บันทึกจากประกายรังสี "อาลัยเฮานส์ฟิลด์ บิดารังสีวิทยายุคใหม่"


ผมคิดว่าคนทั้งหลายจึงไม่อาจวัดกันที่ปริญญา และไม่ควรจะมาเสียเวลาวัดกันว่าคุณจบระดับไหน ฉันจบระดับไหน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความด้อยทางปัญญาที่แท้จริง ที่ร้ายกว่านั้นอาจมีบางคนคิดในเชิงดูถูกผู้ที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าว่าเรียนมาน้อยไม่ค่อยรู้อะไรหรอก เราควรคิดถึงสิ่งที่เราควรทำร่วมกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้กับวงการรังสี ตามความสามารถ ตามศักยภาพของเราอย่างเต็มที่ เอาสิ่งดีๆของทุกคนมารวมกันเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาวงการรังสีให้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ

(อ่านบทความพร้อมภาพประกอบ http://www.tsrt.or.th/note/RTnote10.htm)

     วันที่ 12 สิงหาคม 2547 เป็นวันที่วงการรังสีวิทยาของโลก ต้องจารึกเหตุการณ์สำคัญอีกครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่เราต้องสูญเสียบุคคลที่สร้างคุณอนันต์ให้กับโลกของเรา นั่นคือ การเสียชีวิตของ เซอร์ เฮานส์ฟิลด์ (Sir Godfrey Newbold Hounsfield) ที่ New Victoria Hospital ใน Kingston ขณะที่มีอายุ 84 ปี ท่านผู้นี้เป็นผู้ปลุกโลกรังสีวิทยาให้ตื่นขึ้นเมื่อประมาณ 32 ปีที่แล้ว ด้วยการเป็นผู้สร้างเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ซีที (Computed Tomography : CT) เครื่องแรกของโลก เป็นเครื่องมือที่ทำให้รังสีวิทยาของโลกก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการถ่ายภาพรังสี เป็นยุคที่เริ่มเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมในการสร้างภาพรังสีชนิดที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของหลักการและคุณภาพของภาพรังสี เราทราบดีว่า เรินท์เกนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งรังสีวิทยา จากผลงานการค้นพบเอกซเรย์ ผมคิดว่า เซอร์ เฮานส์ฟิลด์ ก็ควรได้รับการยกย่องให้เป็น บิดารังสีวิทยายุคใหม่

     หากเราย้อนไปดูเฮานส์ฟิลด์ในอดีต เขาเกิดที่หมู่บ้านใกล้ๆกับ Newark ใน Nottinghamshire เติบโตในทุ่งนาซึ่งพ่อของเขาซื้อไว้เมื่อตอนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นน้องเล็กสุดในบรรดาพี่น้อง 5 คน ท้องทุ่งมันเป็นสนามเล่นที่วิเศษที่สุด และสามารถที่จะศึกษาสิ่งต่างๆได้มากมาย โดยเฉพาะพวกเครื่องจักรกล เครื่องไฟฟ้า ที่ใช้ในทุ่ง เช่น เครื่องนวดข้าว และเครื่องปั่นไฟ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเด็กน้อยที่ชื่อเฮานส์ฟิลด์เป็นอย่างมาก เขาจะมองสิ่งเหล่านี้อย่างใจจดใจจ่อ และขณะที่เขามีอายุประมาณ 11-18 ปี ก็เริ่มฉายแววความเป็นนักประดิษฐ์ ด้วยการสร้างเครื่องบันทึกเสียงไฟฟ้า ทำเครื่องร่อนเองและทดลองร่อนลงมาจากกองฟางที่สูงตระหง่านแม้จะเสี่ยงตายก็ตาม ที่อันตรายสุดๆคือ เขาทดลองขับตัวเองให้ลอยขึ้นไปในที่สูงด้วยการใช้เครื่องไอพ่นที่พ่นน้ำขึ้นไป เพียงแค่ต้องการรู้ว่าจะขึ้นไปได้สูงแค่ไหนเท่านั้น เป็นการทดลองที่บ้าบิ่นมากๆ

     เรื่องการเรียนหนังสือ เขาเรียนหนังสือที่ Magnus grammar school ใน Newark และรักวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ เขาหลงไหลเครื่องบินมาก เขาเข้าร่วมเป็นทหารกองหนุนอาสาสมัครในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างนั้นก็เรียน radio mechanics และได้เป็น ครูสอนสอนทางด้านนี้ ขณะเรียนที่ Cranwell Radar school ได้ใช้เวลาว่างจากการเรียนทำ large-screen oscilloscope ซึ่งเขาได้ใช้เป็นอุปกรณ์ในการนำเสนองานหลายงานด้วย จากนั้นศึกษาระดับประกาศนียบัตรที่ Faraday House Electrical Engineering College ในกรุงลอนดอน แม้เฮานส์ฟิลด์จะไม่ได้เรียนจบระดับปริญญา แต่ก็มีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าดีมาก บวกกับความสนใจอย่างที่สุดในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องกลและไฟฟ้า ทำให้เขามีความคิดลุ่มลึกและแหวกแนวอยู่มาก

     ในปี 1951 เฮานส์ฟิลด์เข้าทำงานที่บริษัท EMI ตั้งอยู่ที่ Middlesex โดยเข้าทำงานเกี่ยวกับเรดาร์และอาวุธนำวิถี ต่อมาก็สนใจคอมพิวเตอร์มาก ซึ่งในตอนนั้นคอมพิวเตอร์ยังเป็นระยะเริ่มต้นไม่ค่อยมีอะไรมาก เขาออกแบบ magnetic drums และ tape decks ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นด้วยความยากลำบาก ปี 1958 เขาจัดตั้งทีมงานขึ้นเพื่อพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยทรานซิสเตอร์ทั้งหมด และประสบความสำเร็จในชื่อว่า EMIDEC 1100 หลังจากนั้นย้ายไปรับงานที่ EMI Central Research Laboratories โครงการแรกที่นี่ซึ่งยากมากและต้องเลิกล้มไปคือ การออกแบบการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากที่เก็บใน thin-film computer ที่ต้องเลิกไปเพราะผู้บริหารระดับสูงเล็งเห็นว่าไม่น่าจะพัฒนาในเชิงธุรกิจต่อไปได้ เฮานส์ฟิลด์จึงมีโอกาสที่จะได้คิดถึงโครงการอื่นๆอย่างเงียบๆและมีสมาธิ และในปี 1967 เขาก็เกิดความคิดที่นำไปสู่การพัฒนา EMI Scanner หรือ Computed Tomography โดยคาดหมายว่าเทคนิคทางคณิตศาสตร์น่าจะถูกนำมาใช้คำนวณสร้างภาพในร่างกายผู้ป่วยได้

     เฮานสฟิลด์เริ่มพิจารณาทฤษฎีการคำนวณสร้างภาพอย่างละเอียด โดยได้มีการคำนึงถึงอันตรายที่ผู้ป่วยจะได้รับและความถูกต้องของภาพที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยไม่ทราบมาก่อน เขาเริ่มทำการทดลอง ด้วยการสร้างเครื่องมือที่มีส่วนประกอบคล้ายคลึงกับเครื่องมือของคอร์แม็กชาวอัฟริกาใต้ซึ่งทำผลงานไว้ในปี 1963 แต่ใช้รังสีแกมมาที่แผ่ออกมาจากธาตุอะเมอริเซียม (americium) ยิงทะลุผ่านแฟนตอม แล้วใช้หัววัดแบบผลึก (crystal detector) ) เป็นตัววัดรังสีแกมมา ข้อมูลความเข้มของรังสีแกมมาที่ทะลุผ่านแฟนตอมออกมาทั้งหมด จะถูกบันทึกลงบนเทปกระดาษแล้วนำไปคำนวณสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เทคนิคทางคณิตศาสตร์ที่ใช้คือ การสร้างภาพแบบอิทเทอเรชัน (iterative reconstruction) การทดลองในตอนแรกนี้กระทำหลายครั้ง เขาใช้เวลาเก็บข้อมูลความเข้มรังสีแกมมาเพื่อให้เพียงพอสำหรับการคำนวณสร้างภาพหนึ่งภาพนานถึง 9 วัน และใช้เวลาในการคำนวณสร้างภาพนานถึง 2 ชั่วโมง 30 นาที ใน ค.ศ. 1971 ได้พัฒนาจนสามารถใช้กับมนุษย์ได้ โดยใช้หลอดเอกซเรย์แทนรังสีแกมมา ซึ่งทำให้เวลาในการเก็บข้อมูลความเข้มลดลงเหลือเพียง 4-5 นาทีต่อหนึ่งภาพ และนำเครื่องที่สร้างเสร็จแล้วไปติดตั้งที่โรงพยาบาลแอทคินสัน มอร์เลย์ (Atkinson Morley) เขาได้เสนอขอจดสิทธิบัตรในปี 1968 หลังจากนั้นในปี 1972 ก็ได้รับสิทธิบัตรการสร้างซีที

     ปี 1972 เครื่องมือนี้ได้ทดลองใช้กับผู้ป่วยสุภาพสตรี โดยคาดว่าจะสามารถพบความผิดปกติในสมอง พบว่าภาพตัดขวางชิ้นบางๆที่เครื่องมือนี้สร้างขึ้น สามารถมองเห็นชัดเจนว่ามีก้อนกลมสีดำที่เป็นความผิดปกติเกิดในเนื้อสมอง วินิจฉัยว่าเป็นถุงน้ำ (cyst) เฮานสฟิลด์ใช้เวลาในการเก็บข้อมูลทางคลินิกเป็นเวลานาน 1 ปี 6 เดือน หลังจากนั้นจึงได้นำผลงานไปแสดงในการประชุมทางวิชาการประจำปีของ British Institute of Radiology ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1972 ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างสูงจากนักวิชาการและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรังสี เราสามารถติดตามอ่านงานวิจัยของเขา เป็นการายงานผลงานวิจัยที่เป็นนิพนธ์ต้นฉบับที่มีค่ายิ่งได้จาก

     Hounsfield GN. Computerized transverse axial scanning (tomography) : Part 1. Description of system. Br J Radiol 1973; 46:1016-1022.

     ปัจจุบัน เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ซีที มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ และได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่ง เกิดมีเทคนิคใหม่ๆอีกมาก จากซีทีธรรมดา เป็น Spiral/Hilical CT เป็น Mutil-slice CT จาก 4 สไลซ์เป็น 16 สไลซ์ 64 สไลซ์ และกำลังจะเป็น 256 สไลซ์ การทำภาพ 3 มิติและ 4 มิติ ที่มีคุณภาพสูง สามารถสร้างภาพหัวใจได้อย่างอัศจรรย์ การทำภาพ 2 มิติในระนาบใดก็ได้นอกเหนือจากแนวตัดขวาง และอื่นๆอีกมาก มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้เกิดขึ้นมากมายล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

     เฮานสฟิลด์ เป็นผู้ที่มีความุ่งมั่น ใฝ่รู้ แม้จะไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา แต่ก็สามารถสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์มหาศาลต่อชาวโลก ผมคิดว่าคนทั้งหลายจึงไม่อาจวัดกันที่ปริญญา และไม่ควรจะมาเสียเวลาวัดกันว่าคุณจบระดับไหน ฉันจบระดับไหน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความด้อยทางปัญญาที่แท้จริง ที่ร้ายกว่านั้นอาจมีบางคนคิดในเชิงดูถูกผู้ที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าว่าเรียนมาน้อยไม่ค่อยรู้อะไรหรอก เราควรคิดถึงสิ่งที่เราควรทำร่วมกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้กับวงการรังสี ตามความสามารถ ตามศักยภาพของเราอย่างเต็มที่ เอาสิ่งดีๆของทุกคนมารวมกันเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาวงการรังสีให้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ เฮานสฟิลด์เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่จบปริญญา ที่มีผลงานระดับดีเลิศ จนได้รับรางวัลโนเบลในปี 1979 ซึ่งเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศสูงสุดในทางวิชาการ และได้รับการสถาปนาให้มีศักดิ์เป็นอัศวิน Sir ของอังกฤษในปี 1981

      วันที่เฮานสฟิลด์รับรางวัลโนเบล เขากล่าวว่า "อย่ากังวลจนเกินไปกับการที่คุณสอบตกไม่รู้กี่ครั้ง นานไปคุณจะเข้าใจเรื่องราวนั้นได้ แล้วคุณจะประหลาดใจในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นว่า สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลที่มีรากฐานจากวิธีธรรมดานั่นเอง"

     วันนี้ แม้ว่าร่างกายของเฮานสฟิลด์บิดารังสีวิทยายุคใหม่ ได้จากพวกเราชาวรังสีไปแล้ว แต่จิตวิญญาณ องค์ความรู้ที่เป็นรากฐานทั้งหลายยังอยู่ และจะเป็นบทเรียนสำคัญที่สอนพวกเราไม่ให้พวกเราหลงทางตลอดไป ผมขอแสดงความอาลัยรักจากการจากไปของท่านจากใจจริง ขอให้ดวงวิญญาณของท่านจงไปสู่สุขคติจนชั่วนิรันดรเทอญ

มานัส มงคลสุข
สิงหาคม 2547

หมายเลขบันทึก: 28158เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท