“ชาติจะเป็นอย่างไร... ถ้าการศึกษาไทยไม่เปลี่ยน” (๕)


 

 

คุณสุภาวดี หาญเมธี กล่าวสรุปว่า การเสวนาในครั้งนี้ได้เห็นคำตอบหลายคำตอบ ขณะเดียวกันก็มีคำถามที่ต้องนำไปช่วยกันขบคิดหลายคำถาม อาทิ

 

๑.วันนี้เราไม่ได้พูดแค่เรื่องการศึกษา แต่เราพูดถึงการเรียนรู้ เรามองว่ามนุษย์เรียนรู้ได้ ฝึกฝนได้ เพื่อไปสู่ความดีงามหรือโลกุตรธรรม สามารถไตร่ตรอง มองเห็นข้อดี-ข้อเสีย ไม่ใช่ชี้ดี-ชี้เลว ซึ่งจะทำให้สังคมสันติ

 

๒.การลงมือทำร่วมไปด้วยกันกับกัลยาณมิตร ทำให้ความรู้มีความหมายกับตัวเอง

 

๓.ความรู้ที่มนุษย์ควรเรียนรู้อะไร คือ การรู้จักตัวเอง เข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง ซับซ้อนและโหดร้ายขึ้น มีกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างให้คนเราเข้าใจตัวเอง เข้าใจโลก นำไปสู่สติปัญญา สามารถอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้อย่างมีความสุข

 

๔.เพิ่มระบบการคัดเลือกครู ให้คนที่ถึงจุดอิ่มตัวในวิชาชีพแล้วอยากเป็นครูได้เข้ามาในภาคการศึกษา เราจะได้ครูที่ดีมีหัวใจ

 

๕.ให้คนที่มีใจเข้าไปบริหารโรงเรียนที่จะปิด ถ้าไม่ต้องจ่ายค่าที่ดิน ค่าสร้างตึก ต้นทุนของการจัดการศึกษาก็จะถูกลงไปมาก คนทั่วไปก็จะเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบนี้ได้มากขึ้น

 

๖.กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนไทยไท โรงเรียนทางเลือก และทุกท่านที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาชาติ อย่าคิดว่าเราเป็นสิ่งแปลกปลอม เราเป็นหน่ออ่อนที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราต้องไม่เขว ต้องเชื่อมั่น นอกจากครูและโรงเรียนเชื่อมั่นแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเชื่อมั่นในแนวทางนี้ด้วย

 

๗.ทุกภาคส่วนต้องร่วมรับผิดชอบการศึกษาของชาติ เช่น บริษัท หน่วยงาน และชุมชน เข้ามาช่วยสร้างการเรียนรู้ รัฐต้องช่วยยกระดับความรู้ชาวบ้าน ด้วยการจัดการความรู้ ให้เกิดการมองเห็นว่าใครจะไปเป็นหุ้นส่วนทางสังคมกับใคร เอื้อประโยชน์กันได้

 

๘.การศึกษาและการเรียนรู้จะต้องสร้างคนให้เต็มคน เต็มศักยภาพที่ธรรมชาติให้มา นำไปสู่คุณสมบัติ ดี เก่ง คิดเป็น ซึ่งจะนำพาสังคมไทยให้ก้าวหน้าไปได้

 

สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นที่พวกเราทุกคน คุณสุภาวดี กล่าวย้ำในที่สุด

 

ก่อนจบการเสวนา คุณครูเหล่น-จันทร์ทิพย์ ปิยะวรธรรม หัวหน้าพัฒนาหน่วยวิชามานุษกับโลกและดนตรีชีวิต พิธีกรของงานได้ชักชวนวิทยากรและผู้ร่วมเสวนาเสนอความเห็นใน ๒ ประเด็นคำถาม คือ ระบบการศึกษาไทยต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และฉันจะทำอะไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยโรงเรียนเพลินพัฒนาจะนำความคิดความเห็นเหล่านี้มารวบรวมเป็นเอกสารเพื่อนำเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปฏิรูปการศึกษารอบ ๒ นี้ต่อไป

 

ตัวอย่างบางความคิดเห็นจากผู้ร่วมงาน

 

การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

 

การเอาคะแนนการสอบแข่งขันหรือผลการเรียนยกย่องเด็กมากกว่าเด็กดีที่มีน้ำใจ 

 

การศึกษา = การเรียนรู้ รู้จักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต มองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง เป็นแรงผลักดันซึ่งกันและกัน หนุนให้เกิดพลังที่ช่วยเหลือกัน เป็นการฝึกฝนให้เด็กมีใจที่ใหญ่ (จิตสาธารณะ)

 

เปิดโอกาสให้เด็กรู้จักคิด รู้จักตัวตนของตนเอง เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เน้นปลูกฝังศีลธรรมตั้งแต่ยังเล็กๆ

 

อยากให้การศึกษาไทยไร้พรมแดน ไร้สถาบัน ไร้สี ไร้เส้น จบลงที่สงบและสันติ เพื่อมวลมนุษยชาติ โดยตัดต้นตอที่ระบบการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย เพราะปริญญาจากมหาวิทยาลัยไม่ใช่สิ่งสุดท้ายของชีวิต สิ่งสุดท้ายคือการทิ้งประโยชน์สุขให้โลกใบนี้ นั่นคือคุณค่าของมนุษย์ที่พัฒนามาตั้งแต่เกิดจนตาย

         

ฉันจะทำอะไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้?

 

สอนลูกในสิ่งที่ควร และไม่กดดันลูกตามกระแส

 

เริ่มจากตนเอง ปล่อยวางและไว้วางใจลูกให้มากขึ้น ปล่อยให้ลูกได้เผชิญกับปัญหาและความทุกข์ยากบ้างในบางครั้ง สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน รวมถึงช่วยโรงเรียนโดยนำแนวทางของโรงเรียนมาปฏิบัติที่บ้าน

 

ฉันเป็นคนทำสื่อ ฉันสามารถผลักดัน สร้างกระแสและกระตุ้นให้สังคม พ่อแม่ ครู เปลี่ยนแปลงทัศนคติ หันมามองลูกและสังคมมากขึ้น ด้วยการหาข้อมูลด้านการเรียนรู้มาเขียนหนังสือเผยแพร่ให้ผู้อื่นและตัวเราได้นำไปปฏิบัติ

 

ตัวเราช่วยได้โดยเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้า เริ่มต้นที่เส้นทางธรรม แล้วจะพบกับแสงสว่าง

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 278349เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

1.การศึกษา และการเรียนรู้ ใช้ในความหมายที่ต่างกันแต่สนับสนุนกัน..การเรียนรู้น่าจะเป็นส่วนย่อย ของการศึกษา เป็นต้นทาง เป็นกระบวนวิธี ..การศึกษา เป็นผลสรุป เป็นผลจากการเรียนรู้(เปรียบเทียบในระดับบุคคล)..เมื่อได้ผ่านวิธีการรับรู้เรียนรู้เกิดพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น = มีการศึกษา(ได้รับการศึกษา)..ใช่หรือไม่?

2.การศึกษาไทย มักมองแต่ระบบการจัดการศึกษาภาครัฐ(โดย ศธ.)แต่ความจริงภาครัฐจัดการศึกษาโดยหน่วยอื่นอีกเยอะมากซึ่งเกี่ยวโยงมีผลกระทบกันหมด..และภาคเอกชน/ประชาชน..ก็สร้าง/จัดการศึกษาทั้งที่สอดคล้องและขัดแย้งกับภาครัฐอีกมากมาย(ตามแต่จุดมุ่งหมายของแต่ละคน)..ใช่หรือไม่?

 3.การกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาโดยภาครัฐ(ด้วยรัฐธรรมณูญ/พ.ร.บ.การศึกษา/แผนพัฒนาฯ)ไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้ง่ายถ้าขาดการสนับสนุนของประชาชนทุกภาคส่วน..ใช่หรือไม่?

4.มนุษย์ทุกคน(ชาวไทย)จะสามารถรับรู้และเข้าใจเหตุผลและคุณค่าของการศึกษาที่ดีที่สามารถนำพาสังคม(ประเทศไทย)ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่สมดุลได้หรือไม่?..เมื่อยังรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรมและความฉ้อฉลที่ถูกบิดเบือนด้วยกลไกของสังคมเองทั้งในระดับย่อยจนถึงระดับใหญ่..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท