“ชาติจะเป็นอย่างไร... ถ้าการศึกษาไทยไม่เปลี่ยน” (๔)


 

 

 

อ.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ตั้งคำถามว่า เราเป็นอย่างที่เราเป็นในทุกวันนี้เพราะอะไร ก่อนขยายความคำตอบที่ได้จากการพูดคุยกับคนหลากหลายว่า ที่เราเป็นอยู่ในวันนี้ล้วนเป็นผลมาจากอดีตหรือความเคยชินในอดีต เช่น คนที่ขี้ระแวงในวันนี้อาจเคยมีประสบการณ์ว่าเคยถูกโกงมาก่อน

 

เราเลือกที่จะเป็นอย่างที่เราเป็นเพราะอดีตที่เราเคยเป็น แต่จริงๆ แล้วเราอยู่เพื่ออนาคต เราน่าจะคิดเตรียมตัวสำหรับอนาคตมากกว่า

 

สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่จัดโต๊ะ-เก้าอี้ในห้องสอบให้มีระยะห่างกัน เพื่อกันนักเรียนลอกข้อสอบ ซึ่งถ้ามองให้ลึกจะเห็นว่าการทำเช่นนี้เป็นการดูถูกทั้งผู้เรียนและผู้สอน ว่าสอนกันมาอย่างไรถึงต้องมาสร้างวิธีป้องกันไม่ให้เด็กทำสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่เกือบทุกแห่งก็ยังจัดโต๊ะแบบนี้เพราะเคยชินมาแต่อดีต คนไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ที่ไม่ทำเพราะกลัวเขาจับได้

 

แต่การเปลี่ยนจากสิ่งที่เราเคยเป็นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คนจำนวนมากไม่รู้ว่าต้วเองไม่รู้ และจะอยู่ในวงที่ตัวเองรู้ สิ่งที่น่าจะเป็นคือรู้ว่าเรารู้น้อย และพยายามรู้ให้มากขึ้น แต่สิ่งที่เราเป็นอยู่คือ เราไม่รู้ว่าเรารู้น้อย หรือรู้แต่ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงให้รู้มากขึ้น

สิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งดีนั้นเราตั้งใจทำกันจริงจังมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สนามกีฬา แต่ที่แน่ๆ อบายมุขนั้นเขาทำกันจริงจังมาก อย่างผับ บาร์ ร้านคาราโอเกะ เขาเปิดกันดึกดื่น ขณะที่ห้องสมุดเราเปิดให้บริการถึงกี่โมง สนามกีฬาบางแห่งมีป้ายว่า สถานที่ราชการห้ามเข้า ถ้าเราประสงค์ความเปลี่ยนแปลงและอยากเห็นสิ่งที่ดีขึ้น เราต้องยอมรับความเป็นจริงที่เป็นอยู่เสียก่อน ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่ท้าทาย

 

คนจะเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคม ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ท้อถอย ให้กำลังใจกัน การเปลี่ยนมุมคิดในบางเรื่อง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ การถามอย่างกระแทกกระกระทุ้งแต่นุ่มนวลจะช่วยให้เกิดมุมคิดใหม่ๆ ได้ เด็กบางคนที่ถูกตราหน้าว่าขี้เกียจ แต่กลับขยันตื่นมาเล่นเกมตั้งแต่เช้าจรดค่ำ นั่นเพราะว่าเกมมันสนุก  เด็กทุกคนจะอยากรู้อยากเรียน ถ้ากระบวนการเรียนรู้นั้นสนุกสนาน

 

ในการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในรอบที่สอง มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ

 

อยากให้เวลาในห้องเรียนลดลง แล้วให้เด็กมีเวลาอ่านหนังสือและทำกิจกรรมเผชิญชีวิตจริงมากขึ้น แม่โอ๋-สุนีย์ บันโนะ

 

การเรียนรู้จากโรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้ผมรู้และเลือกเรียนตามความต้องการของตัวเอง รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร และจะนำสิ่งที่เรียนไปใช้ประโยชน์อะไรได้ นายศุภศิริ สิริโยธิน ศิษย์เก่าโรงเรียนรุ่งอรุณ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ ม.มหิดล

 

ตราบใดที่หน่วยงานและบริษัทยังใช้ปริญญาในการรับคนเข้าทำงาน สถาบันการศึกษาก็จะยังคงสร้างคนเพื่อปริญญา แต่ถ้าภาครัฐและภาคธุรกิจคัดเลือกคนจากความดี สถานบันการศึกษาก็จะสร้างคนให้เป็นคนดี ซึ่งการสร้างเด็กให้เป็นคนดีนั้นต้องให้เขามีความสุขด้วย ไม่ใช่เป็นคนดีแล้วต้องเป็นทุกข์ เช่น ถูกบังคับให้ทำ สิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่ทุกคนต้องดีเป็นแบบอย่าง สิ่งที่เครือข่ายโรงเรียนไทยไทกำลังทำอยู่นี้เป็นการทำสิ่งที่เชื่อมั่นให้เป็นจริง ถ้าเรายืนหยัดและเชื่อมั่น อย่าเขว เราจะสำเร็จ พ่อกวิน ชุติมา

 

.กรองทอง บุญประคอง เสนอว่า ในการจัดการศึกษาเรามักกังวลเรื่องการวัดและประเมินผลเด็กว่าจะวัดกันอย่างไร เป็นเพราะเราไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราให้เขานั้นดีหรือไม่ เราจึงต้องสอบวัดเขาอยู่ตลอดเวลา แต่ก่อนจะไปวัดผลเด็ก เราที่เป็นนักการศึกษา ครู พ่อแม่ ต้องวัดตัวเองก่อนว่าสิ่งที่เราให้หรือเอื้อให้เขานั้นเพียงพอแล้วหรือยัง ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน

 

รศ.ประภาภัทร นิยม กล่าวถึงการจัดการศึกษาว่าไม่ควรมองแยกส่วน ไม่ใช่ว่าเราจัดแบบหนึ่ง กระทรวงศึกษาก็จัดอีกแบบหนึ่ง การเกิดของโรงเรียนทางเลือก รวมถึงโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนไทยไทนั้นเป็นธรรมชาติ อย่ามองว่าเราเป็นโรงเรียนกลุ่มเล็กๆ เพราะโรงเรียนเล็กแบบนี้มีพลังมหาศาล เราสามารถทำงานร่วมกันได้ทั้งกับโรงเรียน ภาครัฐ และชุมชน การขับเคลื่อนการเรียนรู้แบบนี้ไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่การจัดการและการกระทำ คือต้องลงมือทำ

 

คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวในมุมมองของภาคธุรกิจว่า แทบทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวเอง การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมคนให้พร้อมสำหรับโลกอนาคต คือการศึกษาที่สร้างให้คนไทยสามารถวิเคราะห์และมองเห็นทั้งข้อดี-ข้อเสียในสรรพสิ่ง ไม่ใช่การชี้ดี-ชี้เลว

 

 

หมายเลขบันทึก: 278347เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท