เสียงกระซิบจากครูไม่ใหญ่ ตอนที่ 1 : โรงเรียนอยู่ไหน..?


เราต้องสร้างให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือและศรัทธาในตัวนักพัฒนาและในงานที่เราจะลงมือปฏิบัติ

          ได้ดูภาพยนต์ "เสียงกู่จากครูใหญ่" ตอนไปร่วมเวทีเสวนาคุณอำนวย ที่บานผู้หว่านเมื่อ 17-18 เมษายน ที่ผ่านมา ได้ข้อคิดในการทำงานมากมาย แต่ในตอนแสดงความคิดเห็นและข้อคิดที่ได้จากการดูในคืนนั้น ผมไม่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ก็เห็นด้วยกับทุกท่านที่ได้สะท้อนบทเรียน   หลังจากนั้นยังได้อ่านบล็อกของหลายๆ ท่าน ทั้งที่คุณอำนวยที่เข้าร่วมเสวนา และคุณอำนวยท่านอื่นๆ หรือสมาชิกชาวบล็อกอีกหลายท่าน เกี่ยวกับบทเรียนที่ได้จากการดู "เสียงกู่จากครูใหญ่"

          ผมมีประสบการณ์ที่เป็นบทเรียนที่สำคัญในชีวิตการทำงานของผม  เป็นเรื่องที่ยาวมากและมีเรื่องราวที่มีส่วนคล้ายกันกับ "เสียงกู่จากครูใหญ่" ผมจึงขอเขียนเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบกาณ์เป็นตอนๆ เป็นการ ลปรร. และเป็นการบันทึกบทเรียนอันสำคัญของช่วงหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในหน้าที่ "ครูอาสาสมัคร"

         งานในบทบาทครูนั้น ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่สำคัญ หรือใหญ่โตอะไร เป็นเพียงครูอาสาสมัครศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช) ในสมัยนั้น ระหว่าง ปี  มีนาคม  2531 - กันยายน2534 ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่   แต่ต้องไปเปิดโครงการและสร้างศูนย์ฯ (โรงเรียน) จำนวนถึง 28 ศูนย์ (พวกเราเรียกว่า "อาศรม" ไม่ใช่ที่อยู่ของพระฤาษีนะครับ แต่เป็นที่จัดกิจกรรมของครู) ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่  ค่าตอบแทนตอนนั้นก็น้อยนิด แต่งานที่ทำเมื่อหวลระลึกถึง ผนวกกับการเรียนรู้ในการทำงานปัจจุบัน ผมกลับมีความภูมิใจมากกับบทบาทที่เราได้ทำหน้าที่ และได้ประสบการณ์จากการเป็นครูอาสมัคร

          ผมทำหน้าที่ครูนิเทศก์ หรือที่ชาวบ้านซึ่งเป็นกะเหรี่ยงทั้งหมด ตั้งให้ก็คือเซอหระพะโด้ (ครูใหญ่) เป็นภาษากะเหรี่ยงขออภัยหากเขียนผิด

      การเข้าไปทำงานในระยะบุกเบิกช่วงเริ่มต้นนั้น  ผมมีประสบการณ์มาเล่าให้ฟังครับ

          เริ่มด้วยการเดินทางจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ รับเพียงหนังสือรายงานตัวต่อนายอำเภอแม่แจ่มเพียงฉบับเดียว  ต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องนอน เครื่องใช้ต่างๆ ไปให้พร้อม  หน่วยงานที่ดูแลและบังคับบัญชาเบื้องต้นในขณะนั้นก็คือ "สำนักงานศึกษาธิการอำเภอ" ซึ่งขณะนี้ทราบว่ายุบไปแล้ว  ไปเรียนรุ้เอาข้างหน้าครับ
          นายอำเภอแม่แจ่มในขณะนั้นคือ ท่านนายอำเภอ สุขิต  หลิมศิริวงศ์   และที่สำคัญต่อชีวิตการทำงานในช่วงเป็นครูอาสาสมัครของผมที่จะต้องขอบันทึกไว้ก็คือท่านศึกษาธิการอำเภอแม่แจ่มในขณะนั้นคือ อาจารย์จำลอง  กิติศรี ปัจจุบันท่านดำรงค์ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ให้การดูแลพวกเราชุดบุกเบิกจำนวน 3 คน เป็นอย่างดียิ่งพวกเราคือ 1) อ.เพลิน  ทิพย์พันธุ์ดี (โรงเรียนสบปราบวิทยาคม : เสียชีวิตแล้ว 2) อ.เกษียณ  มะโนชัย : ทราบแต่ว่าเป็นครูแต่ไม่รู้ว่าที่ไหน และ 3) คือตัวผมเอง คงไม่มีวันลืมพระคุณของท่านตลอดไป...

  • ภาพแรก อำเภอแม่แจ่มในสมัยนั้น ถ่ายมาจากฟากทิศตะวันตก (ทางขึ้นไปตำบลปางหินฝน)

                                   

          การเข้าไปทำงานโดยที่ยังไม่มีโรงเรียน หรือศูนยฯ ป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยที่จะสร้างมันขึ้นมาได้ เราทั้งไม่มีทุนทรัพย์หรืองบประมาณ และไม่เคยเป็นครู และที่สำคัญไม่เคยมีใครเคยสร้างโรงเรียนมาก่อน   แต่พวกเราก็ได้เรียนรู้ / ปรับตัว  โดยพวกเรา 3 คนได้แยกย้ายกันไปอยู่ 3 กลุ่มบ้าน อยู่กันคนละกลุ่มบ้าน สิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติก็คือ

  • การเข้าไปอาศัยอยู่กับชาวบ้านในหมู่บ้าน  กิน นอนกันที่ในหมู่บ้าน
  • ทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของเราให้กับผู้นำ และชาวบ้านได้รับทราบ ว่าเราคือ ครูที่จะมาทำการสอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ได้เรียนรู้ และอ่านออกเขียนได้
  • เรียนรู้วิถีชีวิต  ขนบธรรมเนียบ และประเพณีต่างๆ ของชาวบ้าน ซึ่งแตกต่างจากสังคมคนพื้นที่ราบของพวกเราอย่างมาก
  • ในขณะที่เราฝังตัวอยู่ในหมู่บ้าน เราก็ทำการสำรวจข้อมูลชาวบ้าน ข้อมูลผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน
  • ชักชวนและโน้มน้าวให้ชุมชน เห็นความสำคัญของการศึกษา และเกิดความต้องการที่จะสร้างโรงเรียน หรือศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขาขึ้นมา โดยชาวบ้านเอง

          ช่วงแรกนี้ผมใช้เวลามากกว่า 3 เดือน ชาวบ้านจึงร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้นมาก่อน เป็นอาคารหลังเล็กที่มีที่พอทำโต๊ะเขียนหนังสือได้ และมีที่พักอาศัยของผมอยู่ในที่เดียวกัน (อาศรมจริงๆ ครับ) 

    สองภาพด้านล่างนี้ในปีแรกผมทำหน้าที่ครูประจำศูนย์และครูนิเทศก์  ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างอาคารศูนย์ฯ ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะสร้างได้  ต้องใช้ความอดทนสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน จนเห็นความสำคัญและร่วมแรงร่วมใจกันสร้างจนสำเร็จ

  

 

     ภาพนี้เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งเพื่อนครูต่างก็ต้องร่วมกับชาวบ้านสร้างศูนย์เช่นเดียวกัน

                                      

 

          ภาพนี้หลังจากผ่านไปแล้วหนึ่งปี มีการขยายและเพิ่มจำนวนศูนย์ ได้ทำหน้าที่ครูนิเทศก์ จึงต้องไปร่วมกับชาวบ้าน และเพื่อนครูจากศูนย์อื่นๆ ช่วยกันสร้างศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ไม่ง่ายเลยนะครับกว่าจะฝ่าฟันมาจนถึงวันนี้ได้)       

  

          เป็นอย่างไรบ้างครับส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในชีวิตของผม อย่าแปลกใจนะครับว่าวันที่ที่ปรากฎในภาพจะเป็นเดือน เมษายน 49 เพราะผมใช้กล้องดิจิตอลถ่ายจากภาพเดิม ได้เรียนรู้อีกอย่างว่าใช้ได้ดี ได้ความคมชัดกว่าการใช้เครื่องสแกน และที่สำคัญก็คือสะดวกและรวดเร็วกว่ามากครับ

บทสรุป  
          
สำหรับบันทึกนี้ก็คือ การจะทำงานพัฒนาโดยเฉพาะจากประสบการณ์ของการทำหน้าที่ครูอาสาสมัครของผม สิ่งที่เราจะต้องสร้าง หรือปฏิบัติในการลงสนามเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนานั้น  มีประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น เช่น

  • ตัวเรา ต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเทต่อการทำงานในหน้าที่ของเราก่อน
  • เราต้องสร้างให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือและศรัทธาในตัวเรา (ตัวนักพัฒนาเอง)
  • ทำให้ชาวบ้านมองเห็นความสำคัญในงานที่เราจะลงมือปฏิบัติเสียก่อน 
  • เราจะต้องเรียนรู้และปรับตัว ปรับหรือหาวิธีการที่เหมาะสมเอาเองในพื้นที่   และ
  • จะต้องเข้าไปนั่งในใจของชาวบ้านให้ได้ก่อน เป็นต้น 

ความสำเร็จของงานนั้นจึงจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน...

คอยอ่านตอนต่อไปนะครับ ( เชิญอ่านตอนที่ 2ครับ )

 วีรยุทธ สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 24913เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
  • อ่านแล้วอึ้งและทึ่งในจิตวิญญาณของความเป็นครูครับ
  • ขออนุโมทนาด้วยครับ
  • คิดถึงโครงการครูหลังม้าครับ

พี่ "สิงห์ป่าสัก"

ขอบคุณ "ต๋าบรึ" (ภาษากระเหรี่ยง หมายถึง ขอบคุณ)สำหรับ "อุดมการณ์" ที่ช่วยสานฝันให้เด็กน้อยบนดอยสูง

ผมชอบบทสรุป ผมคิดว่า เป็นการสังเคราะห์ ถอดบทเรียนจากการทำงาน

น่าสนใจและภาคภูมิใจ  มากครับ

  • ต้องตามด้วย เยอเอเนอ ภาษาปะกากญอ ครับ

นิ่ง อึ้ง และชื่นชมคะ...

  • ผมขจิตครับ
  • อาจารย์ลขิตชื่อพ่อผม พี่วีรยุทธรู้จักด้วยหรือครับ
     ต้องขอขอบพระคุณทุกๆ ท่าน ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งคุณจตุพร, อาจารย์ขจิต, Dr.Ka-poom และ naijod หรือทุกท่านที่แวะเยี่ยมเยียนอ่านบันทึกนี้
     และต้องขอขอบพระคุณผู้สนับสนุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน/ทุกฝ่ายที่ได้ก่อให้เกิดบล็อก Gotoknow นี้ เพราะทำให้ผมและทุกท่านได้ ลปรร. ทั้งในอดีและปัจจุบันซึ่งกันและกัน ดีกว่าปล่อยให้มันเลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลา
     "ต๋าบรึโด่มะ" ครับ

สวัสดีค่ะคุณสิงห์ป่าสัก ขอชื่นชมในการทำงานด้วยความมุ่งมั่นของการพัฒนาเพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเรียนรู้ ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการทำงาน รวมทั้งเรื่องของ "จิตอาสา"ค่ะ ภูมิใจมากค่ะที่ได้รู้จักเพื่อนร่วมการพัฒนาค่ะ

P

 

  • ขอบคุณ อ.สุนันทามากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน
  • ประสบการณ์นั้นหาซื้อด้วยเงินไม่ได้
  • คงไม่เป็นคำกล่าวที่เกินความเป็นจริง
  • ผมได้เรียนรู้จากการทำงานครูอาสาอย่างเหลือคณานับ
  • ได้เรียนรู้ความเหมือน-ความต่างของคนในสังคมนี้
  • ได้เรียนรู้ความสำเร็จ-ความล้มเหลวของการทำงาน/การพัฒนา
  • ได้ฝึกความอดทน-เรียนรู้ชีวิต ผ่านการทำงานที่คิดว่าลำบากไม่ใช่น้อย
  • แต่เป็นงานที่ทำอย่างมีความสุข (ทำงานหลายปีแสนลำบากแต่ไม่เคยเครียดเลย ต่างจากปัจจุบัน...อิอิ)
  • ขอบคุณ กศน.และชุมชนต่างๆ ที่ได้ให้โอกาสเรียยรู้และฝึกฝน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท