแบบหวาดเสียวเล่าให้ฟังครับ คือที่ผมต้องไปสอนเป็นคนแรกเพราะอุบัติเหตุจริงๆ แต่ไม่ได้เกิดกับผมนะ มันเกิดกับอาจารย์ชวลิต จริงๆแล้วอาจารย์ชวลิตต้องไปสอนก่อนคนแรกแต่ไปไม่ได้ เพราะคืนก่อนเดินทางเกิดฝนตกหนัก ไฟฟ้าที่บ้านอาจารย์ชวลิตดับ ทำให้ถูกแมงป่องต่อยที่เท้าจนบวมมากเดินไม่ได้ อาจารย์ชวลิตจึงไม่สามารถเดินทางไปสอนได้ ก็เลยต้องปรับแผนกันใหม่ ผมเลยต้องไปเป็นคนแรก

     อากาศที่เวียงจันทร์ดีมากเพราะกำลังหนาว แต่ฝุ่นตามถนนเยอะไปหน่อย โรงแรมไทปันที่ผมไปพัก ห่างจาก CHT พอสมควร ถ้าเดินจะใช้เวลาประมาณ 12-15 นาที ซึ่งผมเดินไปสอนทุกวัน นักศึกษาตั้งใจเรียนดีมาก และมีสัมมาคาระดีเหลือเกิน นักศึกษาของ CHT จะมีเรียน 6 หลักสูตรทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำประมาณ 1,000 คน ที่จำได้มี รังสีเทคนิค เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ ฯลฯ นักศึกษาทุกคนเมื่อเห็นผมเดินเข้าไปใน CHT จะยกมือไหว้ทำความเคารพ ไม่เลือกว่าหลักสูตรไหน น่ารักมาก สำหรับนักศึกษารังสีเทคนิค 18 คนนั้นพื้นฐานไม่ค่อยดีเลย ดังนั้นที่ผมเตรียมไปสอน radiation physics จึงต้องปรับใหม่หมด ใช้เวลาสอนและให้ทำแบบฝึกหัดมากขึ้น บางคนพอผมสอนไปมากๆก็ต้องขอพักแล้วพูดตลกๆว่า "อะตอมของผมจะแตกแล้ว" นักศึกษาทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ สิ่งที่ได้เรียนนี้พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลย และคิดไม่ถึงว่าจะมีเรื่องให้เรียนมากมายขนาดนี้ ทั้งที่มันเป็นแค่กดปุ่มถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วยเท่านั้น ผมเลยได้โอกาสทำความเข้าใจกับนักศึกษาลาว ให้พวกเขามองเห็นชัดยิ่งขึ้นว่า การได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับพื้นฐานขึ้นไปนั้น ในที่สุดจะทำให้เราสามารถทำอะไรได้มากขึ้นและมั่นใจมากขึ้น

     วันแรกๆ มีนักศึกษาลาวคนหนึ่งพาผมไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงอาหาร ของกระทรวงศึกษาธิการของลาว ซึ่งอยู่ใกล้กับ CHT อาหารเป็นข้าวราดแกงแบบบ้านเรา ราคาจานละ 5,000-7,000 กีบ (20-25 บาท) พอวันต่อๆไปนักศึกษาคนนั้นหายหน้าไปเลย มารู้ทีหลังคือ นักศึกษาส่วนใหญ่เตรียมอาหารกลางวันมาจากบ้าน มักเป็นข้าวเหนียว จิ้มกับแจ่ว พอพักเที่ยงก็นั่งล้อมวงกันหน้าห้องเรียนกินกันอร่อยเลย ผมถามว่าทำไมไม่ไปซื้ออาหารที่โรงอาหารรับประทาน คำตอบคือ "มันแพงเจ้า"

     เวลาเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะ หรือทำธุระส่วนตัวที่ CHT เป็นช่วงเวลาที่ลุ้นที่สุดสำหรับผม เพราะห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวม คือทั้งนักศึกษาหญิง-ชายใช้ห้องเดียวกัน คงเพราะต้องการประหยัดหรืองบประมาณไม่พอก็ไม่ทราบได้ครับ บางครั้งผมกำลังยืนปัสสาวะที่โถ ได้ยินเสียงมีคนเดินเข้ามาด้านหลัง หันไปมองปรากฏว่าเป็นนักศึกษาหญิงซึ่งแกก็ทำธุระของแกไปไม่สนใจว่าจะมีใครอยู่บ้าง แล้วยังหันมายิ้มให้เราแบบอมยิ้มอีก กว่าจะชินระบบนี้ก็ใช้เวลาอยู่หลายวันครับ

     ยังมีเกร็ดอีกเยอะครับ ถ้ามีโอกาสจะเขียนบันทึกเล่าให้ฟังต่ออีก

มานัส มงคลสุข
มกราคม 2549

หมายเลขบันทึก: 28163เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท